ลําดวน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นลำดวน ดอกลำดวน 14 ข้อ !

ลำดวน

ลำดวน ชื่อสามัญ White cheesewood, Devil tree, Lamdman[7],[8]

ลำดวน ชื่อวิทยาศาสตร์ Melodorum fruticosum Lour. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1]

สมุนไพรลำดวน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หอมนวล (ภาคเหนือ) ส่วนภาคกลางเรียก “ลําดวน[1],[8]

ต้นลำดวน เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเป็นมงคลประจำจังหวัดศรีษะเกษ และดอกลำดวนยังเป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เพราะมีเรื่องเล่าว่า สมเด็จย่าได้เสด็จไปเยี่ยมชาวจังหวัดศรีษะเกษ ทรงทอดพระเนตรเห็นดงต้นลําดวนที่ออกดอกงดงามและมีกลิ่นหอม และทรงพอพระทัย หลังจากนั้นดอกลำดวนจึงกลายเป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ ทำนองเดียวกับดอกมะลิที่เป็นสัญลักษณ์ของแม่นั่นเอง นอกจากนี้ดอกลําดวนยังเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษอีกด้วย[6]

ลักษณะของลำดวน

  • ต้นลำดวน หรือ ต้นหอมนวล มีแหล่งกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[7] จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร ลำต้นตรง แตกกิ่งใบจำนวนมาก เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือเป็นพุ่มเป็นรูปกรวยคว่ำ เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทา เมื่อลำต้นแก่เปลือกต้นจะเป็นสีน้ำตาลอมดำ มีรอยแตกตามแนวยาวของลำต้น ส่วนกิ่งอ่อนเป็นสีเขียวสด ยอดอ่อนและใบอ่อนเป็นสีแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ชอบความชื้นสูง และแสงแดดแบบเต็มวันถึงครึ่งวัน ชอบขึ้นในที่โล่งและมีแสงแดด พบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้งทางภาคตะวันออก และภาคกลาง[2],[3],[5] และพบได้มากในจังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจากต้นลำดวนเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดศรีษะเกษ[6]

ต้นลำดวน

  • ใบลำดวน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ปลายใบและโคนใบแหลมหรือสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ผิวใบด้านบนเป็นมัน ส่วนด้านล่างมีสีอ่อนกว่า เส้นกลางใบเป็นสีออกเหลืองนูนเด่นทั้งสองด้าน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร[3]

ใบลำดวน

  • ดอกลำดวน หรือ ดอกหอมนวล ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อแบบกระจุกประมาณ 2-3 ดอก โดยจะออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกเป็นสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม ลักษณะเป็นรูปไข่ป้อมถึงรูปเกือบกลม ปลายกลีบแหลม โคนกลีบกว้าง ดอกมีกลีบ 6 กลีบ กลีบดอกหนาแข็ง สีเขียวปนเปลือง และมีขน แยกเป็น 2 วง ชั้นนอกมี 3 กลีบ กลีบแผ่แบน ลักษณะของกลีบเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกวงใน ปลายกลีบแหลม โคนกลีบกว้าง โดยมีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกชั้นในงุ้มเข้าหากันลักษณะเป็นรูปโดม มีขนาดเล็กกว่า แต่จะหนาและโค้งกว่ากลีบชั้นนอก โดยจะมีจะขนาดกว้างประมาณ 0.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.9 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ขนาดเล็ก เกสรเพศผู้และรังไข่มีจำนวนมากอยู่บนฐานสั้น ๆ รังไข่ ไม่มีขน ส่วนกลีบเลี้ยงมีขนาดเล็ก มีด้วยกัน 3 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปเกือบกลม ปลายกลีบมน เกลี้ยงหรือมีขนประปราย ส่วนก้านดอกยาวได้ประมาณ 2.5 เซนติเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม และแต่ละต้นจะมีช่วงที่ดอกบานอยู่ประมาณ 15 วัน[3],[5]

ลำดวน

ลําดวน

  • ผลลำดวน ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ออกผลเป็นกลุ่ม มีผลย่อยประมาณ 15-27 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี รูปไข่ หรือรูปกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.5 นิ้ว และยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง และผลสุกมีสีน้ำเงินดำ มีคราบขาว ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด ใช้รับประทานได้ โดยจะมีรสหวานอมเปรี้ยว ส่วนก้านผลยาวประมาณ 1 เซนติเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม[2],[3],[5]

ผลลำดวน

ลูกลำดวน

ดอกลำดวนแห้ง

สรรพคุณของลำดวน

  1. ดอกแห้งมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง (ดอกแห้ง)[1],[3]
  2. ดอกแห้งเป็นยาบำรุงโลหิต (ดอกแห้ง)[1],[3]
  3. ช่วยบำรุงหัวใจ (ดอกแห้ง)[1],[3]
  1. ดอกใช้เป็นยาแก้ลมวิงเวียน (ดอกแห้ง)[1],[3],[5]
  2. ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ดอกแห้ง)[3]
  3. ช่วยแก้อาการไอ (ดอกแห้ง)[4]
  4. ดอกลำดวนแห้งจัดอยู่ใน “พิกัดเกสรทั้งเก้า” (ประกอบไปด้วย เกสรดอกบัวหลวง ดอกกระดังงา ดอกจำปา ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกมะลิ ดอกสารภี ดอกลำเจียก และดอกลําดวน) ซึ่งเป็นตำรับยาแก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเหลีบ ช่วยบำรุงหัว แก้พิษโลหิต แก้ลม (ดอก)[1],[3],[4]

หมายเหตุ : ตามตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้เนื้อไม้และดอกแห้ง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง แก้ลมวิงเวียน และเป็นยาแก้ไข้ (เนื้อไม้และดอกแห้ง)[3],[4] (แต่ตำรายาไทยจะใช้แต่ดอก) ส่วนข้อมูลจากหนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ของ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ระบุให้ใช้เกสรลำดวนเป็นยา ซึ่งเกสรจะมีสรรพคุณเป็นยาชูกำลัง บำรุงหัวใจ หากนำไปผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นจะเป็นยาบำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง และเป็นยาแก้ลม (เกสร)[2]

ประโยชน์ของลำดวน

  1. ผลสุกของลำดวนมีสีดำ มีรสหวานอมเปรี้ยว ใช้รับประทานได้[3],[6]
  2. ดอกมีกลิ่นหอม รสเย็น นอกจากจะจัดอยู่ในพิกัดเกสรทั้งเก้าแล้ว ยังใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาหอมอีกด้วย[3]
  3. ดอกลําดวนมีขนาดใหญ่และงดงามกว่าดอกนมแมว จึงนิยมนำมาใช้บูชาพระและใช้แซมผม อีกทั้งหญิงไทยในสมัยก่อนก็ชื่อลำดวนกันทั่วไป[6]
  4. ดอกสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย โดยการต้มกลั่นจะได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.08[7]
  5. นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามสวน เพราะต้นลำดวนมีพุ่มใบสวย ดอกสวยมีกลิ่นหอม และต้นลำดวนยังเป็นพรรณไม้ที่ในวรรณคดีไทยหลาย ๆ เรื่องกล่าวถึง เช่น ลิลิตพระลอ รามเกียรติ์ สมุทรโฆษคำฉันท์ อิเหนา เป็นต้น โดยจะนิยมนำมาปลูกสวนสาธารณะร่วมกับไม้ดอกหอมชนิดอื่น ๆ[5],[6]
  6. ในด้านของความเชื่อ คนไทยเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นลำดวนหรือเป็นเจ้าของต้นลำดวน จะช่วยดึงดูดความรัก ช่วยเสริมดวงทางเสน่ห์เมตตา ทำให้มีแต่คนคิดถึงในแง่ดี ทำให้เป็นคนที่น่าจดจำ ใคร ๆ ก็มิอาจลืม และยังเชื่อด้วยว่ากลิ่นหอมของลําดวน สามารถช่วยผ่อนคลายอารมณ์ทางจิตให้สงบและมีความใจเย็นมากขึ้น ผู้ปลูกควรเป็นผู้หญิงและควรปลูกในวันพุธ เพราะลำดวนเป็นไม้ของผู้หญิง โดยให้ปลูกไว้ทางทิศตะวันออกของตัวบ้าน[8]
  7. บางข้อมูลระบุว่าเนื้อไม้ของต้นลำดวนมีความแข็งแรงทนทาน สามารถนำมาใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ได้ และนำมาใช้ทำฟืนได้ดี
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ลำดวน (Lamduan)”.  หน้า 269.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ลําดวน”.  หน้า 692-693.
  3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ลำดวน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [29 พ.ค. 2014].
  4. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ลําดวน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [29 พ.ค. 2014].
  5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “ลำดวน”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [29 พ.ค. 2014].
  6. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 311 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า.  (เดชา ศิริภัทร).  “ลำดวน : สัญลักษณ์แห่งไม้ใกล้ฝั่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [29 พ.ค. 2014].
  7. ฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหยไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  “ลําดวน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th/essentialoils/.  [29 พ.ค. 2014].
  8. เว็บไซต์ไทยลาวสัมพันธ์ครั้งที่ 10.  “ต้นไม้ประจำสถาบัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.sa.msu.ac.th/thailao10/.  [29 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.thaicrudedrug.com, www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), www.magnoliathailand.com (by สมศักดิ์)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด