อยากมีลูกแฝด
การมีลูกแฝด ถือเป็นความต้องการยอดฮิตของคู่สมรสหรือครอบครัวที่มีความพร้อมมากพอ ด้วยความที่ท้องครั้งเดียวแต่ได้เด็กน่ารักพร้อมกันถึง 2 คน (หรือมากกว่า) จึงทำให้คุณแม่หลาย ๆ คนสงสัยว่าถ้าอยากได้ลูกแฝดต้องทำอย่างไร ? แต่ก่อนที่จะตัดสินใจ ผมอยากถามว่าคุณแม่ทราบถึงความเสี่ยงและผลที่อาจจะตามมาอย่างรอบด้านแล้วหรือยัง และเหตุใดแพทย์ถึงไม่อยากให้คุณแม่ตั้งครรภ์แฝด ? คราวนี้เรามาดูกันไปทีละหัวข้อกันดีกว่าครับ แล้วคุณแม่จะเข้าใจว่าทำไมผมถึงอยากให้คุณแม่ได้รู้ถึงข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนที่จะตัดสินใจมีลูกแฝด…
ข้อดีของการมีลูกแฝด
- ข้อดีอย่างแรกก็คงหนีไม่พ้นความน่ารักและดูพิเศษกว่าเด็กทั่วไปที่จะเป็นเด็กน้อยที่มีความน่ารักและรูปร่างหน้าตาเหมือนกันมากกว่า 1 คน (ในกรณีของแฝดแท้) คุณแม่จะมีความสุขมากเวลาเห็นเด็กทั้งสองคนที่มีอายุเท่ากันเล่นด้วยกันหรือสื่อสารกัน ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนมารุมล้อมเล่นด้วย
- พวกเขาจะเป็นเหมือนพี่ เหมือนน้อง เหมือนเพื่อนสนิท เป็นที่ปรึกษาในเวลาเดียวกัน แถมยังเป็นที่ระบายอารมณ์ที่ดีที่สุดอีกด้วย
- พวกเขาสามารถแลกของใช้กันได้ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ฯลฯ เพราะฝาแฝดส่วนมากจะมีความชอบอะไรที่เหมือน ๆ กันอยู่แล้ว จึงทำให้ประหยัดเงินไปได้เยอะ แต่ก็ใช่ว่าแฝดทุกคู่จะมีความชอบที่เหมือนกันเสมอไปนะครับ เพราะบางคู่ก็ต่างกันสุดขั้วไปเลยก็มี
ข้อเสียของการมีลูกแฝด
- ความลำบากในการอุ้มท้อง ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของการตั้งครรภ์ ท้องของคุณแม่ครรภ์แฝดจะมีขนาดโตขึ้นมาก เมื่ออายุครรภ์มากเข้าจะทำให้คุณแม่รู้สึกแน่นอึดอัด ไม่สะดวกสบาย หายใจไม่ค่อยออก แถมยังต้องมาแบกรับน้ำหนักที่มากขึ้น ทำให้คุณแม่บางคนแทบจะเดินไปไหนมาไหนไม่ไหวกันเลยก็มีครับ
- ภาวะเสี่ยงในระหว่างการตั้งครรภ์ ขณะคลอด และหลังคลอด จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากการตั้งครรภ์เดี่ยว (ในหัวข้อถัดไป) ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์จึงมีสูงขึ้น เพราะแพทย์ต้องนัดไปตรวจถี่กว่าคุณแม่ตั้งครรภ์เดี่ยว คุณแม่บางรายอาจต้องสูญเสียลูกไป 1 คน หรือเสียลูกไปทั้ง 2 คนจากการแท้งบุตรก็ได้ ตรงนี้ก็ต้องมาถามกันก่อนครับว่าถ้าเกิดเสียลูกไป 1 คนจะทำใจได้ไหม หรือจะสู้เอาชัวร์ตั้งครรภ์เดี่ยวจะดีกว่า
- แฝดแท้หน้าเหมือนเกิดได้น้อย จากกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วคุณแม่จะมีโอกาสได้ลูกที่เป็นแฝดแท้น้อยกว่าแฝดเทียมมาก (โอกาสที่จะได้แฝดแท้หน้าเหมือนมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น) หรือพูดง่าย ๆ ก็คือส่วนใหญ่จะได้แฝดที่มาจากไข่คนละใบ หน้าตาจึงไม่เหมือนซะทีเดียว แต่จะดูคล้ายเหมือนเป็นพี่น้องกันมากกว่า หรืออาจจะเป็นคนละเพศเลยก็ได้ครับ คุณแม่ที่คาดหวังว่าจะได้ลูกแฝดแท้หน้าเหมือนก็อาจจะเกิดความผิดหวังก็ได้ครับ
- ปัญหาเรื่องการเลี้ยงดู การเลี้ยงลูกแฝดก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แค่เลี้ยงทีละคนคุณแม่ยังรู้สึกเหนื่อยแล้วครับ แถมยังยากกว่าการเลี้ยงเด็ก 2 คนที่เป็นพี่น้องกันมาก คุณแม่จะต้องมาคิดอีกว่าจะเลี้ยงลูกยังไงไม่ให้เขาทั้งสองรู้สึกว่าไม่ด้อยไปกว่ากัน เพราะปัญหาที่พบได้บ่อย ๆ ของเด็กแฝดก็คือพวกเขาอาจมีความรู้สึกว่าตนเองนั้นด้อยกว่า มักจะโดนเปรียบเทียบกันตลอด จึงอาจทำให้เกิดปัญหาการอิจฉาฝาแฝดของตนเองตามมา นอกจากนี้เวลาจะออกไปข้างนอกก็ต้องใช้รถเข็นถึง 2 คัน หรือคันเดียวแบบ 2 ที่นั่ง รวมไปถึงคาร์ซีทอีก ฯลฯ ถ้าคุณและครอบครัวพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาที่กล่าวมาก็ลองพยายามมีลูกแฝดกันต่อไปครับ
- ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูจะต้องคูณสองคูณสามเข้าไปอีก ต้องถามว่าครอบครัวพร้อมไหมสำหรับการเลี้ยงดูเด็กแฝดทั้งสองคนพร้อมกัน ถ้ามีคนช่วยเลี้ยงก็ดีครับ แต่ถ้าต้องจ้างพี่เลี้ยงค่าใช้จ่ายมันจะขึ้นมากเลยทีเดียว เพราะการจะจ้างพี่เลี้ยงจากศูนย์ในกรณีของลูกแฝดจะต้องมีพี่เลี้ยง 2 คนครับ (จากประสบการณ์การจ้างพี่เลี้ยงแค่เฉพาะเงินเดือนก็เกือบ 2 หมื่นบาทแล้วครับ นี่ยังไม่รวมค่าข้าวรายวัน ค่าโอที และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก ซึ่งรวม ๆ แล้วการจ้างพี่เลี้ยง 1 คนก็มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 20,000-25,000 บาท ถ้ามีลูกแฝดกี่คนก็ลองคูณเข้าไปดูครับ) ถ้าสภาพทางการเงินของครอบครัวไม่มั่นคงจริงหรือไม่มีญาติพี่น้องคอยช่วยเลี้ยงเลย ผมว่าเป็นเรื่องที่หนักหนาเอาการเลยนะครับ
- ต้องเสียสละเวลาความเป็นส่วนตัว คุณแม่หรือคุณพ่อจะต้องเสียสละเวลาส่วนตัวของตัวเองเกือบทั้งหมดไปกับการดูแลเด็กทั้ง 2 คน เพราะเด็ก ๆ ที่กิน เล่น หรือตื่นไม่พร้อมกันจะเท่ากับว่าคุณแม่ต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็น 2 เท่าตลอด ไม่ว่าจะอาบน้ำ แต่งตัว การให้นม หรือการป้อนข้าว
ชนิดของครรภ์แฝดและภาวะเสี่ยง
ครรภ์แฝด มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ แฝดแท้ (เหมือนกันทุกอย่าง พบได้ราว 30% ของการตั้งครรภ์แฝดทั้งหมด) และแฝดเทียม (อาจเหมือนหรือไม่เหมือนก็ได้ เปรียบเสมือนพี่น้องที่คลานตามกันมา เป็นกรณีที่พบได้ประมาณ 70% ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด) สำหรับการตั้งครรภ์แฝดแท้นั้นถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าการตั้งครรภ์แฝดเทียม เพราะแฝดแท้นั้นเกิดจากการที่ตัวอ่อนมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นมามากกว่า 1 ภายหลังจากที่ตัวอ่อนได้ฝังตัวอยู่ในโพรงมดลูกแล้ว หากการแบ่งตัวนั้นเกิดขึ้นเร็ว ตัวอ่อนก็สามารถแยกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ มีถุงน้ำคร่ำอยู่คนละถุงแยกออกจากกัน โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทารกจึงมีน้อยลง แต่หากเกิดการแบ่งตัวล่าช้า แม้ว่าตัวอ่อนจะแบ่งตัวออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ก็ตาม แต่ก็อาจจะต้องมาอาศัยอยู่ภายในถุงน้ำคร่ำถุงเดียวกัน จึงมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรง (เช่น สายสะดือพันกันจนทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิต) หรือในกรณีที่มีการแบ่งตัวล่าช้ามากจนเกินไปก็จะทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ทารกจึงมีร่างกายบางส่วนติดกัน (Conjoined twin) อย่างแฝดสยามอิน-จันที่เราเคยได้ยินกันมานั่นแหละครับ สำหรับภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์แฝดนั้นผมจะกล่าวถึงเฉพาะอาการที่สำคัญและพบได้บ่อย ๆ ดังนี้ครับ
- ภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์แฝด เช่น คุณแม่มีอาการแพ้ท้องมากผิดปกติ (อาจถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล), รู้สึกอึดอัดหายใจไม่ออก, ท้องคุณแม่จะมีขนาดโตมากกว่าปกติ ส่งผลให้มีอาการปวดหลังได้มากกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์เดี่ยว, เกิดเลือดจางมากขึ้น มีภาวะซีดได้ง่าย, มีโอกาสเกิดอาการครรภ์เป็นพิษหรือความดันโลหิตสูงมากกว่าครรภ์เดี่ยว 2-3 เท่า, เกิดภาวะรกเกาะต่ำ/รกลอกตัวก่อนกำหนด, เสี่ยงต่อการแท้งบุตร, สายสะดือของทารกพันกัน, ทารกถ่ายเทเลือดให้กัน (ทำให้ทารกอีกคนเกิดภาวะขาดเลือด เจริญเติบโตไม่เท่ากัน ทำให้ทารกพิการหรือเสียชีวิต) ฯลฯ
- ภาวะแทรกซ้อนในระยะการคลอดบุตร เช่น เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดสูงมาก (คุณแม่ครรภ์แฝดทั่วไปมักจะคลอดก่อนกำหนดประมาณ 3-4 สัปดาห์ แต่ถ้าคลอดก่อนกำหนดมาก ๆ จะมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้มากเช่นกัน เช่น ปอดของทารกยังพัฒนาไม่สมบูรณ์และมักกลายเป็นโรคปอดเรื้อรัง เลือดออกในสมอง ลำไส้อักเสบ มีปัญหาเรื่องการหายใจและมีความเสี่ยงต่อการมองไม่เห็น เป็นต้น), แพทย์อาจต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอด (เช่น การใช้คีมหรือเครื่องดูดสุญญากาศ), คุณแม่มีโอกาสได้รับการผ่าตัดทำคลอดสูงมาก
- ภาวะแทรกซ้อนในระยะหลังคลอด เช่น การตกเลือดหลังคลอด, การติดเชื้อหลังคลอด, ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์, อัตราการตายของทารกมีมากกว่าทารกครรภ์เดี่ยว 2-3 เท่า ฯลฯ
โอกาสเกิดลูกแฝด
จากสถิติทั่วไปพบว่า การตั้งครรภ์แฝดสองจะเป็นกรณีที่พบได้บ่อยที่สุดครับ ในอัตรา 1 ต่อ 89 ราย (ในการตั้งครรภ์เดี่ยว 89 ราย จะพบครรภ์แฝดสองเพียง 1 ราย) ส่วนแฝดสามจะพบได้ยากขึ้นในอัตราส่วน 1 ต่อ 892 คือ 89 x 89 = 7,921 ราย และสำหรับแฝด 4 จะเป็นกรณีที่พบได้ยากมาก ๆ ในอัตรา 1 ต่อ 893 คือ 89 x 89 x89 = 704,969 ราย[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าการตั้งครรภ์แฝดสองจะพบได้ประมาณ 1% ของการตั้งครรภ์ทั่วไป (1 ใน 100 ราย) แต่จะมีอัตราการเกิดเพียง 1 ใน 250 ของการคลอดครรภ์แฝดทั้งหมดครับ[2]
ปัจจัยที่ทำให้ได้ลูกแฝด
- กรรมพันธุ์ ถ้าคนในครอบครัวมีประวัติการตั้งครรภ์แฝด คุณแม่จะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดมากขึ้น (การถ่ายทอดทางพันธุกรรมของครรภ์แฝดนั้นจะมาจากทางฝ่ายแม่มากกว่าฝ่ายพ่อ)
- เชื้อชาติ ถ้าคุณแม่เป็นชนชาติแอฟริกันจะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้มากกว่าคุณแม่ที่เป็นคนผิวขาวหรือคนผิวเหลือง (อัตราการเกิดครรภ์แฝดจะแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติ ในคนผิวสีจะพบได้ประมาณ 1-4% ส่วนคนผิวขาวจะพบได้ประมาณ 0.7-1% และในคนผิวเหลืองอย่างเอเชียบ้านเราจะอยู่ที่ประมาณ 0.3% และเกือบทั้งหมดจะเป็นแฝดเทียมหรือแฝดต่างไข่ครับ)
- จำนวนครรภ์หรือการตั้งครรภ์หลัง ๆ คุณแม่ที่เคยคลอดบุตรมาแล้วหลายคนจะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้มากขึ้นเช่นกัน เพราะการตั้งครรภ์หลายครั้งจะทำให้ไข่มีโอกาสตกเยอะขึ้น
- อายุของคุณแม่ในขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดมากกว่าการตั้งครรภ์ตอนอายุน้อย ๆ ถึง 4 เท่า (อุบัติการณ์สูงสุดจะอยู่ที่อายุ 35-39 ปี เนื่องมาจากการที่ไข่เหลือเก็บ ต้องถูกกระตุ้นมาก ร่างกายจึงหลั่งฮอร์โมน FSH ออกมาเยอะ ไข่จึงมีโอกาสตกครั้งละมากกว่า 1 ฟอง) แต่ไม่แนะนำให้คุณแม่มีลูกตอนอายุมาก ๆ นะครับ เพราะจะมีโอกาสเกิดภาวะเสี่ยงได้มากกว่าคุณแม่ที่มีอายุน้อยหลายเท่า
- น้ำหนักและส่วนสูง บางข้อมูลระบุว่าคุณแม่ที่เป็นโรคอ้วน (มีน้ำหนักตัวหรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 30) และมีรูปร่างสูง จะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดมากขึ้น (ข้อมูลจากนิตยสาร Real Parenting)
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม ผลงานวิจัยของ ดร.แกรี่ สไตน์แมน ประจำศูนย์การแพทย์ที่เมืองลองไอแลนด์ มลรัฐนิวยอร์ก บอกว่าผู้หญิงที่ดื่มนมมากกว่าปกติ 5 เท่าจะมีโอกาสได้ลูกแฝดมากกว่าผู้หญิงที่เป็นมังสวิรัติที่ไม่บริโภคอาหารประเภทเนื้อเลยถึง 5 เท่า !! นอกจากนี้ผลการวิจัยยังสันนิษฐานด้วยว่าโปรตีนที่พบในตับของสัตว์เป็นปัจจัยของการมีลูกแฝด เพราะโปรตีนชนิดนี้มีองค์ประกอบการเติบโตคล้ายอินซูลิน เรียกว่า IGF ที่พบได้ในนมวัวและผลิตภัณฑ์ของสัตว์อื่น ๆ ซึ่งเป็นโปรตีนที่จะช่วยให้รังไข่มีปฏิกิริยาไวขึ้นและช่วยเพิ่มจำนวนไข่ให้มากขึ้น
- การให้นมลูกอย่างต่อเนื่อง มีอีกหนึ่งงานวิจัยที่ระบุว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ให้นมลูกคนแรกอย่างต่อเนื่องจนถึงเวลาจะมีลูกในครรภ์ที่สอง จะมีโอกาสได้ลูกแฝดมากกว่าคุณแม่ที่ไม่ได้ให้นมลูก (ข้อมูลจากนิตยสาร Real Parenting)
- กินยาคุมเกิน 3 ปีขึ้นไป เพราะเมื่อหยุดกินยาแล้วจะทำให้ไข่ตกมากขึ้น (ฤทธิ์ของยาจะไปกดฮอร์โมนใต้สมองทำให้ไข่ไม่ตก พอหยุดกินฮอร์โมนที่ถูกกดไว้จะถูกปลดปล่อยออกมา) จึงทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้มากขึ้น (แต่หลาย ๆ คนที่อยากมีลูกเร็ว ๆ คงจะทำวิธีนี้ไม่ได้)
- ทานให้มาก ผู้หญิงที่กินเยอะ ๆ จะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้มากกว่า เนื่องจากร่างกายมีความสมบูรณ์มากกว่า (แต่ก็ไม่แนะนำอยู่ดีครับ เพราะถ้าอ้วนขึ้นมาจะส่งผลเสียต่อลูกในท้องได้ครับ)
- รับประทานกรดโฟลิก มีงานวิจัยจากประเทศออสเตรเลียที่พบว่า กรดโฟลิกมีส่วนช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์แฝดมากขึ้น แต่งานวิจัยนี้ยังมีนักวิจัยอื่น ๆ แย้งว่าเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยาก อย่างไรก็ตามการกินกรดโฟลิกก็เป็นเรื่องจำเป็นอยู่แล้วก่อนการตั้งครรภ์ (ข้อมูลจากนิตยสาร Real Parenting)
วิธีการมีลูกแฝด
สำหรับการมีลูกแฝดด้วยวิธีธรรมชาติตามที่กล่าวมานั้น แม้ว่าปัจจัยดังกล่าว “อาจจะ” ช่วยเพิ่มโอกาสให้มีลูกแฝดได้ก็ตาม แต่ถ้าคุณแม่ที่ไม่มีเชื้อชาติเป็นคนผิวสีหรือญาติทางฝ่ายคุณแม่ไม่เคยมีใครตั้งครรภ์แฝด ก็แทบจะไม่มีโอกาสที่จะได้ลูกแฝดเลยครับ พูดง่าย ๆ ก็คือหวังผลอะไรไม่ได้เลยครับ ถ้าจะเรียกว่าเป็นเรื่องของดวงหรือความฟลุกก็คงจะไม่ผิด เรียกได้ว่าซื้อหวยยังถูกง่ายกว่าเลยครับ
แต่วิธีที่เป็นไปได้มากที่สุดและหวังผลได้ก็คือการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อย่างการทำเด็กหลอดแก้วครับ เพราะเป็นกรณีที่พบได้บ่อยที่สุดของการตั้งครรภ์แฝด ซึ่งจะทำให้ได้ลูกแฝดมากกว่าธรรมชาติถึง 20 เท่า !! (โดยเฉพาะแฝดเทียม) หากแพทย์ทำการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปมากกว่า 1 ตัวก็จะมีความเป็นไปได้ว่าตัวอ่อนทุกตัวหรือมากกว่า 1 ตัวที่ย้ายเข้าไปจะมีโอกาสฝังตัวและเจริญเติบโตเป็นฝาแฝด ซึ่งตรงนี้ยังเป็นเรื่องที่เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ในปัจจุบันไม่สามารถควบคุมให้ได้ทารกตามจำนวนที่ต้องการได้ครับ เรื่องจำนวนทารกจึงเป็นเรื่องของดวงหรือความฟลุกอีกเช่นกันครับ
อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วการทำเด็กหลอดแก้วจะมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ของผู้ที่มีบุตรยากเท่านั้นครับ ไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดการตั้งครรภ์แฝดเหมือนที่หลาย ๆ คนเข้าใจ เพราะการตั้งครรภ์แฝดนั้นถือเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพคุณแม่และทารกในครรภ์ ถ้าคุณแม่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการมีบุตรยาก แพทย์ก็คงไม่อยากเสี่ยงทำให้หรอกครับ แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากและหวังฟลุกอยากมีลูกแฝด ถ้าเป็นโรงพยาบาลของเอกชนก็จะมีค่าใช้จ่ายในการทำเด็กหลอดแก้วร่วมกับการทำอิ๊กซี่ (IVF/ICSI) อยู่ที่ประมาณ 150,000-200,000 บาทครับ (ถ้าเป็นโรงพยาบาลของรัฐบาลเขาจะไม่ให้เลือกครับว่าจะคุณจะเอาลูกแฝดหรือไม่ หรือจะเอาลูกแฝดกี่คน เพราะเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรม แม้ว่าปกติแล้วหมอจะต้องใส่ตัวอ่อนมากกว่า 1 ตัวก็ตาม (ไม่เกิน 3) แต่นั่นก็หวังให้ติดเพียงแค่ 1 คนเท่านั้น ถ้าใส่เกินนี้และเกิดติดทั้งหมด ก็จะเป็นอะไรที่เสี่ยงมากครับ แต่ถ้าคุณแม่หวังฟลุกอยากจะได้ลูกแฝดจริง ๆ ก็คงต้องปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนครับ)
เพราะฉะนั้นแล้วการตั้งครรภ์ที่มีทารกเพียงคนเดียว จึงมีความปลอดภัยมากกว่า แถมคุณแม่ยังสามารถเอาใจใส่ดูแลลูกน้อยได้อย่างเต็มที่ ผมจึงอยากให้คุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่ได้ปรับเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการมีลูกแฝดว่า อย่ามองแต่เพียงความน่ารักของตัวเด็กแล้วเกิดความคิดที่อยากจะมีลูกแฝดเหมือนครอบครัวอื่น ๆ ผมอยากให้คุณแม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความสมบูรณ์ของลูกน้อยมาเป็นอันดับแรก เพราะแม้จะมีหลาย ๆ ครอบครัวที่โชคดีมาก ๆ ที่สามารถผ่านพ้นความเสี่ยงต่าง ๆ มาได้ตลอดการตั้งครรภ์ แต่ก็มีอีกหลายครอบครัวเลยครับที่ต้องผิดหวังไปกับการสูญเสียทารกในครรภ์จากการตั้งครรภ์แฝด แถมยังต้องมาลุ้นกันต่ออีกว่าลูกแฝดที่ออกมานั้นจะเป็นแฝดแท้ที่มีหน้าตาเหมือนกันอย่างที่คุณแม่ต้องการหรือเปล่า เพราะถ้าลูกแฝดเทียมขึ้นมาก็คงไม่ต่างอะไรจากพี่น้องที่คลานตามกันมาหรอกครับ อีกทั้งโอกาสที่จะได้แฝดเทียมก็มีสูงกว่าแฝดแท้ด้วยครับ ยังไงก็ลองนำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการตัดสินใจกันดูนะครับ
เรื่องแปลกของครรภ์แฝด
- ความต่างของแฝดแท้ แฝดแท้แม้ว่าจะมี DNA เหมือนกัน (เพราะเกิดจาก Zygote เดียวกัน) แต่สิ่งที่เกิดจากการเลี้ยงดู อาหารการกิน และสภาพแวดล้อม อาจทำให้ลักษณะต่าง ๆ ของฝาแฝดแท้ไม่เหมือนกันก็ได้ครับ กล่าวคือ หน้าตาตอนโต (อาจเพี้ยนต่างกันไปบ้าง), ลายนิ้วมือ, ม่านตา เป็นต้น
- เรื่องบังเอิญของฝาแฝดที่ถูกแยกกันเลี้ยง เป็นเรื่องของแฝดคู่หนึ่งที่ถูกแยกเลี้ยงโดยพ่อ-แม่บุญธรรมที่อยู่ในรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทั่งคู่มีชื่อว่า James เหมือนกัน (คือ James Edward Lewis กับ James Arthur Springer) ต่อมาทั้งคู่ได้มีโอกาสเจอกันตอนอายุ 39 ปี ซึ่งก่อนหน้าที่จะได้เจอกันทั้งคู่ต่างได้ทำงานเกี่ยวกับกฎหมาย (เป็นนายอำเภอและหน่วยรักษาความปลอดภัย), ในหนึ่งวันทั้งคู่ชอบมีอาการปวดหัวในเวลาเดียวกัน, มีสุนัขชื่อ Toy เหมือนกัน, แต่งงานมาแล้วสองครั้งเหมือนกัน ภรรยาคนแรกมีชื่อว่า Linda และมีภรรยาคนที่สองชื่อ Betty เหมือนกัน แถมยังมีลูกชายชื่อ James Alan เหมือนกันเป๊ะ ๆ อีกด้วย !!
- ในครรภ์เดียวมีทั้งแฝดแท้และแฝดเทียม จากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์พบว่ามีบางกรณีที่เมื่อทำการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไป 2 ตัว แต่สุดท้ายกลับได้ทารกมากกว่า 2 คน ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดจากตัวอ่อนตัวใดตัวหนึ่งมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นมาในภายหลัง จึงกลายเป็นว่ามีทั้งแฝดแท้และแฝดเทียมในคราวเดียว หรือบางกรณีก็อาจเกิดจากการที่มีแค่ตัวอ่อนเพียงตัวเดียวที่ฝังตัวได้จากตัวอ่อนทั้งหมดทั้ง 2 ตัวที่ย้ายกลับกลับเข้าไป แล้วตัวอ่อนที่ฝังตัวได้นั้นเกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเป็นแฝดแท้ 3 คน
- แฝดท้องเดียวแต่คนละพ่อ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่โปแลนด์ โดยที่คุณแม่ได้คลอดเด็กออกมาเป็นแฝดหญิงและแฝดชาย แต่เธอไม่แน่ใจว่าเป็นลูกของใครกันแน่ระหว่างชู้และสามี เธอจึงได้ตรวจพิสูจน์เพื่อหาว่าใครเป็นพ่อที่แท้จริง แต่เมื่อผลตรวจ DNA ออกมาก็ชวนให้เธอประหลาดใจมาก เพราะลูกชายดันมี DNA ตรงกับสามี แต่ลูกสาวกลับมี DNA ตรงกับชู้ของเธอ ซึ่งแพทย์ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เกิดจากแม่ของเด็กแฝดตกไข่ 2 ฟองพร้อมกัน และช่วงที่ตกไข่ได้ไปมีเพศสัมพันธ์กับชาย 2 คน จึงเป็นผลให้เกิดปรากฏการณ์แฝดต่างพ่อนั่นเอง
- ฝาแฝดที่เกิดห่างกันถึง 87 วัน เป็นเรื่องราวของคุณแม่ชาวไอร์แลนด์ชื่อ “มาเรีย” ที่เธอเริ่มเจ็บท้องคลอดตอนตั้งครรภ์ได้เพียง 24 สัปดาห์ (ปกติคือ 40 สัปดาห์) และหลังจากนั้น 2 วันเธอได้ให้กำเนิดลูกสาวที่เป็นแฝดพี่ชื่อ “เอมี่” แต่เรื่องแปลกที่เกิดขึ้นก็คือเธอไม่มีอาการเจ็บท้องคลอด (ลูกอีกคน) เลย ทั้ง ๆ ที่แพทย์ให้ยากระตุ้นแล้ว จนกระทั่งตั้งครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ เธอก็ได้ให้กำเนิดลูกแฝดอีกคนชื่อ “เคธี่” โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอดเลย ที่สำคัญก็คือเด็กทั้งคู่ปลอดภัยครับ
- แฝดมากที่สุดในโลก ในที่นี้จะพูดถึงแฝดที่คลอดออกมาแล้วมีชีวิตรอดครับ เท่าที่มีการบันทึกทางการแพทย์ พบว่าแฝดที่มากที่สุดและมีชีวิตรอดได้ทั้งหมดนานกว่า 7 วัน คือ แฝด 8 (แฝดแปดคน) แบ่งเป็นชาย 6 คน และหญิง 2 คน ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับหญิงสาวชาวไนจีเรียชื่อ Nadya Suleman อายุ 33 ปี ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้เองครับ เมื่อปี ค.ศ.2009 จึงทำให้เธอได้รับฉายาจากสื่อว่า Octomom (คุณแม่แฝดแปด)
- แฝดที่มีจำนวนมากที่สุดที่เคยเกิดขึ้นบนโลก เป็นกรณีของแฝดที่เกิดขึ้นพร้อมกันในครรภ์เดียวที่เรียกว่า แฝดเก้า (Nonuplets) ที่เคยเกิดขึ้นเพียง 3 ครั้งเท่านั้น และทั้งหมดได้เสียชีวิตก่อน 7 วันทั้งสิ้น
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด. “ครรภ์แฝด”. (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ)”. หน้า 230-237.
- หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ. “ครรภ์แฝด”. (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์)”. หน้า 156-157.
- ข้อมูลอื่น ๆ จากอินเทอร์เน็ต
ภาพประกอบ : cutebabypictures.org, www.timesunion.com, thesun.co.uk
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)