มะแว้ง สรรพคุณและประโยชน์ของมะแว้งต้น 30 ข้อ !

มะแว้ง สรรพคุณและประโยชน์ของมะแว้งต้น 30 ข้อ !

มะแว้งต้น

มะแว้งต้น ชื่อสามัญ Brinjal[8]

มะแว้งต้น ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum indicum L.[1],[2],[3] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิด Solanum sanitwongsei W. G. Craib[5],[8] จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)[1]

สมุนไพรมะแว้งต้น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แว้งคม (สุราษฎร์ธานี, สงขลา), มะแคว้ง มะแคว้งขม มะแคว้งคม มะแคว้งดำ (ภาคเหนือ), หมากแข้ง หมากแข้งขม (ภาคอีสาน), มะแว้ง มะแว้งต้น (ทั่วไป), สะกังแค สะกั้งแค (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หมากแฮ้งคง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), เทียนเฉีย ชื่อเทียนเฉีย (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3],[4]

หมายเหตุ : ทั้งมะแว้งต้นและมะแว้งเครือต่างก็มีสรรพคุณทางยาที่คล้ายคลึงกัน แต่มักจะนิยมใช้มะแว้งเครือมาทำเป็นยามากกว่า แม้กระทั่งผลมะแว้งที่นำมาจิ้มกับน้ำพริกรับประทาน ก็ยังนิยมใช้ผลมะแว้งเครือเช่นกัน แต่แพทย์แผนไทยในอดีตจะนิยมใช้ทั้งมะแว้งเครือและมะแว้งต้นร่วมกัน โดยเรียกว่า “มะแว้งทั้งสอง[8]

ลักษณะของมะแว้งต้น

  • ต้นมะแว้งต้น จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุประมาณ 2-5 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 1 -1.5เมตร ลำต้นมีขนาดเล็กและกลม เนื้อแข็ง เป็นสีเขียวอมเทา แตกกิ่งก้าน ทั้งต้นมีขนนุ่มสีเทาขึ้นปกคลุม และมีหนามแหลมขึ้นกระจายอยู่ทั่วต้น ส่วนเปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล[1],[2] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ต้องการน้ำมากและความชื้นในปริมาณปานกลาง สามารถขึ้นได้เองตามธรรมชาติในบริเวณที่ราบ ชายป่าที่โล่งแจ้งและที่รกร้างริมทาง สามารถพบได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศ[3],[7] และคาดว่ามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชียซึ่งรวมทั้งประเทศและอินเดียด้วย[8]

ต้นมะแว้ง

ต้นมะแว้งต้น

  • ใบมะแว้งต้น ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลมเล็กน้อย โคนใบมน ส่วนขอบใบหยักเว้ามนเข้าหาเส้นกลางใบและมีคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร หลังใบ ท้องใบ และก้านใบมีขนสั้น ๆ ปกคลุม โดยท้องใบจะมีขนหนาแน่นหลังใบ มีหนามสั้น ๆ และมีก้านใบยาว[1]

ใบมะแว้งต้น

  • ดอกมะแว้งต้น ออกดอกเป็นกระจุกตามง่ามใบหรือปลายกิ่งประมาณ 3-6 ดอก ดอกเป็นสีม่วงอ่อน มีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ใจกลางของดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลือง 5 ก้าน เชื่อมติดกันกับโคนกลีบดอก ปลายกลีบดอกจะแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก ปลายแหลม คล้ายรูปดาว ก้านดอกมีหนามเป็นตุ่มเล็ก ๆ ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉก 5 แหลม ปลายแหลม ด้านนอกมีขน[1]

ดอกมะแว้งต้น

  • ผลมะแว้งต้น ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผิวผลเรียบเกลี้ยงและมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียวหรือสีขาวไม่มีลาย ส่วนผลสุกเป็นสีแดงส้มหรือเป็นสีเหลืองอมส้ม ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร หรือมีขนาดเท่ากับมะแว้งเครือ แต่จะมีสีเขียวมากกว่า และมีรสขมจัดกว่า โดยภายในผลมะแว้งต้นจะมีเมล็ดขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปกลมแบน สีน้ำตาลอ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก[1]

ลูกมะแว้งต้น

มะแว้งต้น

มะแว้ง

สรรพคุณของมะแว้งต้น

  1. รากและผลมีรสขมเปรี้ยว เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก, ผล)[1],[3],[4] ส่วนใบก็มีสรรพคุณบำรุงธาตุเช่นกัน (ใบ)[6]
  2. ใช้เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก, ใบ, ผล)[1],[4]
  3. ผลสุกและผลดิบมีรสขื่นเปรี้ยว ช่วยแก้โรคเบาหวาน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้บ้าง (ผล)[1],[2],[3] ด้วยการใช้ผลมะแว้งต้นโตเต็มที่ประมาณ 10-20 ผล นำมารับประทานเป็นอาหารกับน้ำพริก (ผล)[6]
  4. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ แก้ปวดฟัน (ราก, ผล)[1],[4]
  5. ช่วยแก้ไซนัส (ราก, ผล)[1],[4]
  6. รากและใบช่วยแก้วัณโรค (ราก, ใบ)[1],[6]
  7. ช่วยแก้ไข้สารพัดพิษ แก้ไข้เพื่อเสมหะในคอ (ผล)[1],[2] ส่วนรากมีรสขมขื่นเปรี้ยว เป็นยาแก้ไข้สันนิบาต (ราก)[1],[2],[6]
  8. สรรพคุณของรากมะแว้งในบางตำราระบุว่าใช้ระงับความร้อน (ราก)[8]
  9. ตำรายาไทยจะใช้ผลเป็นยาแก้ไอ โดยใช้ได้ทั้งผลแห้งและผลสดประมาณ 5-10 ผล นำมาตำให้แหลก คั้นเอาแต่น้ำผสมกับเกลือเล็กน้อย นำมารับประทาน (ผล)[1],[2],[3],[4] ส่วนใบและรากก็เป็นยาแก้ไอเช่นกัน (ใบ, ราก)[1],[2],[3],[4]
  10. ช่วยขับเสมหะ ด้วยการใช้ผลประมาณ 5-10 ผลนำมาตำให้แหลก คั้นเอาแต่น้ำผสมกับเกลือเล็กน้อย นำมารับประทาน (ผล)[1],[2],[3],[4] ส่วนรากช่วยกัดเสมหะ ขับเสมหะ (ราก)[1],[2],[4],[6]
  1. รากและผลมีรสขมขื่นเปรี้ยว ช่วยแก้น้ำลายเหนียว (ราก, ผล)[1],[2],[6]
  2. ช่วยแก้คอแห้ง (ผล)[6]
  3. ช่วยรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (ราก, ผล)[1],[4]
  4. ช่วยแก้โรคหอบหืด ด้วยการใช้ผลมะแว้งต้นแก่ประมาณ 10-20 ผล นำมาเคี้ยวกลืนทั้งน้ำและเนื้อ โดยให้รับประทานบ่อย ๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น (ผล)[6]
  5. รากและผลเป็นยาขับลม (ราก, ผล)[1],[2],[3] เนื้อไม้ช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่น แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยขับลม (เนื้อไม้)[1]
  6. ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะ (ราก, ผล)[1],[4]
  7. ช่วยแก้ผิดสำแดง (ผล)[1]
  8. เนื้อไม้เป็นยาขับพยาธิ (เนื้อไม้)[1]
  9. รากและผลช่วยขับปัสสาวะ (ราก, ผล)[1],[2],[3],[6]
  10. ผลช่วยละลายก้อนนิ่ว (ผล)[1]
  11. ราก ผล และทั้งต้นช่วยแก้โลหิตออกทางทวารหนัก ทวารเบา (ราก, ผล, ทั้งต้น)[6]
  12. ช่วยรักษาโรคทางไตและกระเพาะปัสสาวะ (ผล)[6]
  13. ช่วยบำรุงน้ำดี (ราก, ผล)[1],[4],[6]
  14. ช่วยรักษามะเร็งเพลิง (ราก)[1]
  15. ช่วยแก้คัน (ราก)[1],[2],[3]
  16. ช่วยแก้ฟกช้ำดำเขียว ปวดบวมอักเสบ (ราก, ผล)[1],[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะแว้งต้น

  • ผลมะแว้งต้นพบสาร Alkaloids หลายชนิด เช่น Diosgenin, Solanine, Solasodine (สารนี้พบได้ทั้งในส่วนของผล ใบ และต้น[6]) อีกทั้งยับพบสารจำพวก Amino acid, Flavonoid glycoside, Phenols ส่วนในเมล็ดมะแว้งต้นพบไขมันและวิตามินซี เป็นต้น[4] ส่วนใบและผลยังพบ Diogenin, Solanine, Solanidine Beta-sitosterol[6]
  • สารสกัดจากมะแว้งต้นมีฤทธิ์แก้ปวด แก้อาการอักเสบได้ โดยสารดังกล่าวจะออกฤทธิ์คล้ายกับ Cortisone[4]
  • สาร Solasodine เป็นสารที่มีประสิทธิภาพในการขับเสมหะและแก้อาการไอได้ดี[4]
  • เมื่อนำสาร Solasodine ที่สกัดได้จากผลมาฉีดให้หนูที่เป็นเบาหวานในขนาด 50-100 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม พบว่าไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น แต่หากฉีดให้กับหนูที่ไม่มีโรคเบาหวาน จะมีผลทำให้น้ำตาลในเลือดของหนูเพิ่มขึ้น[4]
  • น้ำสกัดผลมะแว้งมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด แต่มีฤทธิ์น้อยและระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้น และยังพบสเตียรอยด์ในปริมาณค่อนข้างสูง จึงไม่ควรนำมาใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน[5]
  • สาร Solanine หากนำมาใช้ในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้เกิดอาการเป็นพิษ ทำลายเซลล์ในเม็ดเลือด ทำให้มีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน ตาพร่ามัว ขับถ่ายฉับพลัน หัวใจเต้นถี่ และค่อย ๆ ลดลงจนหัวใจหยุดเต้น หรือทำให้ควบคุมสติไม่ได้และสลบไป โดยสารดังกล่าวจะพบมากในผลมะแว้งต้นดิบ[4]

ประโยชน์ของมะแว้งต้น

  • ผลอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดได้ โดยอาจนำไปลวกหรือเผาจิ้มกับน้ำพริก หรือใช้ประกอบอาหาร ทำแกง หรือใช้ประกอบอาหารเพื่อเพิ่มรสขม เช่น แกงใส่ปลาแห้ง หรือน้ำพริก เป็นต้น โดยผลมะแว้งต้นจะมีวิตามินเอค่อนข้างสูง ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง[1],[6],[7]
  • นอกจากผลอ่อนแล้ว ยอดอ่อนก็ใช้รับประทานเป็นผักได้เช่นกัน แต่ต้องนำมาต้มให้สุกเสียก่อน แล้วจึงนำไปใช้เป็นผักจิ้ม (ส่วนผลอ่อนดิบจะใช้เป็นผักจิ้มได้เลย) นิยมกินกับปลาร้า แต่ก็ใช้จิ้มกับน้ำพริกได้เหมือนกัน โดยจะมีรสชาติค่อนข้างขื่นขม แต่เมื่อเคี้ยวไปสักครู่จะรู้สึกออกรสหวานเล็กน้อย ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของผลมะแว้งดิบ[8]
  • มะแว้งต้นเป็นส่วนผสมหลักของตำรับยาประสะมะแว้ง ซึ่งองค์การเภสัชกรรมผลิตขึ้นตามตำรับยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ[5]
  • ผลสุกนำมาบีบใส่ตาไก่ที่มีอาการเจ็บตา หรือนำมาขยี้แล้วทาตาไก่บริเวณบวมหรือพอง (ชาวลั้วะ, คนเมือง)[7]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “มะแว้งต้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [18 พ.ค. 2014].
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “มะแว้งต้น (Ma Waeng Ton)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 238.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “มะแว้งต้น”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 642-643.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “มะแว้งต้น”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 456.
  5. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “มะแว้งต้น”.  หน้า 190.
  6. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “มะแว้งต้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [18 พ.ค. 2014].
  7. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “มะแว้งต้น, มะแขว้งขม, มะแว้ง, มะแคว้งขม”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [18 พ.ค. 2014].
  8. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 235 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า.  “มะแว้ง : ทั้งต้นและเครือล้วนเชื้อพันธุ์เดิม”.  (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [18 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by VanLap Hoàng), www.biogang.net (by mahamasupyan), www.kasetporpeang.com (by pink lady), www.rakbankerd.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด