มะแฟน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะแฟน 6 ข้อ !

มะแฟน

มะแฟน ชื่อวิทยาศาสตร์ Protium serratum (Wall. ex Colebr.) Engl. จัดอยู่ในวงศ์มะแฟน (BURSERACEAE)[1],[2]

สมุนไพรมะแฟน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆว่า แฟนส้ม (เลย), ส้มแป้น (นครราชสีมา), ค้อลิง (ชัยภูมิ), มะแทน (ราชบุรี), กะโปกหมา กะตีบ (ประจวบคีรีขันธ์), ปี (ภาคเหนือ), มะแฟน (ภาคกลาง), พี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ฟีแซ พีแซ ผี (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ตะพีเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ไฮ่ม่าดี้ (ปะหล่อง), เจี้ยนต้องแหงง (เมี่ยน) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของมะแฟน

  • ต้นมะแฟน จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 10-30 เมตร เรือนยอดค่อนข้างทึบ เป็นพุ่มกลมในช่วงบน ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล แตกเป็นสะเก็ดโต ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่ทนต่อความร้อนได้ดี มักพบขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ ตามป่าเบญจพรรณทั่วไป หรือตามป่าเบญจพรรณบริเวณเขาหินปูนและป่าดิบแล้งใกล้ลำธาร ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-800 เมตร[1],[3]

ต้นมะแฟน

เปลือกต้นมะแฟน

  • ใบมะแฟน ใบเป็นใบประกอบ เป็นช่อแบบขนนก ช่อใบติดเรียงสลับ แต่ละแขนงมีใบย่อยประมาณ 3-11 ใบ ติดตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ยกเว้นใบยอดช่อจะเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรียาว หรือรูปแกมขอบขนาน ปลายใบหยักคอดเป็นติ่งแหลม โคนใบกลมมนหรือเบี้ยว ส่วนขอบใบอ่อนหยักเป็นพันเลื่อย ส่วนใบแก่มักเรียบหรือเป็นคลื่นหาง ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-13 เซนติเมตร เนื้อใบหนา ใบอ่อนมีขนขึ้นประปราย เมื่อแก่ขนจะหลุดออกเป็นใบเรียบเกลี้ยง ท้องใบมองเห็นเส้นใบเป็นรูปตาข่ายได้ชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร[1],[3]

ใบมะแฟน

  • ดอกมะแฟน ออกดอกเป็นช่อกระจายอยู่ตามบริเวณซอกใบและปลายกิ่ง ในแต่ละช่อจะมีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกแยกเพศ ลักษณะของดอกมีกลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ โคนกลีบรองกลีบดอกติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ปลายแยกออกเป็นแฉกเล็ก ๆ 5 แฉก ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ มีขนด้านนอก ดอกเป็นสีขาว สีเขียวอ่อน หรือสีเหลืองอ่อน กลางดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 10 อัน และมีเกสรเพศเมีย 1 อันขนาดสั้นกว่ากลีบดอก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[3]

ดอกมะแฟน

  • ผลมะแฟน ผลมีลักษณะค่อนข้างกลมมน มีร่องแบ่งเป็นพูประมาณ 2-4 พู ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร เปลือกผลเป็นสีแดง สีเขียว สีเหลือง เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง พอแก่แล้วเป็นสีดำ ภายในผลมีเนื้อนุ่มสีขาวและมีเมล็ด เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลมแข็ง ออกผลในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม[1],[3]

ผลมะแฟน

รูปมะแฟน

สรรพคุณของมะแฟน

  • รากสดหรือรากแห้งนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้พิษซาง พิษตานซาง ถอนพิษผิดสำแดง และเป็นยาถอนพิษต่าง ๆ (ราก)[1],[2],[4]
  • รากนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ ถอนพิษไข้กลับไข้ซ้ำ กระทุ้งพิษไข้หัว ไข้เหนือ (ราก)[1],[2]
  • ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ราก)[4]
  • ผลมีสรรพคุณเป็นยารักษาแผลในปาก (ผล)[4]

ประโยชน์ของมะแฟน

  • ผลมะแฟนมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานได้[1],[2] ส่วนใบอ่อนก็รับประทานได้เช่นกัน (กะเหรี่ยงแดง)[2]
  • เนื้อไม้มะแฟนมีความเหนียว เมื่อตัดใหม่ ๆ แก่นจะเป็นสีแดง พอทิ้งไว้นาน ๆ จะเป็นสีอิฐหรือสีน้ำตาลคล้ำ เสี้ยนไม้มักสน เนื้อไม้ละเอียดและสม่ำเสมอพอประมาณ เลื่อย ผ่า ไสกบ ตกแต่งได้ง่าย สามารถนำมาใช้ทำเสาอาคารบ้านเรือน กระดานพื้น ฝา ฝ้า เพดาน ประตู หน้าต่าง วงกบ กรอบรูป กรอบกระจก กรอบประตูหน้าต่าง เครื่องเรือน เครื่องใช้ทางการเกษตร ไถ หัวหมูไถ ใช้ทำฟืน ฯลฯ[2],[3]

ไม้มะแฟน

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “มะแฟน”.  หน้า 625-626.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “มะแฟน”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [02 พ.ย. 2014].
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “มะแฟน”.  อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1, ไม้ต้นในสวน Tree in the Garden.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [02 พ.ย. 2014].
  4. พืชสมุนไพรโตนงาช้าง.  “มะแฟน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/. [02 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : pantip.com (by [NostalgiA]), www.magnoliathailand.com (by Blue butterfly), board.trekkingthai.com (by wichian001), www.ebbd.info, www.flowersofindia.net

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด