68 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นลูกใต้ใบ ! (หญ้าใต้ใบ)

68 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นลูกใต้ใบ ! (หญ้าใต้ใบ)

ลูกใต้ใบ

ลูกใต้ใบ ชื่อสามัญ Egg woman, Tamalaki, Hazardana, Stonebreaker, Seed-under-leaf

ลูกใต้ใบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus amarus Schumach. & Thonn.[1],[2],[3],[5]

สมุนไพรลูกใต้ใบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ต้นใต้ใบ, หญ้าลูกใต้ใบ, หมากไข่หลัง (เลย), หญ้าใต้ใบ (อ่างทอง, นครสวรรค์, ชุมพร), ไฟเดือนห้า (ชลบุรี), หญ้าใต้ใบขาว (สุราษฏร์ธานี), หน่วยใต้ใบ (คนเมือง), มะขามป้อมดิน (ภาคเหนือ), จูเกี๋ยเช่า (จีน) เป็นต้น[1],[2],[3],[5],[6] จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)

ชนิดของลูกใต้ใบ

ชนิดของลูกใต้ใบที่สามารถพบโดยทั่วไปจะมีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด ได้แก่ Phyllanthus amarus Schumach. & Thonn., Phyllanthus debilis Klein ex Willd., Phyllanthus urinaria L. (หญ้าใต้ใบ), และชนิด Phyllanthus virgatus G.Forst. และต่อมาในภายหลังได้มีการค้นพบลูกใต้ใบในประเทศไทยเพิ่มเติมอีก 3 ชนิด ซึ่งได้แก่ ลูกใต้ใบดอกขาว (Phyllanthus sp.1), ลูกใต้ใบตีนชี้ (Phyllanthus sp.2), และลูกใต้ใบหัวหมด (Phyllanthus sp.3)[6]

ต้นลูกใต้ใบ

ลักษณะของลูกใต้ใบ

  • ต้นลูกใต้ใบ จัดเป็นพืชล้มลุก มีอายุเพียงปีเดียว มีความสูงประมาณ 10-60 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นไม่มีขน และทุกส่วนของต้นมีรสขม[1],[2] มีถิ่นกำเนิดในอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อน เช่น ไทย ลาว พม่า กัมพูชา เปรู บราซิล สหรัฐอเมริกา หมู่เกาะแคริบเบียน และในทวีฟแอฟริกา

ต้นใต้ใบ

  • ใบลูกใต้ใบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ มีใบย่อยประมาณ 23-25 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ โคนใบมนแคบ ส่วนปลายใบมนกว้าง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร มีก้านใบสั้นมาก มีหูใบสีขาวนวล ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลมเกาะติดอยู่ 2 อัน[1],[2]

ใบลูกใต้ใบ

  • ดอกลูกใต้ใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศ มีขนาดเล็กสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.08 เซติเมตร ดอกเพศเมียมักจะอยู่บริเวณโคนก้านใบ ส่วนดอกเพศผู้มักจะอยู่บริเวณส่วนปลายของก้านใบ โดยดอกตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้ประมาณ 2 เท่า เกสรตัวผู้มี 3 ก้าน โคนก้านเกสรเชื่อมกันเล็กน้อย มีอับเรณูแตกอยู่ตามแนวราบ ส่วนกลีบรองและกลีบดอกเป็นรูปไข่ ขอบกลีบมีสีอ่อน[1],[2]

รูปลูกใต้ใบ

ดอกลูกใต้ใบ

  • ผลลูกใต้ใบ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแป้น ผิวเรียบมีสีเขียวอ่อนนวล ผลมีขนาดประมาณ 0.15 เซนติเมตร โดยผลมักจะเกาะติดอยู่บริเวณใต้โคนของใบย่อย และอยู่ในบริเวณกลางก้านใบ ผลเมื่อแก่จะแตกเป็นพู 6 พู ในแต่ละพูจะมีเมล็ด 1 เมล็ด สีน้ำตาล มีลักษณะเป็นรูปเสี้ยว 1 ส่วน 6 ของรูปทรงกลม มีสันตามยาวทางด้านหลัง และมีขนาดเล็กมากประมาณ 0.1 เซนติเมตร[1],[2]

หญ้าลูกใต้ใบ

ผลลูกใต้ใบ

สมุนไพรไทยลูกใต้ใบ ประกอบด้วยแร่ธาตุที่สำคัญดังนี้ ธาตุโซเดียม 0.86 %, ธาตุโพแทสเซียม 12.84 %, ธาตุเหล็ก 10.68 %, ธาตุแคลเซียม 6.57 %, ธาตุแมกนีเซียม 0.34 %, ธาตุอะลูมิเนียม 3.92 %, ธาตุฟอสฟอรัส 0.34 %, ธาตุแคดเมียม 8 ppm และสารหนู 12 pmm ส่วนองค์ประกอบของสารเคมีจะประกอบไปด้วยสารแทนนิน (Tannins), ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids), ลิกแนนส์ (Lignans), ไกลโคไซด์ (Glycosides), ซาโปนิน (Saponin) ฯลฯ[6]

สรรพคุณลูกใต้ใบ

  1. รากและใบของลูกใต้ใบใช้ชงดื่มกับน้ำเป็นยาบำรุงร่างกาย (รากและใบของลูกใต้ใบชนิด P. urinaria)[11]
  2. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก, น้ำต้มใบ)[3],[6]
  3. ในเขมรใช้ลูกใต้ใบชนิด P. urinaria เป็นยาเจริญอาหาร (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[11] 
  4. ผลใช้ต้มดื่มช่วยบำรุงสายตา ทำให้สายตาดี (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5] ช่วยรักษาโรคตา (ใบ)[6]
  5. ลูกใต้ใบเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยควบคุมและลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ จึงมีประโยชน์ต่อผู้เป็นโรคเบาหวาน แต่มีข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวานว่า ต้องรับประทานยาแผนปัจจุบันตามที่แพทย์สั่งและควรหมั่นตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ (ต้น)[5],[6] โดยให้ใช้ทั้งต้นของลูกใต้ใบชนิด P. urinaria จำนวน 1 กำมือนำมาต้มดื่ม (ทั้งต้น)[11]
  6. ช่วยลดความดันโลหิต (ไม่ระบุส่วนที่ใช้[6],[9], ทั้งต้น (เข้าใจว่าเป็นชนิด P. urinaria)[10])
  7. ลูกใต้ใบใช้เป็นยาแก้ไข้ ลดความร้อน ช่วยลดไข้ทุกชนิด (ไข้หวัด ไข้จับสั่น ไข้ทับระดู ไข้หวัดใหญ่ ไข้จากการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ไข้จากการอ่อนเพลีย) ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือ 1 ½ ถ้วยแก้ว ใช้ดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว หรือใช้ลูกใต้ใบตากแห้งเก็บใส่โหลไว้ชงเป็นชาดื่มก็ได้เช่นกัน (ต้น, ทั้งต้น, ผล, ราก, น้ำต้มใบ)[1],[3],[5],[6],[10]
  8. ช่วยรักษามาลาเรีย (น้ำต้มใบ)[6]
  9. ช่วยแก้อาการไอ (ทั้งต้น)[3] ใบอ่อนใช้เป็นยาแก้ไอสำหรับเด็ก (ใบอ่อนของลูกใต้ใบชนิด P. urinaria)[10]
  10. ช่วยแก้หืด ด้วยการใช้ทั้งต้นของลูกใต้ใบ (เข้าใจว่าเป็นชนิด P. urinaria) นำมาล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดผสมกับน้ำอุ่น แล้วคั้นเอาแต่น้ำมาดื่มก่อนอาหารครั้งละ 2-3 อึก วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน (ทั้งต้น)[11]
  1. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาต้มดื่ม (ทั้งต้น, ผล)[3],[4],[6],[11]
  2. ช่วยขับเหงื่อ โดยใช้หญ้าใต้ใบ (เข้าใจว่าเป็นชนิด P. urinaria) นำมาต้มดื่ม และยังช่วยลดไข้ได้ด้วย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[11]
  3. ช่วยขับเสมหะ (ทั้งต้น)[3]
  4. ช่วยแก้พิษตานซาง (ผล)[6]
  5. ช่วยแก้โรคดีซ่าน (ต้น, ทั้งต้น, ใบ)[3],[5],[6],[10] ให้ใช้ทั้งต้นของลูกใต้ใบ (เข้าใจว่าเป็นชนิด P. urinaria) นำมาต้ม 3 ส่วนให้เหลือ 1 ส่วน แล้วเอามาดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ อีกทั้งยังช่วยกำจัดสารพิษออกจากตับ และช่วยทำให้สายตาดีได้อีกด้วย (ทั้งต้น)[11]
  6. ใช้รากของลูกใต้ใบ (เข้าใจว่าเป็นชนิด P. urinaria) นำมาต้มหรือชงกับน้ำดื่ม มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกระเพาะอาหาร ช่วยแก้อาการกระเพาะอาหารพิการ และช่วยรักษาลำไส้อักเสบ (ราก)[11]
  7. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ต้น, ทั้งต้น, ราก)[3],[6],[10]
  8. น้ำต้มใบใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องมาน แก้บิด ท้องร่วง (ใบ)[6] ทั้งต้นของลูกใต้ใบช่วยแก้อาการปวดท้อง ท้องเสีย และแก้บิด (ทั้งต้นของลูกใต้ใบชนิด P. urinaria)[10] สำหรับวิธีการใช้เป็นยาแก้บิด ให้ใช้ทั้งต้นของลูกใต้ใบ (เข้าใจว่าเป็นชนิด P. urinaria) นำมาต้มดื่มหรือแทรกปูนแดงขนาดเท่าเม็ดถั่วดำ นำมาต้มรวมกันใช้ดื่มแก้บิด (ทั้งต้น))[11]
  9. ต้นใช้ต้มเป็นยาระบาย (ต้น)[6]
  10. ช่วยแก้เถาดานในท้อง (ลักษณะเป็นก้อนแข็งในท้อง บางครั้งมีลักษณะเป็นแผ่นแข็ง ซึ่งอาจส่งผลทำให้มีอาการปวดหลังตามมาได้) ด้วยการใช้ทั้งต้นของลูกใต้ใบ (เข้าใจว่าเป็นชนิด P. urinaria) มาตากให้แห้งประมาณ 1 ลิตร แช่ในเหล้า 1 ลิตร แล้วหมกข้าวเปลือกไว้ 7 วัน แล้วเอามานึ่ง ให้คาดคะเนว่าธูปหมด 1 ดอก ให้รับประทานเช้าและเย็น (ทั้งต้น)[11]
  11. ต้นใช้ต้มร่วมกับสมุนไพรอื่น (พันงูเขียว) ใช้เป็นยาป้องกันพยาธิลำไส้ในเด็ก (ต้น)[6]
  12. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด แก้ขัดเบา ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือ 1 ½ ถ้วยแก้ว ใช้ดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว (ต้น, ทั้งต้น, ราก, ใบ)[1],[3],[4],[5],[6],[11]
  13. ใช้รักษาอาการมีไข่ขาวในปัสสาวะ อาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ช่วยลดอาการบวม จึงช่วยผู้ที่เป็นโรคเกาต์ในการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[6],[11]
  14. ช่วยแก้นิ่ว (ต้น, ราก)[3],[5],[6] ขับนิ่วในไต (น้ำต้มใบ)[6] รักษานิ่วในถุงน้ำดีและนิ่วในไต (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[6] หรือใช้ทั้งต้นของต้นลูกใต้ใบ (เข้าใจว่าเป็นชนิด P. urinaria) จำนวน 1 กำมือ ตำให้แหลกคั้นเอาแต่น้ำ และให้เอาสารส้มขนาดปลายนิ้วก้อยละลายลงไป แล้วดื่มก่อนอาหารให้หมดครั้งละครึ่งถ้วยชา วันละ 3 เวลา โดยให้ดื่มติดต่อกัน 3 วัน จากนั้นให้ใช้ทั้งต้นจำนวน 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำตาลทรายแดงให้พอหวาน ใช้ดื่มต่างน้ำติดต่อกันอีก 3 วัน เมื่อขึ้นวันที่ 7 ก็ให้ดื่มน้ำอ้อยสด วันละ 1 ขวดต่อไปอีก 3 วัน เพื่อช่วยล้างนิ่วเป็นขั้นตอนสุดท้าย (ทั้งต้น)[11]
  15. ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร (ทั้งต้นของลูกใต้ใบชนิด P. urinaria)[10]
  16. ช่วยขับระดูขาวของสตรี (ต้น, ทั้งต้น)[3]
  17. ช่วยขับประจำเดือนของสตรี แก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ด้วยการใช้ต้นนำมาต้มดื่ม (ต้น)[5],[6],[11]
  18. ช่วยแก้ระดูไหลไม่หยุดหรือมามากกว่าปกติของสตรี ด้วยการใช้รากสดนำมาตำผสมกับน้ำซาวข้าวรับประทานจะช่วยทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ (ราก)[6],[11]
  19. ช่วยรักษาไข้ทับระดู ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาล้างน้ำให้สะอาด ใช้ตำผสมกับเหล้าขาว คั้นเอาแต่น้ำยามาดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา (ทั้งต้น)[6],[11]
  20. ช่วยรักษากามโรค (ทั้งต้น)[3],[10] ช่วยแก้เริม ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำผสมกับเหล้าคั้นเอาแต่น้ำยา แล้วใช้สำลีชุบน้ำยามาแปะตรงที่เป็นเริม เพื่อทำให้รู้สึกเย็น และอาการปวดจะหายไป (ทั้งต้น)[6],[11]
  21. ช่วยแก้น้ำดีพิการ (ทั้งต้น)[3]
  22. ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (น้ำต้มใบ)[6]
  23. ใช้ต้มดื่มติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์จะช่วยกำจัดพิษออกจากตับ ป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากสารพิษต่าง ๆ และช่วยบำรุงตับ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีได้เป็นอย่างดี รักษาอาการอักเสบของตับทั้งประเภทเฉียบพลันและเรื้อรัง และยังช่วยปรับไขมันในตับให้เป็นปกติ จึงช่วยในการทำงานของไต (ผล)[5],[6],[11]
  24. นอกจากจะใช้เป็นยารักษาดีซ่านแล้ว ยังช่วยแก้ตับอักเสบ ตัวเหลือง ตาเหลืองได้ด้วย (ต้น)[6]
  25. ช่วยแก้อาการคัน ด้วยการใช้ใบนำมาตำผสมกับเกลือ แล้วนำมาทาจะช่วยแก้อาการคันได้ (ใบ)[6],[11]
  26. ใช้เป็นยาฝาดสมาน (ต้น)[6] ช่วยรักษาบาดแผล (ใบ)[6]
  27. หากเป็นแผลสด แผลฟกช้ำ ให้ใช้ลูกใต้ใบนำมาตำแล้วพอก แต่ถ้าเป็นแผลเรื้อรังให้ใช้ใบนำมาต้มผสมกับน้ำซาวข้าวแล้วนำมาพอก (ผล, ใบ)[6],[11]
  28. ช่วยแก้อาการฟกช้ำบวม ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำผสมกับเหล้า แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น ในบางตำราระบุว่าให้ใช้คลุกกับข้าวสุกเสียก่อนแล้วค่อยพอก (ต้น, ทั้งต้น)[3],[6],[11] ส่วนในอินเดียจะใช้ใบและรากแห้งนำมาบดเป็นผงผสมกับน้ำซาวข้าวแล้วนำมาพอก (ใบ, ราก เข้าใจว่าเป็นชนิด P. urinaria)[11]
  29. ช่วยแก้บวม (ต้น, ทั้งต้น, ราก)[3],[6]
  30. ช่วยแก้หิด (ใบ)[6]
  31. ช่วยแก้ฝี แก้อาการปวดฝี ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำผสมกับเหล้า แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น (ต้น, ทั้งต้น)[3],[6],[11]
  32. ช่วยแก้อาการปวด ปวดบวมตามร่างกาย (ต้น)[6]
  33. ช่วยแก้อาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดเมื่อยตามร่างกาย ด้วยการใช้ลูกใต้ใบที่ล้างสะอาดแล้วนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปต้มในหม้อดินและนำมาใช้ดื่มแทนน้ำชา (ผล)[6],[11]
  34. ใช้รักษาอาการปวดกระดูกและปวดข้อ (ยอดอ่อน[2], ต้น[6])
  35. มีรายงานวิจัยระบุว่านอกจากสมุนไพรลูกใต้ใบจะมีฤทธิ์ในการแก้ไข้แล้ว ยังมีฤทธิ์แก้อาการอักเสบได้อีกด้วย (ต้น)[5],[6]
  36. ช่วยแก้อาการนมหลง สำหรับหญิงคลอดบุตรแล้วน้ำนมเกิดหยุดไหลหลังจากเคยไหลมาแล้วและมีอาการปวดเต้า ถ้าหากปล่อยไว้อาจจะกลายเป็นฝีที่นมได้ ให้ใช้ทั้งต้นประมาณ 1 กำมือนำมาตำผสมกับเหล้าขาว แล้วคั้นเอาแต่น้ำมาดื่ม 1 ถ้วยชา และใช้กากที่เหลือนำมาพอกก็จะช่วยทำให้น้ำนมไหลออกมาได้ (ทั้งต้น)[6],[11]

ข้อควรระวัง ! : ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้ในหญิงตั้งครรภ์ เพราะมีฤทธิ์เป็นยาขับประจำเดือน[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของลูกใต้ใบ

  1. สารสกัดด้วยเอทานอลของรากลูกใต้ใบชนิด P. amarus มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ และยังสามารถช่วยลด Oxidative stress ได้เมื่อศึกษาในหลอดทดลอง ส่วนสารสกัดแบบน้ำชาของลูกใต้ใบก็พบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระเช่นกัน[6]
  2. จากการเปรียบข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสารสกัดหยาบของลูกใต้ใบ 3 ชนิด ซึ่งได้แก่ P. amarus, P. urinaria, และ P. virgatus โดยได้ทำการวิเคราะห์หาสารประกอบฟีนอลิกที่พบในสารสกัด 50% เมทานอล พบว่าสารสกัดของลูกใต้ใบชนิด P. virgatus มีปริมาณของสารประกอบฟีนิกลิกสูงกว่าสารสกัดของลูกใต้ใบชนิด P. amarus และ P. urinaria และยังพบว่าสารสกัดหยาบของลูกใต้ใบชนิด P. virgatus มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระได้ดีที่สุด นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งการเกิด Lipid peroxidation ของ Linoleic acid system ได้ดีที่สุดอีกด้วย และเมื่อทำการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดของลูกใต้ใบต่อเซลล์มะเร็ง HepG2 ก็พบว่าสารสกัดของ P. virgatus มีความเป็นพิษต่อเซลล์มากกว่าสารสกัดของลูกใต้ใบชนิด P. amarus และ P. urinaria[8]
  3. สารสกัดด้วยน้ำของลูกใต้ใบชนิด P. amarus มีฤทธิ์ในการต้านการเกิดมะเร็ง Sarcoma ในหนูที่ได้รับสารก่อมะเร็ง 20-methylcholanthrene และยังมีฤทธิ์ช่วยยืดอายุของหนูที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์มะเร็ง และทำให้ก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กลง[6]
  4. สารสกัดด้วยเมทานอลของลูกใต้ใบ P. amarus มีฤทธิ์ในการต้านการก่อกลายพันธุ์ของสาร 2-acetaminofluorene (2-AFF), 4-nitro-O-phenylenediamine, Aflatoxin B1, Sodium azide และ N-methyl-N-nitro-N- nitrosoguanidine เมื่อทำการศึกษาด้วย Ames test ในหนูทดลอง โดยผลการต้านการก่อกลายพันธุ์ของสารสกัดใน in vitro จะดีกว่าใน in vivo[6]
  5. มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อเอชไอวี สารสกัดด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ของลูกใต้ใบชนิด P. amarus มีฤทธิ์แรงในการช่วยยับยั้ง HIV-1 โดยเป็นสารออกฤทธิ์ในกลุ่ม Gallotannin ซึ่งสาร Corilagin, Ellagitannins และ Geraniin นั้นจะมีฤทธิ์แรงที่สุด นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งเชื้อ HIVE ได้ถึง 30% และมีผลยับยั้งเชื้อ HIVE ทั้งใน in vitro และใน in vivo[6]
  6. สารสกัดด้วยเมทานอลของลูกใต้ใบชนิด P. amarus มีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นโรคเบาหวานจากการฉีดสาร Alloxan และสารสกัดด้วยน้ำจากใบและเมล็ดของ P. amarus ก็มีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน โดยมีการทดลองใช้ดื่มน้ำตาลซูโครส 10% เป็นเวลา 30 วันเพื่อทำให้ภาวะน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น แต่ผลการทดลองก็พบว่าสามารถช่วยลดภาวะเบาหวานได้[6]
  7. สารสกัดของลูกใต้ใบชนิด P. emblica มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยลดการเจ็บปวดและอาการบวม ช่วยลดอาการบวมน้ำ ลดอาการเยื่อบุในช่องท้องอักเสบ[6]
  8. สารสกัดด้วยน้ำจากใบของลูกใต้ใบชนิด P. amarus มีฤทธิ์ต้านอาการท้องเสีย ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ช้าลง ช่วยลดความถี่ในการขับถ่าย ช่วยลดการเคลื่อนตัวของอาหารในลำไส้ของหนูถีบจักร ช่วยชะลอการเกิดท้องเสียและลดจำนวนครั้งที่ขับถ่ายหลังจากได้รับน้ำมันละหุ่ง[6]
  9. สารสกัดด้วยเมทานอลของลูกใต้ใบชนิด P. amarus มีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยลดการบวมน้ำที่อุ้งเท้า ลดอาการบาดเจ็บและอาการเลือดออกในกระเพาะอาหาร และช่วยลดอัตราการตายเนื่องจากได้รับเอทานอลได้[6]
  10. มีฤทธิ์ต้านไวรัสตับอักเสบ จากการค้นคว้าพบว่าลูกใต้ใบมีผลทางบวกในการยับยั้งไวรัสและชีวเคมีของตับ เมื่อมีการติดเชื้อ HBV เรื้อรัง การใช้ส่วนผสมของลูกใต้ใบมีผลต่อไวรัสตับอักเสบบี ช่วยทำให้เกิดการฟื้นตัวของการทำหน้าที่ของตับและช่วยยับยั้งเชื้อ HBV (ลูกใต้ใบชนิด P. amarus) และลูกใต้ใบยังสามารถยับยั้งไวรัสตับอักเสบได้อีกด้วย[6]
  11. แพทย์ชาวอเมริกันและอินเดียได้ทำการศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรต่าง ๆ กว่า 1,000 ชนิดที่มีการใช้รักษาอาการดีซ่านมาตั้งแต่โบราณ โดยนำมาใช้ทดสอบความสามารถในการยับยั้งปฏิกิริยาของเอนไซม์ที่ใช้ในการสังเคราะห์สาร DNA ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งจากการทดลองพบว่าสารสกัดของต้นลูกใต้ใบมีฤทธิ์สูงสุดในการช่วยยับยั้งการสังเคราะห์ DNA ของไวรัสชนิดนี้ ซึ่งวิธีการทดลองทางคลินิกก็คือให้แคปซูลยาสมุนไพร 200 มิลลิกรัมของน้ำหนักแห้งแก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี จำนวน 37 คน วันละ 30 ครั้งพร้อมกับให้ยาหลอก หลังการทดลองพบว่าผู้ป่วย 22 คน ไม่มีเชื้อไวรัสในกระแสเลือด ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกมีเพียง 1 คนเท่านั้นที่ไม่พบเชื้อไวรัสในกระแสเลือด ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่รับการรักษาแต่ไม่ได้ผล เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับเชื้อใหม่ ๆ จึงทำให้ยังมีเชื้อไวรัสจำนวนมาก เพราะเป็นระยะการเพิ่มจำนวนของเชื้ออย่างรวดเร็ว ซึ่งแนวทางการรักษานี้จึงควรใช้ยาในขนาดที่สูงขึ้นไปอีก[7]
  12. ลูกใต้ใบมีฤทธิ์ป้องกันการแข็งตัวของเลือด คล้ายกับยาแอสไพรินแต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า จึงอาจเป็นเหตุผลว่าหมอยาอายุรเวชไม่แนะนำให้รับประทานลูกใต้ใบนาน ซึ่งในบางตำราก็ระบุไว้ว่าให้รับประทานเพียง 1 สัปดาห์[9]
  13. ช่วยป้องกันการเกิดพิษต่อตับของหนูขาวจากการได้รับยาพาราเซตามอล โดยพบว่าการให้ต้มหรือผงของลูกใต้ใบจำนวน 1 ครั้งในขนาด 3.2 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมในหนูทดลอง ก่อนให้พาราเซตามอลเป็นเวลา 1 ชั่วโมง มีผลช่วยลดความเป็นพิษได้ดีที่สุด[6]
  14. เมื่อป้อนสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ของลูกใต้ใบชนิด P. amarus ทั้งต้นแก่หนูถีบจักรตัวเมีย ในขนาด 100 มก./กก. เป็นเวลา 30 วัน พบว่ามีผลต่อระดับเอนไซม์ 3-beta & 17-beta hydroxy steroid dehydrogenase ทำให้หนูไม่ตั้งท้องเมื่อนำมาเลี้ยงรวมกับหนูตัวผู้[6]
  15. สารสกัดของลูกใต้ใบชนิด P. urinaria ในอาหารมีฤทธิ์ต้านไวรัสหัวเหลืองในกุ้งกุลาดำ โดยกุ้งที่รับอาหารที่ผสมสารสกัดสมุนไพรจะมีอัตราการรอดตายสูงและยังสามารถฟื้นเป็นปกติได้ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับที่ไม่พบอัตราการรอดตายเลย[6]

ประโยชน์ของลูกใต้ใบ

  • ทั้งต้นนำมาใช้ต้มดื่มกับหญ้าปีกแมลงวัน (กรดน้ำ) และหญ้าปัน[2]
  • ทั้งต้นใช้เป็นยาเบื่อปลา ซึ่งชาวอินเดียจะนำลูกใต้ใบไปใช้ในการเบื่อปลา แต่ปลาที่ถูกเบื่อนั้นสามารถรับประทานได้ และข้อมูลก็ไม่ได้ระบุด้วยว่าจะมีผลอะไรกับคนหรือไม่หากนำผลมารับประทาน[4],[9]
  • ในปัจจุบันได้มีการนำสมุนไพรลูกใต้ใบมาผลิตเป็นยาสมุนไพรลูกใต้ใบแบบสำเร็จรูป ซึ่งมีทั้งในรูปของแคปซูล ชนิดซอง ซึ่งสามารถหาซื้อได้ง่ายและสะดวกในการรับประทาน
  • ลูกใต้ใบเป็นสมุนไพรที่มีสารสกัดที่มีคุณค่าสูง เพราะมีประโยชน์ต่อร่างกายในด้านการป้องกันและรักษาโรค และยังสามารถนำมาประยุกต์เพื่อใช้ในสัตว์ได้อีกด้วย[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี .  “ลูกใต้ใบ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [9 ธ.ค. 2013].
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ลูกใต้ใบ“.  อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรตอนที่ 5 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [9 ธ.ค. 2013].
  3. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “ลูกใต้ใบ“.  (ไพร มัทธวรัตน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [9 ธ.ค. 2013].
  4. สารสนเทศเกษตร พืชสมุนไพร (Medicinal Plants) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “ลูกใต้ใบ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.ku.ac.th/AgrInfo/plant/.  [9 ธ.ค. 2013].
  5. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).  “ต้นใต้ใบ สุดยอดสมุนไพร“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th.  [9 ธ.ค. 2013].
  6. วารสารมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์.  “การรวบรวมคุณสมบัติและประโยชน์ของต้นลูกใต้ใบ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: journal.pnu.ac.th.  [9 ธ.ค. 2013]
  7. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 121 คอลัมน์: โลกกว้างและการแพทย์.  “การทดลองใช้ยาสมุนไพรรักษาไวรัสตับอักเสบ“.  (รศ.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [9 ธ.ค. 2013].
  8. สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.  “ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของลูกใต้ใบ 3 ชนิด (Pharmacological activities of three Phyllanthus species)“.  (นวลน้อย จูฑะพงษ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ird.sut.ac.th.  [9 ธ.ค. 2013].
  9. วิชาการดอตคอม.  “ลูกใต้ใบ สุดยอดสมุนไพรใกล้ตัว“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.vcharkarn.com.  [9 ธ.ค. 2013].
  10. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “หญ้าใต้ใบ“.  (ไพร มัทธวรัตน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [9 ธ.ค. 2013].
  11. เดอะแดนดอตคอม.  “หญ้าใต้ใบ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com.  [9 ธ.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, Nelindah, mingiweng, pinnee., Vietnam Plants & The USA. plants, Foggy Forest, vijayasankar)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด