17 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นยอเถื่อน !

ยอเถื่อน

ยอเถื่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Morinda elliptica (Hook.f.) Ridl. จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]

สมุนไพรยอเถื่อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ย่อป่า (ภาคกลาง, อ่างทอง, ตรัง, สตูล), กะมูดู (ปัตตานี มาเลเซีย), มูดู (นราธิวาส มาเลเซีย) ส่วนทางชุมพรเรียกว่า “ยอเถื่อน” เป็นต้น[1]

หมายเหตุ : ต้นยอเถื่อนที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นยอป่า ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Morinda coreia Buch.-Ham.

ลักษณะของยอเถื่อน

  • ต้นยอเถื่อน จัดเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงได้ประมาณ 5-15 เมตร เปลือกต้นเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลเหลือง แตกเป็นร่องลึกยาวหรือแตกเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ต้องการน้ำค่อนข้างน้อย ควรปลูกในที่ที่มีแสงตลอดทั้งวัน พบขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าโปร่งทั่วไป[1],[2]

ต้นยอเถื่อน

  • ใบยอเถื่อน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลับ ปลายใบเรียวหรือทู่ โคนใบเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-17 เซนติเมตร แผ่นใบนุ่ม ผิวใบทั้งสองด้านเกลี้ยง[1]

ใบยอเถื่อน

  • ดอกยอเถื่อน ออกดอกเป็นกลุ่มบนฐานของรังไข่ที่อัดกันเป็นก้อน โดยจะออกตามซอกใบ กลีบดอกเป็นสีขาว โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็นกลีบ 5 กลีบ ภายในหลอดมีขนละเอียด[1]

ดอกยอเถื่อน

  • ผลยอเถื่อน ผลเป็นผลรวมรูปร่างค่อนข้างกลม ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผิวรอบผลเป็นปุ่มปม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ก้านผลยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร แต่ละผลย่อยมีเมล็ด 1 เมล็ด[1]

ผลยอเถื่อน

สรรพคุณของยอเถื่อน

  1. แก่นมีรสขมร้อน นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต (แก่น)[1],[2]
  2. ตำรายาไทยจะใช้รากยอเถื่อนเป็นยาแก้เบาหวาน (ราก)[1],[2]
  3. ใบใช้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)[2]
  4. ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ใบ)[2]
  5. ผลอ่อนมีสรรพคุณแก้คลื่นไส้อาเจียน (ผลอ่อน)[1],[2]
  1. ใบสดนำมาอังกับไฟ แล้วนำมาปิดบริเวณหน้าอกและหน้าท้อง เป็นยาแก้ไอ แก้อาการจุกเสียด (ใบ)[1],[2]
  2. แก่นนำมาต้มหรือดองกับเหล้ากินเป็นยาแก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ ช่วยขับผายลม (แก่น)[2] ส่วนผลสุกก็มีสรรพคุณเป็นยาขับลมในลำไส้ได้เช่นกัน (ผลสุกงอม)[1]
  3. รากมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคกระเพาะ (ราก)[3]
  4. ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (ใบ)[2]
  5. ใช้เป็นยาขับระดูของสตรี (ผลสุกงอม)[1],[2]
  6. แก่นนำมาต้มหรือดองกับเหล้ากินเป็นยาขับน้ำคาวปลา ขับเลือด ขับและฟอกโลหิตระดู (แก่น)[2]
  7. แก่นนำมาต้มหรือดองกับเหล้ากินเป็นยาป้องกันบาดทะยักที่ปากมดลูก (แก่น)[2]
  8. ช่วยแก้ม้ามโต (ใบ)[2]
  9. ใบสดใช้ตำพอกศีรษะช่วยฆ่าไข่เหา (ใบ)[1],[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของยอเถื่อน

  • รากยอเถื่อน พบสารกลุ่มแอนทราควิโนนหลายชนิด เช่น 1-hydroxy-2-methylanthraquinone, alizarin-l-methyl ether, nordamnacanthal, soranjidiol, morindone, rubiadin, . lucidin-ω-methyl ether, alizarin-l-methyl ether, rubiadin-l-methyl ether, morindone-5-methyl ether[2]

ประโยชน์ของยอเถื่อน

  • ยอดและใบอ่อน นำมาลวกหรือต้มให้สุกจิ้มกับน้ำพริก หรือใช้ปรุงประกอบอาหาร เช่น ซอยใส่ข้าวยำ[2]
  • ผลสุกใช้รับประทานได้[2] หรือใช้เป็นอาหารสัตว์ของโค กระบือ ซึ่งสัตว์ชอบกินมาก โดยคุณค่าทางอาหารจะประกอบไปด้วย โปรตีน 11.64%, ADF 36.6%, NDF 38.8%, ลิกนิน 12.4%[1]
  • รากใช้ย้อมสีผ้าให้เป็นสีแดง[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์.  “ยอเถื่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th.  [30 ต.ค. 2014].
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ยอป่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [29 ต.ค. 2014].
  3. พืชสมุนไพรโตนงาช้าง.  “ยอเถื่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/. [29 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad, Siyang Teo, camillenoir)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด