16 วิตามินและสมุนไพรตัวช่วยเสริมภูมิต้าน COVID-19 !

การระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทำให้ประชาชนเกิดความเครียดวิตกกังวลไปตาม ๆ กัน เพราะในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เลย และเมื่อคนไม่ป่วยอยากจะหาทางป้องกัน COVID-19 ดีกว่าจะรอให้ตัวเองติดเชื้อ วิธีรับมือเดียวที่ดีที่สุดจึงคือการหันมาเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อและทำลายเชื้อหลังได้รับเชื้อ ซึ่งนอกจากการออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว อีกหนึ่งวิธีสำคัญไม่แพ้กันเลยนั่นก็คือ การรับประทานอาหาร สมุนไพร และวิตามินที่สามารถช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและต้านไวรัสได้นั่นเอง

หากเราเตรียมความพร้อมสร้างสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยการออกกำลังกายและรับประทานสารอาหารที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันและมีศักยภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส ก็จะเป็นเกราะป้องกันตนเองช่วยลดโอกาสติดเชื้อไวรัส หรือหากติดเชื้อแล้วก็อาจช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงจนเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังต่าง ๆ ที่มักจะเสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้

วิตามินสมุนไพรต้าน COVID-19

สำหรับสารอาหาร วิตามิน และพืชผักสมุนไพรหลายชนิดที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ แม้หลาย ๆ ตัวจะยังไม่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ COVID-19 มากนัก แต่ก็พบเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการติดเชื้อไวรัสก่อโรค ต้านการอักเสบ และอาจช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสได้

1. วิตามินซี (Vitamin C) วิตามินซีที่แนะนำในที่นี้คืออาหารเสริมนะครับ ไม่ใช่วิตามินซีที่ได้รับจากการรับประทานอาหารปกติ เพราะส่วนใหญ่เราจะได้รับวิตามินซีจากอาหารไม่เพียงพออยู่แล้วในแต่ละวัน (ปกติร่างกายต้องการวันละ 500 มิลลิกรัม) โดยประโยชน์หลัก ๆ ของวิตามินซีตามงานวิจัยก็คือ เป็นสารแอนติออกซิแดนท์ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของภูมิต้านทานต่อโรคติดเชื้อ อาจช่วยลดการอักเสบต่าง ๆ ได้, มีฤทธิ์เพิ่มการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งในการฆ่าเชื้อโรค, ช่วยซ่อมแซมเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ รวมไปถึงเส้นเลือดหัวใจเส้นเลือดในร่างกาย, ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดสีได้ช้าลง ผิวจึงดูกระจ่างใสสว่างขึ้นเมื่อทานครบเดือน, สร้างคอลลาเจนเพราะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จึงมีส่วนช่วยชะลอวัย ฯลฯ

แต่สำหรับการทานวิตามินซีเพื่อป้องกันหรือรักษา COVID-19 นั้น ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดที่ตอบคำถามในเรื่องได้ เพราะยังเป็นเรื่องใหม่ แต่จากที่เราทราบ COVID-19 ก็ถือว่าเป็นหวัดเป็นกลุ่มไวรัสก่อให้เกิดอาการหวัดเหมือนกัน จึงอาจอุปมาได้ว่าการทานวิตามินซีอาจมีส่วนช่วยป้องกันหรือรักษา COVID-19 ได้บ้าง เพราะวิตามินซีสามารถช่วยป้องกันหวัดได้ (ในบางกรณี) และช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของโรคหวัดได้นั่นเองครับ

  • การใช้วิตามินซีเพื่อรักษาผู้ป่วย COVID-19 ในจีน พบว่าวิตามินซีอาจรักษาโรคโควิด-19 ได้ครับ แต่เป็นการศึกษาของแพทย์จีนกับผู้ป่วยสูงอายุเพียง 1 รายที่มีอาการหนักมาก แล้วก็พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นจนสามารถกลับบ้านได้ แต่การรักษานี้ทำโดยการใช้วิตามินซีแบบฉีดนะครับ (ขนาดถึงวันละ 20 กรัม หรือ 20,000 มิลลิกรัม) ซึ่งตอนนี้ทางจีนก็กำลังทำการศึกษาในเคสอื่น ๆ เพิ่มเติมอยู่ครับว่าการใช้วิตามินซีแบบฉีดในขนาดสูงจะมีประโยชน์ต่อการรักษา COVID-19 มากน้อยเพียงใดครับ
    • อัพเดท (26/03/2020) : จากการศึกษาล่าสุดเพิ่มเติมในจีนที่ใช้วิตามินซีแบบฉีดเพื่อรักษาผู้ป่วย COVID-19 ในระดับปานกลางถึงรุนแรง จำนวน 50 ราย พบว่าโดยรวมได้ผลดี โดยปริมาณที่ใช้แตกต่างกันไปตามตั้งแต่ 2-10 กรัมต่อวัน[8]
  • คุณหมอแอนดรูย์ จี เวบเบอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอดและระบบหายใจโรงพยาบาลในกรุงนิวยอร์ค กล่าวว่า คนไข้ COVID-19 ที่มีอาการหนักจะได้รับวิตามินซีโดยการฉีดผ่านทางเส้นเลือดขนาดครั้งละ 1,500 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง เพราะพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับวิตามินซีจะมีอาการดีขึ้นกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับอย่างมาก และยังกล่าวต่อด้วยว่า ระดับของวิตามินซีในผู้ป่วย COVID-19 จะลดลงอย่างมากหากมีการติดเชื้อในกระแสเลือด มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องรักษาระดับวิตามินซีในร่างกายของป่วย
  • ในส่วนของการทานเพื่อป้องกัน พบว่าผู้ที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นประจำที่รับประทานวิตามินซีเป็นประจำทุกวันจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นหวัดได้ถึง 50% (นอกจากเสริมภูมิด้วยการทานวิตามินซีแล้ว ก็อย่าลืมออกกำลังกายกันเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงด้วยนะครับ เพราะล่าสุดมีเคสติด COVID-19 ในไทยที่หายได้เพียง 3 วันเนื่องจากผู้ป่วยเป็นผู้ที่ชอบออกกำลังกายเป็นประจำครับ) แต่ในกรณีของคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำตรงนี้วิตามินซีจะไม่ได้ช่วยป้องกันหวัดหรือลดความเสี่ยงในการเป็นหวัดได้นะครับ
  • ในส่วนของการทานเพื่อรักษา พบว่าการทานวิตามินซีเป็นประจำนั้นสามารถช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายและช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของโรคหวัดได้ (มีรายงานว่าผู้ที่ในร่างกายมีวิตามินซีอยู่ในระดับสูง เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดหรือเกิดการติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะหายได้เร็วกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รับวิตามินซีเสริมครับ) แต่ในผู้ที่ไม่เคยรับประทานวิตามินซีมาก่อนเลยนั้น หากเป็นหวัดแล้วจึงค่อยมาเริ่มทาน ตรงนี้วิตามินซีจะไม่ช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดได้ครับ สรุปคือต้องทานเสริมภูมิไว้ก่อนนะครับ
  • ขนาดวิตามินซีที่แนะนำให้รับประทาน สำหรับทานเพื่อเสริมภูมิต้านทานของร่างกายขนาดที่แนะนำคือวันละ 1,000 ถึงวันละ 2,000 มิลลิกรัม ส่วนในผู้ป่วยที่เป็นหวัดแล้วหรือเป็นภูมิแพ้บ่อย ๆ รวมถึงผู้ที่หวังผลในเรื่องการบำรุงผิวพรรณก็แนะนำให้ทานวันละ 2,000 – 3,000 มิลลิกรัมครับ
  • เลือกทานวิตามินซีแบบไหนยี่ห้อไหนดี ? สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่บทความ “12 อันดับวิตามินซียอดนิยม & คู่มือการเลือกซื้อวิตามินซี ! (2020)” ซึ่งเราได้ทำการจัดอันดับเอาไว้แล้ว โดยการให้คะแนนนั้นจะวัดจากความน่าเชื่อถือของแบรนด์ (พิจารณาจากข้อมูลในเว็บไซต์ของผู้ผลิต มาตรฐานการผลิต การรับรองต่าง ๆ ฯลฯ), ปริมาณของสารสำคัญ, ลักษณะบรรจุภัณฑ์ รวมถึงราคาเฉลี่ยต่อเม็ดครับ โดยอันดับ 1-12 นั้นเป็นดังนี้ครับ
    1. NAT C
    2. NOW Foods C-1000
    3. VISTRA Acerola Cherry 1000mg
    4. BLACKMORES BIO C 1000mg
    5. Thompson C 1000 mg
    6. NAT-C ESTER
    7. ACORBIC C-1000mg.
    8. Puritan’s Pride. C-TIME 1000
    9. DHC Vitamin C 1000
    10. C-FORCE Vitamin C 1000 mg
    11. LYNAE Vitamin C 1000 mg
    12. Pure Vita C-TIME 1000
วิตามินซีต้าน COVID-19
IMAGE SOURCE : Medthai

2. วิตามินดี (Vitamin D) สามารถช่วยลดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจากไวรัสและแบคทีเรีย เพราะเมื่อร่างกายติดเชื้อ เยื่อบุผิวทางเดินหายใจที่แข็งแรงจะช่วยป้องกันเชื้อไวรัสและแบคทีเรียเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ ซึ่งแหล่งวิตามินดีนั้นก็มาจากอาหารเสริมและแสงแดด นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไมประเทศเมืองหนาวที่แทบจะไม่มีแสงแดดนั้นจะมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 มากกว่าประเทศเมืองร้อนอย่างบ้านเราที่ไม่ค่อยขาดแคลนวิตามินชนิดนี้

  • ข้อมูลจากวารสารทางการแพทย์อังกฤษปี 2017 ที่ได้ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่กินอาหารเสริมวิตามินดีจำนวนเกือบ 11,000 ราย พบว่า การได้รับวิตามินดีสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจที่รุนแรงได้ (กลุ่มที่เสริมวิตามินดีจะมีโอกาสติดเชื้อทางช่องอกน้อยกว่าและการติดเชื้อก็รุนแรงน้อยกว่า โดยกลุ่มที่ได้รับวิตามินดีจะลดโอกาสติดเชื้อได้ 12% แต่กลุ่มที่ได้รับวิตามินดีทุกวันหรือทุกสัปดาห์จะมีผลป้องกันดีกว่าที่ 19% ส่วนผู้ที่ขาดวิตามินดีนั้นจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจถึง 70%)

3. สารรูติน (Rutin) เป็นสารพฤกษเคมีที่จัดอยู่ในกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์ (Bioflavonoid) ชนิดหนึ่งที่พบได้ในธรรมชาติ มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านไวรัส ต้านจุลินทรีย์ ต้านการอักเสบ ต้านเซลล์มะเร็ง ต้านอาการภูมิแพ้ ช่วยให้หลอดเลือดฝอยและหลอดเลือดดำแข็งแรง ป้องกันภาวะการเกิดลิ่มเลือด และรูตินยังช่วยให้วิตามินซีถูกดูดซึมได้ดียิ่งขึ้นด้วย (อาหารเสริมวิตามินซีบางยี่ห้อจะมีรูตินเสริมมาให้ด้วยครับ ซึ่งเท่าที่ทางทีมงานเลือกซื้อมาหลาย ๆ ยี่ห้อก็จะมีแต่ยี่ห้อ NAT C ครับที่มีรูตินเสริมมาให้สูงถึง 50 มิลลิกรัมต่อเม็ด)

  • สารรูตินพบได้ค่อนข้างมากในเปลือกส้ม เปลือกมะนาว มะกรูด องุ่น แอปเปิ้ล และในเบอร์รี่อีกหลายชนิด

4. สารเฮสเพอริดิน (Hesperidin) เป็นสารประกอบในกลุ่มฟลาโวนอยที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ ยับยั้งขบวนการทำลายเซลล์ ต้านการอักเสบ ช่วยให้ผนังหลอดเลือดมีความแข็งแรงและยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือด ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของวิตามินซี ฯลฯ

  • สารเฮสเพอริดินพบได้ค่อนข้างมากในผลไม้ตระกูลส้มและผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว นอกจากนี้ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมวิตามินซีบางสูตรก็มีเฮสเพอริดินเป็นส่วนผสมด้วยเช่นกัน เช่น วิตามินซี NAT C 1000 mg. มีเฮสเพอริดิน 50 มิลลิกรัม, วิตามินซี Blackmores 1000 mg. มีเฮสเพอริดิน 50 มิลลิกรัม, วิตามินซี Thompson 1000 mg. มีเฮสเพอริดิน 10 มิลลิกรัม
วิตามินซีต้านโควิด-19
IMAGE SOURCE : Medthai

5. ซิงค์ (Zinc) หรือแร่ธาตุสังกะสี เป็นสารอาหารที่ร่างกายไม่สามารถเก็บสะสมไว้ได้ มนุษย์ต้องบริโภคอาหารที่มีซิงค์ทุกวัน โดยจะมีประโยชน์ในเรื่องการช่วยเสริมภูมิต้านทาน (ควบคุมเม็ดเลือดขาวให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีการเคลื่อนไหวในการกำจัดเชื้อโรคได้เร็วขึ้น จึงช่วยในการป้องกันเชื้อไวรัสและสิ่งแปลกปลอมไม่ให้ทำร้ายร่างกายได้) และมีประสิทธิภาพในการยับยั้งไวรัสหลายชนิด (ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในคอและช่องจมูก) แต่สำหรับโรคอุบัติใหม่อย่าง COVID-19 นั้นยังคงต้องรอการพิสูจน์ต่อไปครับว่าจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน

  • การศึกษาในปี 1996 เรื่องการใช้ซิงค์ในการรักษาโรคไข้หวัดในผู้ป่วย 100 ราย พบว่าผู้ป่วยมีอาการหวัดดีขึ้นภายใน 4.4 วัน เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกที่จะมีอาการดีขึ้นใน 7.6 วัน (แต่ระยะเวลาการหายจากการมีไข้ อาการปวดกล้ามเนื้อ และการจามทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน)
  • มีการสรุปงานวิจัยชนิด Randomized Controlled Trials จำนวน 18 เรื่อง ที่มีผู้เข้าร่วมในทุกช่วงอายุรวมกว่า 1,781 ราย พบว่าซิงค์สามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้ จึงทำให้อาการของโรคหวัดหายเร็วขึ้นเมื่อใช้ภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อเริ่มมีอาการและใช้ในขนาดมากกว่าวันละ 75 มิลลิกรัม
  • งานวิจัยในปี 2010 พบว่าซิงค์มีกลไกลการออกฤทธิ์โดยการยับยั้ง RNA-dependent RNA polymerases และยับยั้งโปรตีนอีกหลายชนิดที่ไวรัสต้องใช้เพื่อเพิ่มจำนวนได้ นอกจากนี้ซิงค์ยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น โดยไปกระตุ้นให้เกิดการสร้าง Cytokine และควบคุมการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกัน (Immune Cell)
  • อาหารในธรรมชาติที่มีแร่ธาตุชนิดนี้อยู่มาก ได้แก่ หอยนางรม หอยแมลงภู่ ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน ตับ เนื้อหมู เนื้อวัว ผักคะน้า หน่อไม้ฝรั่ง เมล็ดฟักทอง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง เป็นต้น
  • การทานซิงค์ร่วมกับวิตามินซีจะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการเสริมภูมิต้านทานให้มากยิ่งขึ้น อย่างการศึกษาในโรคหวัดซึ่งเป็นการติดเชื้อไวรัสอย่างหนึ่ง

6. สารกลุ่มแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) เป็นสารประกอบในกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยเสริมการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบ ปกป้องหลอดเลือด กระตุ้นการไหลเวียนเลือด และต้านเชื้อไวรัสได้

  • พบสารกลุ่มแอนโทไซยานินได้มากในผักผลไม้หลากสี ได้แก่ เมล็ดทับทิม, แบล็กเคอร์เร้นท์, แบล็กเบอร์รี่, บลูเบอร์รี่, ราสเบอร์รี่, สตรอเบอร์รี่, เชอร์รี่, องุ่นแดง, ข้าวโพดสีม่วง, กะหล่ำแดง, หอมหัวใหญ่สีแดง, มะเขือยาว, ข้าวเหนียวดำ, ถั่วดำ, ลูกหม่อน ฯลฯ

7. สารเควอซิติน (Quercetin) เป็นสารในกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์เช่นกัน พบได้ในธรรมชาติ ร่างกายเราไม่สามารถผลิตขึ้นเองได้ และต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น โดยมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการติดเชื้อไวรัส ลดโอกาสติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของไรโนไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้หวัดในหลอดทดลอง และลดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอดในสัตว์ทดลองได้

  • อาหารที่พบว่ามีสารเควอซิตินสูง ได้แก่ พลูคาว, หอมแดง, หอมหัวใหญ่, มะรุม, ใบหม่อน, แอปเปิล

8. สารอัลลิซิน (Allicin) ในกระเทียม เป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อโรคอีกหลายชนิด อีกทั้งยังช่วยให้ระบบการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น เม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายแข็งแรงขึ้น (มีการศึกษาที่พบว่าผู้ที่รับประทานกระเทียมเป็นประจำจะมีโอกาสป่วยน้อยลงและหายจากอาการป่วยจากโรคติดเชื้อได้เร็วขึ้น)

กระเทียมต้านโควิด-19
IMAGE SOURCE : 123RF

9. โสม (Ginseng) เป็นสมุนไพรที่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์ว่าช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรง โดยสมุนไพรชนิดนี้จะเข้าไปทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพผ่านกลไกต่าง ๆ มากมาย และช่วยลดการอักเสบในระดับเซลล์ ซึ่งถ้าปล่อยให้มีการอักเสบเรื้อรังก็จะนำไปสู่โรคต่าง ๆ มากมายรวมทั้งมะเร็งด้วย

โสมต้านโควิด-19
IMAGE SOURCE : 123RF

10. เอ็กไคนาเซีย (Echinacea) เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณฟื้นภูมิคุ้มกัน เพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกายสู้กับหวัดได้ดีขึ้น (ช่วยลดความถี่ อาการ และระยะเวลาในการเป็นหวัดได้) จากการศึกษาวิจัยพบว่า สมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการติดเชื้อไวรัส เชื้อรา และเชื้อแบคทีเรีย, กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวให้ทำหน้าหน้ากำจัดเชื้อโรค, เพิ่มการเคลื่อนไหวของเม็ดเลือดขาวในการเข้าหาสิ่งแปลกปลอม, เพิ่มการผลิตเซลล์ T-Lymphocyte เพื่อต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมให้มากขึ้น มีผลให้ระบบภูมิต้านทานโรคสามารถกำจัดเชื้อโรคได้เร็วกว่าปกติ

เอ็กไคนาเซียต้านโควิด-19
IMAGE SOURCE : 123RF

11. สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ในฟ้าทะลายโจร มีสรรพคุณหลัก ๆ คือ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ และต้านไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจต่าง ๆ โดยจะไปแย่งจับกับ Adenosine receptor ทำให้ไวรัสไม่มีที่จับและเข้าไปทำลายเซลล์เราได้น้อยลง ซึ่งการนำมาใช้รักษาโรคหวัดทั่วไปก็มีผลการศึกษาชัดเจนครับว่าช่วยได้ โดยสามารถลดความรุนแรงของโรคอย่างอาการไข้ อาการ และอาการเจ็บคอได้ แต่การนำมาใช้กับโรค COVID-19 ยังต้องรอผลการศึกษาที่ชัดเจนต่อไป

  • มีการศึกษาในประเทศจีนพบว่า สารแอนโดรกราโฟไลด์มีผลต่อเชื้อ COVID-19 ทำให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์น้อยลงและการแบ่งตัวของไวรัสลดน้อยลง แต่การนำมาใช้จะต้องการศึกษาข้อมูลเรื่องนี้ในประเทศไทยด้วย ซึ่งในไทยตอนนี้ก็ได้ทำการศึกษาทดลองไปแล้วในหลอดทดลองครับ โดยพบว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจรสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัส COVID-19 ในหลอดทดลองได้ แต่การนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้รักษาผู้ป่วย COVID-19 จริง ๆ นั้นยังคงต้องใช้เวลาในการศึกษา เพราะต้องนำมาทดลองใช้กับผู้ป่วยโรค COVID-19 และผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ว่าสารในสมุนไพรชนิดนี้จะช่วยให้อาการผู้ป่วยดีขึ้นหรือไม่อย่างไร
  • ล่าสุด (19/04/2020) ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เผยผลการทดลองจำนวน 3 การทดลอง โดยพบว่า ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งและฆ่าเชื้อไวรัส COVID-19 และยับยั้งไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนเซลล์ ซึ่งการศึกษานี้ยังเป็นการศึกษาในหลอดทดลองเบื้องต้นเท่านั้น ยังต้องมีการศึกษาในผู้ป่วยจริง ๆ ต่อไปเพื่อดูว่าจะได้ผลจริงหรือไม่อย่างไร
    • การทดลองที่ 1 : (Cell protection test) : ทดสอบโดยการนำฟ้าทะลายโจรมาใส่ในเซลล์เพาะเลี้ยง แล้วดูว่าเซลล์นั้นจะยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้หรือไม่ ซึ่งผลการทดลองก็พบว่า ฟ้าทะลายโจรไม่สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสได้
    • การทดลองที่ 2 : (Viral inactivation test) : ทดสอบโดยการนำฟ้าทะลายโจรมาผสมกับเชื้อ COVID-19 โดยตรง เพื่อดูว่าฟ้าทะลายโจรจะฆ่าเชื้อไวรัสนี้ได้หรือไม่ โดยผลการทดลองพบว่า เชื้อไวรัสมีปริมาณลดลง นั่นหมายความว่าสารในฟ้าทะลายโจรสามารถฆ่าและยับยั้งเชื้อไวรัสได้
    • การทดลองที่ 3 : (Antiviral test) : ทดสอบโดยการทำให้เซลล์ติดเชื้อไวรัส COVID-19 แล้วนำอาหารที่ผสมกับฟ้าทะลายโจรในระดับความเข้มข้นต่าง ๆ มาเลี้ยงไวรัส ผลการทดลองพบว่า ฟ้าทะลายโจรสามารถเข้าไปยับยั้งไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนได้
  • สมุนไพรฟ้าทะลายโจรเมื่อทานเข้าไปแล้วสามารถสร้างสมดุลให้ร่างกายได้ เพราะมีฤทธิ์เป็นยาเย็นช่วยทำให้มีการหลั่งสารคัดหลั่งในทางเดินหายใจที่จะช่วยป้องกันเคลือบให้ไวรัสโจมตีเข้าถึงปอดได้ยากขึ้นและช่วยขับไวรัสออกจากทางเดินหายใจได้เร็วขึ้น
  • สำหรับการทานเพื่อป้องกันหรือเสริมภูมิคุ้มกันหวัดทั่วไป แนะนำให้ใช้เฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีประวัติเป็นหวัดบ่อย ติดเชื้อง่าย โดยให้ทานวันเว้นวันในปริมาณน้อยระยะไม่เกิน 3 เดือน ส่วนการรับประทานเมื่อมีอาการหวัดแล้ว เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูกใส ปริมาณที่ทานจะมากกว่าปกติมากครับ (ควรสอบถามเภสัชกรถึงปริมาณยาที่ใช้ เพราะสมุนไพรฟ้าทะลายโจรแต่ละยี่ห้ออาจมีขนาดของสารสำคัญไม่เท่ากัน) เมื่อหายแล้วก็ให้หยุดทานทันทีเพราะสมุนไพรชนิดนี้ทานต่อเนื่องไม่ได้ แต่ถ้าทานแล้วภายใน 24 ชั่วโมงอาการยังไม่ดีขึ้นให้หยุดทานแล้วรีบไปพบแพทย์ครับ (ในช่วงที่ COVID-19 ระบาด หากคุณมีอาการไอ เจ็บคอ มีไข้ เหนื่อยหอบ หรือเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง แนะนำว่าควรไปพบแพทย์เพื่อคัดกรองอาการก่อนใช้ฟ้าทะลายโจรจะดีกว่านะครับ)
  • ในคนที่มีร่างกายปกติไม่แนะนำให้ทานเพื่อการป้องกัน เพราะสมุนไพรชนิดนี้มีผลข้างเคียงมาก แต่แนะนำให้ใช้ตอนเป็นหวัดทั่วไปเท่านั้นจึงจะได้ประโยชน์มากที่สุด
  • ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้ในผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร, ผู้ที่มีความผิดปกติของตับและไต, หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร (เพราะมีฤทธิ์เย็น อาจทำให้ทารกผิดปกติและเป็นอันตรายได้) และควรระมัดระวังเมื่อใช้ร่วมกับยาลดความดัน (เพราะอาจเสริมฤทธิ์กัน), ยากดภูมิ (สมุนไพรจะไปลดฤทธิ์ยา), สารกันเลือดเป็นลิ่มและยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (เช่น วาฟาร์ริน แอสไพริน)
  • ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้ในขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทําให้แขนขาชาหรืออ่อนแรง หรือเป็นพิษต่อตับได้ ยกเว้นจะอยู่ในความดูแลของแพทย์
  • เมื่อมองในภาพรวมแล้ว ฟ้าทะลายโจรนั้นเป็นสมุนไพรที่ดี และอาจใช้ได้ผลกับ COVID-19 แต่ถ้าป่วยเป็น COVID-19 ก็ยังไม่แนะนำให้ใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาตัวเองนะครับ แนะนำให้เข้ารับรักษาตามกระบวนการของระบบสาธารณสุขจะดีกว่าครับ เพราะยังมียาอีกหลายตัวที่เริ่มใช้ได้ผลกับ COVID-19 และเรายังไม่ทราบว่าการนำฟ้าทะลายโจรมาใช้กับผู้ป่วยจริง ๆ ผลจะเป็นอย่างไร มีผลข้างเคียงมากน้อยแค่ไหน
ฟ้าทะลายโจรต้านโควิด-19
IMAGE SOURCE : 123RF

12. สารเคอร์คิวมิน (Curcumin) ในขมิ้นชัน เป็นสารช่วยปรับปรุงภูมิคุ้มกัน (Immunomodulation) ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันคอยทำลายเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกาย และยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอื่น ๆ ทำงานร่วมกันในการปกป้องร่างกายจากเชื้อโรคได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยช่วยปิดประตูกั้นไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์และปอดได้ 1 ใน 5 ช่องทาง* (เชื้อไวรัส COVID-19 เป็นเชื้อไวรัสในตระกูลโคโรน่า ซึ่งมักโจมตีระบบทางเดินหายใจของผู้คน โดยเฉพาะอวัยวะที่สำคัญนั้นก็คือ ปอด)

  • การที่เชื้อไวรัส COVID-19 จะเข้าสู่ปอดได้จะต้องใช้ 5 ช่องทางเหล่านี้ คือ ACE2 receptor, APN, DPP4, CEACAM1 และ Cellular serine protease TMPRSS2 แต่สารเคอร์คิวมินนั้นสามารถปิดประตูกั้นเชื้อในช่องทาง APN ได้ ส่วนช่องทาง DPP4 ก็พบว่าผักเชียงดาสามารถยับยั้งได้ ส่วนอีก 3 ช่องทางที่เหลือปัจจุบันยังไม่พบว่ามีสารสกัดใดสามารถยับยั้งหรือปิดกั้นประตูเหล่านี้ได้ ซึ่งก็คงต้องรอการศึกษาวิจัยต่อไปครับ
  • ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา จากการจำลองภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์ของเชื้อไวรัส COVID-19 และสารสำคัญในสมุนไพรหลากหลายชนิด ที่ดำเนินการโดยนักวิจัยประเทศอินโดนีเซีย พบว่าสาร Curcumin มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Protease enzyme ทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนในเซลล์ได้
ขมิ้นชันต้านโควิด-19
IMAGE SOURCE : 123RF

13. สารสกัดจากพลูคาว (Houttuynia cordata Extract) พลูคาวเป็นสมุนไพรในกลุ่มที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้โดยตรงและยังช่วยปรับภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงด้วย โดยสามารถยับยั้งหรือฆ่าเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วยกลไกลการยับยั้งเอนไซม์ SARS-3CL protease ที่ไวรัสใช้ในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน และไปขัดขวางเอนไซม์ RNA polymerase ที่คอยสังเคราะห์พันธุกรรมให้ไวรัสนำไปใช้ในการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวน จึงทำให้ไวรัสไม่สามารถแบ่งตัวหรือเพิ่มจำนวนตัวเองได้และจะถูกระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายกำจัดไป นอกจากนี้พลูคาวยังมีคุณสมบัติแก้การอักเสบ รวมทั้งการอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ทำให้ปอดอักเสบอย่างรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก คือถ้าหยุดการอักเสบก็เท่ากับว่าเกือบชนะโรค COVID-19 ได้แล้วนั่นเอง

14. ชาเขียว (Green tea) สมุนไพรในกลุ่มที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้โดยตรง โดยมีสารออกฤทธิ์สำคัญ คือ Epigallocatechin gallat (EGCG) และสาร Gallocatechin gallate (GCG) ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามันมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและสามารถฆ่าเชื้อไวรัสด้วยกลไกยับยั้งเอนไซม์ที่ไวรัสใช้ในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน

  • งานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนมีนาคม 2020 ที่ผ่านมา พบว่าสารออกฤทธิ์สำคัญในชาเขียวมีฤทธิ์ในการเข้าไปขัดขวางและยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 3CL protease ซึ่งเป็นเอนไซม์ SARs-CoV 2 ใช้ในการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนเวลาที่คนเราหายใจเข้าสู่ปอด (เป็นกลไกเดียวกับยาเคมีที่นำมารักษาการติดเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างเช่นยา Favipiravir หรือ Avigan) และยังขัดขวางเชื้อไวรัสไม่ให้จับกับเซลล์ปอดได้ถนัด จึงช่วยลดการติดเชื้อไวรัสเมื่อสูดเอาเชื้อผ่านทางลมหายใจเข้าไป

15. เจียวกู่หลาน (Jiaogulan) สมุนไพรในกลุ่มที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้โดยตรงเช่นกัน โดยมีสารออกฤทธิ์คือ สารแคมพ์เฟอรอล (Kaempferol) ซึ่งจากการศึกษาพบว่า สารนี้สามารถฆ่าเชื้อไวรัสด้วยกลไกการยับยั้งช่องทางที่ไวรัส COVID-19 จะเข้าสู่ร่างกายหรือเซลล์ปอด

16. สารเซซามอล (Sesamol) ในงาขี้ม่อน งาขาว และงาดำ มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยให้เซลล์ที่ดีมีกำลังต้านการติดเชื้อไวรัส และยับยั้งพร้อมกับทำลายเซลล์ไม่ดีหรือเซลล์มะเร็ง และที่สำคัญสารนี้ยังช่วยทำให้ระบบหายใจทำงานดี ลดการติดเชื้อในปอด และปอดทำงานได้เต็มที่ ช่วยยับยั้งสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ เช่น สาร IL-1 , IL-6 และ TNF-alpha ที่หลั่งออกมาในระดับมากเกินพอดีในขณะที่เราติดเชื้อ COVID-19 (คาดว่าอาจช่วยลดความรุนแรงของความเสียหายของปอดซึ่งเป็นเป้าหมายการโจมตีหลักของเชื้อ COVID-19 ได้)

สารเซซามอลต้านโควิด-19
IMAGE SOURCE : 123RF

นอกจากการดูแลตัวเองด้วยการเสริมสารอาหารและวิตามินดังกล่าวเพื่อดูแลป้องกันตัวเองเบื้องต้นแล้ว เรื่องสำคัญอีกอย่างในการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากเชื้อ COVID-19 ได้นั่นก็คือ “ล้างมือ กินร้อน ใช้ช้อนของตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย และเน้นหลัก Social Distancing

เอกสารอ้างอิง
  1. กรุงเทพธุรกิจ. “สู้โควิด-19 ด้วยวิตามินซี”. (ดร.แอนดรูย์ จี เวบเบอร์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bangkokbiznews.com. [02 เม.ย. 2020].
  2. โพสทูเดย์. “เข้าใจทุกเรื่องเกี่ยวกับ Vitamin C”. (นพ.ฆนัท ครุฑกูล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.posttoday.com. [02 เม.ย. 2020].
  3. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. “กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำผัก ผลไม้ สมุนไพร 3 กลุ่ม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dtam.moph.go.th. [03 เม.ย. 2020].
  4. เดลินิวส์. “แดดดี-วิตามินดีสร้างภูมิคุ้มกันสยบโควิด”. (ดร.จอห์น แคมพ์เบล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dailynews.co.th. [04 เม.ย. 2020].
  5. แนวหน้า. “บทบาทของ Zinc ในการรักษาผู้ป่วย COVID-19”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.naewna.com. [09 เม.ย. 2020].
  6. โพสทูเดย์. “มหากาพย์ ‘ฟ้าทะลายโจร’ กินเสริมเกราะ แต่ไม่ป้องกันโควิด-19”. (ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์, ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว, ดร.ภญ.นพมาศ สุนทรเจริญนน, นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.posttoday.com. [05 เม.ย. 2020].
  7. Khaerunnisa S, Kurniawan H, Awaluddin R, Suhartati S, Soetjipto S. Potential Inhibitor of COVID-19 Main Protease (Mpro) From Several Medicinal Plant Compounds by Molecular Docking Study. Preprints 2020, 2020030226 (doi: 10.20944/preprints202003.0226.v1)
  8. Medicine in Drug Discovery. “Can early and high intravenous dose of vitamin C prevent and treat coronavirus disease 2019 (COVID-19)?”. (Richard Z.Cheng). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2590098620300154. [13 เม.ย. 2020].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด