ว่านท้องใบม่วง
ว่านท้องใบม่วง ชื่อวิทยาศาสตร์ Gynura bicolor (Roxb. ex Willd.) DC. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1]
สมุนไพรว่านท้องใบม่วง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านใบม่วง (ไทย), หย่าเลี้ยะ (ม้ง) เป็นต้น[2]
ลักษณะของว่านท้องใบม่วง
- ต้นว่านท้องใบม่วง จัดเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ มีความสูงได้ประมาณ 20-40 เซนติเมตร[1]
- ใบว่านท้องใบม่วง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับหรือรูปใบหอกกลับ ขอบใบหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้มมีขนทั้งสองด้าน ท้องใบเป็นสีม่วงแดง[1]
- ดอกว่านท้องใบม่วง ออกดอกเดี่ยว ๆ เป็นช่อกระจุกแน่น หรือออกเป็นกลุ่ม ๆ ดอกย่อยเป็นสีเหลือง[1]
- ผลว่านท้องใบม่วง ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ผิวผลมีหลายสัน[1]
สรรพคุณของว่านท้องใบม่วง
- ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบว่านท้องใบม่วงนำมาต้มกับไก่กินเป็นยาบำรุงกำลัง (ใบ)[1]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาหารเป็นพิษ (ราก)[2]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้องหลังการคลอดบุตรของสตรี (ราก)[2]
- ใบหรือยอดนำมาต้มกับไก่เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (ใบ)[2]
ประโยชน์ของว่านท้องใบม่วง
- ใบหรือยอดสามารถนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารรับประทานได้
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ว่านท้องใบม่วง”. หน้า 122.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ว่านท้องใบม่วง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [25 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Forest and Kim Starr)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)