ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน
ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน (KRISNAKLAN TRA KILEN) คือ ยาสมุนไพรสำหรับบำบัดอาการท้องเสีย ปวดท้อง จุกเสียด และช่วยขับลม จัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยกรรมวิธีการผลิตยาแบบโบราณ ใช้วัตถุดิบคุณภาพตามตำรับโบราณหลายชนิด ผลิตโดย บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) บริษัทที่มีต้นกำเนิดจากร้านขายยาเล็ก ๆ ในย่านสำเพ็ง
โดยกรรมวิธีการผลิตยากฤษณากลั่น ตรากิเลนนั้นจะเริ่มจากการนำส่วนผสมของสมุนไพรรวม 13 ชนิดที่มีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการท้องเสียและช่วยขับลมมาบดให้ได้ในขนาดที่ต้องการและผ่านกรรมวิธีการผลิต ก่อนที่จะนำไปบรรจุขวดขายตามหลักสุขอนามัย
สรรพคุณของยากฤษณากลั่น ตรากิเลน
ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับใช้บำบัดอาการปวดท้อง ท้องเสีย จุกเสียด แน่นท้อง และช่วยขับลม
วิธีใช้ยากฤษณากลั่น
- ใช้ยานี้ 1-3 ช้อนชา* ผสมกับน้ำอุ่น 1 แก้ว ดื่มหลังรับประทานอาหาร วันละ 3 ครั้ง (ในเด็กให้ลดปริมาณยาลงตามสัดส่วน) หรือ
- หากใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดฟัน ให้ใช้สำลีชุบยาแล้วนำไปแตะที่บริเวณซอกฟันที่มีอาการปวด เพราะยานี้มีส่วนผสมของสมุนไพรที่มีสรรพคุณแก้อาการปวดฟัน ได้แก่ กานพลู
หมายเหตุ : 1 ช้อนชา มีปริมาตรเท่ากับ 5 มิลลิลิตร หรือ 5 ซีซี (ส่วน 1 ช้อนโต๊ะจะเท่ากับ 15 มิลลิลิตร หรือ 15 ซีซี)
ส่วนประกอบสำคัญ
ในยากฤษณากลั่น ตรากิเลนขนาด 100 ซีซี จะประกอบไปด้วย
- กฤษณา
- กานพลู
- การบูร
- เปลือกขี้อ้าย
- สมุนไพรอื่น ๆ
ขนาดบรรจุ/ราคา
ในปัจจุบัน ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน มีจำหน่ายเพียงขนาดเดียว สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
- ขวดขนาด 15 ซีซี ราคา 130 บาท
“ผู้บริโภคสามารถแจ้งความเสียหายที่เกิดขึ้น จากผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่สายด่วน อย. 1556”
“อ่านคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์ก่อนใช้”
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมุนไพร
กฤษณาไม้ทรงคุณค่ามากสรรพคุณ
กฤษณาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ตามจารึกแล้วไม้กฤษณาเป็นไม้ที่ถูกกล่าวถึงนับแต่ครั้งพุทธกาลในฐานะของมีค่าหายาก ราคาแพงดั่งทองคำ ในสมัยก่อนไม้กฤษณาจัดเป็นสินค้าต้องห้ามของชาวบ้านทั่วไปเพราะมีกฎหมายให้ค้าขายได้เฉพาะกษัตริย์มาตั้งแต่โบราณ และถูกใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการและเป็นสินค้าส่งออกไปถึงเมืองจีน เนื่องจากเป็นไม้ที่ทรงคุณค่ามากประโยชน์และมีสรรพคุณทางยาหลายอย่าง
โดยปกติเนื้อไม้ของต้นกฤษณาจะเป็นสีขาวนวล หากมีน้ำมันสะสมอยู่บ้างเนื้อไม้จะเปลี่ยนสีจากเดิมเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ และจะมีสีเข้มขึ้นตามปริมาณของน้ำมันที่สะสมอยู่ในเนื้อ (หากมีน้ำมันสะสม จะมีกลิ่นหอมซึ่งเกิดจากเชื้อราบางชนิดที่เข้าไปเจริญในเนื้อไม้ ทำให้เนื้อไม้สร้างชันน้ำมัน เนื้อไม้จึงมีสีเข้มขึ้น) เมื่อหักกิ่งจะมีชันน้ำมันไหลเยิ้มออก มีกลิ่นหอมเฉพาะ ซึ่งไม้กฤษณาที่มีคุณภาพดี เนื้อไม้จะเป็นสีดำและท่อนไม้จะจมน้ำได้
“ตามโบราณจะแบ่งคุณภาพของกฤษณาโดยใช้สีและน้ำหนักเป็นเกณฑ์ โดยเนื้อที่เป็นสีดำเข้มตลอดกันหมดจะเป็นชนิดที่ดีที่สุด เรียกว่า “ไม้หอม” มักจำหน่ายเป็นชิ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมและประโยชน์ด้านอื่น ๆ ส่วนอีกชนิดที่มีคุณภาพรองลงมา เนื้อไม้จะเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำและมักนำมาใช้ทำยาจะเรียกว่า “กฤษณา” และชนิดสุดท้ายคือชนิดที่มีคุณภาพด้อยกว่า เนื้อไม้จะมีสีอ่อนกว่า หรือมีสีน้ำตาลเข้มหรือดำเฉพาะที่หรือเป็นจุด ๆ เป็นชนิดที่เรียกว่า “ลูกผุด” มีน้ำหนักเบากว่าน้ำ นิยมนำมากลั่นเอาน้ำมัน”
ด้านสรรพคุณทางยานั้น ตามตำรายาไทยเราจะใช้เนื้อไม้กฤษณาสีน้ำตาลเข้มถึงดำ เป็นยาอายุวัฒนะ ยาบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ บำรุงตับและปอด แก้อาเจียน ท้องร่วง แก้ไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้เสมหะ บำบัดโรคปวดบวมตามข้อ แก้อาการปวดต่าง ๆ ใช้ผสมในยาหอมแก้ลมวิงเวียนศีรษะ กระตุ้นหัวใจ ฯลฯ และยังมีการนำไปใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในอีกหลากหลายตำรับยาเพื่อรักษาอาการของโรคต่าง ๆ ส่วนในต่างประเทศก็มีใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง นำมาใช้จุดไฟเพื่อให้กลิ่นหอม ใช้บำบัดโรคผิวหนังหลายชนิด ใช้ผงโรยเพื่อฆ่าหมัด ตัวเรือด ตัวไร และเหาบนร่างกาย ใช้แก้อาการปวดหน้าอก แก้ไอ แก้หอบหืด และมีความเชื่อว่าน้ำมันหอมระเหยของกฤษณาเป็นยากระตุ้นทางเพศ เป็นต้น[1]
สมุนไพรรวม 13 ชนิดที่เกือบทุกชนิดจะมีฤทธิ์เป็นยาแก้ท้องร่วง ท้องเสีย ปวดท้อง และช่วยในการขับลม ดังนี้
1. กฤษณา (Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte.) สมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยามากมาย รวมถึงสรรพคุณแก้อาการท้องเสียท้องร่วง และสรรพคุณช่วยในการขับลม[1]
2. กานพลู (Syzygium aromaticum (L.) Merr. & L.M.Perry) ส่วนของดอก (ดอกตูมที่โตเต็มที่แต่ยังไม่บาน) มีสรรพคุณแก้อาการปวดท้อง ปวดมวนในลำไส้ แก้ลม แก้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย แก้จุกเสียด แก้ท้องเสีย ขับผายลม กดลมให้ลงสู่เบื้องต่ำ แก้อาการปวดฟัน เลือดออกตามไรฟัน ดับกลิ่นปาก เป็นยาทำให้ร้อน เมื่อถูกผิวหนังทำให้ชา เป็นยาฆ่าเชื้อ แก้ปวดฟัน แก้รำมะนาด[2],[5]
3. การบูร (Cinnamomum camphora (L.) J. Presl.) มีฤทธิ์ในการขับลม ช่วยกระจายลม แก้อาการปวดท้อง ท้องเสียท้องร่วง ฯลฯ[2]
4. ขี้อ้าย (Terminalia nigrovenulosa Pierre) เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ท้องเสียท้องร่วง รักษาโรคบิด ฯลฯ[4],[5]
5. ขิง (Zingiber officinale Roscoe) เหง้าขิงแก่มีสรรพคุณทางยาหลายอย่างมาก รวมถึงสรรพคุณรักษาอาการท้องอืดเฟ้อ เสียดท้อง แก้ลม แก้จุกเสียด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ช่วยขับลมในลำไส้ให้ผายลมและเรอ ปวดเกร็งช่องท้อง แก้ท้องเสีย แก้ปวดท้อง เป็นยาขมเจริญอาหาร ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร ขับน้ำดี ช่วยย่อยอาหาร[2],[5]
6. ดีปลี (Piper retrofractum Vahl) ตามตำรายาไทยจะใช้ส่วนของผลแห้งสีน้ำตาลแดงเป็นยาขับลม ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด แก้ปวดท้อง แก้ท้องร่วง แก้ธาตุพิการ/ธาตุไม่ปกติ แก้ปวดฟัน ฯลฯ[2],[5]
7. พริกไทย (Piper nigrum L.) ผลแห้งและเมล็ด (ทางยานิยมใช้เมล็ดพริกไทยดำมากกว่าพริกไทยล่อน) มีสรรพคุณเป็นยาลดอาการท้องอืดเฟ้อ แน่นจุกเสียด ขับลมในลำไส้ให้ผายเรอ แก้อาหารไม่ย่อย แก้ลมมุตตฆาต (ลมที่ทำให้ท้องลั่นโครกคราก) แก้ท้องเสีย ปวดท้อง ปวดฟัน ฯลฯ[2],[5]
8. เพกา (Oroxylum indicum (L.) Kurz) ส่วนของเปลือกต้นเพกาตามตำรายาไทยจะใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง แก้บิด ขับลมในลำไส้ แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ฯลฯ[3]
9. เทียนขาว หรือ ผลแก่แห้งของต้นยี่หร่า (Cuminum cyminum L.) ตามตำรายาไทยระบุไว้ว่า สมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์เป็นยากระตุ้นขับลม ช่วยขับผายลม ช่วยบำรุงธาตุ ใช้ผสมกับยาระบายแก้ปวดมวนไซร้ท้อง ใช้เป็นยาฝาดสมานแก้อาการท้องเสีย และตามองค์ความรู้ดั้งเดิมยังมีปรากฏการใช้เทียนขาวในตำรับยาสมุนไพรบรรเทาอาการปวดท้องและขับลมต่าง ๆ ด้วย[2],[5]
10. เทียนดำ (Nigella sativa L.) ตำรายาไทยจะใช้ส่วนเมล็ดของต้นเทียนดำที่มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมถึงห้าเหลี่ยมสีดำเป็นยาขับลมในลำไส้ ช่วยย่อย แก้อาการท้องอืดเฟ้อ ฯลฯ และยังใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาสมุนไพรอื่น ๆ[2],[5]
11. ไพล (Zingiber cassumunar Roxb.) เหง้าสดแก่จัดมีสรรพคุณเป็นยาขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้จุกเสียด แก้ปวดท้อง บิดเป็นมูกเลือด ช่วยสมานแผลสมานลำไส้ แก้ลำไส้อักเสบ แก้ท้องผูก มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ แก้ปวดฟัน ฯลฯ[2],[5]
12. สลัดได (Euphorbia antiquorum L.) ตามตำรายาไทยจะใช้แก่นของสลัดไดแก่ที่ยืนต้นตายที่เรียกว่า “กระลำพัก” เป็นยาแก้ลม แก้ธาตุพิการ แก้ไข้ แก้พิษเสมหะ บำรุงหัวใจ บำรุงตับ และปอด[2],[5]
13. โกฐสอ (Angelica dahurica (Hoffm.) Benth. & Hook.f. ex Franch. & Sav.) ส่วนของรากแห้งมีสรรพคุณทางยาหลายยา หนึ่งในนั้นคือใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน ฯลฯ และยังมีการนำโกฐสอไปใช้ในหลากหลายตำรับยาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เพื่อรักษาอาการของโรคต่าง ๆ เช่น ยาธาตุบรรจบ (ตำรับยาบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ แก้อุจจาระธาตุพิการ แก้ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ), ยาประสะกานพลู (ตำรับยาแก้ปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย ธาตุไม่ปกติ), ยาหอมเทพจิตรและยาหอมนวโกฐ (ตำรับยาแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง) ฯลฯ[2]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กฤษณา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [16 ส.ค. 2021].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กานพลู, การบูร, ขิง, พริกไทย, ไพล, ดีปลี, โกฐสอ, สลัดได, เพกา, เทียนขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [17 ส.ค. 2021].
- ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เพกา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [19 ส.ค. 2021].
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ขี้อ้าย”. หน้า 146-147.
- หนังสือเภสัชกรรมไทย ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม กองการประกอบโรคศิลปะ, โดย หมอชนาณัติ แสงอรุณ ผู้ทรงคุณวุฒิฯ สภาการแพทย์แผนไทย ประธารชมรมแพทย์แผนไทยพัฒนาแห่งประเทศไทย. “กานพลู (หน้า 12), ขิงบ้าน (หน้า 85), เทียนขาว (หน้า 32), เทียนดำ (หน้า 32), ดีปลี (หน้า 69), พริกไทย (หน้า 75), ไพล (หน้า 89), สลัดได (หน้า 58)”.
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)