รกฟ้า สรรพคุณและประโยชน์ของต้นรกฟ้า 9 ข้อ !

รกฟ้า

รกฟ้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Pentaptera tomentosa Roxb. ex DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Terminalia alata Roth) จัดอยู่ในวงศ์สมอ (COMBRETACEAE)[1],[5]

สมุนไพรรกฟ้า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เซือก เซียก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ฮกฟ้า (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), เชือก (สุโขทัย), กอง (สุโขทัย, พิษณุโลก, อุตรดิตถ์, สงขลา), สพิแคล่ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ชะลีก (เขมร-บุรีรัมย์, เขมร-พระตะบอง), จะลีก (เขมร-บุรีรัมย์), คลี้ (ส่วย-สุรินทร์), ไฮ่หุ้นกร่ะ เคาะหนังควาย (ปะหล่อง), หกฟ้า เป็นต้น[1],[2] (บ้างเรียกว่า “ต้นรกฟ้าขาว” ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นอัชชุนะ”)

ลักษณะของรกฟ้า

  • ต้นรกฟ้า จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดใหญ่ ลำต้นมีความสูงประมาณ 10-30 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาตรงเรือนยอดของต้น แน่นทึบ เปลือกต้นเป็นสีเทาค่อนข้างดำและแตกเป็นร่องลึก และเป็นสะเก็ดทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด[1] มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และทุกภาคของประเทศไทย โดยพบได้ทั่วไปตามป่าผลัดใบและป่าเต็งรัง ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-1,000 เมตร[3],[5]

ต้นรกฟ้า

เปลือกต้นรกฟ้า

  • ใบรกฟ้า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย ใบเป็นสีเขียว ใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลทั้งสองด้าน ปกคลุมอยู่ประปราย เมื่อใบแก่ขึ้นขนนี้จะหลุดร่วงไป ลักษณะของใบรกฟ้าเป็นรูปมนรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบมนเป็นติ่งทู่ ๆ ยาวออกมาเล็กน้อย โคนใบมนหรือเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ด้านหลังใบจะมีต่อมคล้ายหูดประมาณ 1-2 ต่อม เส้นผ่านศูนย์กลางของต่อมมีขนาด 1.5-2.5 มิลลิเมตร ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-25 เซนติเมตร ก้านใบผิวเรียบ กิ่งอ่อนมีขนนุ่มปกคลุม[1] โดยจะทิ้งใบในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน และจะผลิใบใหม่ในช่วงเดือนมิถุนายนพร้อมกับตาดอก[3]

ใบรกฟ้า

  • ดอกรกฟ้า ก่อนจะออกดอก ต้นรกฟ้าจะผลัดใบออกหมดก่อนแล้วดอกจะแตกออกเป็นสีขาวสะพรั่งเต็มต้น โดยจะออกดอกเป็นช่อ ๆ และมีขนาดเล็ก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1-2.5 มิลลิเมตร ดอกย่อยเป็นสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง เมื่อดอกย่อยบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบรองกลีบดอก โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย มีขนทั้งสองด้าน กลีบรองกลีบดอกมี 5 กลีบ สีเขียวแกมขาว ปลายแยกเป็น 5 พู กลีบมีขนาดกว้างประมาณ 0.7-1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-2 มิลิเมตร กลีบเลี้ยงไม่ร่วงติดไปพร้อมกับผล ไม่มีกลีบดอก ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ขนาดเล็กแยกกัน ก้านชูอับเรณูเป็นสีขาวยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร อับเรณูเป็นสีเหลือง ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 อัน รังไข่ inferior ovary สีเขียว ยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีขนเล็กสีขาวปกคลุม ก้านเกสร 1 อัน สีขาวยาว 2-3 มิลลิเมตร ยอดเกสรเป็นตุ่ม สีเขียวอ่อน[1],[3]

ดอกรกฟ้า

  • ผลรกฟ้า ผลเป็นแบบผลแห้งและแข็ง มีลักษณะเป็นรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร มีปีกหนาและเป็นมันกว้างกว่าผลประมาณ 5 เซนติเมตร มีเส้นปีกลากจากแกนกลางไปยังขอบปีกในแนวราบเป็นจำนวนมาก ภายในผลมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด[1],[3]

รูปรกฟ้า

ผลรกฟ้า

สรรพคุณของรกฟ้า

  1. เปลือกนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาบำรุงหัวใจ (เปลือก)[1]
  2. รากใช้เป็นยาขับเสมหะ (ราก)[1]
  3. เปลือกนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยารักษาอาการท้องร่วง อาเจียน (เปลือก)[1]
  4. เปลือกนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาขับปัสสาวะ (เปลือก)[1]
  5. เปลือกใช้ภายนอกเป็นยาห้ามเลือด และใช้ชะล้างบาดแผล (เปลือก)[1]
  6. ลำต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กระษัยเส้น (อาการผิดปกติของสมดุลธาตุทั้งสี่ในร่างกายและเส้นเอ็น มีอาการหลายแบบ ส่วนใหญ่เป็นการอักเสบปวดเกร็งของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะต้นขาและท้อง) (ลำต้น, ทั้งต้น)[3],[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของรกฟ้า

  • สารสกัดด้วยเมทานอลจากใบและลำต้นแห้งที่ความเข้มข้น 200 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ของเชื้อไวรัสเอดส์ได้ (HIV–1 REVERS TRANSCRIPTASE)[6]
  • สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 50% จากเปลือกต้นรกฟ้า มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตในสุนัขได้[6]
  • ในด้านของความเป็นพิษพบว่าสมุนไพรชนิดนี้มีความเป็นพิษ แต่ถ้าหากให้สารสกัดดังกล่าวในขนาด 100 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ไม่มีพิษ[6]

ประโยชน์ของรกฟ้า

  • ไม้รกฟ้า เป็นไม้เนื้อแข็ง ขัดชักเงาได้ดี สามารถนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ด้ามเครื่องมือต่าง ๆ เครื่องกลึงและแกะสลัก หรือใช้ทำพื้นบ้าน ฝาบ้าน รอด ตง คาน เสา ไม้บุผนัง ฯลฯ[3]
  • เปลือกต้นให้น้ำฝาด คนเก่าแก่ดั้งเดิมของไทยนิยมนำมาใช้สำหรับฟอกหนังสัตว์[3]
  • เปลือกต้น ใช้ย้อมสีผ้าได้ โดยจะให้สีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ[2] การย้อมสีจากเปลือกต้นรกฟ้า ทำได้ด้วยการแช่เปลือกต้นรกฟ้าในปริมาณพอสมควร ทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน แล้วตั้งไฟต้มให้เดือดจนเห็นว่าสีออกหมดดีแล้ว หลังจากนั้นให้เทน้ำย้อมใส่ลงในอ่างย้อมหมักแช่ไว้ 1 คืน นำเปลือกไม้ไปผึ่งแดดให้แห้ง เก็บไว้ใช้ต่อไป โดยสีเปลือกไม้รกฟ้านี้ถ้าถูกต้มจะกลายเป็นสีดำ[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “รกฟ้า”.  หน้า 668-669.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “รกฟ้า”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [21 ส.ค. 2014].
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “รกฟ้า”.  อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1, หนังสือไม้ต้นในสวน.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [21 ส.ค. 2014].
  4. ไม้ย้อมสีธรรมชาติ ภูมิปัญญาอีสาน ภูมิปัญญาไทย.  “รกฟ้า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : web.lib.ubu.ac.th/localinformation/tint/.  [21 ส.ค. 2014].
  5. ฐานข้อมูลชนิดพรรณพืช พื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช.  “รกฟ้า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.en.mahidol.ac.th/conservation/.  [21 ส.ค. 2014].
  6. ไทยรัฐออนไลน์.  (นายเกษตร).  “รกฟ้ากับสรรพคุณยา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th.  [21 ส.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด