รากสามสิบ
รากสามสิบ ชื่อสามัญ Shatavari[8]
รากสามสิบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Asparagus racemosus Willd. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Protasparagus racemosus (Willd.) Oberm.) จัดอยู่ในวงศ์หน่อไม้ฝรั่ง (ASPARAGACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย ASPARAGOIDEAE[4]
สมุนไพรรากสามสิบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สามร้อยราก (กาญจนบุรี), ผักหนาม (นครราชสีมา), ผักชีช้าง (หนองคาย), จ๋วงเครือ (ภาคเหนือ), เตอสีเบาะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), พอควายเมะ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ชีช้าง, ผักชีช้าง, จั่นดิน, ม้าสามต๋อน, สามสิบ, ว่านรากสามสิบ, ว่านสามสิบ, ว่านสามร้อยราก, สามร้อยผัว, สาวร้อยผัว, ศตาวรี เป็นต้น[1],[2],[4],[5],[6]
ลักษณะของรากสามสิบ
- ต้นรากสามสิบ จัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็งเลื้อยพันต้นไม้อื่นด้วยหนาม (หนามเปลี่ยนมาจากใบเกล็ดบริเวณข้อ) สามารถเลื้อยปีนป่ายต้นไม้อื่นขึ้นไปได้สูงประมาณ 1.5-4 เมตร แตกแขนงเป็นเถาห่าง ๆ ลำต้นเป็นสีเขียวหรือสีขาวแกมเหลือง เถามีขนาดเล็กเรียว กลม เรียบ ลื่น และเป็นมัน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-5 มิลลิเมตร เถาอ่อนเป็นเหลี่ยม ตามข้อเถามีหนามแหลม หนามมีลักษณะโค้งกลับ ยาวประมาณ 1-4 มิลลิเมตร บริเวณข้อมีกิ่งแตกแขนงแบบรอบข้อ และกิ่งนี้จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวลักษณะแบนเป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลม กว้างประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.5-2.5 มิลลิเมตร ทำหน้าที่แทนใบ มีเหง้าและรากอยู่ใต้ดิน ออกเป็นกระจุกคล้ายกระสวย ลักษณะของรากออกเป็นพวงคล้ายรากกระชาย ลักษณะอวบน้ำ เป็นเส้นกลมยาว มีขนาดโตกว่าเถามาก มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย อินเดีย ศรีลังกา ชวา จีน มาเลเซีย และออสเตรเลีย พบขึ้นตามป่าในเขตร้อนชื้น ป่าเขตร้อนแห้งแล้ง ป่าผลัดใบ ป่าโปร่งหรือตามเขาหินปูน[1],[2],[4],[5],[8]
- ใบรากสามสิบ ใบเป็นใบเดี่ยว แข็ง ออกรอบข้อเป็นฝอย ๆ เล็กคล้ายหางกระรอก หรือออกเรียงสลับเป็นกระจุก 3-4 ใบ ใบเป็นสีเขียวดก ลักษณะของใบเป็นรูปเข็มขนาดเล็ก ปลายใบแหลม เป็นรูปเคียว โคนใบแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 10-36 มิลลิเมตร แผ่นมักโค้ง สันเป็นสามเหลี่ยม มี 3 สัน มีหนามที่ซอกกระจุกใบ ก้านใบยาวประมาณ 13-20 เซนติเมตร[1],[2],[4]
- ดอกรากสามสิบ ออกดอกเป็นช่อกระจะ ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร โดยจะออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบและข้อเถา ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ดอกเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอม มีประมาณ 12-17 ดอก ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีกลีบรวม 6 กลีบ แยกเป็น 2 วง วงนอก 3 กลีบ และวงในอีก 3 กลีบ กลีบมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายกลีบมน ขอบเรียบ กลีบกว้างประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.5-3.5 มิลลิเมตร กลีบดอกมีลักษณะบางและย่น โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปดอกเข็มยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนปลายแยกเป็นแฉก ดอกมีเกสรผู้เชื่อมและอยู่ตรงข้ามกับกลีบรวม เป็นเส้นเล็ก 6 อัน ก้านชูอับเรณูเป็นสีขาว อับเรณูเป็นสีน้ำตาลเข้ม รังไข่เป็นรูปไข่กลับ อยู่เหนือวงกลีบ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มี 2 ช่อง ในแต่ละช่องมีออวุล 2 เมล็ด หรือมากกว่า ส่วนก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 แฉกขนาดเล็ก โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน[1],[2],[4],[5]
- ผลรากสามสิบ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม หรือเป็นพู 3 พู ผิวผลเรียบเป็นมัน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีม่วงแดง ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-6 เมล็ด เมล็ดเป็นสีดำ เปลือกหุ้มมีลักษณะแข็งแต่เปราะ ออกผลในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม[1],[8]
สรรพคุณของรากสามสิบ
- รากสามสิบมีรสเฝื่อนเย็น มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง ใช้เป็นยาชูกำลัง (ราก)[1],[4]
- ตำรายาไทยจะใช้รากเป็นยาแก้กระษัย (ราก)[4]
- ในประเทศอินเดียจะใช้รากเป็นยากระตุ้นประสาท (ราก)[4]
- รากใช้ผสมกับเหง้าขิงป่าและต้นจันทน์แดง ผสมกับเหล้าโรงใช้เป็นยาแก้วิงเวียน (ราก)[4]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาลดความดันโลหิตและลดไขมันในเลือด (ราก)[2],[3],[11]
- รากสามสิบมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยไปกระตุ้นการทำงานของตับอ่อนให้เพิ่มการหลั่งสาร insulin (ราก)[3]
- ทั้งต้นหรือรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคคอพอก (ราก, ทั้งต้น)[1],[4]
- ผลมีรสเย็น ใช้ปรุงเป็นยาแก้พิษไข้เซื่องซึม แก้พิษไข้กลับไข้ซ้ำ มักใช้ร่วมกับผลราชดัด เพื่อเป็นยาดับพิษไข้จากบิดเรื้อรัง (ผล)[1],[4]
- รากมีรสเฝื่อนเย็น ใช้กินเป็นยาแก้พิษร้อนในกระหายน้ำ (ราก)[1],[4]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ราก)[2]
- ช่วยขับเสมหะ[4] แก้การติดเชื้อที่หลอดลม (ราก)[8]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยขับลม และช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร (ราก)[4],[8]
- ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ แก้อาการอาหารไม่ย่อย รักษาแผลในกระเพาะอาหาร โรคกระเพาะ (ราก)[7],[8],[11]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการท้องเสีย แก้บิด (ราก)[2],[4]
- ใบมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ใบ)[8]
- ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (ราก)[4]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ขัดเบา ขับปัสสาวะ ช่วยหล่อลื่นและกระตุ้น (ราก)[2],[4],[5]
- ช่วยรักษาอาการประจำเดือนผิดปกติของสตรี (ราก)[8]
- ทั้งต้นหรือรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ตกเลือด (ราก, ทั้งต้น)[1],[4]
- ในอินเดียจะใช้รากสามสิบเป็นยากระตุ้นสมรรถภาพทางเพศทั้งชายและหญิง คนทางภาคเหนือบ้านเราจะใช้รากสามสิบทำเป็นยาดอง ใช้กินเป็นยาบำรุงสำหรับเพศชาย กินแล้วคึกคักเหมือนม้า 3 ตัว จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ม้าสามต๋อน” ส่วนหมอยาโบราณจะใช้เป็นยาบำรุงสำหรับสตรี ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “สาวร้อยผัว” หรือ “สามร้อยผัว” กล่าวคือไม่ว่าจะอายุเท่าใดก็ยังสามารถมีลูกมีผัวได้ อายุเท่าไรก็ยังดูสาวเสมอ แต่ไม่ใช่กินแล้วจะสามารถมีผัวได้เป็นร้อยคน ในตำราอายุรเวทจะใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นสมุนไพรหลักในการบำรุงสตรี ทำให้กลับมาเป็นสาว ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสตรี ไม่ว่าจะเป็นภาวะประจำเดือนไม่ปกติ ภาวะหมดประจำเดือน ปวดประจำเดือน ตกขาว มีบุตรยาก หมดอารมณ์ทางเพศ ช่วยบำรุงครรภ์ บำรุงน้ำนม ป้องกันการแท้ง ฯลฯ ส่วนวิธีการใช้ก็ให้นำรากมาต้มกิน หรือนำรากมาตากแห้งแล้วบดเป็นผงปั้นเป็นลูกกลอนกินกับน้ำผึ้ง นอกจากนี้ยังใช้กระตุ้นน้ำนมในวัวนมได้อีกด้วย (ราก)[7],[8],[11]
- ใช้เป็นยาบำรุงตับและปอดให้เกิดกำลังเป็นปกติ แก้ตับและปอดพิการ (ราก)[1],[2],[4],[5]
- รากใช้ฝนทาแก้พิษจากแมลงป่องกัดต่อย (ราก)[1],[4]
- รากใช้ฝนทาแก้อาการปวดฝี ทำให้เย็น ช่วยถอนพิษฝี พิษปวดแสบปวดร้อน (ราก)[1],[4]
- ช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง (ราก)[4]
- รากใช้กินเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย ครั่นตัว (ราก)[1],[4]
- ช่วยแก้อาการปวดข้อและคอ (ราก)[8]
- ใบมีสรรพคุณช่วยขับน้ำนม ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ)[8]
- รากใช้เป็นยาบำรุงเด็กทารกในครรภ์ บำรุงน้ำนม บำรุงร่างกายหลังการคลอดบุตรของสตรี (ราก)[1],[2],[4],[6]
- ใน “พระคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด)” ได้กล่าวถึงสรรพคุณของรากสามสิบไว้ว่า “ผักหวานตัวผู้มีรสหวาน แก้กำเดา แก้จักษุโรค รากสามสิบทั้ง 2 มีคุณยิ่งกว่าผักหวาน” กำเดาหรือไข้กำเดา มีอยู่ 2 ชนิด อย่างแรก คือ ตัวร้อน เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ และอีกอย่างหนึ่ง คือ มีอาการรุนแรงมากกว่า มีเม็ดผุดขึ้นตามร่างกาย มีอาการคัน ไอ มีเสมหะ และมีเลือดออกทางปากและจมูก (ราก)[10]
- ส่วนในหนังสือ “พระคัมภีร์เวชศาสตร์สงเคราะห์” ได้กล่าวถึงตำรับยารักษาคนธาตุหย่อน อันมีตัวยารากสามสิบรวมอยู่ด้วยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิด โดยระบุว่ามีสรรพคุณ (ที่ค่อนข้างจะเข้าใจยาก) ว่าช่วยจำเริญชีวิตให้เกิดกำลัง ให้บำรุงธาตุไฟ ให้จำเริญอินทรีย์แต่ละอย่าง มีกำลังมากต่างกัน กินเข้าไปแล้วหาโทษมิได้ ใช้ได้ทั้งเด็ก คนแก่ คนมีกำลัง คนผอม คนไม่มีกำลัง คนธาตุหย่อน ให้ประกอบยานี้กันเถิด อนึ่ง กินแล้วให้บังเกิดบุตร ให้อกตอแค่นแขงทั้ง 4 มีกำลัง ถึงกระหักก็ดี แพทย์ก็นับถือรักษาด้วยยานี้เถิด (ราก)[10]
- อีกตำรับหนึ่งเป็นยาแก้โรคผอมแห้ง แก้หอบหืด แก้ปิดตะ และแก้โรคลมต่าง ๆ จะมีสมุนไพรอยู่ด้วยกัน 20 อย่างรวมทั้งรากสามสิบ (ราก)[10]
- ใน “พระคัมภีร์วรโยคสาร” ตำรับยา “วะระนาทิคณะ” เป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยรากไม้ 17 อย่าง รวมทั้งรากสามสิบ ซึ่งเป็นตำรับยาที่ใช้แก้อันตะวิทราโรค หรือโรคที่มีอาการเสียดแทงในลำไส้ใหญ่ ใช้เป็นยาแก้มันทาคินี แก้เสมหะ แก้คุลุมโรคหายแล และยังมีตำรับยาอีกอย่างก็คือ ตำรับยาแก้เสมหะ ที่มีสมุนไพรรวมอยู่ด้วย 16 อย่าง รวมทั้งรากสามสิบ (ราก)[10]
- ตำรับยาบำรุงครรภ์ แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ ประกอบไปด้วยสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ รากสามสิบ แก่นสน กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก ชะลูด อบเชย เปลือกสมุลแว้ง เทียนทั้ง 5 บัวน้ำทั้ง 5 โกฐทั้ง 5 จันทน์ทั้ง 4 และเทพทาโร (ใช้อย่างละเท่ากัน) นำทั้งหมดมาใส่ในหม้อเคลือบหรือหม้อดิน เติมน้ำลงไปให้ท่วมยาสูงราว 6-7 เซนติเมตร แช่ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วนำขึ้นตั้งด้วยไฟอ่อน ๆ ต้มเคี่ยวประมาณ 30 นาที น้ำยาเดือดและมีกลิ่นหอมจึงยกลงจากเตา ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น วันละ 2 เวลา เป็นยาบำรุงครรภ์อย่างดี (ราก)[10]
- นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณของรากสามสิบตามเว็บไซต์ต่าง ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา สมุนไพรชนิดนี้ยังมีสรรพคุณช่วยสร้างสมดุลให้แก่ระบบฮอร์โมนเพศหญิง แก้วัยทอง เพิ่มขนาดหน้าอกและสะโพก ช่วยแก้ปัญหาช่องคลอดอักเสบ ดับกลิ่นในช่องคลอด ช่วยกระชับช่องคลอด ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ช่วยกระชับสัดส่วน ลดไขมันส่วนเกิน บำรุงโลหิต บำรุงผิวพรรณ ลดสิว ลดฝ้า ทำให้ผิวขาวใส ช่วยชะลอความแก่ชรา ลดกลิ่นตัว กลิ่นปาก ช่วยเสริมสร้างและพัฒนาความจำและสติปัญญา (ไม่มีอ้างอิง)
ขนาดและวิธีใช้ : การใช้รากตาม [2],[3] ให้ใช้รากประมาณ 90-100 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มวันละครั้งในตอนเช้า[2],[3]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของรากสามสิบ
- สารสำคัญที่พบ ได้แก่ asparagamine, cetanoate, daucostirol, sarsasapogenin, shatavarin, racemosol, rutin[2]
- สมุนไพรรากสามสิบมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ลดการอักเสบ แก้อาการปวด คลายกล้ามเนื้อของมดลูก บำรุงหัวใจ ป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ลดอาการหัวใจโตที่เกิดจากความดันโลหิตสูง ขับน้ำนม มีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจน ยับยั้งเบาหวาน ลดระดับไขมันในเลือด กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านอาการเม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ยับยั้งพิษต่อตับ[2],[11]
- สารสำคัญที่พบในรากคือสาร steroidal saponins ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่เลียนแบบฮอร์โมนเพศ จึงน่าจะมีบทบาทในการรักษาอาการที่เกิดขึ้นในช่วงวัยหมดระดูของสตรี รวมไปถึงการช่วยปกป้องการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดรวมถึงโรคกระดูกพรุน[8]
- จากการศึกษาในหนูแรทโดยใช้สารสกัดจากรากด้วยเอทานอล แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเฉียบพลันและช่วงยาวต่อเนื่อง โดยการศึกษาในช่วงเฉียบพลันป้อนสารสกัดเอทานอลจากรากสามสิบในขนาด 1.25 กรัมต่อกิโลกรัม ให้กับหนูแรทที่ไม่เป็นเบาหวาน หนูแรทที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 พบว่าไม่มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่ช่วยทำให้ทนต่อการเพิ่มขึ้นของกลูโคส ในนาทีที่ 30 ดีขึ้น ส่วนการศึกษาช่วงยาวต่อเนื่องวันละ 2 ครั้ง นาน 28 วัน ให้กับหนูที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ และเพิ่มระดับของอินซูลิน 30%เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มระดับอินซูลินในตับอ่อน และเพิ่มไกลโคเจนที่ตับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเบาหวานควบคุม จึงสรุปได้ว่าฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารสกัดจากรากสามสิบน่าจะเป็นผลมาจากการยับยั้งการย่อยและการดูดซึมสารคาร์โบไฮเดรต และเพิ่มการหลั่งอินซูลิน ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ในการนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานได้[9]
- จากการทดลองทางคลินิก คือ การใช้รักษาโรคกระเพาะในคนจริง ๆ โดยการรับประทานผงแห้งของราก พบว่าได้ผลดีในการรักษาแผลที่กระเพาะและลำไส้เล็ก จากการที่กรดเกิน[11]
- เมื่อปี ค.ศ.1997 ที่ประเทศอินได้ทำการทดลองใช้รากสามสิบกับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงชนิด mild hypertension โดยทดลองเปรียบเทียบกับยาลดความดัน (Propranolol) ใช้ระยะเวลาทำการทดลองนาน 3 เดือน ผลการทดลองพบว่า ผู้ป่วยมีความดันโลหิตลดลง < 90 mm.Hg. และลดไขมันได้ผลดี[2]
- S. K. Mitra และคณะ (ค.ศ.1996) ที่ประเทศอินเดียได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากรากสามสิบกับหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นด้วย Streptozotocin ผลการทดลองพบว่า สารสกัดดังกล่าวสามารถกระตุ้นตับอ่อนของหนูให้เพิ่มการหลั่ง insulin ได้[3]
- Kishan, A. R., Ajitha M และคณะ (ค.ศ.1999) ที่ประเทศอินเดียได้ทดลองใช้สารสกัดจากรากสามสิบกับหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นด้วยสาร Alloxan ผลการทดลองพบว่า สารดังกล่าวสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือดของหนูทดลองได้[3]
- Ajit Kas, B. K. Choudhary และคณะ (ค.ศ.2002) ที่ประเทศอินเดียได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากรากสามสิบกับหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นด้วยสาร Alloxan โดยใช้ขนาดของสารสกัด 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทำการทดลอง 2 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า สารสกัดดังกล่าวสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองได้[3]
- Saito Chizako และคณะ (ค.ศ.2005) ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากรากสามสิบกับผู้ป่วยอายุ 59 ปีขึ้นไปที่ป่วยเป็นเบาหวาน ผลการทดลองพบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จาก 270-280 mg,/dL. ลดลงเหลือ 120-130 mg./dL. และ HbAic จาก 9 ลดลงเหลือ 5.8[3]
- จากการทดสอบความเป็นพิษเมื่อให้หนูถีบจักรกินสารสกัดจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นสามสิบด้วย 50% เอทานอล พบว่าในขนาดสูงสุดที่สัตว์ทดลองทนได้ก่อนเกิดอาการพิษ คือ 1 กรัมต่อกิโลกรัม[2] ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าสัตว์ทดลองที่กินส่วนของรากในขนาดสูงถึง 2 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบความเป็นพิษ (แสดงว่าการรับประทานเป็นครั้งคราวก็ถือว่ามีความปลอดภัย) แต่มีรายงานว่าการกินน้ำต้มรากสามสิบร่วมกับการใช้ผงรากสวนเข้าทางช่องคลอดเพื่อหวังผลให้แท้งบุตร ทำให้เกิดพิษจนถึงแก่ชีวิต และยังไม่มีข้อมูลการศึกษาความเป็นพิษ หากรับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน[9]
ข้อควรระวังในการใช้รากสามสิบ
- รายงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่ารากสามสิบมีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนั้นจึงห้ามนำมาใช้ในสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง เช่น ผู้ป่วยโรค uterine fribrosis หรือ fibrocystic breast[9],[11]
ประโยชน์ของรากสามสิบ
- ผลอ่อนสามารถนำมารับประทานได้ โดยนำมาทำเป็นแกงลูกสามสิบ[8]
- รากนำมาต้ม เชื่อม หรือนำมาแช่อิ่ม ใช้รับประทานเป็นอาหาร กรอบดีมาก (รากสามสิบแช่อิ่ม) หรือนำมาทำเป็นน้ำรากสามสิบ[5],[6],[8]
- ทางภาคอีสานจะนำยอดมาลวกรับประทานเป็นผักเคียง ใช้รับประทานสด หรือนำมาผัด[6],[8] ส่วนทางภาคใต้จะใช้ส่วนที่อยู่เหนือดินมาใส่ในแกงส้มและแกงเลียง[7]
- รากยังสามารถนำมาทุบหรือขูดกับน้ำ ทำเป็นน้ำสบู่สำหรับซักเสื้อผ้าได้อีกด้วย[11]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เพาะปลูกโดยใช้เมล็ด เหง้า หรือหน่อ ควรปลูกในช่วงฤดูฝน ควรปลูกลงในกระถางทรงสูงและใช้ดินร่วนในการปลูก ใส่ดินให้มาก ๆ รดน้ำให้ชุ่ม และควรปลูกไว้ในบริเวณที่มีแสงแดดรำไรตลอดวัน[6]
- ในปัจจุบันบ้านเราได้มีการนำสมุนไพรรากสามสิบมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมรากสามสิบออกมาจำหน่ายหลายรูปแบบ ส่วนในต่างประเทศอย่างอินเดียจะใช้สมุนไพรชนิดนี้มากเป็นพิเศษ (เป็นอันดับ 2 รองจากมะขามป้อม) โดยการนำสารสกัดด้วยน้ำของรากสามสิบไปจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาในลักษณะเป็น dietary supplement ที่สามารถขายได้ทั่วไป โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์[11]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สามสิบ (Sam Sip)”. หน้า 298.
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “รากสามสิบ” หน้า 157.
- หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “รากสามสิบ”. หน้า 176/13.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “รากสามสิบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [09 ต.ค. 2014].
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “สามสิบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [09 ต.ค. 2014].
- ว่านและสมุนไพรไทย, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร. “ว่านสามสิบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : natres.skc.rmuti.ac.th/WAN/. [09 ต.ค. 2014].
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ผักชีช้าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org/wiki/ผักชีช้าง. [09 ต.ค. 2014].
- รายงานการศึกษาพันธุ์ไม้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553, ส่วนจัดการป่าชุมชน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (สุราษฎร์ธานี) กรมป่าไม้. “สามสิบ Asparagus racemosus willd. ASPARAGACEAE”.
- หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “รากสามสิบ”., “ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของรากสามสิบในการยับยั้งการย่อย การดูดซึมคาร์โบไฮเดรต และเพิ่มการทำงานของอินซูลิน“. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [09 ต.ค. 2014].
- หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 465, วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552. (ไพบูลย์ แพงเงิน). “สาวร้อยผัว…ผักพื้นบ้านและสมุนไพรที่น่าสนใจ”.
- กระปุกดอทคอม. (เภสัชกรหญิง สุภาภรณ์ ปิติพร). “สาวร้อยผัว เคล็ดลับความงามสองพันปี”. เข้าถึงได้จาก : hilight.kapook.com. [09 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Shubhada Nikharge, RähulÐev), www.herbalveda.co.uk, www.tradeindia.com, www.narayaninaturals.in
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)