รานิทิดีน
รานิทิดีน หรือ แรนิทิดีน (Ranitidine) เป็นยาในกลุ่มแอนติฮิสตามีน ที่ออกฤทธิ์ต้านสารฮิสตามีน (Histamine) ที่รีเซปเตอร์ เอช 2 (H2 receptor) ของเซลล์ในกระเพาะอาหาร ทำให้ลดการสร้างกรดของกระเพาะอาหาร เรียกว่า ยาต้านเอช 2 (H2 antagonist) ส่วนยาไซเมทิดีน (Cimetidine) ก็อยู่ในกลุ่มยาต้านเอช 2 ด้วยเช่นกัน แต่รานิทิดีนจะออกฤทธิ์ได้ดีกว่าและมีผลข้างเคียงน้อยกว่าไซเมทิดีนในการยับยั้งเซลล์กระเพาะหลั่งกรด ในปัจจุบันจึงนิยมใช้ยานี้มากกว่าไซเมทิดีน
องค์การอนามัยโลกจัดให้ยารานิทิดีนอยู่ในหมวดยาจำเป็นของระบบสาธารณสุขมูลฐานของแต่ละประเทศ สำหรับในประเทศไทยเราจะจัดยารานิทิดีนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยอยู่ในหมวดยาอันตราย เนื่องจากยานี้มีผลข้างเคียงและข้อห้ามใช้ที่จำเพาะในแต่ละกลุ่มของผู้ป่วย การใช้ยานี้จึงต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
ตัวอย่างยารานิทิดีน
ยารานิทิดีน (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น อะซิแคร์ (Acicare), อะซิล็อก (Aciloc), ฮิสแท็ก (Histac), ราแม็ก (Ramag), รานิซิด (Ranicid), รานิด (Ranid), รานิดีน (Ranidine), รานิน-25 (Ranin-25), รานิท-วีซี อินเจ็คชั่น (Ranit-VC Injection), แรนแท็ก 150 (Rantac 150), แรนโทดีน (Rantodine), ราติก (Ratic), ราติกา (Ratica), อาร์-ล็อก (R-Loc), ซานิดีน (Xanidine), ซานาเมท (Zanamet), แซนแท็ก (Zantac), แซนทิดอน (Zantidon) ฯลฯ
รูปแบบยารานิทิดีน
- ยาเม็ด 150 และ 300 มิลลิกรัม
- ยาฉีด 50 มิลลิกรัม/หลอด (2 มิลลิกรัม)
สรรพคุณของยารานิทิดีน
- ใช้ลดการสร้างกรด รักษาและบรรเทาอาการในผู้ป่วยอาหารไม่ย่อย (Dyspepsia), โรคกรดไหลย้อน (GERD), กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis), แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (Peptic ulcer)
- ใช้บรรเทาอาการแสบร้อนกลางอก (Heartburn) จากโรคกรดไหลย้อน
- ใช้บรรเทาอาการและรักษาภาวะมีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป เช่น กลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison syndrome)
- ใช้ป้องกันภาวะกรดในกระเพาะอาหารสำลักเข้าสู่หลอดลมก่อนการผ่าตัด (Acid-aspiration pneumonia)
- ใช้รักษาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding)
- ใช้ร่วมกับยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- ใช้เป็นยาร่วมกับยาอื่นในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) ที่อยู่ในกระเพาะอาหาร และทำให้แผลในกระเพาะอาหารหายช้า
- ใช้เสริมฤทธิ์แก้แพ้ของยาแก้แพ้ หรือยาต้านเอช 1 ในการรักษาโรคลมพิษเรื้อรัง หรือมีอาการแพ้รุนแรง
เมื่อร่างกายได้รับยารานิทิดีน ตัวยาจะไปจับกับโปรตีนในกระแสเลือดประมาณ 15% จากนั้นตัวยาจะถูกลำเลียงส่งไปที่อวัยวะตับเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกร่างกาย 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะ
กลไกการออกฤทธิ์ของยารานิทิดีน
ยารานิทิดีนจะมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ผนังของกระเพาะอาหาร โดยจะแข่งขันและป้องกันไม่ให้สารฮิสตามีน (Histamine) เข้าจับกับตัวรับ (Receptor) ที่เรียกว่า Histamine H2 receptors อีกทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้สารฮิสตามีนไปกระตุ้นการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร ด้วยกลไกดังกล่าวนี้จึงทำให้อาการของโรคจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปตามลำดับ
ก่อนใช้ยารานิทิดีน
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยารานิทิดีน สิ่งที่ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้
- การแพ้ยารานิทิดีน (Ranitidine) และประวัติการแพ้ยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ผื่นขึ้น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
- ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาแต่ละชนิดอาจส่งผลทำให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยารานิทิดีนกับยาอื่น ๆ ที่ใช้อยู่ก่อนแล้วได้ เช่น
- การใช้ยารานิทิดีนร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) หรือยาแก้ซึมเศร้า (กลุ่ม Tricyclic antidepressants – TCAs) จะเสริมฤทธิ์ของยาเหล่านี้ โดยเฉพาะยาต้านการแข็งตัวของเลือดซึ่งอาจทำให้เกิดอาการตกเลือดได้ หากพบอาการตกเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด และ/หรืออุจจาระเป็นเลือด อาเจียน ปวดศีรษะ วิงเวียน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและปรับขนาดการรับประทานยาให้เหมาะสม
- การใช้ยารานิทิดีนร่วมกับยาขยายหลอดลม เช่น อะมิโนฟิลลีน (Aminophylline), ทีโอฟิลลีน (Theophylline) อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงของยาขยายหลอดลมเหล่านี้เพิ่มขึ้น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น นอนไม่หลับ และอาจมีอาการชักร่วมด้วย ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกันหรือต้องปรับขนาดการรับประทานของยาให้เหมาะโดยแพทย์ผู้ให้การรักษา
- การใช้ยารานิทิดีนร่วมกับยาบางตัวที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ เช่น อะดีโฟเวียร์ (Adefovir) สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาทั้ง 2 เพิ่มขึ้น หากต้องใช้ยาร่วมกันควรปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมโดยแพทย์ผู้ให้การรักษา
- การใช้ยารานิทิดีนร่วมกับยาบางตัวที่ใช้รักษาโรคเอชไอวี เช่น อะทาซานาเวียร์ (Atazanavir) อาจทำให้การดูดซึมของยารักษาโรคเอชไอวีลดลง ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา หากต้องใช้ยาร่วมกันควรปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมโดยแพทย์ด้วยเช่นกัน
- โรคประจำตัวอื่น ๆ โดยเฉพาะมีความผิดปกติหรือมีประวัติความบกพร่องในการทำงานของตับหรือไต เป็นโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) โรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria)
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- มีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยารานิทิดีน
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่แพ้ยารานิทิดีน
- ห้ามใช้และเก็บยาหมดอายุ
- ควรระวังการใช้ยารานิทิดีนในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็กทารก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีประวัติการแพ้แสงแดด ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องในการทำงานของตับหรือไต
วิธีใช้ยารานิทิดีน
- ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (Peptic ulcer) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือรับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน เป็นเวลาติดต่อกัน 4 สัปดาห์ หากต้องการรับประทานนานกว่านี้หรือใช้ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ให้ลดขนาดรับประทานเป็น 150 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน
- ใช้ลดการสร้างกรดในผู้ป่วยอาหารไม่ย่อย รักษาอาการกรดไหลย้อน ภาวะกรดหลั่งมาก ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง เช้าและเย็น หรือรับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน เป็นเวลาติดต่อกัน 8-12 สัปดาห์ (หากอาการของโรครุนแรงมากอาจต้องรับประทานยาวันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ขึ้นไป) ส่วนในเด็กให้รับประทานวันละ 2-4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (สูงสุดวันละ 300 มิลลิกรัม) โดยแบ่งให้วันละ 1-2 ครั้ง (สำหรับโรคกรดไหลย้อนให้รับประทานวันละ 5-10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สูงสุดวันละ 300 มิลลิกรัม)
- ใช้ป้องกันและบำบัดอาการอาหารไม่ย่อย ให้รับประทานครั้งละ 75 มิลลิกรัมเมื่อมีอาการ และอาจให้ยาซ้ำอีก 1 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง
- ใช้ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารจากยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง เช้าและเย็น หรือรับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน เป็นเวลาติดต่อกัน 8-12 สัปดาห์
- ใช้บรรเทาอาการและรักษากลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison syndrome) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 150 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ขนาดรับประทานอาจปรับสูงได้ถึง 6 กรัม/วัน สามารถรับประทานยาก่อนอาหารหรือหลังอาหารก็ได้
- ใช้รักษาแผลในลำไส้ที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) ร่วมด้วย ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน หรือรับประทานครั้งละ 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง กรณีโรคนี้จำเป็นต้องใช้ยารานิทิดีนร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ด้วย เช่น ยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
- ใช้เสริมฤทธิ์ยาแก้แพ้ ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง หรือฉีดในขนาด 50 มิลลิกรัม เข้าหลอดเลือดดำ ส่วนในเด็กให้รับประทานครั้งละ 2-4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือฉีดขนาด 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เข้าหลอดเลือดดำ
หมายเหตุ : โดยปกติแล้วขนาดการใช้ยารานิทิดีนในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี (ที่ไม่ได้กล่าวถึงในบางโรคบางอาการ) มักจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวและอายุของเด็ก แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลแนะนำขนาดการใช้ยาที่ชัดเจนในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
คำแนะนำในการใช้ยารานิทิดีน
- ควรใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เนื่องจากขนาดที่ใช้รับประทานจะแตกต่างกันไปในแต่ละอาการหรือแต่ละโรค ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยาในขนาดที่น้อยหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
- ควรรับประทานยาให้ตรงเวลาทุกครั้ง ห้ามหยุดใช้ยาด้วยตัวเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน
- ในกรณีที่รับประทานยาเพื่อป้องกันอาการแสบร้อนกลางอกจากโรคกรดไหลย้อน ให้รับประทานยานี้ก่อนอาหารประมาณ 30-60 นาที
- ห้ามรับประทานยารานิทิดีนร่วมกับยาลดกรด แต่หากมีความจำเป็นต้องรับประทานยาลดกรด ให้รับประทานก่อนยารานิทิดีนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง หรือหลังจากรับประทานยารานิทิดีนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ในระหว่างที่รับประทานยานี้
- หลีกเลี่ยงการซื้อยาลดกรดหรือยาบรรเทาอาการปวดมารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
- หากอุจจาระมีสีดำเข้ม อาเจียนเป็นเลือด หรืออาเจียนมีลักษณะคล้ายเมล็ดกาแฟบดควรรีบไปพบแพทย์
การเก็บรักษายารานิทิดีน
- ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ควรเก็บยานี้ในอุณหภูมิห้องปกติ ไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น) และเก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง)
- ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ
เมื่อลืมรับประทานยารานิทิดีน
โดยทั่วไปเมื่อลืมรับประทานยา ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ผลข้างเคียงของยารานิทิดีน
- อาการอันไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเดิน ท้องเสีย[1],[2]
- ผลข้างเคียงที่พบได้น้อย เช่น ตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ผมร่วง เป็นต้น[1]
- ผลข้างเคียงรุนแรง เช่น รู้สึกตื่นเต้น อยู่นิ่งไม่ได้ กระวนกระวาย กระสับกระส่าย ซึมเศร้า ประสาทหลอน เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น ผิวแดง ลอก หรือมีแผลพุพอง เนื้อเยื่อด้านในปากหลุดออก ผื่นคัน เหนื่อย อ่อนเพลียผิดปกติ อาเจียน ตัวเหลืองหรือตาเหลือง[2]
- ผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ลมพิษ มีไข้ ความดันโลหิตต่ำ หลอดลมเกร็งทำให้หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก เป็นต้น[3]
- ถ้าใช้ชนิดฉีดอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะช็อกจากการแพ้ (Anaphylactic shock) ได้[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. “รานิทิดีน (Ranitidine)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 279.
- ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.). “RANITIDINE”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net. [12 ก.ย. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “แรนิทิดีน (Ranitidine)”. (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [12 ก.ย. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)