มะเร็งเต้านม (Breast cancer) อาการ & การรักษาโรคมะเร็งเต้านม 6 วิธี !

มะเร็งเต้านม (Breast cancer) อาการ & การรักษาโรคมะเร็งเต้านม 6 วิธี !

มะเร็งเต้านม

โรคมะเร็งเต้านม (Breast cancer) เป็นโรคมะเร็งที่มีความสัมพันธ์กับการมีระดับเอสโตรเจนในเลือดสูงเป็นเวลานาน โดยเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับที่ 1-2 ของโรคมะเร็งที่พบได้ในผู้หญิง จะเริ่มพบได้ตั้งแต่วัยสาวเป็นต้นไป และจะพบได้มากขึ้นตามอายุ ส่วนมากจะพบในหญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี

  • มะเร็งชนิดนี้เป็นโรคมะเร็งของผู้ใหญ่ เพราะจะพบได้สูงขึ้นตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป และมีเพียงประมาณ 5% เท่านั้นที่พบได้ในอายุต่ำกว่า 40 ปี[2]
  • มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้เป็นอันดับ 2 ของโรคมะเร็งที่พบได้ในผู้หญิง โดยคิดเป็นประมาณ 16% ของโรคมะเร็งในผู้หญิงทั้งหมด[2]
  • อัตราการเกิดโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละเชื้อชาติและภูมิประเทศ โดยมีรายงานว่าในภูมิภาคเอเชียจะพบได้ประมาณ 18-26 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน, ในภูมิภาคแอฟริกาพบได้ประมาณ 22-28 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน, ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้พบได้ประมาณ 42 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน, ในทวีปยุโรปพบได้ประมาณ 49-78 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน และในอเมริกาเหนือพบได้ประมาณ 90 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ส่วนในประเทศจากรายงานเมื่อปี พ.ศ. 2544 – 2546 พบว่าผู้หญิงเป็นโรคมะเร็งเต้านมประมาณ 20.9 คน และในผู้ชายประมาณ 0.3 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน[2] (ส่วนรายงานล่าสุดในปี พ.ศ. 2553-2555 พบอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งเต้านมมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งในหญิงไทย โดยคิดเป็น 28.6 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน มีอัตราการเสียชีวิตและอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง)
  • มะเร็งชนิดนี้จะพบได้ในผู้ชายน้อยกว่าผู้หญิงเป็น 100 เท่า ซึ่งข้อมูลในการรักษามะเร็งเต้านมของผู้ชายนั้นยังมีอยู่น้อยมาก เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้น้อย ในทางการแพทย์จึงอนุโลมให้ใช้วิธีการดูแลรักษาเช่นเดียวกับผู้หญิง[2]

สาเหตุของมะเร็งเต้านม

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม (โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมในผู้ชาย) โดยพบว่าร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยมีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ในผู้หญิงมีอยู่หลายปัจจัย ได้แก่

  1. อายุที่มากขึ้น ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดต่อการเป็นมะเร็งเต้านม (สาเหตุรองลงมาคือ ข้อ 2-8 ส่วนข้ออื่น ๆ ถือเป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น) โดยจะพบผู้ป่วยเป็นโรคนี้ได้สูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึง 50-60%[3]
  2. เคยผ่าตัดก้อนเนื้อที่เต้านม และพบว่าเป็นซีสต์เต้านมชนิดที่เริ่มผิดปกติ (Atypia)
  3. พันธุกรรม มีประวัติว่าคนในครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ (มารดาหรือพี่น้องท้องเดียวกัน) จะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้สูงกว่า (ถ้ามีญาติเป็นมะเร็งเต้านมก่อนวัยหมดประจำเดือน ยิ่งมากคนก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น)
  4. เชื้อชาติ โดยพบโรคนี้ในคนเชื้อชาติตะวันตกมากกว่าเชื้อชาติเอเชีย
  5. มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน โดยผู้ป่วยที่เกิดมะเร็งเต้านมขึ้นที่ข้างใดข้างหนึ่งจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านมขึ้นที่อีกข้างหนึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 เท่า
  6. มีประวัติการเป็นมะเร็งรังไข่ เนื่องจากมะเร็งรังไข่มีความเกี่ยวข้องกับการสัมผัสฮอร์โมน จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้
  7. มีโรคก้อนเนื้อบางชนิดของเต้านม
  8. การกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
  9. การเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากพบโรคนี้ได้สูงขึ้นในหญิงที่มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี
  10. การมีภาวะหมดประจำเดือนช้า หรือหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี
  11. การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดตั้งแต่อายุยังน้อยและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน (เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ก่อนวัยหมดประจำเดือน)
  12. การมีลูกคนแรกหลังอายุ 30 ปี[1]
  13. การไม่มีลูกหรือมีลูกยาก[3]
  14. การใช้ยากลุ่มฮอร์โมนทดแทนหลังวัยหมดประจำเดือนนานเกิน 4 ปี[1] (ส่วนอีกข้อมูลว่านานเกิน 10 ปี[3])
  15. มีภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือภาวะอ้วนที่เกิดภายหลังวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว[2] เพราะถึงแม้ว่ารังไข่จะหยุดการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้ว แต่ก็พบว่ายังมีปริมาณฮอร์โมนอยู่ในระดับต่ำที่ถูกสร้างจากเนื้อเยื่อไขมันในร่างกาย ดังนั้นถ้าหากมีภาวะอ้วนก็จะทำให้ร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยง ส่วนภาวะอ้วนในผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนนั้นจะไม่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยง แต่กลับกันความอ้วนอาจช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนได้อีกด้วย[4]
  16. ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  17. การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงอย่างต่อเนื่อง
  18. การสูบบุหรี่
  19. การดื่มแอลกอฮอล์จัด
  20. การได้รับรังสีในปริมาณสูงตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยสาว

อาการของมะเร็งเต้านม

ในระยะแรกมักมีอาการไม่ชัดเจน ต่อมาผู้ป่วยจะคลำได้ก้อนที่เต้านม (มักเกิดขึ้นเพียงข้างเดียว ส่วนโอกาสที่จะเกิดทั้งสองข้างมีเพียง 5%) ก้อนที่เป็นมะเร็งเต้านมมักจะมีลักษณะแข็งและขรุขระ แต่อาจจะเป็นก้อนเรียบ ๆ ก็ได้ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บหรือปวด แต่จะมีเพียง 10% ของผู้ป่วยเท่านั้นที่มีอาการปวดเต้านม

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้แก่ หัวนมบุ๋ม (จากเดิมที่ปกติ) เต้านมใหญ่ขึ้นหรือรูปทรงของเต้านมผิดปกติไปจากเดิม ผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม ผิวหนังที่เต้านมมีผื่น แดง ร้อน และขรุขระคล้ายผิวส้ม อาจมีแผลที่หัวนมและรอบหัวนม หรือมีน้ำเหลืองหรือน้ำเลือดไหลออกจากหัวนม ในบางรายอาจคลำพบก้อนบริเวณรักแร้ และนาน ๆ ครั้งอาจพบมะเร็งเต้านมที่มีอาการบวมแดงคล้ายการอักเสบที่เต้านม

อาการของโรคมะเร็งเต้านม

ในบรรดาก้อนที่เต้านมจะมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ ซีสต์เต้านม, เนื้องอกเต้านม และมะเร็งเต้านม โดยผู้ที่เป็นซีสต์เต้านมมักจะมีอาการเจ็บที่ก้อน ซึ่งผิดกับกลุ่มเนื้องอกหรือมะเร็ง ซึ่งมักจะไม่มีอาการเจ็บหรือปวด จึงทำให้ “ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดคิดว่าก้อนที่ไม่เจ็บคงไม่เป็นอะไร และปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งก้อนมะเร็งนั้นใหญ่โตขึ้นมากแล้วมารู้สึกเจ็บภายหลัง”

ลักษณะมะเร็งเต้านม

ระยะของโรคมะเร็งเต้านม

โรคมะเร็งเต้านมทั้งในผู้หญิงและผู้ชายจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะด้วยกันเช่นเดียวกับโรคมะเร็งทั่วไป[2],[4] ดังนี้

  • ระยะที่ 0 เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็กและเซลล์มะเร็งยังอยู่เฉพาะในชั้นผิวของเนื้อเยื่อเต้านม ในระยะนี้หากทำการรักษาอย่างถูกต้องจะมีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี สูงถึง 95-100% (ในระยะนี้ยังไม่จัดว่าเป็นโรคมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะโรคยังไม่มีการรุกรานใด ๆ)
  • ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งที่เต้านมยังมีขนาดเล็กไม่เกิน 2 เซนติเมตร ยังไม่ลุกลามเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ (ระยะที่ 1A – Stage IA) หรือเป็นระยะที่มะเร็งได้ลุกลามเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ (เป็นเซลล์มะเร็งกลุ่มเล็ก ๆ) และยังไม่พบก้อนมะเร็งที่เต้านมหรือพบก้อนมะเร็งที่เต้านม แต่ยังขนาดเล็กไม่เกิน 2 เซนติเมตร (ระยะที่ 1B – Stage IB) ในระยะนี้หากทำการรักษาอย่างถูกต้องจะมีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี สูงถึง 90-100%
    อาการเริ่มต้นมะเร็งเต้านม
  • ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ 1-3 ต่อม แต่ยังไม่พบก้อนมะเร็งที่เต้านม หรือเป็นระยะที่ก้อนมะเร็งที่เต้านมยังมีขนาดเล็กไม่เกิน 2 เซนติเมตร แต่มะเร็งมีการลุกลามเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ 1-3 ต่อม หรือเป็นระยะที่ก้อนมะเร็งที่เต้านมมีขนาดโตกว่า 2 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 5 เซนติเมตร ที่ยังไม่ลุกลามเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ในระยะนี้หากทำการรักษาอย่างถูกต้องจะมีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี ประมาณ 85-90%
    มะเร็งเต้านมระยะที่2
  • ระยะที่ 3 ในระยะนี้หากทำการรักษาอย่างถูกต้องจะมีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีอยู่ที่ประมาณ 65-70% โดยจะแบ่งออกเป็น 3 แบบดังนี้
    • ระยะที่ 3A (Stage IIIA) : เป็นระยะที่ยังไม่พบก้อนมะเร็งที่เต้านมหรือพบก้อนมะเร็งที่เต้านมขนาดใดก็ได้ และมะเร็งได้ลุกลามเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ 4-9 ต่อม หรือพบก้อนมะเร็งที่เต้านมขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร และมะเร็งได้ลุกลามเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ (เป็นเซลล์มะเร็งกลุ่มเล็ก ๆ) หรือลุกลามเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ 1-3 ต่อม
      มะเร็งเต้านมระยะที่3
    • ระยะที่ 3B (Stage IIIB) : เป็นระยะที่พบก้อนมะเร็งที่เต้านมมีขนาดใดก็ได้ และโรคมะเร็งได้ลุกลามไปยังผนังหน้าอกและ/หรือผิวหนังของเต้านมจนก่อให้เกิดอาการบวม และอาจลุกลามเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้หรือต่อมน้ำเหลืองใกล้กับกระดูกหน้าอกจนถึง 9 ต่อม
      ระยะมะเร็งเต้านม
    • ระยะที่ 3C (Stage IIIC) : เป็นระยะที่ยังไม่พบก้อนมะเร็งที่เต้านมหรือพบก้อนมะเร็งที่เต้านมขนาดใดก็ได้ และมะเร็งได้ลุกลามเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้มากกว่า 10 ต่อม หรือลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองที่ไหปลาร้า หรือลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้และต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้กับกระดูกหน้าอก
      รูปมะเร็งเต้านม
  • ระยะที่ 4 เป็นระยะที่มะเร็งได้แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดและอวัยวะอื่น ๆ ที่พบได้บ่อยคือ ปอด สมอง ตับ กระดูก และไขกระดูก ซึ่งโรคในระยะนี้มักจะไม่หายขาด โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1-3 ปี โดยขึ้นอยู่กับอวัยวะที่มีโรคแพร่กระจาย ส่วนอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี จะอยู่ที่ประมาณ 0-20%
    มะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย

การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง

เป็นการตรวจหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นด้วยวิธีการง่าย ๆ ด้วยตัวเองเป็นประจำทุกเดือน สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ก่อนการตรวจคุณจะต้องทราบก่อนว่าขนาดและลักษณะของเต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะบางคนจะมีขนาดโตมากขึ้นและแข็งมากขึ้นก่อนมีประจำเดือน หรือบางคนเต้านมจะแข็งตลอดเวลาที่มีประจำเดือน และพอหลังเข้าสู่ช่วงวัยทองขนาดของเต้านมก็จะเล็กลง ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่อาการที่ผิดปกติแต่อย่างใด

ดังนั้น ช่วงเวลาในการตรวจเต้านมที่ดีที่สุดจึงควรเป็นช่วง 5-7 วันหลังการมีประจำเดือนวันสุดท้าย เพราะในช่วงนี้เต้านมจะอ่อนนุ่มมากที่สุด ทำให้คลำเจอก้อนที่มีขนาดเล็กได้โดยง่าย แต่สำหรับผู้หญิงวัยทองหรือผู้ที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกไปนั้นสามารถตรวจได้ตามสะดวก แต่แนะนำว่าให้กำหนดวันที่แน่นอนสำหรับการตรวจเป็นประจำทุกเดือนเพื่อง่ายต่อการจดจำ (เช่น ตรวจทุกวันที่ 1 ของเดือน เป็นต้น) ส่วนวิธีการตรวจมีดังนี้[6]

  • การดูเต้านมหน้ากระจก ให้ยืนตัวตรงมือแนบลำตัว แล้วสังเกตลักษณะของเต้านมทั้ง 2 ข้างอย่างละเอียด เปรียบเทียบดูขนาด รูปร่างของหัวนม และการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังทุกส่วนของเต้านม เช่น รอยนูนขึ้นผิดปกติ รอยบุ๋ม หัวนมบอด ระดับของหัวนมไม่เท่ากัน มีแผลหรือมีเส้นเลือดใต้ผิวมากขึ้นผิดปกติ
    ลักษณะของมะเร็งเต้านมโดยการสังเกตนั้นให้ทำการเปรียบเทียบเต้านมทั้ง 2 ข้างว่าแตกต่างไปจากเดิมหรือผิดไปจากอีกข้างหรือไม่ (เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเพียงข้างเดียว) แล้วทำการหันตัวเล็กน้อยเพื่อให้มองได้เห็นด้านข้างของเต้านมได้ชัดเจนขึ้น แล้วสังเกตการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน จากนั้นให้ยกมือขึ้นทั้งสองข้าง เพื่อสังเกตดูความผิดปกติของรอยบุ๋มของผิวหนังบริเวณเต้านมที่เกิดจากการดึงรั้ง เพราะในรายที่เป็นมะเร็งอาจจะมีการดึงรั้งของเนื้อเยื่อและทำให้เกิดรอยบุ๋มได้ ต่อมาให้เอามือเท้าสะเอวเพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าอกตึงตัว แล้วโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อสังเกตรอยดึงรั้งของผิวหนัง เมื่อไม่พบความผิดปกติจากการสังเกตที่เต้านมแล้ว ให้ทำในขั้นตอนถัดไป
    ตรวจมะเร็งเต้านม
  • การคลำเต้านมในท่านั่ง ให้ตรวจให้ทั่วพื้นที่ของบริเวณเต้านมโดยรอบ โดยการใช้ด้านฝ่ามือของนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง (บริเวณที่ค่อนไปทางปลายนิ้ว เพราะเป็นตำแหน่งที่ไวต่อการสัมผัส) การคลำเต้านมให้คลำในลักษณะคลึงเป็นก้นหอยเล็ก ๆ ไปตามเต้านม เนื่องจากตำแหน่งของเต้านมที่อยู่บนผนังหน้าอกเป็นตำแหน่งที่สามารถตรวจพบก้อนมะเร็งเต้านมได้ ต่อมาให้สังเกตความผิดปกติว่ามีของเหลวหรือเลือดออกมาจากหัวนมในขณะที่กดบริเวณปานนมหรือไม่ (การบีบบริเวณหัวนมควรทำอย่างเบามือ เพราะถ้ามีความผิดปกติจริงจะพบว่ามีน้ำหรือเลือดออกจากหัวนมเมื่อมีการกดได้โดยไม่ต้องบีบเค้น) จากนั้นให้ใช้นิ้วมือคลำบริเวณเต้านมส่วนที่อยู่ใต้รักแร้ว่ามีก้อนหรือต่อมน้ำเหลืองที่โตผิดปกติหรือไม่ (ให้ห้อยแขนลงมาเพื่อให้กล้ามอกหย่อนลง จะได้คลำรักแร้ได้อย่างชัดเจน)
    การตรวจเต้านมด้วยตนเอง
  • การคลำเต้านมในท่านอน ต่อจากท่านั่งให้ใช้หมอนหรือผ้าห่มหนุนตรงสะบักหลัง เพื่อให้หน้าอกด้านหน้าแอ่นขึ้น ยกแขนหนุนศีรษะ แล้วใช้ฝ่ามือด้านตรงข้ามคลำตรวจเต้านมทีละข้าง (เช่น ถ้าจะคลำเต้านมซ้ายก็ให้ใช้มือขวาคลำ) ส่วนวิธีการคลำนั้นให้ใช้นิ้วมือ 3 นิ้ว คลำในลักษณะคลึงวนเป็นก้นหอยเล็ก ๆ บริเวณเต้านมให้ทั่ว (ให้ไล่จากด้านนอกเข้ามายังหัวนม จะคลำตามเข็มหรือทวนเข็มนาฬิกาก็ได้) ในระดับความแรง 3 ระดับ คือ ระดับตื้นลงไปจากผิวหนังเล็กน้อย ระดับลึกลงไปอีก และระดับที่ลึกถึงผนังหน้าอก แล้วสังเกตดูว่ามีก้อนอะไรดันอยู่หรือสะดุดใต้ฝ่ามือหรือไม่ (มะเร็งของเต้านมมักจะพบได้ที่ส่วนบนด้านนอกของเต้านมมากกว่าส่วนอื่น ๆ ดังนั้น จึงควรสังเกตดูบริเวณนี้ให้ละเอียด) สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้วิธีนอนตะแคงโดยเอาด้านข้างของลำตัวด้านนั้นให้สูงขึ้น เพื่อที่จะคลำด้านข้างได้ชัดเจน เนื่องจากเนื้อของเต้านมจะไปกองอยู่ที่บริเวณด้านข้างจนทำให้คลำได้ยาก หรือจะใช้วิธีคลำลงล่างและขึ้นบนไปมาจนทั่วบริเวณ แล้วนอนหงายเพื่อคลำด้านในให้ทั่วเช่นเดียวกัน
    ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง

การวินิจฉัยมะเร็งเต้านม

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชายได้โดยดูจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว ประวัติการกินยาต่าง ๆ การตรวจร่างกาย การตรวจคลำเต้านม การตรวจภาพรังสีเต้านม (Mammogram – แมมโมแกรม) และอาจร่วมกับการตรวจอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) แต่ที่จะให้ผลแน่นอนที่สุดคือ การเจาะ ดูดเซลล์ หรือตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางเซลล์วิทยาหรือทางพยาธิวิทยา

ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมแพทย์อาจให้ตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะต่าง ๆ (เช่น ตับ ปอด กระดูก ด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์ตับ เอกซเรย์ปอด และตรวจสแกนกระดูก) และเพื่อดูว่ามะเร็งมีการตอบสนองต่อฮอร์โมนหรือไม่ด้วย ซึ่งการตรวจเหล่านี้จะมีความสำคัญอย่างมากต่อการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม

สำหรับการตรวจเลือดและยีน (Gene) เพื่อหามะเร็งเต้านมนั้นไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก เพราะการตรวจเลือดเพื่อหามะเร็งเต้านมจะมีความแม่นยำต่ำ ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมจะพบผลการตรวจเลือดเกี่ยวกับมะเร็ง เช่น CA153, CEA ผิดปกติน้อยกว่า 20% ในขณะเดียวกันผู้ที่มีผลเลือดปกติก็อาจจะเป็นมะเร็งเต้านมอยู่แล้วก็ได้ ส่วนการตรวจยีน เช่น gene BRCA1, BRCA2 ซึ่งจะมีความผิดปกติในมะเร็งเต้านมที่เป็นกันทั้งครอบครัว หากตรวจพบก็ไม่ได้หมายความว่ากำลังเป็นมะเร็งอยู่ เพียงแต่จะทำให้รู้ว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งได้มากกว่าคนทั่วไป และยีนดังกล่าวก็พบได้เพียง 5-10% ของผู้ป่วยทั้งหมดที่เป็นมะเร็งเต้านมเท่านั้น เมื่อตรวจแล้วพบว่าปกติก็ยังมีสิทธิ์เป็นมะเร็งเต้านมอยู่ไม่น้อย

วิธีรักษามะเร็งเต้านม

แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเต้านม โดยอาจตัดเต้านมออกเพียงบางส่วนหรือตัดออกทั้งหมด (ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อ ขนาดของเต้านมผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์) พร้อมกับเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก นอกจากนี้แพทย์จะให้การรักษาเสริมด้วยรังสีรักษา ยาเคมีบำบัด ยาฮอร์โมนบำบัด (โดยให้กินยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านม) และยารักษาตรงเป้าหรือยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted therapy) โดยทั้งยาฮอร์โมนและยารักษาตรงเป้านั้นจะใช้รักษาเฉพาะผู้ป่วยที่เซลล์มะเร็งเป็นชนิดตอบสนองต่อยาเท่านั้น ซึ่งแพทย์สามารถทราบได้จากการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนมะเร็งไปตรวจทางพยาธิวิทยา

  • การผ่าตัดเต้านมมีทั้งแบบเก็บเต้านมไว้ (มักต้องรักษาร่วมกับรังสีบำบัด) และแบบผ่าตัดเต้านม
  • วิธีการรักษามะเร็งเต้านมในผู้ชายจะทำเช่นเดียวกับการรักษามะเร็งเต้านมในผู้หญิง
  • แนวทางการรักษาโรคมะเร็งเต้านมมักจะใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ระยะของโรคและการกระจายของมะเร็ง ขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อ ผลชิ้นเนื้อภายหลังการผ่าตัด อายุและสุขภาพของผู้ป่วย ภาวะก่อนหรือหลังหมดประจำเดือน และดุลยพินิจของแพทย์
  • ผลการรักษาส่วนใหญ่จะได้ผลดี ถ้าเป็นระยะแรกมักจะมีชีวิตอยู่ได้นานตามปกติหรือหายขาด แต่ถ้าเป็นในระยะแพร่กระจายไปทั่วร่างกายแล้ว ก็มักจะได้ผลไม่สู้ดีนัก ดังนั้นโอกาสในการรักษาให้หายขาดจึงขึ้นอยู่กับระยะของโรคเป็นหลัก และรวมไปถึงการตอบสนองต่อการใช้ยา อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย

ส่วนวิธีการดูแลตนเองของผู้ป่วยมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิด รวมไปถึงมะเร็งเต้านมนั้น โปรดติดตามได้ในบทความต่อไปครับ

ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งเต้านม

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคนี้จะขึ้นอยู่กับวิธีที่ใช้ในการรักษา ได้แก่

  • ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เช่น การเสียเลือด, แผลผ่าตัดติดเชื้อ, การสูญเสียเนื้อเยื่อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • ผลข้างเคียงจากการใช้รังสีรักษา คือ ผิวหนังในบริเวณที่ทำการฉายรังสีเกิดเป็นแผลถลอก เป็นแผลเปียกคล้ายแผลถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลมีขนาดใหญ่ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเคมีบำบัด คือ ผมร่วง, เบื่ออาหาร, คลื่นไส้อาเจียน, มือเท้าชา, อ่อนเพลีย, เกิดภาวะซีด, เม็ดเลือดขาวต่ำทำให้ติดเชื้อได้ง่าย, ภาวะเกล็ดเลือดต่ำทำให้มีเลือดออกได้ง่าย, การทำงานของไตลดลง เป็นต้น
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาฮอร์โมนบำบัด คือ ตกขาวโดยไม่มีการติดเชื้อ, เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด (พบได้น้อย), ปวดข้อ, เสี่ยงเป็นมะเร็งเยื่อบุมดลูก (พบได้น้อยมากประมาณ 0.2-1.6 คน ต่อผู้ใช้ยานี้ 1,000 คน)
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาตรงเป้า คือ การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุทำให้ผนังลำไส้ทะลุได้

ผลข้างเคียงที่กล่าวมานี้จะสูงและรุนแรงมากขึ้น ในกรณีที่

  • ใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกันในการรักษา
  • ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรือเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง
  • ผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ
  • ผู้ป่วยสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

วิธีป้องกันมะเร็งเต้านม

  1. หมั่นตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เพื่อให้พบโรคได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ซึ่งการตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ในระยะแรกเริ่มจะมีโอกาสรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ ดังนั้นผู้หญิงทุกคนควรหมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ไปพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมหรือถ่ายภาพรังสีเต้านม ตามเกณฑ์อายุดังนี้
    • อายุ 20 ปีขึ้นไป ให้ตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง (ตามวิธีการที่แนะนำไว้ข้างต้น)
    • อายุ 20-40 ปี ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมทุก ๆ 3 ปี และอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมเป็นประจำทุกปี
    • อายุ 35-40 ปี ควรตรวจหามะเร็งระยะแรกเริ่ม (ก่อนคลำได้ก้อน) ด้วยการถ่ายภาพรังสีเต้านม (Mammography) เป็นครั้งแรกไว้เป็นพื้นฐาน เมื่ออายุ 40-49 ปี ควรตรวจซ้ำทุก 1-2 ปี และหลังจากอายุ 50 ปี ไปแล้ว ควรตรวจซ้ำเป็นประจำทุกปี ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงสูง (เช่น คนในครอบครัวสายตรงมีประวัติเป็นโรคนี้ ฯลฯ) อาจจำเป็นต้องตรวจถี่ขึ้นมากกว่าปกติ
    • การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธีการถ่ายภาพรังสีเต้านม (Mammography) ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดและได้รับการยอมรับเป็นมาตรฐานทั่วโลก เพราะสามารถตรวจพบมะเร็งในระยะแรกเริ่มที่มีขนาดเล็กมากหรือที่เพิ่งจะเห็นเป็นหินปูนอยู่ในเต้านมได้ (ซึ่งเป็นมะเร็งในระยะที่รักษาให้หายขาดได้) โดยจะเป็นการใช้เครื่องเอกซเรย์ชนิดพิเศษที่ใช้รังสีในปริมาณต่ำกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไปมาก เพื่อทำการตรวจเต้านมข้างละ 2 ท่า รวม 4 ภาพ โดยจะมีอุปกรณ์ช่วยในการกดเต้านม เพื่อให้เนื้อเต้านมกระจาย และเครื่องจะเอกซเรย์ภายในเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งจะไม่เป็นอันตรายใด ๆ แก่เต้านม จึงมีความปลอดภัยมาก แม้ผู้ที่ได้รับการเสริมเต้านมมาแล้วก็สามารถตรวจได้อย่างปลอดภัย ส่วนในผู้ชายนั้นยังไม่มีการแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เฉพาะเจาะจง แพทย์เพียงแต่จะแนะนำให้หมั่นสังเกตตัวเอง ถ้าพบว่ามีก้อนเนื้อผิดปกติหรือมีเลือดออกจากหัวนม ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้อง
      การตรวจมะเร็งเต้านม
  2. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ เช่น การหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์จัด และการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นเวลานาน
  3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  4. ลดการบริโภคเนื้อแดง อาหารที่มีไขมันสูง
  5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะผักและผลไม้ ควรรับประทานให้มาก ๆ
  6. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
  7. ควรเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง เพราะจากการศึกษาพบว่ามารดาที่ให้ลูกดื่มนมตัวเองนานเกิน 2 ปี จะมีผลช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมลงได้
  8. ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคนี้ ฯลฯ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาให้กินยาป้องกันเอาไว้ เช่น แอสไพริน (สัปดาห์ละครั้ง) หรือยาต้านเอสโตรเจน เช่น ทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen), ราโลซิเฟน (Raloxifene) เป็นต้น
  9. ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ถ้าคลำพบก้อนในเต้านมหรือพบความผิดปกติของเต้านม ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจภายใน 1-2 สัปดาห์
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “มะเร็งเต้านม (Breast cancer)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 1157-1159.
  2. หาหมอดอทคอม.  “มะเร็งเต้านม (Breast cancer)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [13 มี.ค. 2016].
  3. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.  “เมื่อไร! สงสัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม”.  (รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [14 มี.ค. 2016].
  4. ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลพญาไท 1.  “ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม”.  (นพ. หะสัน มูหาหมัด).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaibreastcancer.com.  [15 มี.ค. 2016].
  5. PearlPoint Cancer.  “Breast Cancer Treatment – Stages of Breast Cancer”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : my.pearlpoint.org.  [15 มี.ค. 2016].
  6. หน่วยสารสนเทศมะเร็ง โรงพยาบาลสงขลานครินทร์.  “วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : medinfo2.psu.ac.th.  [15 มี.ค. 2016].

ภาพประกอบ : www.huffingtonpost.co.uk, megaiconmagazine.com, www.soc.ucsb.edu, my.pearlpoint.org, breastcancernow.org, medinfo2.psu.ac.th., www.cancer.gov, uthmag.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด