มะเร็งเม็ดเลือดขาว
มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า โรคลูคีเมีย หรือ ลิวคีเมีย (Leukemia) คือ มะเร็งที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนในไขกระดูกมีการเจริญแบ่งตัวเร็วผิดปกติและกลายเป็นเซลล์ผิดปกติ (ทำให้ไม่สามารถเจริญเป็นเม็ดเลือดขาวตัวแก่ที่ทำหน้าที่แบบเม็ดเลือดขาวปกติ และมีการแก่ตัวและเซลล์ตายช้ากว่าปกติ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีของปริมาณเม็ดเลือดขาวปกติหรือต่ำกว่าปกติได้) และสามารถแพร่กระจายแทรกซึมไปอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ได้ เช่น ต่อมน้ำเหลือง สมอง ตับ ม้าม อัณฑะ ผิวหนัง กระดูก รวมทั้งแทรกซึมในไขกระดูก ทำลายกระบวนการสร้างเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดในไขกระดูก ก่อให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จนเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ดังนั้น อาการของโรคจึงเกิดจากความผิดปกติของทั้งเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด
มะเร็งเม็ดเลือดขาวจัดเป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงสูงและพบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย ทั่วโลกในปี พ.ศ.2543 พบผู้ป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 256,000 ราย และในจำนวนนี้เสียชีวิตมากถึง 209,000 ราย ส่วนในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2544-2546 พบโรคนี้อยู่ใน 10 ลำดับโรคมะเร็งพบบ่อยทั้งในเพศชาย (4,205 ราย) และเพศหญิง (3,437 ราย)
ชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว
มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีอยู่หลายชนิด โดยหลัก ๆ จะแบ่งออกเป็น
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (Acute leukemia) เป็นชนิดที่เกิดจากเซลล์ตัวอ่อน (Blast cell) มีความรุนแรงสูง ลุกลามเร็ว และมีอาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน รุนแรง และต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเซลล์ไขกระดูกสร้างเซลล์ปกติลดลงอย่างมาก
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (Chronic leukemia) เป็นชนิดที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เริ่มเป็นตัวแก่ มีความรุนแรงน้อย ลุกลามช้า และมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ไขกระดูกยังพอสร้างเม็ดเลือดปกติได้ แต่ในในระยะท้ายของโรคจะมีโอกาสเปลี่ยนเป็นชนิดเฉียบพลันสูง ซึ่งจะส่งผลให้โรครุนแรงมากจนมักเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
แต่หากแบ่งตามชนิดของเซลล์ต้นกำหนดของโรคจะสามารถแบ่งเป็นเซลล์ที่จะเจริญเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) และเซลล์ที่จะเจริญเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดอื่นรวมทั้งเม็ดเลือดแดงและเกล็ดขาว (Myeloid cell / Myelocyte) ดังนั้น มะเร็งเม็ดเลือดขาวจึงแบ่งออกเป็น 4 ชนิดใหญ่ ๆ ซึ่งทุกชนิดสามารถพบได้ในคนทุกวัย แต่อาจพบได้ในเด็กหรือผู้ใหญ่แตกต่างกันไป ดังนี้
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดเอแอลแอล (Acute lymphoblastic leukemia หรือ Acute lymphocytic leukemia หรือ Acute lymphoid leukemia หรือเรียกย่อว่า ALL) เป็นชนิดที่พบได้ในทุกช่วงอายุ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กอายุ 2-5 ปี (พบได้ประมาณ 70-80% ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กทั้งหมด)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดเอเอ็มแอล (Acute myelogenous leukemia หรือ Acute myeloid leukemia หรือเรียกย่อว่า AML) เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด โดยพบได้ประมาณ 15-20% ของผู้ป่วยเด็กทั้งหมดที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือด ซึ่งในช่วงอายุ 4 สัปดาห์แรกหลังคลอด ถ้าพบเด็กเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดก็มักจะพบว่าเป็นชนิดนี้ และจะพบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้จึงพบได้ในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก พบได้สูงในกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และพบในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิง ทั้งนี้ในผู้ใหญ่จะเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดนี้ประมาณ 80-90%
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีแอลแอล (Chronic lymphocytic leukemia หรือเรียกย่อว่า CLL) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ และมีความชุกของโรคมากขึ้นตามอายุ พบได้มากในกลุ่มอายุมากกว่า 55-60 ปี
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีเอ็มแอล (Chronic myelogenous leukemia หรือ Chronic myeloid leukemia หรือ Chronic myelocytic leukemia หรือเรียกย่อว่า CML) เป็นชนิดที่พบได้น้อย พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่จะพบได้บ่อยในผู้ใหญ่ที่มีอายุประมาณ 40-60 ปี มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย (ประมาณ 1.3 ต่อ 1) และในผู้ป่วยเด็กนั้นประมาณ 80% มักพบในเด็กอายุมากกว่า 4 ปี
สาเหตุของมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (จากการศึกษาระบุว่าน่าจะมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน) ซึ่งปัจจัยที่สำคัญจะแบ่งออกได้เป็น 3 ปัจจัยหลัก ๆ คือ
- ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม
- เด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) ซึ่งเป็นโรคผิดปกติทางพันธุกรรม พบว่าจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิด ALL และ AML มากกว่าคนปกติ
- เด็กที่มีความผิดปกติของโครโมโซมบางชนิด โดยเฉพาะโรคทางพันธุกรรมชนิด Bloom’s syndrome และชนิด Fanconi’s anemia พบว่าจะมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิด AML ได้สูงกว่าเด็กปกติ
- ครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิด ALL พบว่าจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าคนทั่วไปประมาณ 2-4 เท่า
- ในฝาแฝดที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิด ALL โดยเฉพาะเมื่อเป็นโรคตั้งแต่อายุยังน้อย พบว่าจะทำให้ฝาแฝดอีกคนหนึ่งมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ประมาณ 25%
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิด CML ประมาณ 90-95% จะตรวจพบว่ามีโครโมโซมที่ผิดปกติ (เรียกว่า “Philadelphia chromosome”) ซึ่งเป็นความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 9 และคู่ที่ 22 ซึ่งส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดปกติกลายเป็นเซลล์ตัวอ่อนมีการเจริญแบ่งตัวเร็วผิดปกติและกลายเป็นเซลล์ผิดปกติ
- ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม
- การมีประวัติได้รับสีไออนไนซ์ (Ionizing radiation) ซึ่งเป็นรังสีที่ใช้ในการตรวจและรักษาในปริมาณสูง เช่น ในเด็กที่รับรังสีรักษาในขณะอยู่ในครรภ์จากการตรวจโรคของมารดา
- การมีประวัติได้รับยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นมาก่อน บางรายก็อาจพบว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเวลาหลายปีต่อมา
- การมีประวัติได้รับสารกัมมันตรังสีในปริมาณที่ไม่ถึงกับทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นกับหน่วยพันธุกรรมของเซลล์ไขกระดูก เมื่อเวลาไปประมาณ 5-10 ปี หรือนานกว่านี้ ความเสียหายบางอย่างอาจขยายตัวขึ้นและทำให้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ เช่น ในผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูหรืออุบัติเหตุจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะพบผู้ป่วยมากขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการใช้ระเบิดปรมาณู
- การสัมผัสสารเคมีที่เป็นพิษบางชนิด โดยเฉพาะสารเบนซิน (Benzene) สารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) เป็นต้น เพราะพบว่าคนกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้สูงกว่าคนทั่วไป
- อาจเกิดจากการได้รับสารเคมีต่าง ๆ ที่เป็นพิษจากสิ่งแวดล้อม ถึงแม้การศึกษายังระบุชนิดได้ไม่ชัดเจน รวมทั้งอาจเกิดจากควันบุหรี่และการสูบบุหรี่
- ปัจจัยจากภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องมาแต่กำเนิด พบว่ามีโอกาสเป็นโรคมะเร็งเลือดขาวเฉียบพลันชนิด ALL ได้สูงกว่าเด็กทั่วไป
- การได้รับยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค พบว่ามีโอกาสเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันได้สูงกว่าเด็กทั่วไป
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชทีแอลวี-1 (Human T-cell lymphotropic virus type 1 หรือเรียกย่อว่า HTLV-1) หรือเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) พบว่ามีโอกาสเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิด ALL ได้สูงกว่าคนปกตื
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายก็สามารถเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้โดยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ เลย
อาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันชนิด ALL และ AML อาการที่พบได้สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มอาการ คือ
- อาการทั่วไป ที่พบได้บ่อยคือ มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ (เป็นได้ทั้งไข้ต่ำและไข้สูง แต่มักเป็นไข้สูง), อ่อนเพลีย, ซีด, เบื่ออาหาร, น้ำหนักตัวลดลง, ปวดกระดูกและข้อ
- อาการที่เกิดจากการทำงานของไขกระดูกผิดปกติ ซึ่งเกิดจากเซลล์มะเร็งไปเบียดบังและขัดขวางการสร้างเม็ดเลือดปกติอื่น ๆ ภายในไขกระดูก คือ
- ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย มักมีไข้สูงเป็น ๆ หาย ๆ บ่อยกว่าคนทั่วไป (เพราะเม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ให้ภูมิคุ้มกันป้องกันโรค)
- ภาวะเม็ดเลือดแดงต่ำ ทำให้เกิดภาวะซีด ทำให้ผู้ป่วยอ่อนเพลีย ซีด เหนื่อยง่าย หน้ามืด เวียนศีรษะ และหัวใจเต้นเร็ว ในบางรายเมื่อมีภาวะซีดมากอาจมีอาการหอบเหนื่อยและหัวใจวายได้
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้มีจ้ำเขียวตามตัว หรือมีเลือดออกผิดปกติที่ผิวหนังเป็นจุดแดงเล็ก ๆ คล้ายจุดที่เกิดในโรคไข้เลือดออกกระจายทั่วตัว หรือมีเลือดออกง่ายตามที่ต่าง ๆ เช่น เลือดออกตามไรฟันหรือเลือดออกบ่อยในขณะแปรงฟัน เลือดกำเดาไหล ถ่ายเป็นเลือด ประจำเดือนออกมากผิดปกติ เป็นต้น (เพราะเกล็ดเลือดมีหน้าที่ช่วยการแข็งตัวของเลือดและป้องกันเลือดออกง่ายผิดปกติ)
- อาการที่เกิดจากเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวแพร่กระจายไปสะสมในระบบน้ำเหลืองของร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลืองโตตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย (เช่น ทำให้ได้ก้อนบวมที่บริเวณลำคอ รักแร้ หรือขาหนี) ตับและม้ามโตจนคลำได้ (ซึ่งปกติจะคลำไม่ได้) ทำให้เกิดอาการแน่นท้อง ปวดท้อง
- อาการที่เกิดจากเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวแพร่กระจายไปสะสมในอวัยวะต่าง ๆ นอกเหนือจากในระบบน้ำเหลือง เช่น
- สมอง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ตากลัวแสง ตาพร่ามัว คอแข็ง ชักกระตุก เดินเซ แขนขาอ่อนแรง หรือในบางรายอาจมีอาการกินมากขึ้น อ้วน และเกิดโรคเบาจืดได้
- เนื้อเยื่อหุ้มสมอง ในเบ้าตา และที่เหงือก ทำให้เกิดก้อนคล้ายก้อนเนื้องอก สามารถพบได้ในทุกอายุ แต่มักพบในผู้ป่วยเด็กเล็ก
- เนื้อเยื่อในช่องอก ทำให้เกิดก้อนเนื้อในช่องอกซึ่งอาจตรวจพบได้จากการเอกซเรย์ปอด หรือในบางรายที่มีอาการ อาจมีอาการหายใจลำบากจากก้อนเนื้อที่มีขนาดใหญ่ซึ่งไปเบียดปอด
- ปอด อาจทำให้มีลักษณะคล้ายกับการอักเสบติดเชื้อของปอด เช่น มีอาการไข้ ไอ หอบเหนื่อย
- ไต ทำให้ไตมีขนาดใหญ่ขึ้นและอาจส่งผลถึงประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง
- ลำไส้ โดยมักพบในลำไส้ใหญ่มากกว่าลำไส้ส่วนอื่น ทำให้ผนังของลำไส้ทะลุ ผู้ป่วยจึงอาจมีเลือดออกในช่องท้องได้ ซึ่งจะทำให้ปวดท้องมากและซีดอย่างรวดเร็ว
- ลูกอัณฑะ ทำให้ลูกอัณฑะโตใหญ่ผิดปกติ แต่มักไม่มีอาการเจ็บปวด
- ผิวหนัง ทำให้เกิดก้อนเนื้อที่ผิวหนัง ซึ่งมักเกิดได้หลายจุดและมีขนาดแตกต่างกันไป ก้อนเนื้ออาจไม่มีสีหรือมีสีม่วงเล็กน้อย สามารถพบได้ในทุกอายุ แต่มักพบในเด็กแรกเกิด (ชนิด AML)
- อนึ่ง อาการสำคัญที่พบได้บ่อยและทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มาพบแพทย์ คือ อาการซีด มีไข้สูง มีจ้ำเขียวตามตัวหรือมีเลือดกำเดาไหลซึ่งหยุดยากจากเกล็ดเลือดต่ำ ปวดกระดูกและข้อจนเดินไม่สะดวก มีก้อนที่คอ ซึ่งอาการเหล่านี้จะมีมาเป็นสัปดาห์หรืออาจเป็นเดือน และอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย คือ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง และท้องโตจากตับและม้ามโต
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังชนิด CML อาการที่พบจะมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะแบ่งอาการออกเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะเรื้อรัง (Chronic phase) เป็นระยะผู้ป่วยจะมีเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งลักษณะของเซลล์จะค่อนข้างใกล้เคียงกับเซลล์เม็ดเลือดขาวปกติ แต่ไขกระดูกยังอาจทำงานได้เกือบปกติ ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการไข้ เหงื่อออกในตอนกลางคืน ซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีจ้ำเขียวตามตัว รู้สึกแน่นท้องหรือปวดท้องเนื่องจากตับและม้ามโต และปวดกระดูกและข้อในผู้ป่วยที่มีเม็ดเลือดขาวจำนวนมาก ผู้ป่วยอาจมีอาการทางสมอง หายใจลำบาก และตามองเห็นได้ไม่ค่อยชัด (เกิดจากการมีเซลล์มะเร็งในสมอง ปอด และ/หรือในลูกตา) ผู้ป่วยจะอยู่ในระยะนี้นานประมาณ 3-5 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษา อนึ่ง อาการที่พบบ่อยของโรคในระยะนี้ คือ อาการไข้ อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลง แน่นท้อง คลำได้ที่ชายโครงซ้าย (ม้ามโต) หรืออาจไม่มีอาการใด ๆ เลยก็ได้ แต่ตรวจเลือดพบว่าเป็นโรคนี้ได้โดยบังเอิญ
- ระยะระหว่างกลาง (Accelerated phase) ในระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหรือเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ก็ได้ เซลล์มะเร็งของผู้ป่วยจะเริ่มเปลี่ยนแปลงจากเซลล์มะเร็งที่มีลักษณะใกล้เคียงเม็ดเลือดขาวปกติไปเป็นเซลล์ตัวอ่อน และเกิดภาวะเม็ดเลือดปกติต่ำ ทั้งเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด ดังนั้น ผู้ป่วยจึงมีอาการต่าง ๆ มากขึ้น คือ มีไข้ เหงื่อออกในตอนกลางคืน ซีด เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง เลือดออกง่าย และติดเชื้อได้ง่าย (ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น เคล็บซิลลา สูโดโมแนส หรือเชื้อไวรัส ที่พบได้บ่อยคือ งูสวัด หรือเชื้อรา เช่น แคนดิดา แอสเปอร์จิลลัส) และมีเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนมากขึ้น นอกจากนั้นโรคอาจแพร่กระจายเข้าสู่สมองได้บ่อย ผู้ป่วยจะอยู่ในระยะนี้ประมาณ 1-1.5 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาเช่นกัน
- ระยะรุนแรง (Blastic phase) เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งจะกลายเป็นเซลล์ตัวอ่อนเกือบทั้งหมด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิด AML คือ โลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ มีเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนจำนวนมากทั้งในเลือดและในไขกระดูก นอกจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการคันและมีผื่นขึ้นตามมา หากผู้ป่วยมีเม็ดเลือดสูงมากกว่า 100,000 ตัวต่อเลือด 1 ลบ.มม. จะทำให้เกิดกลุ่มอาการเม็ดเลือดขาวสูงมาก (Hyperleukocytosis syndrome) ทำให้ไปอุดกั้นในหลอดเลือดในเนื้อเยื่ออวัยวะต่าง ๆ แล้วส่งผลให้เนื้อเยื่อหรืออวัยวะเหล่านั้นสูญเสียการทำงาน เช่น ในสมอง และในไต ผู้ป่วยจึงมักเสียชีวิภายในระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน แม้ว่าจะได้รับการรักษาก็ตาม
การแยกโรค
- อาการเป็นไข้ ซีด และมีจ้ำเขียวตามตัว อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เช่น โรคไข้เลือดออก, โรคโลหิตจางจากภาวะไขกระดูกฝ่อ, ภาวะโลหิตเป็นพิษ เป็นต้น
- อาการมีจุดแดง จ้ำเขียว หรือเลือดออกตามที่ต่าง ๆ เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ถ่ายเป็นเลือด อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การกินยาต้านเกล็ดเลือด, เป็นโรคฮีโมฟิเลีย (เป็นโรคเลือดออกง่ายชนิดหนึ่งที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้) เป็นต้น
- อาการต่อมน้ำเหลืองโต คือ มีก้อนบวมที่บริเวณลำคอ รักแร้ หรือขาหนีบ อาจเกิดจากโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งช่องคอ เป็นต้น
ระยะของมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ไม่มีการจัดระยะของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ยกเว้นชนิด CLL) เหมือนในโรคมะเร็งอื่น ๆ เพราะโรคนี้เป็นโรคที่เกิดในไขกระดูก เมื่อตรวจพบโรคจะแพร่กระจายในไขกระดูกทั่วตัวอยู่แล้ว แต่แพทย์จะแบ่งโรคตามความรุนแรงออกเป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงปานกลางและกลุ่มที่มีความรุนแรงสูง โดยแพทย์จะประเมินจากปัจจัยต่าง ๆ หลายอย่าง เช่น ปริมาณของเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดของผู้ป่วยที่ตรวจในครั้งแรกจากการตรวจเลือดซีบีซี (ถ้าพบผิดปกติมาก ความรุนแรงของโรคก็สูง), ชนิดของเซลล์มะเร็ง (ชนิด AML จะมีความรุนแรงกว่าชนิด ALL), อายุของผู้ป่วย (ในเด็กอ่อนและผู้สูงอายุจะมีความรุนแรงของโรคสูงกว่า), การมีความผิดปกติทางพันธุกรรมร่วมด้วย รวมถึงการมีโรคแพร่กระจายเข้าสู่เนื้อเยื่ออื่น ๆ นอกเหนือจากไขกระดูกหรือไม่ (เช่น ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม สมอง โดยเฉพาะเมื่อแพร่กระจายเข้าสู่สมองจะมีความรุนแรงของโรคสูง)
สำหรับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิด CLL จะแบ่งออกเป็น 5 ระยะ คือ
- ระยะที่ 0 เป็นระยะที่พบแค่เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocyte ในเลือดจำนวนมาก
- ระยะที่ 1 เป็นระยะที่พบเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocyte ในเลือดจำนวนมาก และต่อมน้ำหลืองโตผิดปกติ
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่พบเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocyte ในเลือดจำนวนมาก ตับหรือม้ามโต และต่อมน้ำเหลืองอาจโตผิดปกติ
- ระยะที่ 3 เป็นระยะที่พบเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocyte ในเลือดจำนวนมาก และมีเซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำ ต่อมน้ำเหลือง ตับ หรือม้าม อาจโตผิดปกติ
- ระยะที่ 4 เป็นระยะที่พบเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocyte ในเลือดจำนวนมาก เกล็ดเลือดต่ำ และอาจมีเซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำ ต่อมน้ำเหลือง ตับ หรือม้าม อาจโตผิดปกติ
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยของโรคนี้ ได้แก่ การติดเชื้อแทรกซ้อน และการตกเลือด ส่วนที่เป็นอันตรายร้ายแรงจนถึงชั้นเสียชีวิตได้ก็คือ เลือดออกในสมอง และภาวะโลหิตเป็นพิษ
ในรายที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิด ALL อาจมีต่อมไทมัสโตกดท่อลม (ทำให้หายใจลำบาก) หรือท่อเลือดดำส่วนบน (ทำให้คอและแขนบวม)
ในรายที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิด AML และ Acute promyelocytic leukemia อาจเกิดภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย (Disseminated intravascular coagulation) ซึ่งอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้
ในรายที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิด CLL อาจกลายเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดร้ายแรง หรือมีโรคมะเร็งปอดหรือผิวหนังเกิดขึ้นตามมาได้
การวินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาว
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้จากการตรวจ
- การซักประวัติอาการและการตรวจร่างกาย ซึ่งอาจพบว่าผู้ป่วยมีอาการไข้เรื้อรัง (นานเกิน 1 สัปดาห์) ซีด มีจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว มีเลือดออกตามที่ต่าง ๆ (เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ถ่ายเป็นเลือด ประจำเดือนออกมากผิดปกติ) ตับโต ม้ามโต ต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่ง (บริเวณลำคอ รักแร้ ขาหนีบ)
- การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) มักพบว่าผู้ป่วยมีเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติมาก (อาจพบเป็นหลายหมื่นถึงหลายแสนตัวต่อเลือด 1 ลบ.มม. ซึ่งปกติจะมีอยู่ประมาณ 5,000-10,000 ตัวต่อเลือด 1 ลบ.มม.) หรือต่ำกว่าปกติ นอกจากนี้ยังอาจพบจำนวนเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติด้วย
- การตรวจไขกระดูกทางพยาธิวิทยา (Bone marrow aspiration and biopsy) เป็นการตรวจที่มีความสำคัญและจำเป็น เพราะนอกจากจะเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคได้แล้ว ยังช่วยบอกความรุนแรงของโรคและใช้เป็นข้อบ่งชี้ในการเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยได้
- การตรวจพันธุกรรม เป็นการตรวจเพื่อแยกชนิดย่อยของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิด ALL และบอกถึงความรุนแรงของโรคได้ และยังมีประโยชน์ในการตรวจติดตามผู้ป่วยภายหลังการรักษาได้ด้วย ซึ่งในกรณีนี้แพทย์สามารถใช้ติดตามโรคได้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของพันธุกรรมเท่านั้น
- การตรวจโครโมโซม (สารพันธุกรรม) เพื่อดูความผิดปกติทางโครโมโซม โดยเฉพาะชนิด Philadelphia chromosome ซึ่งพบได้ประมาณ 90-95% ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิด CML
- การเอกซเรย์ปอด เป็นการตรวจเพื่อดูความผิดปกติในช่องอกและปอด ซึ่งอาจพบว่ามีก้อนเนื้อในช่องอกได้
- การเจาะน้ำไขสันหลัง มักทำในผู้ป่วยที่แพทย์สงสัยว่าโรคมีการแพร่กระจายเข้าสู่สมอง และ/หรือไขสันหลัง
- การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ เพื่อดูการทำงานของตับและไต (เพราะผู้ป่วยอาจมีการทำงานของตับหรือไตผิดปกติ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการให้ยาเคมีบำบัด), ดูระดับกรดยูริค (เพราะผู้ป่วยอาจมีระดับกรดยูริคสูงขึ้นได้มาก ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของไต), ดูระดับสารมะเร็งของโรคมะเร็งระบบวิทยา (เช่น แอลดีเอช (LDH) ซึ่งเป็นตัวบอกความรุนแรงของโรค), ดูระดับเกลือแร่ (เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ซึ่งอาจมีระดับของสารเหล่านี้สูงขึ้นและก่อให้เกิดการเสียสมดุลของเกลือแร่จนเป็นอุปสรรคต่อการรักษาได้)
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นการตรวจเพื่อดูสภาพร่างกายทั่วไปก่อนเข้ารับการรักษา เพราะยาเคมีบำบัดบางชนิดมีผลข้างเคียงต่อหัวใจ
การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว
วิธีการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยทั่วไปจะใช้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเป็นหลัก รังสีรักษาและการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด จะเป็นการรักษาเสริมเพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้นหรือหาย ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว การตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด และอายุของผู้ป่วย โดยการรักษานั้นจะประกอบไปด้วย
- การรักษาตามอาการและแก้ไขภาวะแทรกซ้อน เช่น การให้เลือด ให้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพเพื่อรักษาโรคติดเชื้อ เป็นต้น เป็นการรักษาที่มีความสำคัญอย่างมากตั้งแต่ในระยะแรก (โดยเฉพาะในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน) เพราะในช่วงแรกที่ได้รับการวินิจฉัยผู้ป่วยมักมีความผิดปกติหลายอย่าง เช่น มีไข้สูง ซีด อ่อนเพลีย มีเลือดออกผิดปกติ หายใจลำบาก ขาดน้ำ การทำงานของไตผิดปกติ เกิดการติดเชื้อ เป็นต้น แพทย์จึงจำเป็นต้องทำการรักษาภาวะต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อให้ผู้ป่วยมีสภาพร่างกายที่พร้อมก่อนที่จะให้การรักษาโรคต่อไป เพราะการให้ยาเคมีบำบัดในช่วงแรกที่มีภาวะเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลกระทบจากฤทธิ์ของยาได้หลายอย่างและรุนแรง
- การเฝ้าติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด (Watchful waiting) โดยที่ยังไม่ให้การรักษาใด ๆ ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิด CLL ถ้าผู้ป่วยยังไม่มีอาการ
- การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) นอกจากแพทย์จะให้การรักษาตามอาการและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว การรักษาที่จำเป็นและมีผลต่อการควบคุมโรค คือ การให้ยารักษามะเร็งหรือยาเคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกราย (ยกเว้นในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิด CLL ซึ่งอยู่ในระยะแรกที่ยังไม่มีอาการ โรคจะค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ แพทย์จะเลือกให้การรักษาแบบประคับประคองและเฝ้าติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด และจะเริ่มให้ยาเคมีบำบัดเมื่อผู้ป่วยมีอาการชัดเจนแล้วหรือมีการติดเชื้อซ้ำซาก เพราะในขณะที่ยังไม่มีอาการ การให้ยาเคมีบำบัดจะมีผลข้างเคียงซึ่งอาจไม่คุ้มกับประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับ) ซึ่งจะมีทั้งแบบกิน แบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และแบบฉีดเข้าทางน้ำไขสันหลัง ในปัจจุบันมียาเคมีบำบัดอยู่ด้วยกันหลายชนิด ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับชนิดและความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่จะใช้ยาหลายชนิดร่วมกันร่วม นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาอื่น ๆ ร่วมกับยาเคมีบำบัดด้วย เช่น สารภูมิต้านทานกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal antibody), ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดง, ยาสเตียรอยด์อย่างเพรดนิโซโลน (Prednisolone) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด ALL, ยาอินเตอร์เฟอรอน (Interferon) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิด CLL เป็นต้น
- การให้ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) เป็นการรักษาด้วยยาหรือสารอื่นที่สามารถทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งได้โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติ แต่ยายังมีราคาแพงเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงได้ โดยยาที่มีการนำมาใช้ เช่น สารภูมิต้านทานกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal antibody), ยายับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส (Tyrosine kinase inhibitor) เช่น อิมาทินิบ (Imatinib) เป็นต้น สำหรับยายับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส แพทย์จะใช้ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิด CML และตรวจพบ Philadelphia chromosome (เป็นโครโมโซมที่มียีนผิดปกติ เป็นตัวกำหนดการสร้างไทโรซีนไคเนสซึ่งเป็นตัวเร่งการเจริญของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว) ซึ่งยาช่วยในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว ทำให้การรักษาได้ผลดีมากยิ่งขึ้น
- การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Biologic therapy) โดยการใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน (Interferon) วิธีนี้สามารถใช้ได้กับเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (CLL และ CML) ซึ่งยาไปกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดนั่นเอง
- การเปลี่ยนถ่ายพลาสม่า (Leukapheresis) เพื่อลดจำนวนเม็ดเลือดขาวอย่างรวดเร็ว จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงมากหรือมีอาการของเม็ดเลือดขาวอุดตันตามหลอดเลือด (Hyperleukocytosis syndrome)
- การใช้รังสีรักษา (Radiation therapy) แพทย์จะพิจารณาฉายรังสีในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันบางรายที่มีความเสี่ยงในการลุกลามเข้าสู่สมอง และในผู้ป่วยบางรายที่มีก้อนบวมมากเพราะเซลล์มะเร็งสะสม เช่น ตับโต ม้ามโต ก้อนที่อัณฑะ ต่อมน้ำเหลืองโต
- การปลูกถ่ายไขกระดูกหรือปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Bone marrow/Stem cell transplantation) โดยใช้ไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดของผู้บริจาค (Allogeneic bone marrow/stem cell transplantation) หรืออาจใช้ไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิดของผู้ป่วยเอง (Autologous bone marrow/stem cell transplantation) ซึ่งแพทย์จะทำการเก็บไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิดในขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในระยะโรคสงบ (Remission) ไว้ใช้ในภายหลัง (ปัจจุบันนิยมทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดมากกว่าไขกระดูก เพราะใช้เวลาฟื้นตัวสั้นกว่าและมีการติดเชื้อน้อยกว่า) การรักษาด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวหรือหายขาดจากโรคได้ แต่แพทย์อาจพิจารณทำในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคสูง และในผู้ป่วยที่เกิดโรคกลับเป็นซ้ำ (Relapse) หลังจากให้ยาเคมีบำบัดจนโรคสงบไปสักระยะหนึ่งแล้ว
- การผ่าตัด เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคของไขกระดูกซึ่งเป็นทั่วตัว ดังนั้นจึงไม่สามารถทำการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งชนิดนี้ได้
การดูแลตนเองของผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- ดูแลสุขอนามัยให้ดี การดูแลสุขอนามัยส่วนตัวเป็นเรื่องแรกที่ควรให้ความสำคัญ เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะติดเชื้อได้ง่าย
- ดูแลรักษาความสะอาดส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้ดี โดยเฉพาะสุขภาพในช่องปากและฟันที่เป็นช่องทางที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ผู้ป่วยควรเลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่มเป็นพิเศษเพื่อลดการเกิดแผลและการติดเชื้อใ่องปาก
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เน้นผักผลไม้ให้มาก ๆ อย่างหลากหลาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องผูกที่อาจทำให้เกิดแผลที่ทวารซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งของการติดเชื้อ
- ดื่มน้ำสะอาดวันละมาก ๆ การดื่มน้ำวันละมาก ๆ ก็ช่วยให้ขับถ่ายได้ดีขึ้นเช่นกัน
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง อย่าให้มีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น
- ไม่ซื้อยาทุกชนิดมารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
- เนื่องจากการดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะเหมือนกับโรคมะเร็งอื่น ๆ ซึ่งจะขอกล่าวถึงต่อไปอย่างละเอียดในเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง
ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว
ผลข้างเคียงจะขึ้นอยู่กับวิธีการรักษา และผลข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อใช้หลายวิธีร่วมกัน และ/หรือผู้ป่วยเป็นเด็กทารก ผู้สูงอายุ มีสุขภาพไม่ดี สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง (เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคภูมิต้านตนเอง)
- ยาเคมีบำบัด ผลข้างเคียงที่พบได้ คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผมร่วง ภาวะซีด เป็นหมัน การทำงานของตับผิดปกติ การติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ และการมีเลือดออกง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- ยารักษาตรงเป้า ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ ปวดศีรษะ ปวดตามตัว คลื่นไส้ มีผื่นขึ้น เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำ มีความผิดปกติในการทำงานของตับ ยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดสิวทั่วตัว หรือบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย เมื่อเกิดบาดแผลจะทำให้แผลต่าง ๆ ติดยาก และอาจเป็นสาเหตุทำให้ผนังลำไส้ทะลุได้
- รังสีรักษา ผลข้างเคียงที่พบได้ คือ ผลข้างเคียงต่อผิวหนังตรงส่วนที่ได้รับการฉายรังสี และผลข้างเคียงต่อเนื้อเยื่อเฉพาะส่วนที่ได้รับการฉายรังสี เช่น ขนหรือผมจะร่วง ผิวบริเวณดังกล่าวจะแห้งและคัน เป็นต้น ซึ่งในโรคนี้มักจะเป็นฉายรังสีบริเวณสมองเพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระไปสู่สมอง
- การปลูกถ่ายไขกระดูก ผลข้างเคียงที่พบได้ คือ เกิดการติดเชื้อรุนแรง, ร่างกายปฏิเสธไขกระดูกจากผู้อื่น (ปลูกถ่ายแล้วแต่ไขกระดูกไม่ติด ร่างกายไม่ยอมรับ), ไขกระดูกผู้อื่นปฏิเสธร่างกายเราเองแล้วก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ, เกิดการอักเสบเรื้อรังของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ตับ และปอด
- อื่น ๆ นอกจากนั้นยังอาจมีผลข้างเคียงในระยะยาวได้ หากผู้ป่วยรอดชีวิตและอยู่ได้นานมากขึ้นหลายปี เช่น ระดับสติปัญญาต่ำลง มีอารมณ์แปรปรวน (ผลจากการฉายรังสีที่บริเวณสมองและจากการให้ยาเคมีบำบัดทางน้ำไขสันหลัง), อาจตัวเตี้ยกว่าปกติหรืออาจเกิดโรคอ้วน, มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งชนิดใหม่อีกชนิด (เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว เนื้องอกของสมอง) เป็นต้น
ผลการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว
ผลการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง อายุของผู้ป่วย ปริมาณของเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดที่ตรวจครั้งแรก และความผิดปกติทางพันธุกรรม ดังนี้
- สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิด ALL ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ (มักไม่เกิน 3-4 เดือน) เนื่องจากเกิดภาวะไขกระดูกล้มเหลวแล้วทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรง และ/หรือมีเลือดออกรุนแรงในอวัยวะที่สำคัญ โดยผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะมีโอกาสเข้าสู่ภาวะโรคสงบ (อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี) ประมาณ 70-85% และในผู้ป่วยผู้ใหญ่ประมาณ 20-50% (ผู้ใหญ่จะรุนแรงกว่าในเด็ก) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุ 3-7 ปี ที่มักจะตอบสนองต่อการรักษาได้ดีที่สุด ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และในผู้ใหญ่อาจเกิดโรคกลับเป็นซ้ำ (Relapse) แพทย์จำเป็นต้องให้ยาเคมีบำบัด รังสีรักษา และอาจต้องทำการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิด
- สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิด AML ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ เนื่องจากเกิดภาวะไขกระดูกล้มเหลวแล้วทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรง และ/หรือมีเลือดออกรุนแรงในอวัยวะที่สำคัญ ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม หากเป็นผู้ป่วยในกลุ่มที่มีความรุนแรงปานกลาง พบว่าประมาณ 70-80% ของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะรอดชีวิตและปลอดจากโรคได้นานถึง 5 ปี แต่หากเป็นผู้ป่วยในกลุ่มที่มีความรุนแรงสูง พบว่าน้อยกว่า 45% ของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะรอดชีวิตหรือปลอดจากโรคได้นานถึง 5 ปี ส่วนผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี หรือเป็นโรคชนิดนี้หลังจากได้รับยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาในการรักษาโรคมะเร็งอื่น ๆ มาก่อน ผลการรักษามักจะไม่สู้ดีนัก
- สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิด CLL ถ้าตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรกก็มักจะมีชีวิตอยู่ได้นานเกิน 10-20 ปี โดยผู้ป่วยสามารถทำงานและเรียนหนังสือได้ตามปกติ แต่ถ้าพบในระยะท้าย ๆ ก็อาจมีชีวิตอยู่ได้นาน 3-4 ปี
- สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิด CML เมื่อได้รับการรักษามักจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 3-5 ปีนับจากการวินิจฉัยโรค (อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ประมาณ 40-80%) ซึ่งความแตกต่างในอัตราการรอดชีวิตนี้จะขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาที่ใช้ในการรักษาควบคุมโรคระยะเรื้อรัง ถ้าควบคุมโรคในระยะนี้ได้ดี โอกาสรอดชีวิตก็จะสูงขึ้น เพราะผู้ป่วยจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่เดือนถ้าโรคผ่านจะระยะเรื้อรังเข้าสู่ระยะระหว่างกลางและระยะรุนแรง นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยด้วย ส่วนผู้ป่วยที่ตรวจพบ Philadelphia chromosome ผลการรักษามักดีกว่าผู้ป่วยที่ไม่พบโครโมโซมชนิดนี้ และประมาณ 60% ของผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิดจะหายจากโรคนี้ได้ ส่วนในรายที่กลายเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิด AML ถ้าไม่ได้รักษาก็มักจะเสียชีวิตภายใน 2 เดือน แต่ถ้ารักษาก็อยู่ได้ประมาณ 8-12 เดือน
การป้องกันมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคนี้ เนื่องจากเรายังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค แต่มีคำแนะนำและวิธีที่อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคนี้ได้บ้าง คือ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีที่เป็นพิษ โดยเฉพาะกลุ่มของเบนซีน สารฟอร์มาลดีไฮด์ สารกัมมันตรังสีชนิดต่าง ๆ รวมถึงควันบุหรี่และการสูบบุหรี่
- ลดหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารปรุงแต่งมากเกินไป เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารที่มีการดัดแปลงมีสารเคมี เป็นต้น เพราะมีการศึกษาและก็พบว่ามีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็ง ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวอย่างเดียว โรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ ก็มีอุบัติการณ์สูงขึ้นด้วย ถ้าหากเราลดของพวกนี้ได้ก็จะลดปัจจัยการส่งเสริมมะเร็งได้
- ในปัจจุบันสมาคมโรคมะเร็งแห่งอเมริกาได้แนะนำว่า คนทั่วไปควรรับประทานอาหารที่มีผลและผลไม้อย่างน้อยวันละ 5 สุ่ม ซึ่งจะช่วยลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งได้ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็งชนิดใดก็ตาม
- หากมีอาการที่น่าสงสัยว่าเป็นโรคนี้ เช่น มีไข้เรื้อรังนานเกิน 1 สัปดาห์ ซีด มีจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว หรือมีเลือดออกผิดปกติตามที่ต่าง ๆ (เช่น มีเลือดกำเดาไหลซึ่งหยุดยาก เลือดออกตามไรฟัน ถ่ายเป็นเลือด) คลำได้ก้อนบวมที่บริเวณลำคอ รักแร้ หรือขาหนีบ เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
- หากพบว่าเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวก็ควรติดตามการรักษากับแพทย์อย่างอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพราะในปัจจุบันทางการแพทย์ได้มีการพัฒนาวิธีการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิดที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้นหรือบางรายอาจหายขาดจากโรคได้ เพียงแต่ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และอดทนต่อผลข้างเคียงจากการบำบัดรักษาที่อาจเกิดขึ้น (เช่น ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร) ซึ่งมักจะเป็นเพียงชั่วคราว อย่าทิ้งการรักษาของทางโรงพยาบาลโดยพลการหรือหันไปใช้วิธีการรักษาทางอื่นโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่อาจทำให้เสียชีวิต
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวไม่ใช่โรคติดต่อหรือเป็นโรคทางพันธุกรรม ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือเป็นญาติพี่น้องกับผู้ป่วยไม่ควรกังวลหรือกลัวว่าจะติดโรคนี้จากผู้ป่วย
การตรวจคัดกรองมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ การหมั่นสังเกตตนเองอยู่เสมอ รวมทั้งสังเกตบุตรหลาน และรีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวเกิดขึ้น เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 735-738.
- National Cancer Institute. “Leukemia”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.cancer.gov. [24 พ.ค. 2017].
- หาหมอดอทคอม. “มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [26 พ.ค. 2017].
- หาหมอดอทคอม. “มะเร็งเม็ดเลือดขาว”. (พญ.ชลศณีย์ คล้ายทอง). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [27 พ.ค. 2017].
- สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว”. (ผศ.นพ.นพดล ศิริธนารัตนกุล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [25 พ.ค. 2017].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)