ลักปิดลักเปิด (Scurvy) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคลักปิดลักเปิด !

ลักปิดลักเปิด (Scurvy) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคลักปิดลักเปิด !

โรคลักปิดลักเปิด

ลักปิดลักเปิด หรือ โรคขาดวิตามินซี (Scurvy หรือ Vitamin C deficiency) เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายขาดวิตามินซี (Vitamin C) โดยผู้ป่วยจะมีอาการแสดงสำคัญของโรค คือ เหงือกบวมและเลือดออกได้ง่าย ซึ่งผู้ป่วยมักมาพบทันตแพทย์จากการแปรงฟันแล้วมีเลือดออกจากเหงือกเสมอ

โรคลักปิดลักเปิดเป็นโรคที่พบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิงในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน (ในสหรัฐฯ พบโรคนี้ในผู้ชายประมาณ 8% และในผู้หญิงประมาณ 6% ในอิตาลีพบโรคนี้ในผู้ชายประมาณ 3-6% และในผู้หญิงประมาณ 2-4% ในประเทศฝรั่งเศสพบโรคนี้ในผู้ชายประมาณ 12% และในผู้หญิงประมาณ 5% เป็นต้น ส่วนในประเทศไทยจะพบโรคนี้ได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 1.5-2.5 เท่า)

โรคลักปิดลักเปิดสามารถพบเกิดได้ในทุกช่วงอายุ (ในเด็กทารกอายุ 6 เดือนแรกจะพบได้น้อยมาก เพราะทารกที่คลอดจากมารดาที่ได้รับวิตามินซีเพียงพอ จะมีระดับวิตามินซีในเลือดจากสายสะดือสูงกว่าในเลือดของมารดา 2-3 เท่า) แต่จะพบได้บ่อยในเด็กเล็กที่ขาดอาหารเสริมที่เหมาะสมตามอายุและในผู้สูงอายุที่ขาดคนดูแล (ในเด็กโตและผู้ใหญ่จะพบเป็นโรคนี้ได้น้อย) โดยในเด็กเล็กมักพบในช่วงอายุระหว่าง 6-18 เดือน ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีประวัติการรับประทานนมข้นหวานหรือน้ำข้าวใส่น้ำตาล และไม่ได้รับอาหารเสริมที่มีวิตามินซี (เช่น น้ำส้มคั้น) และเด็กมักจะมีอาการขาดสารอาหารอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามินบี 2 เป็นต้น ซึ่งอาการมักเกิดขึ้นหลังเป็นโรคติดเชื้อหรือท้องเดิน ซึ่งทำให้มีการสูญเสียวิตามินซี

สาเหตุของโรคลักปิดลักเปิด

โรคนี้เกิดจากร่างกายขาดวิตามินซี (Vitamin C) เนื่องจากบริโภคอาหารที่ขาดวิตามินซี แต่ในผู้ป่วยบางราย สาเหตุการขาดวิตามินซีอาจเกิดจากการมีโรคของลำไส้ที่ทำให้ลำไส้ดูดซึมวิตามินซีได้น้อยกว่าปกติก็ได้ เช่น โรคท้องเสียเรื้อรัง โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

วิตามินซี (Vitamin C) เป็นวิตามินที่มีความจำเป็นในการช่วยการทำงานของโปรตีนเพื่อการเจริญเติบโตและซ่อมแซมเซลล์ที่ได้รับความเสียหายหรือบาดเจ็บ โดยเฉพาะผิวหนัง ผนังหลอดเลือด กระดูกอ่อน น้ำไขข้อ เหงือก ฟัน และสารคอลลาเจนที่ร่างกายใช้ในการหล่อลื่นและประสานการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กของลำไส้ ดังนั้นเมื่อร่างกายขาดวิตามินซี เนื้อเยื่อต่าง ๆ จึงเกิดการอักเสบได้ง่าย (บวม) หลอดเลือดขนาดเล็กแตกง่าย (เลือดออก) เกิดภาวะซีด (จากการขาดธาตุเหล็กและจากการมีเลือดออกง่าย) ฟันเจริญผิดที่ (โดยเฉพาะในเด็ก) กระดูกอ่อนเจริญผิดปกติ (โดยเฉพาะในเด็ก) เหงือกบวม เลือดออกง่ายเมื่อแปรงฟันหรือกินของแข็ง ๆ มีจุดแดงพรายย้ำขึ้นตามตัว (เป็นจุดแดง ๆ คล้ายในโรคไข้เลือดออก) หรือเป็นจ้ำห้อเลือดได้ง่าย

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคลักปิดลักเปิด

  • เด็กอายุระหว่าง 6-18 เดือน หรือเด็กอายุ 1-4 ปี (แล้วแต่แหล่งอ้างอิง) ที่ขาดอาหารเสริมที่เหมาะสมตามอายุ (ในเด็กทารกอาจพบในทารกที่กินนมวัวที่ไม่ได้เสริมวิตามินซี หรือกินนมวัวเจือจาง นมข้นหวาน หรือนมข้นจืดเพียงอย่างเดียวในช่วง 6-12 เดือนแรก รวมทั้งทารกที่กินนมจากแม่ที่ไม่ได้บริโภคผักผลไม้และวิตามินซี ทารกที่ได้รับอาหารเสริมที่ไม่มีการให้ผักและผลไม้ นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า เด็กที่เป็นโรคขาดวิตามินซีส่วนมากจะมีประวัติกินนมวัวและนมถั่วเหลืองชนิดกล่องยูเอชที)
  • ผุ้สูงอายุที่ขาดคนดูแล
  • ผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรมกินยากหรือเลือกกิน (Food faddism) ไม่รับประทานหรือไม่ค่อยรับประทานผักและผลไม้
  • ผู้ที่ฟันไม่ดี (Poor dentition)
  • กลุ่มคนยากจนหรือผู้อพยพที่ไม่มีเงินพอจะซื้อผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงรับประทาน (เพราะมักจะมีราคาสูง)
  • หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร
  • ผู้สูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่จากสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
  • ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ เป็นโรคมะเร็ง เป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ หรือมีการอักเสบ รวมทั้งภาวะติดเหล้า (Alcoholism) หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง และจำกัดอาหาร
  • เด็กที่เป็นโรคสมองพิการ ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคลมชักที่รับอาหารไขมันสูง ผู้ป่วยที่มีแผลเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ทำการเปลี่ยนตับ ผู้ป่วยโรคไตวายที่มักบริโภคอาหารได้ไม่ดีและต้องทำการฟอกไต ผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล (โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มที่มีการอักเสบในร่างกาย)

อาการของโรคลักปิดลักเปิด

  • อาการขาดวิตามินซีของเด็กทารกจะเริ่มจากการมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย กระสับกระส่าย ร้องกวนตลอดเวลา ซีด ซึม ถ่ายเหลวเป็นครั้งคราว น้ำหนักตัวไม่ขึ้น ติดเชื้อได้ง่าย มีไข้ต่ำ ๆ ซึ่งพบได้ราวร้อยละ 18 พบชีพจรเต้นเร็วและหายใจเร็วโดยไม่ได้สัดส่วนกับไข้ เมื่อโรครุนแรงมากขึ้นจะมีอาการเจ็บทั่วไป เช่น ปวดตามแขน ขา ซึ่งผู้ป่วยเด็กส่วนมากจะไม่ยอมเดินและมีอาการปวดขาซึ่งพบได้ราวร้อยละ 96 เนื่องจากมีอาการบวมที่บริเวณหน้าแข้งและมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มกระดูก โดยเฉพาะตรงบริเวณเหนือข้อเข่าและข้อเท้า (อาจสังเกตได้เมื่อยกขาเด็กหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม) อาการปวดจะมีมากจนขยับแขนขาไม่ได้ เด็กจะนอนในท่าแบะขาคล้ายกบ (Flogleg position) ตรงรอยต่อระหว่างกระดูกอ่อนและซี่โครง (Costochondral junction) อาจมีลักษณะเป็นปุ่ม ๆ เรียกว่า Scorbutic rosary และมีกระดูกอกบุ๋ม (Depression of sternum) และอาจพบกล้ามเนื้ออ่อนแรง ถ้าผู้ป่วยมีแผล แผลมักจะหายช้า ในผู้ใหญ่อาจพบว่ากระดูกบาง (Osteopenia)

    โรคลักปิดลักเปิดคือ
    IMAGE SOURCE : medicalthenas.tumblr.com

  • ในช่องปากมักเจ็บเป็นแผล อาจพบต่อมน้ำลายโต อาการเหงือกบวมและมีเลือดออกไรฟัน และอาจพบเหงือกเน่า (พบบ่อยบริเวณฟันหน้าด้านบน)

    อาการโรคลักปิดลักเปิด
    IMAGE SOURCE : medscapestatic.com, www.howflux.com

  • ผิวหนังอาจมีลักษณะหยาบและมีตุ่มรอบรูขน (Follicular hyperkeratosis) ซึ่งพบได้มากบริเวณก้นและขา อาจเกิดจุดเลือดออกที่ผิวหนังและเยื่อบุผิว อาจพบ Perifollicular hemorrhages, Purpura หรืออาจพบจ้ำเลือดที่ขา ถ้ารุนแรงมากขึ้นอาจพบเลือดออกในหลายที่ ได้แก่ ในอุจจาระ ในปัสสาวะ ในจมูก (มีเลือดกำเดาไหล) ในเบ้าตา และอาจพบจ้ำเลือดของเปลือกตา ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีเลือดออกในสมองจนเป็นอันตรายถึงตายได้ นอกจากนี้ยังอาจพบผมมีลักษณะหยักงอ (Kinky hair) ขนตามตัวเปราะและงอ (Swan neck deformity) ผมทารกมีลักษณะไม่กระจายทั่วหนังศีรษะ เป็นต้น

    โรคลักปิดลักเปิดอาการ
    IMAGE SOURCE : Namrata Chhabra, M.D.

ภาวะแทรกซ้อนของโรคลักปิดลักเปิด

โดยปกติแล้วโรคลักปิดลักเปิดเป็นโรคไม่รุนแรงและสามารถรักษาได้เสมอ ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีการเจริญเติบโตผิดรูปของฟันที่จะเกิดขึ้นอย่างถาวร สำหรับภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้มักเป็นภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก หรือจากการมีเลือดออกเรื้อรังเมื่อมีการขาดวิตามินซีอย่างต่อเนื่อง เพราะวิตามินซีเป็นตัวช่วยเพิ่มการดูดซึมของธาตุเหล็ก

การวินิจฉัยโรคลักปิดลักเปิด

การวินิจฉัยโรคลักปิดลักเปิดสามารถทำได้โดยการอาศัยประวัติการรับประทานอาหาร (เช่น การได้รับอาหารที่มีวิตามินซีไม่เพียงพอ การเจ็บป่วยเรื้อรังทำให้ขาดอาหาร เป็นต้น) ลักษณะอาการทางคลินิก (ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจเหงือกและฟัน) ลักษณะภาพเอกซเรย์กระดูก (เพื่อดูการเจริญเติบโตของกระดูกในเด็ก โดยเฉพาะบริเวณเข่า) การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวัดระดับวิตามินซีในพลาสมาและเลือด (ถ้ามีค่ามากกว่า 0.6 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะช่วยแยกโรคนี้ได้ แต่ถ้ามีระดับต่ำกว่านี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคนี้เสมอไป และถ้าระดับวิตามินซีในพลาสมาน้อยกว่า 0.1-0.2 มิลลิกรัม/เดซิลิตร มักจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้) ร่วมไปกับการตรวจแยกจากโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายคลึงกัน เช่น โรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune disease) เป็นต้น และร่วมกับการให้วิตามินซีเสริมอาหาร ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นก็จะเป็นการช่วยยืนยันว่าเป็นโรคลักปิดลักเปิดจริง

ในผู้ป่วยที่เป็นโรคลักปิดลักเปิดนั้น แพทย์อาจตรวจพบอาการเหงือกบวม เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล จุดเลือดออกที่ใต้เล็บ จุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง อาการซีดเนื่องจากการขาดธาตุเหล็ก และตรงรอยต่อระหว่างกระดูกอ่อนและซี่โครง (Costochondral junction) อาจมีลักษณะเป็นปุ่ม ๆ คล้ายลูกประคำ

วิธีรักษาโรคลักปิดลักเปิด

  • ให้รับประทานวิตามินซีขนาดวันละ 300-1,000 มิลลิกรัม (ถ้ารับประทานไม่ได้ แพทย์จะฉีดวิตามินซีเข้าทางหลอดเลือดดำ) จนกว่าอาการจะกลับมาเป็นปกติ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วอาการจะดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์
  • ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นควรส่งโรงพยาบาล อาจจำเป็นต้องตรวจเลือด เอกซเรย์ และตรวจพิเศษอื่น ๆ ถ้าพบว่าเป็นโรคนี้จริงแพทย์จะให้การรักษาด้วยวิตามินซีเช่นเดิม

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคลักปิดลักเปิด

เมื่อมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลักปิดลักเปิด ผู้ป่วยควรดูแลตนเองโดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • รับประทานวิตามินซีเสริมอาหารตามที่แพทย์แนะนำให้ถูกต้องครบถ้วน
  • รับประทานอาหารที่มีผักและผลไม้มาก ๆ เป็นประจำ
  • ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ
  • ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัด หากอาการต่าง ๆ เลวลง หรือมีอาการต่าง ๆ ผิดปกติไปจากเดิม เช่น มีเลือดออกมากขึ้น เป็นต้น หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่ ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัด

วิธีป้องกันโรคลักปิดลักเปิด

  • โรคลักปิดลักเปิดสามารถป้องกันได้โดยการรับประทานผักผลไม้ให้มาก ๆ ในทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว (เช่น ส้ม มะนาว สับปะรด กีวี่) ฝรั่ง แคนตาลูป เชอร์รี่ มะละกอ มะม่วง ผักสีเขียวเข้ม (ผักโขม บรอกโคลี) กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ มะเขือเทศ พริกหวาน มันฝรั่ง อาหารสำเร็จรูปที่เพิ่มวิตามินซีเสริมอาหาร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วิตามินซีจะถูกทำลายได้ง่ายจากความร้อน เช่น เมื่อปรุงผักด้วยความร้อนสูงหรือใช้เวลาปรุงนาน ก็จะมีโอกาสที่วิตามินซีในผักเหล่านั้นจะถูกทำลายไปได้สูงถึง 60%
  • ควรให้อาหารเสริมที่มีวิตามินซีแก่เด็กเล็ก เช่น น้ำส้ม มะเขือเทศ ผักใบเขียว เป็นต้น
  • ถ้าจำเป็นอาจต้องให้รับประทานวิตามินซีหรือวิตามินรวมเสริมอาหาร*

หมายเหตุ : ในผู้ใหญ่การรับประทานวิตามินซีน้อยกว่าวันละ 2,000 มิลลิกรัม ส่วนใหญ่มักไม่มีผลข้างเคียง (ส่วนปริมาณวิตามินซีที่สูงในระดับที่ทนได้ในเด็กอายุต่าง ๆ คือ 400 มิลลิกรัม ในเด็กอายุ 1-3 ปี, 650 มิลลิกรัม ในเด็กอายุ 4-8 ปี, 1,200 มิลลิกรัม ในเด็กอายุ 9-13 ปี และ 1,800 มิลลิกรัม ในเด็กอายุ 14-18 ปี) อย่างไรก็ตาม การรับประทานวิตามินซีในขนาดสูงตั้งแต่วันละ 1,000 มิลลิกรัมขึ้นไป ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นนิ่วในไต และร่างกายอาจมีธาตุเหล็กมากเกินไปจนเกิดการสะสมตามอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะตับ แล้วส่งผลให้อวัยวะเหล่านั้นเกิดการอักเสบ หรือถ้าให้วิตามินซีทางหลอดเลือดดำก็อาจทำให้เกิดไตวายและเกิดโรคหัวใจได้

ปริมาณวิตามินซีที่ควรได้รับในแต่ละวัน

วิตามินซี (Vitamin C) เป็นวิตามินที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้และจำเป็นต้องได้รับจากการรับประทานอาหารเท่านั้น (วิตามินชนิดนี้จะถูกดูดซึมในลำไส้เล็ก) ซึ่งความต้องการวิตามินซีของร่างกายจะขึ้นอยู่กับอายุ เพศ และบางภาวะที่มีผลลดการดูดซึมของวิตามินซี เช่น การเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ ของลำไส้ การสูบบุหรี่ เป็นต้น โดยปริมาณวิตามินซีที่ควรได้รับในแต่ละวันตามคำแนะนำของสถาบันการแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (Institute of Medicine – IOM) คือ

  • อายุ 0-6 เดือน ควรได้รับวิตามินซีวันละ 40 มิลลิกรัม
  • อายุ 7-12 เดือน ควรได้รับวิตามินซีวันละ 50 มิลลิกรัม
  • อายุ 1-3 ปี ควรได้รับวิตามินซีวันละ 15 มิลลิกรัม
  • อายุ 4-8 ปี ควรได้รับวิตามินซีวันละ 25 มิลลิกรัม
  • อายุ 9-13 ปี ควรได้รับวิตามินซีวันละ 45 มิลลิกรัม
  • อายุ 14-18 ปี ในเพศชายควรได้รับวิตามินซีวันละ 75 มิลลิกรัม ส่วนในเพศหญิงควรได้รับวิตามินซีวันละ 65 มิลลิกรัม
  • อายุ 19 ปี ถึงมากกว่า 70 ปี ในเพศชายควรได้รับวิตามินซีวันละ 90 มิลลิกรัม ส่วนในเพศหญิงควรได้รับวิตามินซีวันละ 75 มิลลิกรัม
  • หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุ 14-18 ปี ควรได้รับวิตามินซีวันละ 80 มิลลิกรัม ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุ 19-50 ปี ควรได้รับวิตามินซีวันละ 85 มิลลิกรัม
  • หญิงให้นมบุตรที่มีอายุ 14-18 ปี ควรได้รับวิตามินซีวันละ 115 มิลลิกรัม ส่วนหญิงให้นมบุตรที่มีอายุ 19-50 ปี ควรได้รับวิตามินซีวันละ 120 มิลลิกรัม

หมายเหตุ : ความต้องการวิตามินซีจะเพิ่มมากขึ้นในภาวะต่าง ๆ ได้แก่ ภาวะไข้ (โดยเฉพาะการเป็นโรคติดเชื้อและโรคอุจจาระร่วง) การได้รับภยันตรายรุนแรง (เช่น แผลไฟไหม้รุนแรง) เด็กที่เป็นโรคสมองพิการหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ ผู้ที่ขาดธาตุเหล็ก ผู้ที่ขาดโปรตีน ผู้ที่สูบบุหรี่และผู้ที่ได้รับควันบุหรี่จากสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงอายุ (ผู้สูบบุหรี่ควรได้รับวิตามินซีเพิ่มขึ้นจากปริมาณที่แนะนำดังกล่าวอีกวันละ 35 มิลลิกรัม) รวมไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ที่อยู่ตามลำพังหรือไร้ที่อยู่ เหล่านี้จะเป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดอาการขาดวิตามินซีได้ ดังนั้นเมื่อมีความต้องการวิตามินซีเพิ่มขึ้นควรบริโภคให้เพียงพอ (ควรเน้นอาหารที่มีวิตามินซีสูงและคำนึงถึงผลของการปรุงอาหารที่อาจทำลายวิตามินซีด้วย)

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ลักปิดลักเปิด (Scurvy)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 841.
  2. หาหมอดอทคอม.  “โรคลักปิดลักเปิด โรคขาดวิตามินซี (Scurvy)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [21 พ.ย. 2016].
  3. กลุ่มงานโรคระบบทางเดินอาหารและโภชนคลินิก, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี.  “โรคลักปิดลักเปิด (SCURVY)”.  (พญ.สุนทรี รัตนชูเอก).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : dlibrary.childrenhospital.go.th.  [21 พ.ย. 2016].
  4. งานการพยาบาลผู้ป่วยกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “Vitamin C deficiency”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th/hospital/nped/2011/.  [30 ก.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด