มะเร็งกระเพาะอาหาร
มะเร็งกระเพาะอาหาร (Stomach cancer หรือ Gastric cancer) คือ เซลล์เนื้อร้ายหรือมะเร็งที่เกิดขึ้นที่บริเวณเยื่อบุผิวภายในกระเพาะอาหาร* โดยเกิดจากการที่เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารมีการแบ่งจำนวนมากขึ้นอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดเป็นมะเร็งขึ้นมา สามารถเกิดได้กับทุกส่วนของกระเพาะอาหาร และสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะรอบ ๆ กระเพาะอาหารได้ เช่น ตับอ่อน หลอดอาหาร ลำไส้ ปอด และรังไข่ นอกจากนี้เซลล์มะเร็งยังแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ผ่านทางต่อมน้ำเหลือง หรือทางกระแสเลือดได้ด้วย
ในบ้านเรามักตรวจพบผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งชนิดนี้ในระยะสุดท้าย เนื่องจากผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการปรากฏชัดเจนซึ่งเป็นระยะที่มะเร็งลุกลามไปมากแล้ว จึงยากที่จะเยียวยารักษาได้ ดังนั้น ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ (เช่น มีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้) ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยก่อนที่จะมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เพราะหากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ๆ การรักษาก็มักจะได้ผลดีและช่วยให้หายขาดได้
มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นโรคที่พบได้บ่อยพอประมาณ ส่วนใหญ่มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป พบได้มากในช่วงอายุ 60-80 ปี (คนอายุน้อยกว่า 40 ปีก็พบได้แต่น้อย) พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2-3 เท่า และพบได้มากเป็นอันดับที่ 9 ของมะเร็งในผู้ชาย
หมายเหตุ : ผนังของกระเพาะอาหารประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นในสุดคือชั้นของเยื่อบุผิวด้านใน (Mucosa), ชั้นถัดมาตรงกลางคือชั้นกล้ามเนื้อ (Muscle layers) และชั้นนอกสุดจะเป็นชั้นของเยื่อบุผิวด้านนอก (Serosa) โดยมะเร็งกระเพาะอาหารที่กล่าวถึงในบทความนี้จะเริ่มเกิดจากเซลล์ที่อยู่บริเวณเยื่อบุผิวด้านในและกระจายออกมาถึงเยื่อบุผิวด้านนอก ไม่ใช่มะเร็งกระเพาะอาหารที่เกิดจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิด GIST (Gastrointestinal stromal tumor) หรือที่มีชื่อเรียกว่า “มะเร็งจิสต์” ซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่พบได้น้อยมากและมีลักษณะการดำเนินของโรคและการรักษาที่แตกต่างกัน ซึ่งเราจะไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้
สาเหตุของมะเร็งกระเพาะอาหาร
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร (แต่การมีปัจจัยเสี่ยงไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารเสมอไป และในทางกลับกัน การที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร) ได้แก่
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัว (ญาติสายตรง เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง) เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมาก่อน จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนปกติ
- เชื้อชาติ เพราะโรคนี้มักพบได้มากในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก (โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และจีน) มากกว่ากลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกา
- เป็นเพศชาย เพราะพบโรคนี้ได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2-3 เท่า
- เป็นผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้นจะมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอายุ 60-80 ปี
- การดื่มแอลกอฮอล์จัด และการสูบบุหรี่ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้สูงขึ้น
- การมีภาวะน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน โดยเฉพาะในผู้ชายที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานจะมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้มากขึ้น แต่ในผู้หญิงยังไม่มีหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างความอ้วนกับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร
- ทำงานที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นและสารเคมีบางชนิด เช่น การทำงานเกี่ยวกับถ่านหิน โลหะ และยางพารา
- การกินอาหารเค็มหรือเนื้อสัตว์หมักเกลือ (เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม), อาหารหมักดอง (เช่น ผักดอง), อาหารปิ้งย่าง (โดยเฉพาะเนื้อแดงปิ้งย่าง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู), เนื้อสัตว์รมควันหรือใส่ดินประสิว (เช่น กุนเชียง ไส้กรอก แหนม) ซึ่งอาหารเหล่านี้จะทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น
- การกินผักและผลไม้น้อยเกินไป (การกินผักและผลไม้มากอาจช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคได้)
- กินอาหารที่ไม่ได้รับการปรุงอย่างเหมาะสมและถูกวิธี
- โรคโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงขนาดใหญ่ผิดปกติ
- การเจริญเติบโตผิดที่ของเซลล์ในลำไส้แทนที่เซลล์ของกระเพาะอาหาร
- โรคเนื้องอกของกระเพาะอาหารหรือลำไส้บางชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- โรคแผลกระเพาะอาหารหรือลำไส้จากการติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือ เอชไพโลไร (Helicobacter pylori หรือ H.pylori) ซึ่งเมื่อเป็นเรื้อรังจะเพิ่มโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนปกติประมาณ 3-5 เท่า (การติดเชื้อชนิดนี้อาจติดต่อกันระหว่างบุคคลได้ โดยการปนเปื้อนจากอุจจาระและจากน้ำลายของผู้ติดเชื้อ)
- การมีประวัติเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังชนิดเอ (Atrophic gastritis)
- การมีประวัติเคยผ่าตัดกระเพาะอาหารมานานกว่า 20 ปี
อาการของมะเร็งกระเพาะอาหาร
ในระยะแรกเริ่มผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ต่อมาเมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นจะทำให้มีอาการคล้ายอาการของโรคกระเพาะอาหารอักเสบหรือโรคแผลในกระเพาะอาหารได้ เช่น
- อาหารไม่ย่อยและรู้สึกไม่สบายท้อง
- ท้องอืดหลังรับประทานอาหาร
- คลื่นไส้เล็กน้อย แต่มักไม่อาเจียน
- ไม่อยากรับประทานอาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง
- มีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก (Heartburn)
ในช่วงแรกเมื่อกินยารักษาโรคกระเพาะอาการจะทุเลาลงได้ (จึงอาจทำให้ผู้ป่วยคิดว่าเป็นเพียงโรคกระเพาะธรรมดา) แต่ต่อมาการกินยาดังกล่าวจะไม่ได้ผลหรืออาจมีอาการดีขึ้นแต่มักจะมีอาการขึ้นมาอีก และเมื่อโรคเป็นมากขึ้นจะทำให้มีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น
- รู้สึกไม่สบายท้องโดยเฉพาะช่องท้องบริเวณส่วนบนและตรงกลาง
- คลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีอาเจียนเป็นเลือดได้
- มีเลือดปนในอุจจาระหรือถ่ายอุจจาระดำ (เป็นสีเลือดเก่าที่ตกค้าง)
- น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- อ่อนเพลีย
- ปวดท้องหรือท้องอืดหลังรับประทานอาหาร
- อาจคลำได้ก้อนแข็ง (ไม่เจ็บ) ตรงบริเวณเหนือสะดือหรือใต้ชายโครงด้านซ้าย
- มีภาวะโลหิตจาง (ภาวะซีด) จากการที่รับประทานอาหารได้น้อย ร่วมกับมีอาเจียนและ/หรืออุจจาระเป็นเลือด
- หากปล่อยไว้จนกระทั่งมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ก็จะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา เช่น
- คลำได้ก้อนต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณเหนือไหปลาร้า ซึ่งมักพบในด้านซ้าย
- หายใจลำบาก หอบเหนื่อย ไอ เจ็บหน้าอก เมื่อโรคลุกลามไปที่ปอด
- ตาเหลือง ตัวเหลือง (ดีซ่าน) ตับโต ท้องมาน เมื่อโรคลุกลามไปที่ตับ
- ปัสสาวะไม่ออกหรือออกน้อย ไตวาย เมื่อโรคลุกลามไปอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ
- ปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน กินอาหารไม่ได้ เมื่อก้อนมะเร็งอุดกั้นกระเพาะอาหาร
- นอกจากนี้ เซลล์มะเร็งของกระเพาะอาหารอาจหลุดเข้าไปในช่องท้องแล้วไปเกาะกันเป็นก้อนที่รังไข่ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายโรคมะเร็งรังไข่ได้ด้วย
ระยะของมะเร็งกระเพาะอาหาร
- ระยะที่ 0 (ระยะก่อนลุกลาม) ในระยะนี้เซลล์ผิดปกติจะพบที่เยื่อบุผิวด้านใน ซึ่งเซลล์ผิดปกตินี้จะกลายเป็นเซลล์มะเร็งและแพร่กระจายต่อไปยังเนื้อเยื่อปกติข้างเคียงต่อไปหากไม่ได้รับการรักษา
- ระยะที่ 1 (มะเร็งกระเพาะอาหารระยะแรก) เป็นระยะที่เริ่มพบเซลล์มะเร็ง โดยแบ่งออกได้เป็นระยะ IA และระยะ IB ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปที่ใดแล้ว
- ระยะ IA มะเร็งกระเพาะอาหารลุกลามอยู่ที่ชั้นเยื่อบุด้านในโดยทั่ว
- ระยะ IB มะเร็งกระเพาะอาหารลุกลามอยู่ที่ชั้นเยื่อบุผิวด้านใน ร่วมกับมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงไม่เกิน 6 ต่อม หรือมะเร็งกระเพาะอาหารลุกลามจากชั้นเยื่อบุผิวด้านในถึงชั้นกล้ามเนื้อ แต่ยังไม่มีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่
- มะเร็งกระเพาะอาหารลุกลามอยู่ที่ชั้นเยื่อบุผิวด้านใน ร่วมกับลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง 7-15 ต่อม หรือ
- มะเร็งกระเพาะอาหารลุกลามจากชั้นเยื่อบุผิวด้านในถึงชั้นกล้ามเนื้อ ร่วมกับลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงไม่เกิน 6 ต่อม หรือ
- มะเร็งกระเพาะอาหารลุกลามจากชั้นเยื่อบุผิวด้านในไปจนถึงเยื่อบุผิวด้านนอก แต่ยังไม่มีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่นใด
- ระยะที่ 3 ในระยะนี้แบ่งออกได้เป็นระยะ IIIA และระยะ IIIB ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งได้ลุกลามไปที่ใดแล้ว
- ระยะ IIIA มะเร็งกระเพาะอาหารลุกลามจากชั้นเยื่อบุผิวด้านในไปชั้นกล้ามเนื้อ ร่วมกับมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง 7-15 ต่อม หรือมะเร็งกระเพาะอาหารลุกลามจากชั้นเยื่อบุผิวด้านในไปจนถึงชั้นเยื่อบุผิวด้านนอก ร่วมกับมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง 1-6 ต่อม หรือมะเร็งกระเพาะอาหารลุกลามไปยังอวัยวะที่ติดกับกระเพาะอาหาร แต่ยังไม่แพร่ไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะส่วนอื่น
- ระยะ IIIB มะเร็งกระเพาะอาหารลุกลามจากชั้นเยื่อบุผิวด้านในไปจนถึงชั้นเยื่อบุผิวด้านนอก ร่วมกับมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง 7-15 ต่อม
- ระยะที่ 4 (มะเร็งกระเพาะอาหารระยะสุดท้าย) เป็นระยะที่มะเร็งกระเพาะอาหารได้แพร่กระจายไปที่อวัยวะที่ติดกับกระเพาะอาหารและต่อมน้ำเหลืองอย่างน้อย 1 ต่อม หรือมะเร็งกระเพาะอาหารได้แพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองมากกว่า 15 ต่อม หรือมะเร็งกระเพาะอาหารแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
ความรุนแรงของมะเร็งกระเพาะอาหาร
ความรุนแรงของโรคนี้จะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ
- ปัจจัยจากตัวผู้ป่วยเอง ได้แก่
- อายุ ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยมักจะทนต่อการรักษาได้ดีกว่าผู้ป่วยที่มีอายุมาก จึงมีผลการรักษาที่ดีกว่า
- สุขภาพร่างกายทั่วไปของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ก็จะสามารถทนต่อการรักษาได้ดีกว่า ผลการรักษาโดยรวมจึงดีกว่าด้วย
- โรคร่วมต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้อาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการรักษาและส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากการรักษามากขึ้น
- ปัจจัยจากการรักษา กล่าวคือ ถ้าผู้ป่วยสามารถรับการผ่าตัดได้การรักษามักจะได้ผลดีกว่าผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ โดยอัตราการรอดชีวิตเมื่อสามารถผ่าตัดมะเร็งกระเพาะอาหารได้หมดเป็นดังนี้
- ระยะที่ 1 มีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 70%
- ระยะที่ 2 มีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 30-40%
- ระยะที่ 3 มีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 15%
- ระยะที่ 4 เป็นระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 0-5%
การวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหาร
แพทย์สามารถวินิจฉัยและประเมินระยะของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้จากการตรวจดังต่อไปนี้
- การซักประวัติต่าง ๆ เช่น ลักษณะอาการปวด สีของอุจจาระ พฤติกรรมการเจ็บป่วยในอดีต ประวัติการรักษาที่ผ่านมา ฯลฯ และการตรวจร่างกายเพื่อดูอาการต่าง ๆ รวมถึงลักษณะของก้อนหรือสิ่งใดที่อาจมีลักษณะผิดปกติไป
- การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (Gastroscopy) เพื่อหาและประเมินรอยโรคที่บริเวณหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น เป็นวิธีการตรวจที่นิยมมาก สามารถช่วยวินิจฉัยโรคได้มากกว่า 95% และไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด แต่อาจทำให้รู้สึกพะอืดพะอมได้ และหากตรวจพบสิ่งผิดปกติหรือสิ่งที่น่าสงสัย (ไม่ว่าจะพบรอยโรคอย่างชัดแจ้งหรือไม่) แพทย์จะใช้เข็มสะกิดตัดเอาชิ้นเนื้อบนผิวกระเพาะออกมาตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการด้วย
- การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา โดยทั่วไปแพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อในระหว่างการส่องกล้องออกมาตรวจดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อดูลักษณะของเซลล์มะเร็งและเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง
- การถ่ายภาพเอกซเรย์กระเพาะอาหารโดยการกลืนแป้งแบเรียม (Barium) เป็นวิธีการตรวจโดยการให้ผู้ป่วยกลืนน้ำที่ผสมด้วยแป้งแบเรียม ซึ่งน้ำที่กลืนไปนั้นจะเข้าไปเคลือบที่ผิวของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก แพทย์จะทำการถ่ายภาพเอกซเรย์เป็นระยะ ๆ จึงทำให้สามารถมองเห็นก้อนเนื้อหรือความผิดปกติอื่น ๆ ได้
- การตรวจระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวนด์ (Endoscopic ultrasound) ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ทราบถึงความลึกของมะเร็งกระเพาะอาหารและการกระจายไปยังอวัยวะใกล้เคียงของมะเร็ง
- การตรวจเอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติในช่องอก ปอด และการแพร่กระจายของโรคไปในปอด
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง (CT scan) ซึ่งจะแสดงภาพอวัยวะภายในแบบสามมิติ จึงช่วยให้แพทย์สามารถเห็นตำแหน่งและลักษณะของโรค และการแพร่กระจายของโรคได้ละเอียดมากกว่าการเอกซเรย์ธรรมดา
- การตรวจอุจจาระ เพื่อดูว่ามีเลือดออกร่วมด้วยหรือไม่ โดยการดูผ่านทางกล้องจุลทรรศน์
- การตรวจปัสสาวะ เพื่อประเมินสภาพร่างกายทั่วไปของผู้ป่วยก่อนการรักษา
- การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) เพื่อหาปริมาณเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด, หาปริมาณฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง และหาส่วนประกอบต่าง ๆ ที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง เพื่อนำไปใช้ในการประเมินสภาพร่างกายทั่วไปของผู้ป่วยก่อนการรักษา
- การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ เป็นการตรวจเพื่อดูการทำงานของตับ ไต ดูระดับเกลือแร่ และเพื่อดูว่าผู้ป่วยเป็นเบาหวานหรือไม่
- การตรวจเลือดเพื่อหาสารมะเร็ง (Tumor marker) ชนิดซีอีเอ (CEA) ซึ่งค่าที่ได้อาจปกติหรือผิดปกติก็ได้ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่ถ้าค่าผิดปกติตั้งแต่แรกก่อนเริ่มการรักษาก็จะเป็นประโยชน์ในการตรวจติดตามโรคได้
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารแน่ชัดแล้ว แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ อีกดังที่กล่าวไป เช่น การตรวจเอกซเรย์ปอด การส่องกล้องตรวจอัลตราซาวนด์ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น เพื่อประเมินระยะของมะเร็งว่าอยู่ในกระเพาะอาหารหรือได้แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ แล้วหรือไม่ ซึ่งการประเมินระยะของมะเร็งนั้นมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากที่ช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง
การแยกโรค
ในระแรกอาการแสดงของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารจะดูคล้ายโรคกระเพาะและโรคกรดไหลย้อน แต่โรคเหล่านี้เมื่อกินยารักษาอาการก็มักจะทุเลาลงและหายขาดได้ แต่ถ้าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ในช่วงแรกการกินยาจะได้ผลชั่วคราว แต่ต่อมาจะไม่ได้ผล
ส่วนอาการในระยะต่อมา คือ คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักตัวลดลง อาจดูคล้ายกับมะเร็งหลอดอาหารและมะเร็งตับได้ แต่จะแตกต่างกันตรงที่ในมะเร็งหลอดอาหารผู้ป่วยจะมีอาการกลืนลำบากเป็นอาการหลัก (กลืนแล้วเจ็บหรือติดที่ตำแหน่งต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับคอจนถึงระดับลิ้นปี่) ส่วนมะเร็งตับจะคลำได้ก้อนแข็งบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา ไม่ใช่ด้านซ้ายเหมือนในมะเร็งกระเพาะอาหาร
วิธีรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร
แนวทางในการรักษามะเร็งกระเพาะอาหารทั่วไป จะเป็นการรักษาโดยการผ่าตัดเป็นหลัก โดยอาจร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด ส่วนในรายที่เป็นมากอาจให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา
- ถ้าเป็นระยะแรก ๆ แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดกระเพาะอาหารเป็นหลัก (อาจตัดกระเพาะอาหารออกเพียงบางส่วนหรือตัดออกทั้งหมดแล้วแต่ความรุนแรงของโรค รวมถึงอาจมีการตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงด้วย) และอาจให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย ซึ่งยาเคมีบำบัดนี้แพทย์จะให้อย่างต่อเนื่องในระยะหนึ่งเพื่อควบคุมไม่ให้มะเร็งกระจายตัวหรือยุบตัวลง โดยอาจให้ก่อนหรือหลังการผ่าตัดแล้วแต่ดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งการรักษาในขั้นนี้แพทย์จะมุ่งหวังเพื่อให้โรคทุเลาลงหรือหายขาด และมีอายุยืนยาว
- ในรายที่เป็นมาก อาจจำเป็นต้องให้ยาเคมีบำบัดเป็นหลัก และบางครั้งอาจร่วมกับรังสีรักษา ส่วนการผ่าตัดนั้นจะทำเฉพาะเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนเท่านั้น เช่น ก้อนมะเร็งอุดกั้นกระเพาะทางเดินอาหารหรือทางเดินปัสสาวะ เพราะการรักษาในขั้นนี้แพทย์จะไม่ได้มุ่งหวังให้โรคหายขาด แต่จะเป็นไปเพื่อป้องกันหรือบรรเทาภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว เพื่อช่วยบรรเทาอาการทุกข์ทรมานของผู้ป่วยเป็นหลัก (คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่า การผ่าตัดจะทำให้โรคทรุดหนักลงและทำให้กลัวการผ่าตัด แต่ความจริงแล้วการผ่าตัดในระยะนี้แพทย์จะทำเพื่อช่วยชีวิตและบรรเทาอาการทุกข์ทรมานของผู้ป่วยจากภาวะแทรกซ้อนเป็นหลัก อีกทั้งผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักจะมีอาการทรุดหนักตามมาและอยู่ได้ไม่นานอยู่แล้ว ส่วนยาเคมีบำบัดนั้น ผู้ป่วยบางรายอาจทนต่อผลข้างเคียงไม่ไหว จึงทำให้เกิดความรู้สึกกลัว แต่จริง ๆ แล้วในปัจจุบันมีการพัฒนายาเคมีบำบัดให้มีผลดีมากขึ้นและมีผลข้างเคียงลดลง อีกทั้งผลข้างเคียงจากยาก็มักจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและผู้ป่วยจะค่อย ๆ ทนต่อยาได้มากขึ้นเอง และภายหลังจากการหยุดยาผลข้างเคียงจะหมดไปและร่างกายจะสามารถฟื้นสภาพสู่ปกติได้)
วิธีการรักษามะเร็งกระเพาะอาหารในปัจจุบัน การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารจำเป็นต้องอาศัยทีมแพทย์ในสาขาต่าง ๆ หลายสาขามาร่วมกันวางแผนในการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกวิธีการรักษาของแพทย์จะขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่ง และลักษณะของเซลล์มะเร็ง ระยะของโรคและการกระจายของมะเร็ง และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
- การผ่าตัด เป็นการรักษาหลักของการรักษามะเร็งกระเพาะอาหารที่ใช้บ่อยในทุกระยะของโรค ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี (ขึ้นอยู่กับระยะของโรค สภาพร่างกายของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์) คือ
- การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกบางส่วน (Subtotal gastrectomy) เป็นการรักษาโดยการผ่าตัดเอาเฉพาะกระเพาะอาหารส่วนที่มีก้อนมะเร็งอยู่ รวมถึงต่อมน้ำเหลือง เนื้อเยื่อ และอวัยวะใกล้เคียงบางส่วน และในบางครั้งอาจต้องตัดม้ามออกไปด้วย (ม้ามเป็นอวัยะที่อยู่ส่วนบนของช่องท้องมีหน้าที่กรองเลือดขับเม็ดเลือดที่เสียออก)
- การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกทั้งหมด (Total gastrectomy) เป็นการผ่าตัดเอากระเพาะอาหารออกทั้งหมด รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงบางส่วนของหลอดอาหาร ลำไส้เล็ก และเนื้อเยื่อรอบ ๆ ก้อนมะเร็ง และม้ามอาจถูกตัดออกไปด้วย และหลังจากนั้นหลอดอาหารจะถูกต่อเข้ากับลำไส้เล็กโดยตรงเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกินและกลืนอาหารได้ตามปกติ แต่ในกรณีที่ก้อนมะเร็งอุดกั้นกระเพาะอาหารทั้งหมดและไม่สามารถผ่าตัดโดยวิธีมาตรฐานได้ แพทย์อาจให้การรักษาตามข้อ 3
- การผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีการอุดกั้นกระเพาะอาหาร เช่น การใส่ขดลวดในท่อทางเดินอาหารเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกินอาหารได้ (เป็นวิธีการใช้ขดลวดที่มีขนาดบางและสามารถขยายได้ในการช่วยถ่างบริเวณใดก็ตามที่มีลักษณะเป็นท่อกลวงให้เปิด เช่น หลอดอาหาร ซึ่งการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของก้อนมะเร็งด้วย โดยแพทย์อาจใส่ขดลวดเข้าไปบริเวณระหว่างกระเพาะอาหารกับหลอดอาหาร หรือระหว่างกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็กก็ได้) หรือการใช้เลเซอร์ในการผ่าตัด (เป็นการส่องกล้องที่มีเลเซอร์ติดอยู่ที่ปลายกล้อง แล้วใส่เข้าไปในร่างกายบริเวณที่มีก้อนมะเร็ง ซึ่งเลเซอร์จะทำหน้าที่เหมือนกับมีดผ่าตัดนั่นเอง)
- ยาเคมีบำบัด เป็นการรักษามะเร็งโดยการใช้ยาเพื่อไปหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าเซลล์มะเร็งโดยตรงหรือเพื่อหยุดการแบ่งตัว (มักใช้เพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็งก่อนการผ่าตัด หรือเพื่อบรรเทาอาการของผู้ป่วยระยะที่โรคแพร่กระจายแล้ว หรือใช้ร่วมกับรังสีรักษา) เมื่อยาเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะเป็นทางการกินหรือการฉีด ยาจะวิ่งไปถึงเซลล์มะเร็งที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย นอกจากนี้อาจให้ยาโดยการใส่เข้าทางกระดูกสันหลัง อวัยวะ หรือช่องว่างในร่างกาย เช่น ช่องท้อง ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการให้ยาเฉพาะที่ ซึ่งการจะเลือกให้ด้วยวิธีใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค (สำหรับยาเคมีบำบัดมาตรฐานที่ใช้ในการรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร คือ 5-เอฟยู (5-FU) ร่วมกับการฉีดยาลิวโคโวริน (Leucovorin) เข้าทางหลอดเลือดดำ)
- รังสีรักษา (Radiation therapy) เป็นการรักษาโดยใช้รังสีเอกซเรย์ที่มีพลังงานสูงหรือรังสีชนิดอื่น ๆ เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งหรือหยุดการเจริญเติบโต ซึ่งจะมีผลจำกัดอยู่เฉพาะบริเวณที่ได้รับการฉายรังสีเท่านั้น (มักใช้เพื่อบรรเทาอาการของผู้ป่วย เช่น ก้อนมะเร็งไปอุดกั้นที่บริเวณหลอดอาหารหรือลำไส้เล็ก หรือมีโรคแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น ๆ เช่น กระดูก สมอง และทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหรือเป็นอัมพาต เป็นต้น หรือใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด) โดยการรักษาด้วยวิธีนี้จะแบ่งออกเป็น 2 วิธี ซึ่งการจะเลือกใช้วิธีใดนั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค คือ การใช้เครื่องมือฉายรังสีจากภายนอกร่างกาย และการใส่สารทึบรังสีที่ถูกปกปิดอย่างดีในท่อเข็มหรือเครื่องใด ๆ ก็ตามเข้าไปในจุดที่เป็นเซลล์มะเร็งเองหรือจุดใกลเคียงกับเซลล์มะเร็ง
- รังสีเคมีบำบัด เป็นการรักษาร่วมกันระหว่างยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาเพื่อเพิ่มเติมประสิทธิภาพในการรักษาซึ่งกันและกันและช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น โดยอาจจะเป็นการให้ก่อนผ่าตัดเพื่อให้สามารถผ่าตัดได้ง่ายขึ้น หรือให้หลังการผ่าตัดเพื่อหวังให้โรคหายขาด (เพราะในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารระยะลุกลาม ถ้าใช้วิธีการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวมะเร็งมักจะกลับมาอีก มากกว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยกลุ่มนี้ มะเร็งจะกลับมาพร้อมกับการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง และบางคนมะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำอีกและมีการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ด้วย) หรือให้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ แต่ยังไม่มีโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ และยังมีร่างกายที่แข็งแรงพอที่จะทำการรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษาได้ (โดยปกติแพทย์จะฉายรังสีบริเวณกระเพาะอาหารประมาณ 25-30 ครั้งใน 5-6 สัปดาห์ ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลในช่วงเวลาดังกล่าว)
- การรักษาด้วยวิธี HIPEC (Hyperthermic Intraperitoneal Chemotherapy) คือ การรักษามะเร็งระยะแพร่กระจายในช่องท้องด้วยวิธีการให้ยาเคมีบำบัดที่มีอุณหภูมิสูง (ประมาณ 42 องศาเซลเซียส) ไหลผ่านในช่องท้อง เพื่อช่วยทำลายเซลล์มะเร็งที่อยู่ภายในช่องท้อง โดยมักจะทำร่วมกับการผ่าตัด CRS (Cytoreductive surgery – เป็นการผ่าตัดเพื่อเอาเนื้องอกระยะแพร่กระจายออกให้ได้มากที่สุด เพื่อลดจำนวนเนื้องอกระยะแพร่กระจาย) ซึ่งการให้ยาเคมีบำบัดที่มีอุณหภูมิสูงภายหลังการผ่าตัดจะช่วยทำลายเนื้องอกที่เหลืออยู่ได้ ทำให้มีโอกาสหายขาดได้มากขึ้น โดยแพทย์จะพิจารณาทำให้ผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป
- ยารักษาตรงเป้า ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและยายังมีราคาแพงมากเกินกว่าที่ผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงได้
- การรักษาประคับประคองอาการ เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการในผู้ป่วยที่ร่างกายไม่แข็งแรงพอที่จะให้การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ได้ หรือในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารระยะสุดท้าย
การเลือกวิธีการรักษาตามระยะของโรค
- ระยะที่ 0 (ระยะก่อนลุกลาม) แพทย์จะให้การรักษาโดย
- การผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดกระเพาะอาหารออกเพียงบางส่วนหรือตัดออกทั้งหมด
- ระยะที่ 1 แพทย์จะให้การรักษาโดย
- การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกเพียงบางส่วนหรือทั้งหมด
- การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกเพียงบางส่วนหรือทั้งหมด และติดตามด้วยการให้รังสีเคมีบำบัด
- ระยะที่ 2 แพทย์จะให้การรักษาโดย
- การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกเพียงบางส่วนหรือทั้งหมด
- การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกเพียงบางส่วนหรือทั้งหมด และติดตามด้วยการให้รังสีเคมีบำบัด
- การให้ยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัด
- ระยะที่ 3 แพทย์จะให้การรักษาโดย
- การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกทั้งหมด
- การผ่าตัดกระเพาะอาหาร และติดตามด้วยการให้รังสีเคมีบำบัด
- การให้ยาเคมีบำบัดก่อนและหลังการผ่าตัด
- ระยะที่ 4 ถ้ามะเร็งกระเพาะอาหารยังไม่มีการกระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ไกล การรักษาจะเหมือนกับระยะที่ 3 แต่ถ้ามะเร็งกระเพาะอาหารมีการกระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ไกล แพทย์จะให้การรักษาโดย
- การรักษาแบบประคับประคอง โดยการให้ยาเคมีบำบัดเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น
- การใช้เลเซอร์หรือขดลวดถ่าง เพื่อช่วยบรรเทาอาการอุดกั้นของกระเพาะอาหาร
- การให้รังสีรักษา เพื่อประคับประคองอาการเลือดออก อาการปวด หรืออาจช่วยให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงเพื่อช่วยบรรเทาอาการอุดกั้นของกระเพาะอาหาร
- การผ่าตัดประคับประคองอาการเลือดออก หรืออาจช่วยให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง เพื่อช่วยบรรเทาอาการอุดกั้นของกระเพาะอาหาร
- การให้ยาเคมีบำบัด เพื่อการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น
การดูแลตนเองเมื่อเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ควรปฏิบัติตัวดังนี้
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ติดตามการรักษากับแพทย์อย่างจริงและต่อเนื่องตามที่แพทย์นัด
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะผักผลไม้ เมล็ดถั่วเหลือง เต้าหู้ ควรจะรับประทานให้มาก ๆ และควรเป็นอาหารที่ย่อยได้ง่าย ไม่ทำให้ท้องอืดท้องเฟ้อ
- หมั่นออกกำลังกายตามควรแก่สุขภาพเป็นประจำ
- ควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจด้วยการยอมรับความจริง ทำใจให้อยู่กับปัจจุบัน หมั่นทำสมาธิ เจริญสติ สวดมนต์ ภาวนา
- เนื่องจากการดูแลตนเองเมื่อเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารจะเหมือนกับโรคมะเร็งอื่น ๆ ซึ่งจะมีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างมาก จึงจะขอกล่าวถึงต่อไปอย่างละเอียดในเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง, การดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง, การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
การตรวจติดตามหลังการรักษา การตรวจบางอย่างเพื่อใช้ในการวินิจฉัยหรือจัดระยะของโรคมะเร็งอาจมีความจำเป็นต้องตรวจซ้ำเพื่อดูว่าการรักษานั้นได้ผลหรือไม่ เพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าจะให้การรักษาด้วยวิธีเดิม เปลี่ยนวิธีการรักษา หรือหยุดการรักษา ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า “การจัดระยะของโรคใหม่” นอกจากนี้การตรวจบางอย่างจำเป็นต้องตรวจหลังการรักษาสิ้นสุดลงแล้วเพื่อดูว่าโรคมีการกลับมาเป็นซ้ำหรือไม่ ซึ่งเรียกว่า “การตรวจติดตาม”
วิธีการรักษามะเร็งกระเพาะอาหารที่กลับมาเป็นซ้ำ
- การให้ยาเคมีบำบัดเพื่อการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
- การใช้เลเซอร์หรือขดลวดถ่างเพื่อช่วยบรรเทาอาการอุดกั้นของกระเพาะอาหาร
- การให้รังสีรักษาเพื่อประคับประคองอาการเลือดออก ลดอาการปวด หรืออาจช่วยให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงได้เพื่อช่วยบรรเทาอาการอุดกั้นของกระเพาะอาหาร
- การผ่าตัดเพื่อประคับประคองอาการเลือดออก หรืออาจช่วยให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงได้ เพื่อช่วยบรรเทาอาการอุดกั้นของกระเพาะอาหาร
สำหรับผลการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับระยะและการกระจายของมะเร็ง และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ถ้าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะแรก ๆ การรักษาจะได้ผลดีหรือช่วยให้หายขาด หรือมีชีวิตยืนยาวได้ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์เมื่อมีอาการในระยะท้าย ๆ การรักษาจึงมักไม่ได้ผล (ทำได้เพียงแค่ประคับประคองเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน) และผู้ป่วยมักมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน เช่น เมื่อเป็นระยะที่ 4 ซึ่งมะเร็งลุกลามกระจายไปทั่วร่างกายแล้ว ผู้ป่วยมักจะมีชีวิตอยู่ได้โดยเฉลี่ยประมาณ 6-12 เดือน (แต่บางคนที่ดูแลตนเองดี ๆ ก็อาจจะอยู่ได้นานกว่านี้)
ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร
ผลข้างเคียงจากการรักษาในแต่ละวิธีจะแตกต่างกันไปตามแต่ละวิธีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษา และผลข้างเคียงจะพบได้มากขึ้นเมื่อรักษาด้วยหลาย ๆ วิธีร่วมกัน
- การผ่าตัด อาจมีผลข้างเคียง เช่น การสูญเสียอวัยวะ การมีเลือดออก การติดเชื้อ อาการปวด และการบาดเจ็บจากการผ่าตัดถูกอวัยวะข้างเคียง
- ยาเคมีบำบัด อาจมีผลข้างเคียง เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผมร่วง กดการทำงานของไขกระดูกทำให้มีภาวะซีด ภาวะเกล็ดเลือดต่ำทำให้อาจมีเลือดออกง่ายขึ้น และมีเม็ดเลือดขาวต่ำทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น
- รังสีรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ถ่ายเหลว และมีอาการแดงบริเวณผิวหนังที่ได้รับรังสี แต่อาการเหล่านี้มักจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจบการรักษา
วิธีป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้ แต่มีคำแนะนำที่อาจช่วยลดโอกาสการเกิดโรคนี้ได้บ้าง คือ
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังที่กล่าวไป เช่น งดแอลกอฮอล์ บุหรี่ อาหารเค็ม อาหารหมักดอง อาหารปิ้งย่าง เนื้อสัตว์รมควันหรือใส่ดินประสิว เป็นต้น
- กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ เป็นประจำทุกวัน
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อเอชไพโรไลของกระเพาะอาหารควรรีบรักษาให้หายขาด
- เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกระเพาะอาหารตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
- ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ มีประวัติเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง หรือติดเชื้อเอชไพโลไร (H. pylori) เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะอาหารตั้งแต่ระยะก่อนมีอาการ โดยอาจต้องทำการตรวจปีละครั้ง ถ้าพบว่าเริ่มมีความผิดปกติจะได้รักษาได้ทัน เนื่องจากการรักษาในระยะแรกมักจะได้ผลดีหรือช่วยให้หายขาดได้
- สำหรับผู้ที่มีอาการปวดแสบลิ้นปี่ก่อนกินอาหาร หรือจุกแน่นท้องหลังกินอาหาร ถ้าเพิ่งเป็นครั้งแรกโดยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ และมีอายุต่ำกว่า 40 ปี ให้กินยาต้านกรดครั้งละ 15-30 มิลลิลิตร หลังอาหาร 3 มื้อและก่อนนอน ถ้ากินยาไป 2-3 วันแล้วอาการทุเลาลงให้กินยาต่อไปจนครบ 2 สัปดาห์ (แต่ถ้าอาการยังไม่ทุเลาตั้งแต่แรก หรือในกรณีที่กินยาครบ 2 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่หายดี ควรรีบไปพบแพทย์) และถ้าหายดีแล้วให้กินยาต่อไปจนครบ 6-8 สัปดาห์ (หากกินยาจนครบ 6-8 สัปดาห์ แล้วต่อมามีอาการกำเริบขึ้นอีก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ) แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอายุเกิน 40 ปี แม้จะมีอาการเป็นครั้งแรก และไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ก็ควรปรึกษาแพทย์ หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดรุนแรง ปวดนานเกิน 6 ชั่วโมง กระเทือนถูกเจ็บ อาเจียน ถ่ายอุจจาระดำ ตัวเหลืองตาเหลือง หรือมีน้ำหนักตัวลดลง เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “มะเร็งกระเพาะอาหาร (Stomach cancer/Gastric cancer)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 1167-1168.
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 319 คอลัมน์ : สารานุกรมทันโรค. “มะเร็งกระเพาะอาหาร”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [20 มี.ค. 2017].
- สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์. “มะเร็งผิวกระเพาะอาหาร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.chulacancer.net. [21 มี.ค. 2017].
- หาหมอดอทคอม. “มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer)”. (พญ.ชลศณีย์ คล้ายทอง). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [22 มี.ค. 2017].
- โรงพยาบาลวัฒโนสถ. “โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร”. (นพ.วุฒิ สุเมธโชติเมธา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhospital.com/wattanosoth/. [22 มี.ค. 2017].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)