รงทอง
รงทอง (รง) ชื่อสามัญ Gamboge tree, Indian gamboge tree, Hanbury’s garcinia, Gambojia
รงทอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia hanburyi Hook.f. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Garcinia morella var. pedicellata T.Hanb.) จัดอยู่ในวงศ์มังคุด (CLUSIACEAE หรือ GUTTIFERAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย CLUSIOIDEAE
ลักษณะของรงทอง
- ต้นรงทอง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร ทุกส่วนมียางเหลือง เปลือกมีสีน้ำตาล โดยจะพบต้นรงทองได้มากในจังหวัดจันทบุรี
- ใบรงทอง ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับตรงข้ามกัน แผ่นใบสีเขียวเข้มลักษณะเหมือนรูปไข่แกมรูปหอก มีความกว้างประมาณ 4-6 ซม. และยาวประมาณ 8-14 ซม.
- ดอกรงทอง ออกดอกเป็นช่อสีเหลือง โดยจะออกเป็นกระจุกตามซอกใบ มีกลีบดอกสีเหลือง
- ผลรงทอง ผลเป็นผลสดอุ้มน้ำแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว ลักษณะกลมหรือรี มีสีเหลืองปนส้ม เมล็ดเป็นรูปไข่
สรรพคุณของรงทอง
- ต้นรงทองมีสารที่ชื่อว่า GAMBOGIC ซึ่งมีฤทธิ์ในการช่วยฆ่าเชื้อเอดส์ ฆ่าเซลล์มะเร็ง (แต่ยังอยู่ระหว่างการทดลอง)
- ยางจากลำต้นนำมาใช้เป็นยาถ่ายชนิดรุนแรง เวลาจะนำมาใช้ต้องนำมาห่อด้วยใบข่าและใบบัวหลวง แล้วนำมาปิ้งไฟจนกรอบ นำมาบดให้เป็นผง เพื่อช่วยลดความรุนแรงลง (ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมแล้ว)
- เปลือกและต้นมีสรรพคุณเป็นยาระบาย
- เปลือกและลำต้นมีสรรพคุณช่วยขับพยาธิตัวแบน
- ยางจากลำต้นใช้เป็นยาทาภายนอกช่วยรักษาแผลเปื่อย
- ใช้เป็นส่วนผสมตัวยาที่ใช้รักษาแผลพุพอง ขี้กลากได้เป็นอย่างดี
- ต้นรงทองมีคุณสมบัติในการช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้
ประโยชน์ของรงทอง
- ยางจากลำต้นเป็นยางเหนียวสีเหลือง นำมาใช้ทำเป็นสีย้อมผ้า และทำเป็นแม่สีเหลือง
- ยางรงทองสามารถนำมาใช้ทาสีไม้ ไม้ซอ ตัวไวโอลิน ทำสีน้ำสำหรับวาดเขียนได้ โดยจะให้สีเหลือง
แหล่งอ้างอิง : กรมวิชาการเกษตร, ศ.ดร.วิชัย ริ้วตระกูล จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบ : ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)