22 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะเหลี่ยมหิน !

22 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะเหลี่ยมหิน !

มะเหลี่ยมหิน

มะเหลี่ยมหิน ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhus chinensis Mill.[1] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Rhus javanica var. chinensis (Mill.) T.Yamaz.)[2] จัดอยู่ในวงศ์มะม่วง (ANACARDIACEAE)[1]

สมุนไพรมะเหลี่ยมหิน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะผด ส้มผด (เชียงใหม่, เชียงราย), มะเหลี่ยมหิน ซุง (เชียงใหม่), ตะซาย (เย้า เชียงใหม่), สำค้ำ (ชัยภูมิ), เส่ฉี่ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), เส่ชิ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ลำยึ ไม้สมโพด แผละยึ เพี๊ยะยึ มักพด (ลั้วะ), เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของมะเหลี่ยมหิน

  • ต้นมะเหลี่ยมหิน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 8-10 เมตร หรืออาจสูงได้ถึง 12 เมตร ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 18 เซนติเมตร เปลือกนอกเป็นสีน้ำตาลอมขาวหม่น มีรูอากาศขนาดใหญ่สีน้ำตาลอมขาวหม่น เมื่อแก่มีรูอากาศขนาดใหญ่สีน้ำตาลอมแดงเรียงกันเป็นแถว เปลือกด้านในเป็นสีขาวหม่น มียางสีขาวหม่นหรือขาวอมเหลือง กิ่งเปราะ ตามกิ่งอ่อนมีขนละเอียด พบได้ในป่าดงดิบที่มีความสูงประมาณ 600-1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล มักขึ้นในที่ชื้นทั่วไป[1],[3]

ต้นมะเหลี่ยมหิน

  • ใบมะเหลี่ยมหิน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับระหว่างช่อเวียนรอบกิ่งหรือต้น ช่อใบยาวประมาณ 25-40 เซนติเมตร ก้านช่อใบยาวประมาณ 8-11 เซนติเมตร แกนในร่วมแบนข้างเล็กน้อย แผ่เป็นสันคล้ายปีก ใบย่อยไม่มีก้านใบ จับคู่กันประมาณ 3-6 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่กว้าง รูปไข่แกมขอบขนานถึงรูปใบหอก รูปใบหอกหรือรูปวงรีแกมใบหอก ปลายใบแหลม เรียวแหลม หรือเป็นติ่งแหลม โคนใบโค้งมนหรือสอบแคบ สองข้างใบไม่สมมาตรกัน ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยเล็ก ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ใบอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลขึ้นปกคลุมค่อนข้างหนาแน่น เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม แผ่นใบสดและมีขนละเอียดสีน้ำตาลเฉพาะบนเส้นใบด้านบน ส่วนล่างมีแบบเดียวกันปกคลุมค่อนข้างหนาแน่น ใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มก่อนจะร่วง ใบของพืชชนิดนี้มักจะมีแมลงขนาดเล็กคล้ายแมลงหวี่มาทำลาย ทำให้เกิดปมเป็นตุ่มขนาดใหญ่สีแดงงอกออกมาเป็นกลุ่มคล้ายผล ซึ่งจะเห็นกระจายอยู่ทั่วทั้งต้นได้ชัดเจน[1],[3]

ใบมะเหลี่ยมหิน

  • ดอกมะเหลี่ยมหิน ออกดอกเป็นช่อกระจะแยกแขนงขนาดใหญ่บริเวณปลายกิ่ง ช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศหรืออาจแยกเพศแยกช่ออยู่บนต้นเดียวกันหรือต่างต้นกัน ช่อดอกเพศผู้ยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ส่วนช่อดอกเพศเมียยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร แขนงช่อดอกยาวได้ถึง 25 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงสั้นกว่า 1 มิลลิเมตร โคนเชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกออกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม 5 แฉก ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปรีกว้างหรือรูปขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.8-2.2 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีขาวแกมเหลืองหรือสีเหลืองอ่อนอมเขียวอ่อน ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ที่ไม่เป็นหมันจะยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร และที่เป็นหมันจะยาวเพียง 1-1.5 มิลลิเมตร เรียงล้อมรอบหมอนรองดอกที่มี 5 พู รังไข่ค่อนข้างกลมนูนอยู่เหนือฐานวงกลีบรวม มีขนละเอียดขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น ภายในมี 1 ช่อง ก้านเกสร 3 อัน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน[1],[3]

ดอกมะเหลี่ยมหิน

  • ผลมะเหลี่ยมหิน ผลเป็นผลสด ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมแบน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ผลมีกลีบเลี้ยงรองรับ เมื่ออ่อนผลเป็นสีขาวอมเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนสีชมพูถึงสีแดงจัดแกมน้ำตาลแล้วเปลี่ยนเป็นสีขาว ผิวมียางเหนียวและมีขนละเอียดขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น เมล็ดมีชั้นหุ้มแข็ง ติดผลในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม[1],[3]

ผลมะเหลี่ยมหิน

สรรพคุณของมะเหลี่ยมหิน

  1. รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ (ราก)[1]
  2. ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะนำผลมาแช่ในน้ำใส่เกลือ ใช้ดื่มเป็นยาแก้อาการหวัด แต่วิธีนี้ใช้ได้ผลสำหรับบางคนเท่านั้น (ผล)[3]
  3. ชาวเขาเผ่าอีก้อจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ ส่วนตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากมะเหลี่ยมหิน ผสมกับรากสาบเสือ รากปืนนกไส้ ก้นจ้ำทั้งต้น และผักปลายทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไอ มีน้ำมูกข้น (ราก)[1],[3] ส่วนชาวลั้วะจะนำผลไปต้มผสมกับขิงรับประทาน (ผล)[3]
  1. ต้นและเมล็ดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการเจ็บคอและหวัด (ต้นและเมล็ด)[3]
  2. รากใช้ต้มกับน้ำกินแก้ปวดแสบลิ้นปี่ (ราก)[1]
  3. รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ (ราก)[1],[3] หรือใช้รากผสมรวมกับสมุนไพรอื่นเป็นยารักษาอาการปวดท้อง (ราก)[4]
  4. ชาวมูเซอจะใช้ยอดอ่อนผสมกับไข่หมกกินเป็นยาแก้ท้องเสีย (ยอดอ่อน)[3]
  5. ผลนำมาเคี้ยวกินแล้วดื่มน้ำตาม จะช่วยรักษาโรคริดสีดวง (ผล)[3]
  6. ใบสดนำมาตำคั้นเอาน้ำใช้เป็นยาทาหรือพอกรักษาแผลสด แผลถลอก ช่วยสมานแผล และช่วยห้ามเลือด (ใบ)[1],[3]
  7. ต้นและเมล็ดใช้ตำพอกแก้บาดแผล (ต้นและเมล็ด)[3]
  8. ใบใช้พอกแผลที่ถูกงูกัด (ใบ)[4]
  9. ใบนำมาต้มกับน้ำอาบแก้อาการผื่นคัน ตุ่มพอง โรคผิวหนังตามร่างกาย และให้สตรีอาบหลังคลอดบุตรใหม่ (ใบ)[3]
  10. ลำต้นใช้ต้มกับน้ำล้างแผล ฝี หนอง ติดเชื้อ (ลำต้น)[4]
  11. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการคันจากพิษยางรัก (ทั้งต้น)[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะเหลี่ยมหิน

  • ใบมีกรดแทนนิกซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และป้องกันสารบางชนิดที่ทำลายดีเอ็นเอของเม็ดเลือดขาวในหลอดทดลอง[1]
  • สารสกัดน้ำและแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดเริมในหลอดทดลองได้[1]

ประโยชน์ของมะเหลี่ยมหิน

  1. ผลมีรสเปรี้ยวใช้รับประทานได้ ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะนำผลมาตำใส่เกลือและพริกรับประทาน ส่วนชาวลั้วะจะนำผลมาคลุกกับเกลือหรือกะปิรับประทาน หรือรับประทานร่วมกับลำชิเพียร มีรสเปรี้ยว ๆ เค็ม ๆ[1],[3]
  2. ผลใช้ปรุงอาหาร ช่วยทำให้มีรสเปรี้ยว[2]
  3. ชาวอีก้อจะใช้ใบอ่อนผสมกับหน่อไม้รับประทานเป็นอาหารประเภทผัก[3]
  4. คนเมืองจะใช้เปลือกต้นนำมาขูดใส่ลาบเพื่อช่วยให้มีรสชาติอร่อย[3]
  5. ลำต้น ราก และใบ นำมาต้มใช้น้ำทำความสะอาดร่างกาย[3]
  6. ผลนำมาถูบริเวณส้นเท้าที่แตก[4]
  7. ใช้ใบ 9 ใบ นำมาวางบนก้อนหินในยุ้งฉางก่อนจะใส่ข้าวเพื่อเก็บ เชื่อว่าจะทำให้ข้าวปลอดภัยจากการทำลายของสัตว์[3]
  8. ลำต้นใช้ทำรั้ว ส่วนกิ่งก้านใช้ทำฟืน[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “มะเหลี่ยมหิน”.  หน้า 185.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ส้มผด”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [31 ต.ค. 2014].
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “มะเหลี่ยมหิน, ส้มผด”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., องค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย เล่ม 3 (สุธรรม อารีกุล, จำรัส อินทร, สุวรรณ ทาเขียว, อ่องเต็ง นันทแก้ว).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :  eherb.hrdi.or.th.  [31 ต.ค. 2014].
  4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ส้มผด”.  อ้างอิงใน : หนังสือพืชสมุนไพร เล่ม 2.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [31 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : en.wikipedia.org, treeflower.la.coocan.jp

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด