การฉีดยาคุมกําเนิด : 15 ข้อดี-ข้อเสีย & ยาฉีดคุมกำเนิด !!

ยาฉีดคุมกําเนิด

ยาฉีดคุมกำเนิด (Injectable contraceptive) คือ วิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวแบบหนึ่ง โดยจะเป็นการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อของสตรีในระยะเวลาตามที่แพทย์กำหนด หลังจากฉีดตัวยาจะค่อย ๆ ขับฮอร์โมนออกมา เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากในรายที่ต้องการเว้นระยะการมีบุตร เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง ทำได้ง่าย สะดวก และมีราคาถูก

การฉีดยาคุมกําเนิด เริ่มมีครั้งแรกทางภาคเหนือในไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 ต่อมาได้มีการศึกษาและทดลองใช้ จึงได้พบว่ามีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยาฉีดที่ใช้ในอดีตและยังใช้กันมากในปัจจุบันคือ Depot medroxyprogesterone acetate (DMPA) โดยใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก ๆ 3 เดือน นอกจากจะช่วยคุมกำเนิดแล้ว ยานี้ยังมีฤทธิ์ทำให้รอบเดือนเปลี่ยนแปลง มาไม่ตรงเวลา อาจมีประจำเดือนน้อย กะปริดกะปรอย หรือประจำเดือนไม่มา เป็นต้น

ชนิดของยาฉีดคุมกำเนิด

  • ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ซึ่งเป็นยาฉีดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) เพียงอย่างเดียว แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย ดังนี้
    • ยา Depot Medroxyprogesterone acetate (DMPA) ขนาด 150 มิลลิกรัม เป็นตัวยาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน มีชื่อทางการค้าว่า Depo-Provera® (ยี่ห้ออื่นก็มีครับ) ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก ๆ 3 เดือน (12 สัปดาห์ หรือ 84 วัน) เลยได้ไม่เกิน 5 วัน หลังจากฉีด DMPA จะสามารถตรวจพบได้ในกระแสเลือดภายใน 30 วินาที ระดับฮอร์โมนไม่สะสมในร่างกาย เมื่อเข้าไปในกระแสเลือดจะออกฤทธิ์ที่อวัยวะเป้าหมายโดยตรง และจะออกฤทธิ์คุมกำเนิดภายใน 24 ชั่วโมง
      การฉีดยาคุมกำเนิด
    • ยา Norethisterone Enanthate (NET-EN) ขนาด 200 มิลลิกรัม มีชื่อทางการค้าว่า Noristerat® ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก ๆ 2 เดือน (8 สัปดาห์) หลังฉีดตัวยาจะเข้าไปอยู่ในไขมันทั่วร่างกาย แล้วกระจายเข้าสู่กระแสเลือด ระดับของฮอร์โมนจะลดลงเร็ว ฮอร์โมนนี้เมื่อเข้าในกระแสเลือดจะต้องถูกเปลี่ยนที่ตับให้เป็น Norethisterone ก่อน จึงจะออกฤทธิ์ที่อวัยวะเป้าหมายได้ โดยการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขนตัวยาจะถูกดูดซึมได้เร็วกว่าและระดับฮอร์โมนจะสูงกว่าการฉีดเข้ากล้ามบริเวณสะโพก
      ยาฉีดคุมกำเนิด
  • ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เป็นยาฉีดคุมกำเนิดแบบใหม่ที่ผลิตมาเพื่อลดอาการผิดปกติของประจำเดือน ในยาฉีดจะมีทั้งฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) และฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ชนิดนี้มีชื่อทางการค้าว่า Cyclofem® และ Lunelle™ ยาฉีดจะประกอบไปด้วยตัวยา Medroxyprogesterone acetate 25 มิลลิกรัม และ Estradiol cypionate 5 มิลลิกรัม และอีกยี่ห้อคือ Mesigyna® จะประกอบไปด้วยยา Norethisterone Enanthate (NET-EN) ขนาด 50 มิลลิกรัม และ Estradial valerate 5 มิลลิกรัม แต่โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะใช้ Cyclofem® มากกว่ายี่ห้ออื่นครับ
    ผลข้างเคียงของการฉีดยาคุมกำเนิดโดยยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมนี้ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อแก้ไขข้อด้อยของยาฉีดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวและเพื่อเป็นการเลียนแบบฮอร์โมนของร่างกาย ทำให้มีประจำเดือนมาทุกเดือน ช่วยให้เกิดการสร้างเยื่อบุมดลูกขึ้น ช่วยลดภาวะเลือดประจำเดือนออกผิดปกติ และทำให้สามารถตั้งครรภ์ได้เร็วขึ้นหลังจากหยุดใช้ยา แต่ต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อเป็นประจำทุก ๆ 1 เดือน (4 สัปดาห์) ซึ่งจากการศึกษาผล พบว่าผู้ที่ฉีดยาคุมกำเนิดชนิดนี้จะมีอัตราการเลิกใช้ยาในช่วงแรกน้อยกว่าชนิดแรก เนื่องจากปัญหาประจำเดือนขาด ไม่มีประจำเดือน เลือดออกกะปริดกะปรอยเกิดได้น้อยกว่า แต่ทั้งนี้ผู้ที่ใช้ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมจะใช้ยาต่อเนื่องได้ไม่นานเท่าชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ด้วยสาเหตุอาการข้างเคียงอย่างอื่น เช่น มีน้ำหนักตัวเพิ่ม ปวดศีรษะ ฯลฯ

การออกฤทธิ์ของยาฉีดคุมกำเนิด

ฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) จะเป็นตัวยับยั้งการตกไข่ ทำให้ไม่มีไข่มารอปฏิสนธิ นอกจากนั้นยังทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางตัวไม่เหมาะสมแก่การฝังตัวของไข่ และทำให้มูกที่ปากมดลูกมีความเหนียวข้น ส่งผลให้ตัวอสุจิไม่สามารถว่ายผ่านเข้าไปผสมกับไข่ได้ (ผ่านเข้าไปได้ยาก) จึงสามารถช่วยคุมกำเนิดได้

ประสิทธิภาพของยาฉีดคุมกำเนิด

ตามที่กล่าวมาแล้วว่าการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้จะมีประสิทธิภาพสูง เพราะตามหลักแล้วการฉีดยาคุมกำเนิดอย่างถูกต้อง (Perfect use) ทั้งยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวและฮอร์โมนรวมจะมีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้เพียง 0.2% ซึ่งหมายความว่าจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยการฉีดยาคุมกำเนิดจำนวน 1,000 คน จะมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 2 คน

แต่โดยทั่วไปแล้วจากการใช้งานจริง (Typical use) กลับพบว่าอัตราการล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ของการใช้ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Depo-Provera®) จะเพิ่มสูงมากขึ้นเป็น 6% หรือคิดเป็น 1 ใน 33 คน ส่วนยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Cyclofem®, Lunelle™) จะมียังมีประสิทธิภาพคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง (0.2%)

ส่วนด้านล่างนี้เป็นตารางเปรียบเทียบระหว่างการคุมกำเนิดด้วยการฉีดยาคุมกำเนิดกับวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจครับ

วิธีคุมกำเนิด|การใช้แบบทั่วไป|การใช้อย่างถูกต้อง|ระดับความเสี่ยง
ยาฝังคุมกำเนิด|0.05 (1 ใน 2,000 คน)|0.05|ต่ำมาก
ทำหมันชาย|0.15 (1 ใน 666 คน)|0.1|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนรวม)|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ทำหมันหญิงแบบทั่วไป|0.5 (1 ใน 200 คน)|0.5|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง|0.8 (1 ใน 125 คน)|0.6|ต่ำมาก
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนเดี่ยว)|6 (1 ใน 17 คน)|0.2|ปานกลาง
แผ่นแปะคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
วงแหวนคุมกำเนิด (NuvaRing)|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ยาเม็ดคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ถุงยางอนามัยชาย|18 (1 ใน 5 คน)|2|สูง
การหลั่งนอก|22 (1 ใน 4 คน)|4|สูงมาก
การหลั่งใน (ไม่มีการป้องกัน)|85 (6 ใน 7 คน)|85|สูงมาก
หมายเหตุ : ตัวเลขที่แสดงเป็นจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยวิธีดังกล่าวจำนวน 100 คน โดยกำหนดให้ สีฟ้า = ความเสี่ยงต่ำมาก / สีเขียว = ความเสี่ยงต่ำ / สีเหลือง = ความเสี่ยงปานกลาง / สีส้ม = ความเสี่ยงสูง / สีแดง = ความเสี่ยงสูงมาก (ข้อมูลจาก : www.contraceptivetechnology.org, Comparison of birth control methods – Wikipedia)

ผู้ที่เหมาะจะฉีดยาคุมกำเนิด

  • สตรีที่ต้องการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัย
  • สตรีที่ลืมรับประทานยาคุมกำเนิดบ่อย ๆ ต้องการความสะดวก ไม่ต้องการรับประทานยาคุมกำเนิดแบบเดิมทุก ๆ วัน
  • สตรีหลังคลอดที่กำลังให้นมบุตร (ต้องเป็นยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว)
  • สตรีที่มีอาการปวดประจำเดือนเป็นประจำ
  • สตรีที่สูบบุหรี่

ผู้ที่ไม่เหมาะจะฉีดยาคุมกำเนิด

  • ปกติแล้วจะไม่แนะนำให้ใช้ยาฉีดคุมกำเนิดเป็นทางเลือกแรกของสตรีที่อายุต่ำกว่า 18 ปี หรือสตรีที่มีอายุเกิน 45 ปีขึ้นไป เพราะยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (โปรเจสติน) จะมีผลต่อความหนาแน่นของกระดูก
  • สงสัยว่าตัวเองตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์
  • มีความดันโลหิตสูงเกิน 160/100 มม.ปรอท
  • เป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้
  • เป็นโรคมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์หรือเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ เช่น มะเร็งเต้านม หรือเคยเป็นมะเร็งเต้านมเกินกว่า 5 ปี
  • เป็นโรคหลอดเลือด โรคเส้นเลือดอุดตัน โรคหัวใจขาดเลือด
  • เป็นโรคไมเกรนที่มี Aura (อาการที่เกี่ยวกับความรู้สึก เช่น เห็นแสงวาบ เห็นจุดดำ ๆ หรือรู้สึกซ่าบริเวณใบหน้าและมือ)
  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เป็นโรคไต โรคตับอักเสบ ตับแข็ง หรือมะเร็งตับ
  • เป็นโรคเลือดออกง่ายและหยุดยาก
  • มีภาวะกระดูกพรุน ไม่ควรใช้ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (โปรเจสติน)
  • มีภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง
  • สตรีที่อ้วนมากเกินไป

หมายเหตุ : ข้อมูลจาก bangkokhealth.com (นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ) ระบุว่า จากการศึกษาผลในระยะยาวของ DMPA พบว่า มีผลต่อสุขภาพจิตและความรู้สึกทางเพศไม่เปลี่ยนแปลง ไม่พบอุบัติการณ์เกี่ยวกับการเกิดมะเร็งเต้านมและปากมดลูก รวมถึงความดันโลหิต และไม่พบการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของการทำงานของไตและต่อมไทรอยด์ ส่วนในตับพบว่าในรายที่ใช้ยาเกิน 4 ปีจะมีความผิดปกติ 3% บางข้อมูลระบุว่า ยาฉีดคุมกำเนิดไม่สามารถใช้ได้กับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไขมันในเลือดสูง โรคลมชัก โรคถุงน้ำดี นอกจากนี้การใช้ยายังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมาด้วย เช่น เป็นสิว ขนดก มีความต้องการทางเพศลดลง (siamhealth.net)

วิธีการฉีดยาคุมกำเนิด

ระยะเวลาในการคุมกำเนิดจะขึ้นอยู่กับชนิดของยาฉีดที่นำมาใช้ ซึ่งจะมีระยะตั้งแต่ 1-3 เดือน ถ้าเป็นยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว ตัว Depo-Provera® ขนาด 150 มิลลิกรัม จะต้องใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก ๆ 3 เดือน โดยไม่เกี่ยวกับน้ำหนักตัวของสตรีที่มารับการฉีดแต่อย่างใด (ในต่างประเทศจะมีขนาด 104 มิลลิกรัม ที่ใช้สำหรับฉีดเข้าใต้ผิวหนังด้วย) แต่ถ้าเป็นตัวยา Norethisterone Enanthate (Noristerat®) ขนาด 200 มิลลิกรัม จะใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก ๆ 2 เดือนครับ ส่วนยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ตัว Cyclofem® จะต้องฉีดทุก ๆ 1 เดือน ซึ่งยาในกลุ่มนี้จะทำให้มีประจำเดือนมาทุกเดือนครับ

ฉีดยาคุมกำเนิดได้เมื่อไหร่ ? : วันที่ฉีดยาคุมกำเนิดจะต้องเริ่มฉีดยาภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน (เหมือนกับการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด) ส่วนสตรีหลังคลอดบุตร สามารถฉีดยาได้ทันทีหลังการคลอดหรือเริ่มฉีดยา DMPA หลังคลอดประมาณ 4-6 สัปดาห์ ส่วนสตรีแท้งบุตรให้ฉีดได้ทันทีหลังการแท้งหรือเมื่อตรวจติดตาม เมื่อถึงกำหนดฉีดยาในครั้งหน้าก็ต้องไปฉีดยาให้ตรงเวลาตามที่แพทย์นัด โดยไม่ต้องรอให้มีประจำเดือนมาครับ สำคัญมาก ๆ คือ “ห้ามรอจนกว่าจะมีประจำเดือนมาแล้วค่อยไปฉีด” เพราะอาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้น ถึงเวลาครบกำหนดฉีดก็ต้องไปครับ ส่วนในรายที่ไม่ได้ไปฉีดยาตรงตามกำหนดหรือประจำเดือนหยุดเกิน 7 วัน แล้วจึงค่อยไปฉีด จะต้องระวังเรื่องการตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัวด้วย และควรใช้วิธีการคุมกำเนิดรูปแบบอื่นไปก่อน เช่น การใช้ถุงยางอนามัย หรือถ้ามีอาการแปลก ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ก็ควรไปตรวจปัสสาวะว่าตั้งครรภ์หรือไม่ด้วยเช่นกัน

สถานที่ฉีดยาคุมกำเนิด : ในปัจจุบันการฉีดยาคุมกำเนิดยังไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองเหมือนกับการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ดังนั้น จึงต้องไปรับบริการจากสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน เช่น โรงพยาบาล สถานีอนามัย คลินิกวางแผนครอบครัว หรือตามคลินิกต่าง ๆ โดยแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางสาธารณสุขจะเป็นคนฉีดยาให้ครับ เอาเป็นว่าสะดวกที่ไหนก็ไปที่นั่นครับ เมื่อถึงกำหนดฉีดครั้งหน้าจะได้เดินทางมาได้สะดวก

วิธีการฉีดยาคุมกำเนิด

ค่าฉีดยาคุมกำเนิด : ราคาไม่แพงครับ เข็มละ 100-500 บาทครับ ขึ้นอยู่กับสถานที่ฉีด

อาการหลังฉีดยาคุมกำเนิด : ปกติแล้วแพทย์หรือพยาบาลจะฉีดยาคุมกำเนิดเข้าเนื้อบริเวณต้นแขนหรือสะโพก หลังจากฉีดยาอาจมีอาการปวดตึง ๆ ในบริเวณที่ฉีดยาประมาณ 1 วัน แต่หลังจากนี้จะหายไปครับ ที่สำคัญอย่างมากก็คือหลังฉีดเสร็จแล้วไม่ควรเอามือไปคลึงหรือขยี้บริเวณที่ฉีดยา เพราะจะทำให้ตัวยาถูกดูดซึมเร็วเกินไปและทำให้ระดับยาเหลือไม่สูงพอที่จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้จนครบกำหนดเวลา อย่างแทนที่ตัวยาจะได้ 3 เดือน (84 วัน) ก็อาจลดลงเหลือเพียงแค่ 77 วัน เป็นต้น ส่วนอีกในกรณีก็คือ DMPA ที่นัดฉีดทุก 3 เดือน 90 วัน จะพบการตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้ภายในช่วง 84-90 วัน ดังนั้น แพทย์ส่วนใหญ่จึงนัดมาฉีดยาก่อนครบกำหนดประมาณ 1 สัปดาห์

การดูแลตนเองหลังฉีดยาคุมกำเนิด : ก็ไม่มีอะไรมากเป็นพิเศษครับ แต่หลังการฉีดยาคุมกำเนิดควรงดมีเพศสัมพันธ์หลังฉีดประมาณ 7 วัน เพื่อที่ฮอร์โมนจะยับยั้งการตกไข่ได้ทั้งหมดก่อน ในระหว่างนี้ก็ให้ใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นไปก่อนครับ เช่น การใส่ถุงยางอนามัย แค่ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และต้องไปฉีดยาเข็มต่อไปให้ตรงเวลานัด โดยไม่ต้องรอจนกว่าประจำเดือนจะมา

ระหว่างใช้ยาคุมกำเนิดสามารถกินยาปฏิชีวนะได้หรือไม่ ? : การใช้ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะในระหว่างการฉีดยาคุมกำเนิดสามารถทำได้โดยไม่มีปัญหา เพราะยาฉีดคุมกำเนิดไม่ได้มีปฏิกิริยากับยาปฏิชีวนะหรือไปลดทอนประสิทธิภาพของยาแต่อย่างใด ซึ่งจะแตกต่างจากการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด

เมื่อมีเลือดออกกะปริดกะปรอยหลังฉีดยาคุมกำเนิดควรทำอย่างไร ? : เมื่อฉีดยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนโปรเจสติน (ที่ใช้ฉีดทุก 2 หรือ 3 เดือน) ถ้าอยากให้อาการเลือดออกกะปริดกะปรอยหยุดไหลหรือให้ประจำเดือนไม่มานาน ๆ ก็สามารถไปพบแพทย์ได้เลยครับ โดยแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือแนะนำให้เปลี่ยนมาฉีดยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม (ฉีดทุก 1 เดือน) หรือเปลี่ยนวิธีการคุมกำเนิดมาใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแทนก็ได้

ฉีดยาคุมกำเนิดแล้วจะเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งหรือไม่ ? : จากข้อมูลในปัจจุบันยังไม่พบว่ายาฉีดคุมกำเนิดเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งเต้านม

สามารถฉีดยาคุมกำเนิดได้นานเท่าไร ? : เรื่องนี้ยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัด เพราะยังไม่มีการกำหนดที่แน่นอนว่าควรจะฉีดเท่าไรจึงจะไม่เป็นอันตราย แต่ก็สามารถฉีดไปได้เรื่อย ๆ จนถึงอายุ 45 ปี เพราะหลายคนที่ฉีดยาคุมกำเนิดนานถึง 10-15 ปี ก็ไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด แต่หมอบางท่านแนะนำว่าไม่ควรฉีดยาคุมกำเนิดนานเกินกว่า 5 ปี เพราะยังไงก็ต้องถึงเวลาที่ควรจะตัดสินใจว่าจะมีลูกหรือไม่ ถ้าอยากมีก็ให้หยุดฉีดยาคุมกำเนิด แต่ถ้าไม่ต้องการที่จะมีลูกเลยก็ควรไปทำหมัน ก็ดูจะปลอดภัยมากกว่า

เมื่อหยุดฉีดยาคุมกำเนิดจะพร้อมมีลูกได้เมื่อไหร่ ? : โดยทั่วไปแล้วเมื่อหยุดฉีดยาคุมกำเนิดหลังจากครบกำหนดฉีด ระดับยาที่ฉีดยังคงค้างอยู่ในกระแสเลือด จึงทำให้การกลับมาของประจำเดือนจะมาช้ากว่าการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดที่ต้องทานแบบวันต่อวัน ซึ่งกว่าประจำเดือนจะกลับมาเป็นปกติก็จะใช้เวลาประมาณ 8 เดือนหรืออาจนานกว่านั้น แต่โดยทั่วไปแล้วประมาณ 70% สามารถตั้งครรภ์ได้หลังจากหยุดฉีดยาคุมกำเนิด และในปีที่สองประมาณ 90%

ประโยชน์ของการฉีดยาคุมกำเนิด

  • ลดอาการเครียดก่อนมีประจำเดือน
  • ลดอุบัติการณ์ของภาวะโลหิตจาง
  • ลดภาวะซีดและอาการปวดประจำเดือน เนื่องจากทำให้ไม่มีประจำเดือนหรือประจำเดือนมาน้อย
  • ลดโอกาสในการเกิดการตั้งครรภ์หรือท้องนอกมดลูกได้ เพราะโอกาสในการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานมีน้อยลง
  • ลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เนื่องจากยาฉีดคุมกำเนิดจะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลงและไม่มีการแบ่งเซลล์
  • ลดโอกาสการติดเชื้อหรือเกิดการอักเสบของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เนื่องจากปากมดลูกเหนียวข้นจะช่วยป้องกันเชื้อต่าง ๆ ไม่ให้ผ่านเข้าไปในมดลูกได้
  • ช่วยป้องกันอุบัติการณ์เกิดเนื้องอกมดลูก
  • ลดอุบัติการณ์เกิดซีสต์ในรังไข่ (Ovarian Cysts)
  • ลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่
  • ลดอุบัติการณ์เกิดเชื้อรา
  • DMPA สามารถช่วยป้องกัน Sickle cell crisis ได้
  • ช่วยลดจำนวนความถี่ของการชัก
  • ใช้รักษาภาวะผิดปกติและโรคทางนรีเวชได้ เช่น endometriosis, endometrial hyperplasia, precocious puberty และถ้าใช้หลังหมดระดูจะช่วยลดอาการ vasomotor symptoms (กลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทอัตโนมัติ อาการที่พบได้แก่ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากในตอนกลางคืน)

ผลข้างเคียงของยาฉีดคุมกำเนิด

  • อาการข้างเคียงของการฉีดยาคุมกำเนิดในชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Noristerat®, Depo-Provera®) มีดังนี้
    1. ประจำเดือนเปลี่ยนแปลง หลังจากฉีดยาคุมกำเนิดอาจมีเลือดออกคล้ายประจำเดือน ในบางรายอาจมีเลือดออกแบบกะปริดกะปรอย ออกบ้างหยุดบ้าง หรือออกทั้งเดือนก็มี ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่พบได้บ่อย แต่จะเกิดขึ้นเมื่อฉีดยาเข็มแรก ๆ แล้วต่อไปจะมีเลือดออกแบบกะปริดกะปรอยน้อยลงและเว้นระยะเวลานานขึ้น จนกลายเป็นไม่มีประจำเดือน หรือในบางรายฉีดยาไปแล้วประจำเดือนอาจขาดไปเลยก็มี แต่ไม่มีอันตรายอย่างใดครับ แถมยังช่วยป้องกันโรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็กได้อีกด้วย (ประจำเดือนไม่มา ไม่ได้หมายความว่าจะมีเลือดคั่งค้างอยู่ในร่างกาย เพราะเลือดเสียในร่างกายจะถูกขับออกทางตับและน้ำดีที่ออกมากับอุจจาระและปัสสาวะ) แต่ถ้าอยากให้เลือดออกกะปริดกะปรอยหยุดไหลหรือประจำเดือนไม่มานาน ๆ และอยากให้ประจำเดือนมาก็ไปหาหมอได้เลยครับ เพราะจะมีตัวยาที่กินแล้วจะช่วยให้ประจำเดือนหยุดไหลหรือมาได้
    2. การหลั่งน้ำนมแม่ ผู้ฉีดยาคุมกำเนิดจะมีปริมาณน้ำนมแม่มากกว่าปกติ (ไม่ได้เพิ่มมากนัก) แต่ส่วนประกอบของสารอาหารในน้ำนมแม่ยังคงเป็นปกติ แม้ว่ายาที่ฉีดเข้าไปจะถูกขับออกมาทางน้ำนมได้ แต่ก็มีจำนวนน้อยจนไม่เกิดผลเสียต่อลูกน้อยแต่อย่างใด
    3. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ที่กลัวอ้วน ไม่แนะนำให้ใช้วิธีฉีดยาคุมกำเนิด เพราะจากผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่ฉีดยาคุมกำเนิดจำนวน 3 ใน 5 รายมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น (เพิ่มขึ้น 1-5 กิโลกรัมต่อปี) อีก 1 รายมีน้ำหนักคงที่ ส่วนอีกรายน้ำหนักลดลง แต่จริง ๆ แล้วอาหารก็มีส่วนเยอะครับ จะโทษแต่ยาฉีดคุมกำเนิดอย่างเดียวก็คงไม่ได้ ถ้าควบคุมอาหารได้ก็ไม่ต้องกังวลอะไรครับ ถ้าใช้ไปแล้วน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 กิโลกรัมหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แพทย์อาจแนะนำให้หยุดใช้ยาแล้วเปลี่ยนไปใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่นแทน
    4. ผลต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย การฉีดยาคุมกำเนิดอาจทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือด การทำงานของตับ และระบบการเผาผลาญสารอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล และไขมัน อาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามถ้าเป็นโรคในระบบเหล่านี้อยู่ก็ควรไปปรึกษาหมอก่อนจะฉีดยาคุมกำเนิด หรือในขณะที่ฉีดอยู่แล้วถ้าเป็นก็ควรบอกให้หมอทราบด้วย
    5. ภาวะกระดูกบาง เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสตินจะไปยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่ ทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงและมีผลทำให้มวลกระดูก ความหนาแน่นของกระดูกลดลง แต่จะเป็นผลแบบชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหยุดฉีดยาคุมชนิดนี้แล้ว ความหนาแน่นของมวลกระดูกจะกลับคืนมาปกติ แต่จากการศึกษาและการรวบรวมรายงานของสุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล ไม่พบความแตกต่างระหว่างความแน่นของกระดูกในกลุ่มผู้ฉีดยาคุมกำเนิดนานกว่า 3 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ซึ่งผลการศึกษานี้แตกต่างจากการศึกษาในสตรีจากนิวซีแลนด์ ที่พบว่าความหนาแน่นของกระดูกลดลง เมื่อใช้ยาฉีดนานกว่า 5 ปี
    6. อาการข้างเคียงอื่น ๆ เช่น อาจมีการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มึนงง ใจสั่น อารมณ์เปลี่ยนแปลง หงุดหงิด อ่อนเพลีย อึดอัดในท้อง ปวดท้อง แต่อาการเหล่านี้ยังไม่แน่นอนครับ เพราะอาจจะเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ก็ได้
  • อาการข้างเคียงของยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Cyclofem®) ที่อาจพบได้คือ อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เป็นฝ้า จุดด่างดำ มีอาการคัดตึงหน้าอกหรือเต้านม

ข้อดีของการฉีดยาคุมกำเนิด

  1. สามารถรับบริการได้ง่าย เนื่องจากวิธีการและอุปกรณ์สำหรับการให้บริการไม่ยุ่งยาก เลือกให้บริการแก่สตรีทั่วไปได้อย่างกว้างขวาง เพราะยาฉีดมีข้อห้ามในการใช้ยาน้อย
  2. มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงมาก (มากกว่าหรือเทียบเท่ากับการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด)
  3. ราคาถูกเมื่อเทียบกับวิธีคุมกำเนิดแบบอื่น เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือ การใส่ห่วงอนามัย
  4. ให้ความสะดวก ใช้งานง่าย ฉีดครั้งเดียวก็สามารถคุมกำเนิดได้นานถึง 3 เดือน โดยไม่ต้องใช้ทุกวันเหมือนยาเม็ดคุมกำเนิด
  5. ไม่ขัดขวางขั้นตอนต่าง ๆ ของการร่วมเพศ
  6. สามารถใช้ได้ดีในขณะให้นมลูก เพราะไม่ทำให้น้ำนมแห้ง
  7. การไม่มีประจำเดือนภายหลังการฉีดมีผลดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคโลหิตจาง
  8. มีผลพลอยได้ทางด้านสุขภาพอื่น ๆ หลายอย่างตามที่กล่าวมา

ข้อเสียของยาฉีดคุมกำเนิด

  1. จะต้องเสียเวลาไปสถานที่รับบริการบ้างและอาจทำให้ลืมเวลานัดได้
  2. ต้องให้แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางสาธารณสุขเป็นคนฉีดยาให้
  3. ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  4. ประจำเดือนอาจเปลี่ยนแปลง มาไม่สม่ำเสมอ มากะปริดกะปรอย หรือไม่มีประจำเดือน และหลาย ๆ รายอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  5. เนื่องจากการที่มีเลือดออกแบบกะปริดกะปรอย (ในช่วงแรกของการฉีด หรืออาจจะหลายเดือน) จึงทำให้ต้องใส่ผ้าอนามัยอยู่ตลอดเวลา จะไม่ใส่ก็ไม่ได้ เพราะบางครั้งก็มาโดยไม่ได้นัดแนะ ปัญหาที่ตามมาก็คือทำให้เกิดความอับชื้น มีตกขาว เป็นต้น
  6. เมื่อเกิดอาการข้างเคียงจะต้องรอจนกว่ายาคุมจะหมดฤทธิ์ อาการถึงจะหายไปเอง
  7. เมื่อหยุดฉีดร่างกายจะยังไม่พร้อมมีลูกได้ทันที (มีลูกได้ช้ากว่าการคุมกำเนิดแบบอื่น) โดยอาจจะต้องรอไปเกือบ 1 ปี ทำให้บางคนเข้าใจผิดว่าการฉีดยานาน ๆ จะทำให้เป็นหมัน เรื่องนี้ไม่จริงครับ แต่อาจจะทำให้มีลูกได้ช้า ไม่ทันใจ คนที่ฉีดยาคุมกำเนิดจึงต้องวางแผนไว้อย่างดี เพราะไม่ใช่เมื่อพร้อมจะมีลูกก็จะหยุดฉีดแล้วจะมีได้ทันที แต่ต้องรอไประยะหนึ่งก่อนครับ เช่น บางคนฉีดยาไป 3 ปีกว่า กว่ายาจะหมดฤทธิ์ก็ต้องรอไปอีก 10 เดือน แต่ถ้าฉีดนานกว่านั้นก็อาจจะรอยาวนานขึ้นไปอีก โดย NET-EN จะทำให้ภาวการณ์เจริญพันธุ์กลับคืนมาเร็วกว่า DMPA สรุปคือ “การฉีดยาคุมกำเนิดไม่ทำให้มีบุตรยากหรือเป็นหมันแต่อย่างใด แต่จะทำให้มีบุตรได้ช้า เพราะฤทธิ์ยายังคงอยู่
เอกสารอ้างอิง
  1. กลุ่มพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ศอ.4.  “ยาฉีดคุมกำเนิด”.  (นพ.วิชาญ ติปะวาโร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : hpe4.anamai.moph.go.th.  [08 ต.ค. 2015].
  2. ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ.  “การฉีดยาคุมกำเนิด”.  (นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhealth.com.  [08 ต.ค. 2015].
  3. หาหมอดอทคอม.  “การฉีดยาคุมกำเนิด”.  (รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [08 ต.ค. 2015].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด