มันเทศ สรรพคุณและประโยชน์ของมันเทศ 27 ข้อ !

มันเทศ

มันเทศ ชื่อสามัญ Sweet potato[2]

มันเทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Ipomoea batatas (L.) Lam. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Convolvulus batatas L.) จัดอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง (CONVOLVULACEAE)[1],[4],[6]

มันเทศ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มันแกว (ตาก), ยอดมันแกว (น่าน), ยอดมันเทศ (มุกดาหาร), มันหลา (ปัตตานี), ยอดมันหลอง (ภูเก็ต), มันแกว มันแก๋วแดง (ภาคเหนือ), มันเทศ (ภาคกลาง), หมักอ้อย (ละว้า-เชียงใหม่), แตลอ (มลายู-นราธิวาส), มัน (ไทใหญ่), มันแก๋ว (ไทลื้อ), ฟั่นด้อย (เมี่ยน), ด่อมังปร้างเร่น (ปะหล่อง), ฮวงกั้ว (จีน) เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[5],[6]

มัน จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ชนิดหวานและชนิดไม่หวาน โดยชนิดหวานเราจะเรียกว่า “มันเทศ” (Sweet potato) ส่วนชนิดไม่หวานเราจะเรียกว่า “มันฝรั่ง” (Irish potato)[2]

ลักษณะของมันเทศ

  • ต้นมันเทศ มีถิ่นกำเนิดในบริเวณเขตร้อนของทวีปอเมริกา โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกเลื้อยพันมีอายุหลายปี มีความยาวได้ถึง 5 เมตร มีน้ำยางสีขาว ลำต้นทอดเลื้อย มีรากสะสมอาหารมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก รากมันเทศมีระบบรากเป็นแบบรากฝอย ซึ่งจะเกิดจากข้อของลำต้นที่ปลูก หรือเกิดจากลำต้นที่ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน รากมันเทศจะเป็นที่สะสมอาหาร และสามารถใช้รับประทานได้ เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยระบายน้ำดี และชอบแสงแดดจัด โดยพืชที่อยู่ในวงศ์นี้จะพบได้มากในแถบเส้นศูนย์สูตรและภายใต้แถบศูนย์สูตร ส่วนในประเทศไทยมีปลูกกันทั่วไป แต่ส่วนใหญ่แหล่งปลูกจะเป็นจังหวัดในภาคกลาง โดยจังหวัดที่ปลูกมันเทศมาก ได้แก่ เชียงใหม่ เลย นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม เพชรบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา และตรัง[1],[2],[4]

ต้นมันเทศ

  • หัวมันเทศ มันเทศจะลงหัวในระดับความลึกไม่เกิน 9 นิ้วโดยหัวของมันเทศจะเกิดจากการขยายตัวของราก ซึ่งเนื้อเยื่อภายในรากที่เรียกว่า “พาเรนไคมา” (Parenchyma) เป็นส่วนที่สะสมแป้ง รากที่ขยายตัวเป็นหัวขึ้นมาอาจจะเกิดจากรากของลำต้นที่ใช้ปลูก หรืออาจเกิดจากรากที่เกิดจากข้อของลำต้นที่เลื้อยทอดไปตามพื้นดินก็ได้ ดังนั้นต้นมันเทศหนึ่งต้นอาจจะมีหัวได้หลายหัว หรือมากกว่า 50 หัว โดยลักษณะของหัวส่วนมากจะมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก หัวเรียว ท้ายเรียว ส่วนตรงกลางป่องออก และสีผิวของหัวและสีของเนื้อในหัวจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ โดยอาจจะเป็นสีแดง สีเหลือง สีขาว หรือสีนวล และมักจะมีรากแขนงเกิดในร่องของหัว ผิวของหัวอาจจะเรียบหรือขรุขระ หัวมันเทศนอกจากจะให้อาหารจำพวกแป้งแล้ว ยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ (โดยเฉพาะในหัวสีเหลือง) วิตามินบี และวิตามินซีอีกด้วย[2]

หัวมันเทศ

รูปมันเทศ

  • ใบมันเทศ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับบนข้อของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้างแกมรูปโล่ ใบจะมีขนาดและรูปร่างต่างกันแม้จะอยู่ในต้นเดียวกันก็ตาม เพราะบางใบอาจมีขอบใบเรียบ บางใบอาจเป็นรูปหัวใจ หรือบางใบจะมีหลายแฉก โดยปกติแล้วขอบใบจะเว้าลึกเป็นแฉก 3-7 แฉก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-11 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-15 เซนติเมตร ผิวใบเรียบหรือมีขนเล็กน้อย และมักจะมีสีม่วงตามเส้นใบ ก้านใบอาจยาวหรือสั้นขึ้นอยู่กับสายพันธุ์[1],[2]

ใบมันเทศ

  • ดอกมันเทศ ต้นที่ปลูกในเขตอบอุ่นมักจะไม่มีดอก ส่วนต้นที่ปลูกในเขตร้อนจะออกดอก แต่มักจะไม่ติดเมล็ด ออกดอกเป็นช่อ โดยดอกจะออกตามซอกใบ มีก้านช่อดอกแข็งแรง ซึ่งมักจะยาวกว่าก้านใบ โดยมีความยาวประมาณ 3-18 เซนติเมตร เป็นสัน เกลี้ยงหรือมีขน ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 3-12 มิลลิเมตร มีดอกย่อยหลายดอก กลีบดอกเป็นสีชมพูปนสีม่วง มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ 3-4.5 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายกับดอกผักบุ้ง ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน กลีบดอกนอกยาว 7-12 มิลลิเมตร ปกติแล้วกลีบจะแยกจากกันอย่างอิสระหรืออาจจะเชื่อมกันที่โคน ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ก้านและแยกจากกันอย่างอิสระ ก้านชูอับเกสรเพศผู้จะเรียกว่าก้านอับเกสร โดยจะมีความยาวไม่เท่ากันและเชื่อมติดกันอยู่กับฐานของกลีบดอก ส่วนรังไข่มี 2 ส่วน บางดอกอาจมี 4 ส่วน ในแต่ละส่วนจะมีไข่ 1-2 อันที่รับละอองเกสรเพศผู้ มี 2 แฉกอยู่ที่ก้าน เชื่อมติดกับรังไข่[1],[2],[3]

ดอกมันเทศ

  • ผลมันเทศ ผลแห้งและแตกได้แบบไม่เป็นระเบียบ ผลมีเปลือกแข็งหุ้ม ลักษณะของผลเป็นแบบแคปซูล มีช่อง 4 ช่องหรือน้อยกว่านั้น ภายในเปลือกแข็งจะมีเมล็ดขนาดเล็กสีดำ ลักษณะของเมล็ดค่อนข้างแบน ด้านหนึ่งของเมล็ดจะเรียบ ส่วนอีกด้านจะเป็นเหลี่ยม โดยทางด้านเรียบจะเห็นรอยที่เมล็ดติดกับผนังรังไข่ที่เรียกว่า “ไฮลัม” (Hilum) และมีรูเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ไมโครไพล์” (Micropyle) ส่วนเปลือกของเมล็ดค่อนข้างหนาและน้ำซึมผ่านได้ยาก[1],[2],[3]

เมล็ดมันเทศ

สรรพคุณของมันเทศ

  1. หัวมันเทศช่วยลดไขมันในเลือดได้ ด้วยการนำผลมาปรุงเป็นอาหารรับประทาน (หัว)[9]
  2. หัวใช้ชงกับน้ำดื่มช่วยแก้กระหายน้ำ (หัว)[3],[5]
  3. หัวใช้ชงกับน้ำดื่มช่วยแก้เมาคลื่นได้ (หัว)[3],[5]
  4. รากเป็นยาระบาย (ราก)[9]
  5. หัวเป็นยาแก้บิด (หัว)[9]
  1. หัวใช้ชงกับน้ำดื่มช่วยบำรุงม้ามไต (หัว)[3],[5]
  2. น้ำคั้นจากหัวใช้เป็นยาทาแก้แผลไฟไหม้ได้ (หัว)[3],[5]
  3. ใบใช้ตำพอกรักษาฝีได้ หรือจะใช้ใบตำผสมกับเกลือใช้พอกฝีก็ได้ ส่วนตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ยอดและใบมันเทศนำมาตำผสมกับยอดและใบผักขมใบแดงเป็นยาพอกฝี (ยอดและใบ)[1],[3],[5]
  4. ตำรายาไทยจะใช้หัวนำมาตำให้ละเอียดใช้พอกแผล รักษาเริม และงูสวัด (หัว)[1]
  5. ทั้งต้นและหัวมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา (ทั้งต้น, หัว)[3],[5]
  6. หัวใช้ตำพอกเป็นยาถอนพิษรักษาแผล ช่วยเร่งการสมานแผล (หัว)[1],[9]
  7. รากและใบใช้ตำพอกบาดแผล แก้พิษแมลงป่อง (รากและใบ)[5]
  8. เถาใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไขข้ออักเสบ (เถา)[3]
  9. ยอดอ่อนนำมาแกงให้สตรีหลังคลอดบุตรรับประทานจะช่วยทำให้มีน้ำนม (ยอดอ่อน)[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมันเทศ

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ Aesculetin, Alanine, Amyrine, Arginine, Caffeic, Caffeic acid, Campesterol, β-carotene, Chlorogenic acid, Querecetin, Sitosterol, Stigmasterol เป็นต้น[9]
  • สารสกัดจากหัวมันเทศด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิดทั้งแกรมบวกและแกรมลบ[1]
  • หัวมันเทศมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งการสร้างเมลานิน เร่งการสมานแผล ฆ่าพยาธิ และช่วยลดคอเลสเตอรอล[9]
  • เมื่อปี ค.ศ.1978 ที่ประเทศอินเดียได้ทำการศึกษาทดลองโดยให้สารสกัดจากมันเทศกับหนูทดลอง ภายหลังการทดลองพบว่าหนูทดลองมีไขมันในเลือดลดลง[9]
  • เมื่อปี ค.ศ.2003 ที่ประเทศจีนได้ทำการศึกษาทดลองให้สารสกัดจากมันเทศกับหนูทดลองที่ให้อาหารจนไขมันในเลือดสูง ภายหลังการทดลองพบว่า ระดับไขมันในเลือดลดลง คอเลสเตอรอล และระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ P<0.05[9]
  • เมื่อปี ค.ศ.2005 ที่ประเทศจีนได้ทำการทดลองโดยใช้หนูที่ให้สารไขมันจนมีไขมันในเลือดสูงและเกิดภาวะไขมันในตับสูง ทำการทดลองให้ Polysaccharides ซึ่งสกัดจากมันเทศ โดยใช้เวลาทำการทดลองนาน 8 สัปดาห์ ภายหลังการทดลองพบว่า ระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ลดลง มีระดับไขมันในตับลดลง[9]

ประโยชน์ของมันเทศ

  1. หัวมันเทศมีคุณประโยชน์มาก เพราะใช้เป็นอาหารของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี เราสามารถนำมันเทศมาใช้ปรุงอาหารได้ทั้งคาวและหวาน โดยอาหารหวาน ได้แก่ มันเทศแกงบวด มันเทศต้มน้ำตาล มันเทศเชื่อม มันเทศกวน มันเทศฉาบ มันเทศทอด มันเทศเผา มันเทศรังนก หรือนำมานึ่งกิน เป็นต้น ส่วนอาหารคาวก็ได้แก่ แกงเลียง แกงกะหรี่ แกงมัสมั่น แกงคั่ว เป็นต้น[2] ส่วนชาวลั้วะและชาวไทใหญ่จะใช้หัวนำมานึ่งกินกับน้ำพริก[4]
  2. หัวมันเทศเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตชั้นดีที่ให้พลังงานโดยไม่ก่อพิษต่อร่างกายแบบอาหารที่แปรรูปจากแป้งและน้ำตาลแบบอื่น ๆ จึงสามารถนำมาใช้รับประทานแทนข้าวได้ โดยคุณค่าทางโภชนาการของหัวมันเทศต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย พลังงาน 100 แคลอรี, แป้ง 25 กรัม, โปรตีน 1.7 กรัม, ไขมัน 0.3 กรัม, น้ำ 70 กรัม, เถ้า 1 กรัม, แคโรทีน (เฉพาะในเนื้อหัวสีเหลือง) 2,000-5,000 หน่วย, วิตามินบี 1 0.1 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.05 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 0.7 มิลลิกรัม, วิตามินซี 25 มิลลิกรัม เป็นต้น[2]
  3. ส่วนของยอดอ่อนมันเทศก็สามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผักได้เช่นกัน โดยนำมาทำแกง เช่น แกงส้ม หรือนำลวกจิ้มกับน้ำพริก ซึ่งคุณค่าทางโภชนาการของยอดอ่อนมันเทศต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย พลังงาน 48 แคลอรี, แป้ง 9.2 กรัม, โปรตีน 3.6 กรัม, ไขมัน 0.7 กรัม, น้ำ 85 กรัม, เถ้า 1.5 กรัม, แคโรทีน 6,000 หน่วย, วิตามินบี 1 0.12 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.24 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 0.09 มิลลิกรัม, วิตามินซี 27 มิลลิกรัม เป็นต้น[2]
  4. ชาวปะหล่องจะใช้ลำต้นใต้ดินนำมานึ่งหรือต้มรับประทานหรือนำไปแกง[4]
  5. นอกจากจะใช้เป็นอาหารของมนุษย์แล้ว เรายังใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงได้อีกด้วย เช่น ใช้เป็นอาหารวัว ควาย หมู กระต่าย เป็ด ไก่ ปลา และอาหารแพะ เป็นต้น โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ก็ใช้ได้ทั้งหัว เถา และใบ บางแห่งมีการปลูกมันเทศเพื่อใช้เลี้ยงหมูโดยเฉพาะ คือ เมื่อมันเทศทอดยอดและลงหัวดีแล้วก็ปล่อยให้สุกรลงไปกินยอด กินใบ และขุดหัวกินเอง[2],[7]
  1. ในด้านอุตสาหกรรม มันเทศยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้ทำแป้ง เส้นก๋วยเตี๋ยว ทำเหล้า ทำแอลกอฮอล์ กาว ทำน้ำส้ม ทำขนม ขนมคบเคี้ยว อาหารบรรจุกระป๋อง ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเด็ก เป็นต้น[2],[7]
  2. หัวมันเทศ (โดยเฉพาะเนื้อสีเหลืองหรือสีส้ม) และใบ จะมีสารเบตาแคโรทีนสูงมาก ซึ่งมีส่วนช่วยในการบำรุงสายตา[7]
  3. หัวมันเทศเนื้อสีม่วงจะมีสารแอนโทไซยานินสูง ซึ่งสารนี้มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย[7]
  4. วิตามินซีที่มีอยู่ในมันเทศ ถึงแม้มันจะมีอยู่ไม่มาก แต่มันก็มีส่วนช่วยชะลอวัย บำรุงผิวพรรณ ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสวยงามได้เช่นกัน
  5. ใยอาหารหรือไฟเบอร์ที่มีอยู่ในมันเทศนั้นเรียกได้ว่ามีปริมาณที่ค่อนข้างสูงอยู่พอสมควรเลยทีเดียว เมื่อเรารับประทานเข้าไปแล้วจะช่วยทำให้รู้สึกอิ่มเร็วและอิ่มนาน ทำให้ไม่อยากรับประทานอาหารอื่น ๆ เพิ่มเติม มันจึงเป็นตัวช่วยที่ดีในการช่วยลดน้ำหนักของคุณทางอ้อมได้ อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่ระบุไว้ชัดเจนว่ามันเทศสามารถช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้ ดังนั้นคุณจึงไม่ต้องกังวลว่ารับประทานมันเทศบ่อย ๆ แล้วจะทำให้คุณอ้วนขึ้น โดยมีคำแนะนำว่าให้รับประทานมันเทศในช่วงเช้า (09.00-11.00 น.) เป็นประจำ ก็จะช่วยทำให้รูปร่างของคุณดูดีขึ้นมาได้
  6. ด้วยความที่มันเทศมีเส้นใยอาหารสูง จึงช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี
  7. หลายท่านคงประสบกับปัญหาเหน็บชากิน เวลานั่งหรือยืนโดยไม่เปลี่ยนท่า หรือนั่งทับเท้าเป็นเวลานาน ใครที่เป็นบ่อย ๆ ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือหัวมันเทศนั่นเอง[8]
  8. ส่วนข้อมูลจากสมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณแห่งประเทศไทย ระบุว่าใบมันเทศช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ห้ามเลือดจากบาดแผล แก้ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ลดระดับน้ำตาล ช่วยระบายท้อง ป้องกันท้องผูก ขับพิษ รักษาโรคตาที่มองไม่เห็นในที่มืด ช่วยบำรุงผิวและชะลอวัย ส่วนวิธีการนำมารับประทานก็มีหลายรูปแบบ เช่น ลวกกินกับน้ำพริก ผัดไฟแดง ใส่ลงในโจ๊ก ทำยำ ในประเทศญี่ปุ่นจะนำใบมาดองในกระป๋องจำหน่าย ส่วนหัวมันเทศช่วยบำรุงสายตา เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ รวมถึงโรคมะเร็ง ช่วยปรับสภาพเลือด บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง บำรุงเลือด บำรุงกระเพาะ ม้าม แก้โรคดีซ่าน รักษาเบาหวาน ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ป้องกันโรคต้อกระจก ตาบอดตอนกลางคืน อีกทั้งหัวมันเทศยังอุดมไปด้วยวิตามินบี 6 ซึ่งช่วยในการทำงานของสมอง ป้องกันอาการทางประสาท นอนไม่หลับ และอาการซึมเศร้าได้ดี แต่ข้อมีข้อควรระวังก็คือ สตรีใกล้คลอดไม่ควรรับประทาน (เพราะอาจทำให้พลังงานในตัวมารดาสะดุดหรือมีอาการท้องอืดเฟ้อ) และผู้ที่มีอาการท้องอืดเฟ้อ บิด เป็นมาลาเรียก็ไม่ควรรับประทาน (ไม่ได้ระบุเหตุผลไว้) และจากข้อมูลยังระบุด้วยว่าห้ามใช้มันเทศปรุงร่วมกับไข่ไก่ (ตรงนี้ก็แปลกมาก ไม่ทราบว่าห้ามเพราะอะไร ผมเห็นในต่างประเทศคนรับประทานมันเทศร่วมกับไข่ไก่ลวกก็เยอะแยะไป)[10] และยังมีข้อมูลจากส่วนอื่นอีกที่ระบุว่าห้ามทานมันเทศร่วมกับลูกพลับ เพราะจะทำให้เกิดนิ่วในกระเพาะอาหาร (จริงเท็จอย่างไรไม่ทราบนะครับ) ส่วนบางข้อมูลก็ระบุว่าหัวมันเทศช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ รักษาโรคโลหิตจาง บรรเทาอาการของโรคความดันโลหิต (ข้อมูลส่วนนี้ต้นฉบับไม่ได้ระบุแหล่งอ้างอิงนะครับ เลยไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร)

คุณค่าทางโภชนาการของมันเทศ ต่อ 100 กรัม

สารอาหาร|หัวมันเทศดิบ|หัวมันเทศอบไม่ใส่เกลือ|ใบมันเทศดิบ
พลังงาน|86 กิโลแคลอรี|90กิโลแคลอรี|42 กิโลแคลอรี
คาร์โบไฮเดรต|20.1 กรัม|20.7 กรัม|8.82 กรัม
แป้ง|12.7 กรัม|7.05 กรัม|-
น้ำตาล|4.2 กรัม|6.5 กรัม|-
ใยอาหาร|3 กรัม|3.3 กรัม|5.3 กรัม
ไขมัน|0.1 กรัม|0.15 กรัม|0.51 กรัม
โปรตีน|1.6 กรัม|2.0 กรัม|2.49 กรัม
วิตามินเอ|709 ไมโครกรัม 89%|961 ไมโครกรัม 120%|189 ไมโครกรัม 24%
เบตาแคโรทีน|8,509 ไมโครกรัม 79%|-|2,217 ไมโครกรัม 21%
ลูทีน ซีแซนทีน|-|-|14,720 ไมโครกรัม
วิตามินบี 1|0.078 มิลลิกรัม 7%|0.11 มิลลิกรัม 10%|0.156 มิลลิกรัม 14%
วิตามินบี 2|0.061 มิลลิกรัม 5%|0.11 มิลลิกรัม 9%|0.345 มิลลิกรัม 29%
วิตามินบี 3|0.557 มิลลิกรัม 4%|1.5 มิลลิกรัม 10%|1.13 มิลลิกรัม 8%
วิตามินบี 5|0.8 มิลลิกรัม 16%|-|0.225 มิลลิกรัม 5%
วิตามินบี 6|0.209 มิลลิกรัม 16%|0.29 มิลลิกรัม 22%|0.19 มิลลิกรัม 15%
วิตามินบี 9|11 ไมโครกรัม 3%|6 ไมโครกรัม 2%|-
วิตามินซี|2.4 มิลลิกรัม 17%|19.6 มิลลิกรัม 24%|11 มิลลิกรัม 13%
วิตามินอี|0.26 มิลลิกรัม 2%|0.71 มิลลิกรัม 5%|-
วิตามินเค|-|-|302.2 ไมโครกรัม 288%
แคลเซียม|30 มิลลิกรัม 3%|38 มิลลิกรัม 4%|78 มิลลิกรัม 8%
ธาตุเหล็ก|0.61 มิลลิกรัม 5%|0.69 มิลลิกรัม 5%|0.97 มิลลิกรัม 7%
แมกนีเซียม|25 มิลลิกรัม 7%|27 มิลลิกรัม 8%|70 มิลลิกรัม 20%
แมงกานีส|0.258 มิลลิกรัม 12%|0.5 มิลลิกรัม 24%|-
ฟอสฟอรัส|47 มิลลิกรัม 7%|54 มิลลิกรัม 8%|81 มิลลิกรัม 12%
โพแทสเซียม|337 มิลลิกรัม 7%|475 มิลลิกรัม 10%|508 มิลลิกรัม 11%
โซเดียม|55 มิลลิกรัม 4%|36 มิลลิกรัม 2%|-
สังกะสี (ซิงค์)|0.3 มิลลิกรัม 3%|0.32 มิลลิกรัม 3%|-

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “มันเทศ”.  หน้า 132.
  2. โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.  “มันเทศ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: kanchanapisek.or.th/kp6/.  [24 พ.ค. 2014].
  3. ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.  “มันเทศ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/.  [24 พ.ค. 2014].
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “Sweet potato”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [24 พ.ค. 2014].
  5. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “มันเทศ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [24 พ.ค. 2014].
  6. พืชให้แป้งหรือน้ำตาล, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “มันเทศ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/use/powder_sugar.htm. [24 พ.ค. 2014].
  7. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2.  “เทคโนโลยีการผลิตมันเทศหลังนา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doa.go.th/oard2/images/stories/tube2.doc.  [24 พ.ค. 2014].
  8. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).  “ทำอย่างไรเมื่อเหน็บกิน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: thaihealth.or.th.  [24 พ.ค. 2014].
  9. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  “มันฝรั่ง”.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  หน้า 152.
  10. สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณแห่งประเทศไทย.  “มากินมันเทศกัน…ประโยชน์มากมาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.facebook.com/AyurvedicAssociationOfThailand/.  [24 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by International Institute of Tropical Agriculture, Eric Hunt, Ikhlasul Amal, barloventomagico, Robin)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด