รกเกาะต่ำ สาเหตุ อันตราย และวิธีการดูแลภาวะรกเกาะต่ำ ฯลฯ

รกเกาะต่ำ สาเหตุ อันตราย และวิธีการดูแลภาวะรกเกาะต่ำ ฯลฯ

ภาวะรกเกาะต่ำ

รกเกาะต่ำ หรือ ภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta previa) หมายถึง ภาวะที่รกเกาะอยู่ที่ผนังมดลูกส่วนล่าง (ใกล้กับปากมดลูก) หรือปิดขวางปากมดลูก ซึ่งโดยปกติแล้วสตรีตั้งครรภ์ทั่วไปรกควรจะเกาะอยู่ที่ผนังส่วนบนค่อนไปทางด้านหลังของโพรงมดลูก ทำให้ไม่มีสิ่งกีดขวางทางคลอดของทารก (บริเวณนี้เนื้อมดลูกจะหนา เลือดมาเลี้ยงได้ดี) แต่ถ้ารกเกาะอยู่บริเวณส่วนล่างของมดลูกหรือคลุมมาถึงด้านในของปากมดลูก จะเรียกว่า “ภาวะรกเกาะต่ำ” ซึ่งถือเป็นภาวะที่ไม่ปกติ (เลือดจะมาเลี้ยงบริเวณนี้น้อย จึงทำให้เด็กเจริญเติบโตช้าในครรภ์)

ภาวะนี้มักพบได้ในหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 1 ใน 200 คน โดยเฉพาะคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์มาแล้วหรือคลอดหลาย ๆ ครั้ง (ยิ่งครรภ์หลัง ๆ จะยิ่งมีโอกาสพบได้มากขึ้น) หรือในครรภ์แฝด รวมถึงคุณแม่ที่มีความผิดปกติของปากมดลูก เช่น มีก้อนเนื้องอกในมดลูกหรือมีแผลเป็นที่ตัวมดลูก หรือเคยมีประวัติผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องมาก่อนก็อาจทำให้การเกาะตัวของรกกับผนังมดลูกผิดปกติไป เมื่อคุณแม่ใกล้คลอดจึงมักทำให้เกิดอาการตกเลือด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้

อนึ่ง เมื่อกล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวจะทำให้มีการหดและยืดขยายของกล้ามเนื้อมดลูกส่วนล่างด้วย จึงทำให้เกิดการลอกตัวของรกจากผนังมดลูก ส่งผลให้หลอดเลือดในบริเวณที่รกลอกตัวนั้นฉีกขาดและมีเลือดออกได้ในตำแหน่งที่รกลอกตัว ประกับกล้ามเนื้อส่วนล่างของมดลูกเป็นส่วนที่หดรัดตัวได้ไม่ดี จึงทำให้มีเลือดออกได้ง่ายขึ้น ซึ่งภาวะรกเกาะต่ำนี้เป็นอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นได้ประมาณ 0.3-0.5% ของคุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งหมดและจะมีโอกาสเกิดสูงขึ้นในกรณีที่คุณแม่เคยผ่าตัดคลอดมาก่อน ส่วนอัตราการเสียชีวิตของคุณแม่ที่อยู่ในภาวะนี้จะพบได้ประมาณ 2-3%[1] (บางข้อมูลว่าประมาณ 3 ใน 10,000 คน[5]) โดยภาวะนี้สามารถแบ่งระดับความรุนแรงออกได้เป็น 4 ระดับ (จากน้อยไปหามาก) คือ

  1. รกเกาะบริเวณด้านล่างแต่ไม่คลุมปากมดลูก (Low lying Placenta Previa) เป็นระดับที่ไม่อันตรายมาก มีความรุนแรงน้อยที่สุด คืออยู่ใกล้ ๆ ปากมดลูกในระยะ 2-5 เซนติเมตร คุณแม่บางรายสามารถคลอดลูกได้เองตามธรรมชาติ อาจจะมีเลือดออกไม่มากหรือไม่มีเลือดออกก่อนคลอดเลยก็ได้
  2. รกอยู่ขอบปากมดลูกด้านใน (Marginal Placenta Previa) เป็นระดับที่รกเข้ามาวางอยู่บริเวณบนขอบปากมดลูก มักลงเอยด้วยการผ่าตัดทำคลอด แต่อาจจะเสียเลือดไม่มากเท่ากลุ่มถัดไป
  3. รกคลุมปากมดลูกเพียงบางส่วน (Partial Placenta Previa) ในระดับรกจะคลุมปากมดลูกเพียงบางส่วนและไม่ปิดสนิท ถ้าปล่อยให้เจ็บครรภ์คลอด ปากมดลูกที่ขยายมากขึ้นอาจดึงให้รกขยับสูงขึ้นและอาจไม่ขวางการคลอด มักจะทำให้เลือดออกมาก แพทย์จึงต้องผ่าตัดทำคลอดเช่นกัน
  4. รกคลุมปากมดลูกด้านในทั้งหมด (Complete Placenta Previa) เป็นระดับที่รุนแรงที่สุด เพราะรกปิดปากมดลูกไว้ทั้งหมด แพทย์ต้องผ่าตัดทำคลอดสถานเดียว มีโอกาสผ่าคลอดก่อนกำหนดสูงและเสียเลือดได้มาก บางรายอาจถึงขั้นต้องตัดมดลูกกันเลยทีเดียวครับ

ปัญหารกเกาะต่ำ

อาการของรกเกาะต่ำ

ความผิดปกติของรกเกาะต่ำจะไม่กระทบกระเทือนต่อการตั้งครรภ์ในระยะแรก ๆ แต่เมื่อคุณแม่เข้าสู่ระยะใกล้คลอด มดลูกจะมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ปากมดลูกจะเริ่มบางและยืดขยายออก จึงทำให้รกที่เคยเกาะแน่นมีรอยปริและเกิดแยกตัวจากบริเวณปากมดลูกซึ่งเป็นตำแหน่งที่รกเกาะ คุณแม่จึงมีเลือดออกทางช่องคลอดเป็นพัก ๆ โดยที่ไม่มีอาการเจ็บครรภ์หรือปวดเจ็บในท้องแต่อย่างใด และมดลูกก็ยังนุ่มเป็นปกติ โดยมากมักจะเกิดเมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 7-8 เดือนขึ้นไป หรือในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ (แต่อาจมีข้อยกเว้น บางคนอาจมีอาการเร็วกว่านี้ เช่น 6 เดือน 5 เดือน หรืออาจต่ำกว่าก็ได้) ซึ่งในระยะแรกหรือในระยะที่เป็นไม่มากเลือดจะออกน้อยและหยุดไปได้เอง ทารกสามารถคลอดได้เองตามปกติ แต่ถ้ารกเกาะต่ำมากหรือไปขวางปากมดลูก อาจทำให้คุณแม่ตกเลือดมาก (มีลักษณะเป็นเลือดแดงสดไหลออกจากช่องคลอดเป็นพัก ๆ ในปริมาณมาก) จนเกิดภาวะช็อกได้ หรือทารกในครรภ์ขาดออกซิเจนและเสียชีวิตในครรภ์ได้ แต่คุณแม่บางคนก็มีเลือดออกมากเฉพาะเมื่อเข้าสู่ระยะการเจ็บท้องคลอด โดยไม่มีเลือดออกมาก่อนก็มี หรือบางรายก็ไม่มีเลือดออกเลยครับจนกระทั่งไปผ่าคลอด

โรคนี้บางครั้งอาจแยกไม่ออกจากรกลอกตัวก่อนกำหนด หญิงตั้งครรภ์ที่มีเลือดออกก่อนกำหนดคลอดทุกคนควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดจากรกเกาะต่ำหรือรกลอกตัวก่อนกำหนดก็ได้

สาเหตุของรกเกาะต่ำ

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากบริเวณส่วนบนของมดลูกที่เป็นที่เกาะปกติมีสภาพไม่เหมาะสม รกเลยหาที่เกาะที่สมบูรณ์กว่า หรือในบางกรณีอาจเกิดจากรกมีการแผ่ขยายมากกว่าปกติ จึงทำให้รกคลุมมาถึงด้านล่างของมดลูก โดยมักพบในครรภ์หลัง (ยิ่งตั้งครรภ์มาแล้วหลายครั้งก็ยิ่งมีโอกาสพบได้มากขึ้นและความรุนแรงก็อาจจะมากขึ้นด้วย) หรือคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด นอกจากนี้ยังพบได้ในผู้ที่มีความผิดปกติของมดลูก เช่น มีก้อนเนื้องอกในมดลูก หรือเคยมีประวัติการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องมาก่อนก็อาจทำให้การเกาะตัวของรกกับผนังมดลูกผิดปกติไป และแม้ภาวะรกเกาะต่ำนี้มักเกิดขึ้นกับการตั้งครรภ์ท้องหลัง ๆ ก็จริง แต่กับท้องแรกก็เกิดภาวะเช่นนี้ได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดมดลูกบางส่วน ขูดมดลูกบ่อย ๆ จนเป็นแผล ทำให้รกฝังตัวส่วนบนไม่ได้ รกก็เลยมาฝังตัวที่ส่วนล่างของโพรงมดลูกแทน อย่างไรก็ตาม แม้คุณแม่จะไม่มีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ ก็ตาม แต่ก็ยังอาจจะเกิดรกเกาะต่ำได้เช่นเดียวกัน โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเกิดรกเกาะต่ำนั้น มีดังนี้

  • คุณแม่ตั้งครรภ์หลังหรือตั้งครรภ์มาแล้วหลายครั้ง (คลอดหลาย ๆ ครั้ง) เพราะในแต่ละครั้งจะต้องมีการสร้างรก รกที่สร้างขึ้นมักจะย้ายที่เกาะไปเรื่อย ๆ เนื่องจากตำแหน่งเดิมไม่เหมาะจะเกาะซ้ำ เพราะจะมีแผลเป็นและมีเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอ รกจึงย้ายมาเกาะใกล้ปากมดลูกแทน (ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนลูก)
  • คุณแม่ตั้งครรภ์แฝดหรือเคยตั้งครรภ์แฝด เนื่องจากรกจะมีขนาดใหญ่ เพราะต้องทำหน้าที่นำเอาสารอาหารมาเลี้ยงลูกมากกว่าปกติ การขยายใหญ่ของรกจึงอาจทำให้เกิดภาวะรกเกาะต่ำได้
  • ผนังมดลูกมีแผลเป็น ซึ่งเกิดจากรกเกาะต่ำในครั้งก่อน, การผ่าตัดคลอด (ยิ่งผ่าตัดคลอดหลายครั้งก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น), การผ่าตัดมดลูกบางส่วน, เนื้องอกมดลูก, การทำแท้ง, การขูดมดลูก
  • เลือดไปเลี้ยงผนังมดลูกไม่ดี เช่น ผลจากการใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน ผลจากการสูบบุหรี่จัดมากกว่า 20 มวนต่อวัน หรือจากการที่คุณแม่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากก็ยิ่งมีความเสี่ยงมาก (พบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์อายุ 30 ปี จะมีโอกาสเกิดรกเกาะต่ำมากกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์อายุ 20 ปี มากถึง 3 เท่า)
  • คุณแม่ที่มีความผิดปกติของมดลูก เช่น มดลูกมีรูปร่างผิดปกติ
  • รกมีความผิดปกติ ได้แก่ รกชนิดแผ่นใหญ่กว่าปกติหรือบางกว่าปกติ
  • เกิดการติดเชื้อในครรภ์ เช่น ซิฟิลิส
  • ทารกมีภาวะซีด ร่างกายของคุณแม่จึงพยายามเพิ่มออกซิเจนไปยังลูก จึงทำให้รกเพิ่มขนาด ขยายใหญ่ขึ้นและแผ่ขยายลงมาเกาะถึงด้านล่างของมดลูก เช่น ภาวะธาลัสซีเมีย
  • ทารกในครรภ์อยู่ในท่าผิดปกติ เช่น ท่าขวาง

การวินิจฉัยภาวะรกเกาะต่ำ

อาการสำคัญของภาวะรกเกาะต่ำ คือ การมีเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ (หรือมากกว่า 28 สัปดาห์) จนเปื้อนผ้าปูที่นอนหลังจากตื่นนอน โดยที่คุณแม่ไม่มีอาการเจ็บครรภ์และมักไม่มีการหดรัดตัวของมดลูก เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายมักจะพบว่าส่วนนำหรือหัวของทารกลอยอยู่ (ส่วนนำยังไม่เข้าอุ้งเชิงกราน) หรือทารกอยู่ในท่าผิดปกติ เช่น ท่าขวาง ท่าก้น มดลูกไม่มีการหดรัดตัว กดแล้วไม่เจ็บ สามารถคลำท่าทารกได้ชัดเจน (แตกต่างจากภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดที่มดลูกจะหดรัดตัวตลอดเวลา กดแล้วจะรู้สึกเจ็บที่มดลูกมาก และไม่สามารถคลำท่าทารกได้อย่างชัดเจน) ส่วนการตรวจที่จะช่วยยืนยันได้ว่าคุณแม่มีภาวะรกเกาะต่ำจริง ๆ ก็คือ การตรวจอัลตราซาวนด์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมาก (แพทย์จะไม่ทำการตรวจภายในโดยเด็ดขาดก่อนที่จะทำการตรวจอัลตราซาวนด์ เพราะหากมีภาวะรกเกาะต่ำเกิดขึ้นจริง การตรวจภายในจะไปทำให้เลือดออกมากจนอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้) หากตรวจอัลตราซาวนด์แล้วไม่พบว่ามีภาวะรกเกาะต่ำ แพทย์จะทำการตรวจภายในต่อไปเพื่อหาสาเหตุของเลือดออก

ภาวะรกเกาะต่ำ

การที่มีเลือดออกโดยไม่มีอาการเจ็บครรภ์นั้น จะทำให้แพทย์วินิจฉัยภาวะรกเกาะต่ำได้โดยง่าย แต่ในบางกรณีคุณแม่อาจมีอาการปวดท้องหรือเจ็บครรภ์ร่วมด้วยก็ได้ ซึ่งจะทำให้การวินิจฉัยเป็นไปได้ยากมากขึ้น

สำหรับการพยากรณ์โรคนั้นก็ขึ้นอยู่กับชนิดของรกเกาะต่ำ ปริมาณเลือดที่ออก และอายุครรภ์ของคุณแม่ หากคุณแม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที การพยากรณ์โรคของคุณแม่มักจะดี แต่สำหรับลูกแล้วจะขึ้นอยู่กับอายุครรภ์เป็นหลัก หากอายุครรภ์ยังอ่อนมาก ๆ ก็จะมีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการคลอดก่อนกำหนดได้มาก ซึ่งตัวทารกจะมีปัญหาอวัยวะในระบบต่าง ๆ ยังไม่เจริญเติบโตอย่างเต็มที่ จึงมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง แต่หากมีอายุครรภ์ครบกำหนด การพยากรณ์โรคของทารกก็มักจะดีตามคุณแม่ไปด้วย เพราะจะมีโอกาสรอดสูงและเป็นปกติเหมือนเด็กทั่วไป

การรักษารกเกาะต่ำ

  • ถ้าตรวจพบรกเกาะต่ำในช่วงที่อายุครรภ์น้อย ๆ แพทย์จะทำการตรวจอัลตราซาวนด์ซ้ำอีกครั้งเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 32-34 สัปดาห์ เพื่อยืนยันว่าตำแหน่งของรกเปลี่ยนไปหรือไม่ เพราะในช่วงอายุครรภ์น้อย ๆ รกอาจอยู่ต่ำ แต่เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น รกอาจเคลื่อนไปด้านบนได้เองก็ได้ แต่หากพบว่าตำแหน่งของรกไม่เปลี่ยนแปลง คือ ยังเกาะต่ำอยู่เหมือนเดิม และอายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนดคลอด แพทย์อาจมีความจำเป็นให้คุณแม่นอนพักอยู่นิ่ง ๆ บนเตียงนอนเพื่อสังเกตอาการในโรงพยาบาลอย่างน้อย 3 วัน และอาจฉีดยากระตุ้นความพร้อมของปอดทารกให้ด้วย เพื่อให้ปอดทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากมีความจำเป็นฉุกเฉินต้องทำคลอดก่อนกำหนด รวมถึงมีการติดตามสุขภาพของทารกในครรภ์เป็นระยะ ๆ จนกระทั่งเลือดหยุดไหลและไม่มีเลือดออกอีกภายใน 1 สัปดาห์ คุณแม่จึงสามารถกลับไปพักผ่อนที่บ้านได้ (หากบ้านอยู่ไม่ไกลมากนักและสามารถมาโรงพยาบาลได้เร็ว เพราะตามธรรมชาติของรกเกาะต่ำในช่วงแรกเลือดอาจจะออกน้อย แต่ในครั้งต่อ ๆ มาเลือดที่ออกมักจะรุนแรงขึ้น) เพื่อเป็นการยืดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ออกไปให้ได้มากที่สุดและให้ปอดของทารกมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในช่วงที่คลอดออกมา โดยแพทย์จะแนะนำให้คุณแม่พักผ่อนมาก ๆ หลีกเลี่ยงการทำงานหนักและการมีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการเบ่งถ่ายอุจจาระทุกครั้ง แนะนำให้คุณแม่รับประทานอาหารที่ย่อยได้ง่ายและมีเส้นใยมาก ๆ รวมถึงการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก ๆ เช่น ไข่แดง ตับ และยาบำรุงเลือดซึ่งมีธาตุเหล็ก และแพทย์นัดมาตรวจอย่างใกล้ชิดจนกระทั่งเด็กคลอด (หากมีเลือดออกก็ต้องรีบกลับไปพบแพทย์ในทันที) ซึ่งในกรณีนี้คุณแม่อาจคลอดเองตามธรรมชาติได้ แต่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
  • ในกรณีที่คุณแม่มีเลือดออกรุนแรงมาก จะมีผลต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ แพทย์จะให้น้ำเกลือ ให้เลือดทดแทนถ้าคุณแม่เสียเลือดมาก และแพทย์จะตัดสินใจทำคลอดโดยวิธีการผ่าตัดทำคลอดทางหน้าท้อง ซึ่งเป็นเพียงหนทางรักษาเดียว แม้ว่าอายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนดและทารกจะมีน้ำหนักน้อยอยู่ก็ตาม ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คุณแม่เสียชีวิตจากการตกเลือดมาก (หากหัวใจทารกเต้นผิดปกติและช่วยไว้ไม่ทัน ทารกในครรภ์จะเสียชีวิตได้ บางครั้งหากคุณแม่มีการเสียเลือดมากหลังการผ่าตัดทารกแล้ว อาจมีความจำเป็นต้องตัดมดลูกออกด้วยเพื่อหยุดเลือด)
  • สำหรับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์มากแล้วหรืออยู่ในช่วงใกล้ครบกำหนดคลอด แพทย์จะพิจารณาให้ทำการผ่าตัดทำคลอด เพราะในระยะนี้ปอดของทารกก็ค่อนข้างจะสมบูรณ์ดีแล้วและเพื่อป้องกันการเสียเลือดโดยไม่จำเป็น เพราะรกอาจคลุมอยู่ที่ปากมดลูกทั้งหมด หากปล่อยให้กระบวนการคลอดดำเนินต่อไปจะทำให้คุณแม่ตกเลือดจนเสียชีวิตได้ โดยระยะเวลาที่แพทย์จะนัดมาผ่าตัดทำคลอดก่อนที่จะมีอาการเจ็บครรภ์คลอด คือ ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 37-38 สัปดาห์ ซึ่งยังถือว่าเป็นการคลอดในกำหนด เพราะหากปล่อยให้เจ็บครรภ์คลอดเอง เลือดจะออกได้มากขึ้น

หมายเหตุ : แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดทำคลอดเมื่อคุณแม่มีเลือดออกมากจนต้องให้เลือดทดแทน, อายุครรภ์ครบกำหนดคลอดแล้ว (ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป), ทารกอยู่ในภาวะอันตราย เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ หรือทารกเสียชีวิตแล้วในครรภ์ (แม้ทารกจะเสียชีวิตแล้วก็ต้องผ่าท้องคลอดอยู่ดี เพื่อไม่ให้คุณแม่เกิดอันตราย เช่น เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติมาก (Disseminated intravascu lar coagulation – DIC)

ภาวะแทรกซ้อนของรกเกาะต่ำ

  • คุณแม่จะเสี่ยงต่อการตกเลือดในระยะตั้งครรภ์ ระยะการคลอด และระยะหลังคลอด (เนื่องจากมดลูกหดรัดตัวไม่ดี), คุณแม่อาจเกิดภาวะช็อกหรือซีดจากการตกเลือดหรือเสียเลือดมาก, อาจต้องคลอดก่อนกำหนด, น้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด, อาจได้รับการผ่าตัดทำคลอด, มีโอกาสติดเชื้อแทรกซ้อนหลังคลอด เนื่องจากมีเส้นเลือดแตกใกล้ปากมดลูก จึงทำให้ติดเชื้อได้ง่าย, หากรกเกาะลึกผิดปกติ อาจต้องตัดมดลูกหลังผ่าตัดคลอดทารกแล้ว (Cesarean hysterec tomy)
  • ทารกในครรภ์มีน้ำหนักน้อยกว่าอายุครรภ์และเจริญเติบโตช้าในครรภ์ (พบได้ประมาณ 20%[5]), อาจคลอดก่อนกำหนด (ทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย หรือเสียเลือด ทำให้มีภาวะโลหิตจาง), ทารกอาจพิการแต่กำเนิด (พบได้ประมาณ 7%[5]) หรือทารกอาจเสียชีวิตในกรณีที่มารดาเสียเลือดมากและแพทย์ช่วยเหลือไม่ทัน (พบอัตราการตายแต่กำเนิดประมาณ 20% โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการคลอดก่อนกำหนด[4] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าการคลอดก่อนกำหนดเป็นสาเหตุทำให้ทารกเสียชีวิตได้สูงถึง 60%[5])

การดูแลตัวเองเมื่อมีภาวะรกเกาะต่ำ

  1. เมื่อคุณแม่พบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอดในระหว่างการตั้งครรภ์ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เพราะภาวะเลือดออกจากรกเกาะต่ำนี้จะมีตั้งแต่เลือดออกกะปริดกะปรอยจนถึงเลือดออกมาก โดยทั่วไปแล้วเลือดที่ออกในครั้งแรกมักจะไม่มากเหมือนครั้งหลัง ๆ หากไปพบแพทย์แล้วเลือดที่เคยออกค่อย ๆ หยุดไป และอายุครรภ์ของคุณแม่ยังไม่ถึงกำหนดคลอด (ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไปยังถือว่าเป็นการคลอดตามกำหนด) แพทย์ก็จะอนุญาตให้กลับมาพักผ่อนดูแลตัวเองที่บ้านได้ โดยให้ดูแลตัวเองดังนี้
  2. นอนพักผ่อนให้มาก ๆ วันละ 8-10 ชั่วโมง ในท่านอนตะแคงซ้าย งดทำงานหนัก
  3. ห้ามมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการสวนล้างช่องคลอด
  4. รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก
  5. หลีกเลี่ยงการเบ่งถ่ายอุจจาระทุกครั้ง คุณแม่จึงต้องรับประทานอาหารที่ย่อยได้ง่ายและมีเส้นใยมาก ๆ
  6. รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก ๆ เช่น ไข่แดง ตับ และยาบำรุงเลือดซึ่งมีธาตุเหล็ก รวมถึงอาหารที่มีแคลเซียม เช่น นม ส่วนเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนทุกชนิดควรงดครับ
  7. งดการสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด เพราะบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัว
  8. ควรมาตรวจตามนัดทุกครั้ง ซึ่งการนัดจะถี่ขึ้นจากการตั้งครรภ์ปกติทั่วไป เพราะแพทย์อาจต้องทำ NST เพื่อประเมินสุขภาพของทารกทุก ๆ สัปดาห์ หากคุณแม่พบว่ามีอาการผิดปกติไปจากเดิมหรือมีเลือดออกให้ใส่ผ้าอนามัยแล้วรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดโดยทันที

วิธีป้องกันภาวะรกเกาะต่ำ

ถ้าถามว่าสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเช่นนี้ได้หรือไม่ คำตอบก็คือเราไม่สามารถป้องกันได้ เพราะรกเกาะต่ำเป็นภาวะธรรมชาติ

แต่สิ่งที่สามารถช่วยได้ก็คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ตามที่กล่าวมา รวมถึงการหลีกเลี่ยงการผ่าท้องคลอดในครรภ์ โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ (ไม่ว่าจะเพราะกลัวเจ็บ หรือเพียงแค่อยากได้ฤกษ์งามยามดีอะไรก็ตาม) หรือหากมีการผ่าตัดมดลูก เช่น ผ่าเนื้องอกมดลูก หรือเคยขูดมดลูกหลายครั้ง ก็ควรแจ้งแพทย์ผู้ดูแลครรภ์ให้ทราบด้วย เพื่อจะได้มีการเฝ้าระวังภาวะรกเกาะต่ำ แต่ในกรณีที่รู้ว่าเป็นตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจทำให้คุณแม่ได้นอนพักให้มากที่สุดตั้งแต่เดือนที่ 6 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือน เลือดจะได้ไม่ออกมาก โอกาสที่ทารกในครรภ์จะรอดก็มีมากขึ้น เพราะเด็กในภาวะนี้ที่คลอดครบกำหนดก็จะสมบูรณ์ไม่มีปัญหาอะไร แต่จะมีปัญหากับคุณแม่คือ ถ้าเลือดออกมากก็อาจทำให้ช็อกได้ วิธีการคลอดจึงต้องผ่าตัดอย่างเดียว ไม่สามารถปล่อยให้คุณแม่คลอดเองได้

การเตรียมตัวตั้งครรภ์ครั้งต่อไป

  • เมื่อมีภาวะรกเกาะต่ำและได้รับการผ่าตัดทำคลอดในครรภ์ที่แล้ว คุณแม่ควรจะเว้นระยะเวลาการมีบุตรหรือการตั้งครรภ์ใหม่ไปอย่างน้อย 2-3 ปี เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงที่สุด
  • ในระหว่างการฝากครรภ์ครั้งต่อไปหากพบว่ามีภาวะรกเกาะต่ำอีก คุณแม่ต้องงดการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ทำงานหนัก พักผ่อนอย่างเต็มที่ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างเด็ดขาด และคุณแม่อาจจำเป็นต้องตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging – MRI) เพื่อดูว่ารกเกาะลึกผิดปกติหรือไม่ เช่น มีการเกาะลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูกหรือไม่ หรือเกาะลึกจนทะลุผิวมดลูกไปยังอวัยวะอื่น ๆ หรือไม่ ซึ่งภาวะนี้ค่อนข้างจะอันตรายมากและมักต้องลงท้ายด้วยการตัดมดลูกหลังการผ่าคลอดแล้ว นอกจากนี้คุณแม่จะต้องแจ้งแพทย์ที่ดูแลปัญหาที่ประสบในครรภ์ที่แล้วว่าต้องให้เลือดทนแทนหรือไม่ ต้องให้เลือดทดแทนกี่ถุง (เพื่อป้องกันปัญหาขาดเลือดของทางโรงพยาบาล ถ้าเป็นไปได้ ในช่วงใกล้คลอดถ้ามีญาติพี่น้องไปบริจาคเลือด ก็ให้ระบุชื่อคุณแม่ไว้ก่อนเลยครับ เพราะเกิดต้องมีการให้เลือดขึ้นมาจริง ๆ เลือดจากคนรู้จักน่าจะทำให้คุณแม่สบายใจกว่า)
  • หากการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปไม่มีภาวะรกเกาะต่ำ คุณแม่ก็ดูแลตนเองเหมือนคนท้องทั่วไป
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด.  “รกเกาะต่ำ (placenta previa)”.  (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ).  หน้า 180-182.
  2. หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ.  “รกเกาะต่ำ”.  (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์).  หน้า 162-163.
  3. หาหมอดอทคอม.  “ภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta previa)”.  (รองศาสตราจารย์ พญ.ประนอม บุพศิริ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [18 ธ.ค. 2015].
  4. โรงพยาบาลนนทเวช.  “ภาวะรกเกาะต่ำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.nonthavej.co.th.  [19 ธ.ค. 2015].
  5. M & C แม่และเด็ก.  “เมื่อรกเกาะต่ำ คุณแม่มือใหม่เตรียมรับมืออย่างไร”.  (นพ.วิริยะ เล็กประเสริฐ ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : motherandchild.in.th.  [19 ธ.ค. 2015].
  6. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “รกเกาะต่ำ (Placenta previa)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 908-909.

ภาพประกอบ : webmd.com, what-when-how.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด