ย่านางแดง
ย่านางแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia strychnifolia Craib. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1],[2]
สมุนไพรย่านางแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สยาน (ตาก, ลำปาง), เครือขยัน (ภาคเหนือ), หญ้านางแดง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ขยัน, เถาขยัน เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของย่านางแดง
- ต้นย่านางแดง จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้ชนิดอื่น โดยมีความยาวประมาณ 5 เมตร เปลือกเถาเรียบ เถามีขนาดกลาง ๆ และมักแบนมีร่องตรงกลาง เปลือกเถาเป็นสีออกเทาน้ำตาล ส่วนเถาแก่มีลักษณะกลมและเป็นสีน้ำตาลแดง มีมือสำหรับการยึดเกาะ ออกเป็นคู่ ๆ ปลายม้วนงอ ส่วนรากมีผิวขรุขระสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีรอยบากตามขวางเล็ก ๆ ทั่วไป ลักษณะของเนื้อไม้ภายในรากเป็นสีน้ำตาลแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการแยกหัว ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค โดยสามารถพบต้นย่านางแดงได้ตามป่าเบญจพรรณที่แห้งแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าแดง ป่าดิบเขา และตามที่โล่งแจ้ง[1],[2],[3],[5]
- ใบย่านางแดง มีใบดกและหนาทึบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลม หรือเว้าตื้นกึ่งเรียวแหลมถึงมีติ่งหนาม โคนใบมนเว้าตื้น ๆ หรือมีลักษณะกลมถึงรูปหัวใจตื้น ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร ผิวใบมันเป็นสีเขียวเข้ม ท้องใบและหลังใบเรียบเกลี้ยง มีเส้นแขนงใบประมาณ 3-5 เส้น ปลายเส้นใบโค้งจรดกัน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร และมีหูใบที่หลุดร่วงได้ง่าย[1],[2]
- ดอกย่านางแดง ออกดอกเป็นช่อกระจะตามปลายกิ่ง มีรูปทรงเป็นรูปทรงกระบอกแคบ โค้งเล็กน้อย ปลายบานและห้อยลง มีความยาวประมาณ 15-100 เซนติเมตร ช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีแดงสดมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร มีขนสีขาวขึ้นปกคลุม ปลายกลีบดอกมีลักษณะมนแหลม ฐานรองดอกมีลักษณะเป็นรูประฆัง ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 3 ก้าน บ้างว่า 5 ก้าน ก้านเกสรเป็นสีแดงยื่นพ้นกลีบดอก ส่วนเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันอีก 7 ก้านมีความยาวไม่เท่ากัน ส่วนรังไข่มีความยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร มีขนสั้นขึ้นปกคลุม ก้านสั้น ส่วนก้านเกสรเพศเมียมีความยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร ยอดเกสรเพศเมียไม่ชัดเจน มีใบประดับเป็นรูปลิ่ม ติดทน มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และกลีบเลี้ยงเป็นสีแดง 5 กลีบ ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มีขนสั้นขึ้นปกคลุม สีชมพูอ่อนหรือสีแดง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[2]
- ผลย่านางแดง ออกผลเป็นฝัก ฝักย่านางแดงมีลักษณะแบนเป็นรูปขอบขนาน ปลายฝักแหลม ส่วนโคนฝักเป็นมีลักษณะเป็นรูปหอก ฝักยาวประมาณ 15-16 เซนติเมตร เปลือกฝักแข็ง เมื่อแก่จะแตกอ้า ภายในฝักมีเมล็ดอยู่ประมาณ 8-9 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร[1],[2]
สรรพคุณของย่านางแดง
- เถาย่านางแดงช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (เถา)[4]
- ช่วยบำรุงหัวใจ แก้โรคหัวใจบวม (เถา)[4]
- ช่วยดับพิษร้อนภายในร่างกาย (เถา)[4]
- ช่วยแก้อาการท้องผูกไม่ถ่าย ด้วยการใช้ฝนกับน้ำหรือน้ำซาวข้าว หรือนำมาต้มกับน้ำดื่ม (เถา, ราก, ใบ)[2],[4]
- รากหรือเหง้าใช้เป็นยาแก้ไข้ ใช้กระทุ้งพิษไข้ ถอนพิษไข้และแก้ไข้ทั้งปวง โดยใช้เหง้านำมาฝนกับน้ำหรือน้ำซาวข้าว หรือจะต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาก็ได้ (ราก, เหง้า)[2],[4] ส่วนเถาใช้เป็นยาแก้ไข้พิษ แก้ไข้หมากไม้ ไข้กาฬ ไข้หัว ไข้สุกใส ไข้เซื่องซึม ไข้ป่าเรื้อรัง ไข้ทับระดู และไข้กลับไข้ซ้ำ (เถา)[4]
- ใช้เป็นยาแก้พิษทั้งปวง แก้พิษเบื่อเมา พิษเบื่อเมาของเห็ด ถอนพิษยาเมา แก้เมาสุรา แก้ยาเบื่อ ยาสั่ง ถอนพิษผิดสำแดง โดยใช้เหง้านำมาฝนกับน้ำหรือน้ำซาวข้าว หรือจะต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาก็ได้ (เถา, ราก, เหง้า, ใบ)[2],[4],[6]
- ช่วยล้างสารพิษหรือสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงในร่างกาย หรือเกิดอาการแพ้ต่าง ๆ ด้วยการใช้ใบหรือเถานำมาต้มดื่มเป็นประจำหรือใช้กินแทนน้ำ ก็จะช่วยลดอาการดังกล่าวได้ (ใบ, เถา)[4]
- ช่วยล้างสารพิษจากยาเสพติด ซึ่งหมอพื้นบ้านบางแห่งได้นำรากหรือเถามาฝนให้ผู้ป่วยที่กำลังเลิกยาเสพติดดื่ม เพื่อช่วยล้างพิษของยาเสพติดในร่างกาย (เถา, ราก)[6]
- ช่วยขับพิษโลหิตและน้ำเหลือง (เถา, ราก, ใบ)[2]
- ลำต้นหรือรากใช้เข้าเป็นยาบำรุงโลหิตสำหรับสตรีหลังการคลอดบุตรขณะอยู่ไฟ จะช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น (ลำต้น, ราก)[1],[2]
- มีข้อมูลระบุว่าสมุนไพรย่านางแดงสามารถนำมาใช้เป็นยาฆ่าเชื้อราได้ (ใบย่านางแดงแคปซูล)[7]
- ย่านางแดงมีสรรพคุณเหมือนกับย่านางเขียวหรือย่านางขาวทุกประการ แต่จะมีฤทธิ์ที่แรงกว่าและดีกว่า (โดยส่วนใหญ่สมุนไพรที่มีสีเข้มกว่าจะมีสารสำคัญที่มีคุณภาพมากกว่า)[2],[6] โปรดอ่านสรรพคุณเพิ่มเติมที่ สรรพคุณและประโยชน์ของใบย่านาง 68 ข้อ !
ประโยชน์ของย่านางแดง
- ยอดอ่อน ใบอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริกและลาบได้[5]
- นอกจากจะใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ยังใช้ปลูกเป็นไม้ประดับไว้เป็นไม้ประดับรั้วหรือปลูกไว้เป็นซุ้มหน้าบ้านได้อีกด้วย เนื่องจากมีใบที่เขียวสดและมีช่อดอกที่โดดเด่นสวยงาม
- เปลือกนำมาลอกใช้ทำเป็นเชือก (ไม่ยืนยัน)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ขยัน (Khayan)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 58.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ย่านางแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [10 ก.พ. 2014].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ย่านางแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [10 ก.พ. 2014].
- สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย. “ย่านางแดง”. [ ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: tmri.dtam.moph.go.th. [10 ก.พ. 2014].
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “ย่านางแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/. [10 ก.พ. 2014].
- ไทยโพสต์. “เถาขยัน แก้ไข้ ล้างพิษ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaipost.net. [10 ก.พ. 2014].
- Pendulum. “ใบย่านางแดง ฆ่าเชื้อรา และ ยากษัยเส้น ล้างกรดยูริค”. (lee). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pendulumthai.comt. [10 ก.พ. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by syberknight99, scott.zona), เว็บไซต์ phargarden.com (by Sudarat Homhual), เว็บไซต์ thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)