ว่านนกคุ่ม
ว่านนกคุ่ม ชื่อสามัญ Chinese taro[2]
ว่านนกคุ่ม ชื่อวิทยาศาสตร์ Alocasia cucullata (Lour.) G. Don[2] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Alocasia rugosa (Desf.) Schott, Colocasia cucullata (Lour.) Schott[1]) จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)
สมุนไพรว่านนกคุ่ม มีชื่อท้องเรียกอื่น ๆ ว่า ว่านทรหด ว่านนกคุ่ม (กรุงเทพฯ)[1], ว่านนางกวัก[2] เป็นต้น
ลักษณะของว่านนกคุ่ม
- ต้นว่านนกคุ่ม จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก แตกหน่อและกิ่งก้านสาขามากมาย มีเหง้ายาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ทางตอนใต้ของจีน และพม่า มักพบขึ้นตามที่รกร้าง[1]
- ใบว่านนกคุ่ม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบนั้นเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10-18 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร มีเส้นใบขนาดใหญ่ ก้านใบยาวประมาณ 30-90 เซนติเมตร เป็นสีเขียว[1]
- ดอกว่านนกคุ่ม ออกดอกเป็นช่อ ลักษณะเป็นแท่งกลมยาว ช่อดอกนั้นจะมีกาบหุ้ม กาบหุ้มจะมีความยาวมากกว่าช่อดอก และส่วนล่างนั้นจะโอบเป็นท่อยาวๆ ส่วนปลายจะเป็นรูปทรงคล้ายเรือ มีดอกเพศผู้อยู่จำนวนมาก ซึ่งจะอยู่ตอนบน ส่วนดอกเพศเมียจะมีอยู่จำนวนน้อย และอยู่ตอนล่าง ดอกเพศเมียจะมีไข่อ่อนเพียง 2-3 ใบเท่านั้น และในระหว่างดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะมีดอกไม่มีเพศคั่นอยู่ตรงกลางด้วย[1]
- ผลว่านนกคุ่ม ผลเป็นผลสด ภายนอกมีเนื้อนุ่ม ส่วนภายในจะมีเมล็ดสีแดง และมีเมล็ดโตประมาณ 1-3 เมล็ด[1]
สรรพคุณของว่านนกคุ่ม
- เหง้าใช้เป็นยาสมุนไพรของชาวจีน (เหง้า)[1]
- ในประเทศจีนจะใช้ทั้งต้นเป็นยาภายนอกสำหรับรักษางูกัด ฝี โรคไขข้อ และโรคข้ออักเสบ (ทั้งต้น)[3]
ประโยชน์ของว่านนกคุ่ม
- เหง้าใช้รับประทานได้[1]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป โดยมีความเชื่อว่า พืชชนิดนี้เป็นพืชนำโชค นิยมปลูกทั้งในวัดทั้งไทยและลาว[2],[3]
พิษของว่านนกคุ่ม
- สารพิษที่พบ : ในส่วนของก้านใบและใบพบผลึกแคลเซียมออกซาเลท ส่วนผลพบสารพิษ cyanogenic glycoside[2]
- อาการเป็นพิษ : ผลึกแคลเซียมออกซาเลทจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง มีอาการคัน ปวดแสบ ปวดร้อน อักเสบบวม และพองเป็นตุ่มน้ำใส หากรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อปากและคอ ส่งผลทำให้เสียงแหบ อาเจียน น้ำลายไหล แสบร้อนผิวหนังที่สัมผัส เยื่อบุกระพุ้งแก้ม ลิ้น และเพดานปากบวมพอง ในบางรายอาจทำให้พูดจาลำบาก ไม่มีเสียง แต่อาการที่รุนแรงมากคือ กลืนลำบากถึงกลืนไม่ได้เลย และอาจทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบรุนแรงได้ แต่ถ้าเข้าตาจะทำลายเยื่อบุตา[2]
- ตัวอย่างผู้ป่วย : มีงานพบว่า ผู้ป่วยได้รับประทานว่านชนิดนี้โดยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นต้นบอน ส่งผลให้มีอาการปวดแสบ ปวดร้อนที่คอ ลิ้น และบริเวณภายในกระพุ้งแก้ม คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้อง แพทย์ได้รักษาโดยการล้างท้อง งดน้ำและอาหาร รวมถึงให้ยาเคลือบกระเพาะและรักษาตามอาการจนกระทั่งผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น หรือในอีกกรณีที่เด็ก 2 คน ในประเทศศรีลังกา ได้เสียชีวิตจากการรับประทานผลของว่าน ซึ่งอาการเป็นพิษที่พบนั้นคล้ายคลึงกับพิษจากสาร cyanogenic glycoside[2]
- การรักษาพิษ : หากสัมผัสผิวหนังให้ล้างน้ำหลาย ๆ ครั้ง แล้วทาด้วยครีมสเตียรอยด์และรับประทานยาสเตียรอยด์ ถ้าหากเข้าตาให้รีบล้างด้วยน้ำหลาย ๆ ครั้ง ทันที แล้วหยอดตาด้วยยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว แต่ถ้ารับประทานเข้าไป ให้รีบใช้น้ำล้างปากและคอ แล้วรักษาไปตามอาการ โดยอาจให้ยาลดกรด aluminium-magnesium hydroxide ทุก ๆ 2 ชั่วโมง ให้ยาแก้ปวด ให้ยาสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ว่านนกคุ่ม”. หน้า 713-714.
- ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ว่านนางกวัก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/poison/poison.htm. [15 ก.ค. 2015].
- PETER C. BOYCE. “A review of Alocasia (Araceae: Colocasieae) for Thailand including a novel species and new species records from South-West Thailand.”. Thai Forest Bulletin (Botany) No.36 1-17. 2008.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by tillsonburg100 hiking, 翁明毅, Maria Polcari)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)