มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ อาการ สาเหตุ การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ 7 วิธี !

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (ภาษาอังกฤษ: Bladder cancer) คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในกระเพาะปัสสาวะที่มีการเจริญเติบโต แบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์อย่างรวดเร็วและมากผิดปกติจนกลายเป็นก้อนเนื้องอกขึ้นมา และก้อนเนื้องอกนี้สามารถเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจเต็มกระเพาะปัสสาวะ ลุกลามไปยังอวัยวะและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง และแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้อหากตรวจพบโรคได้เร็วก็จะมีโอกาสหายได้มาก อย่างไรก็ตาม แม้จะตรวจพบได้ในระยะแรกและรักษาหายแล้ว แต่มะเร็งชนิดนี้ก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูง (Recurrence)

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นโรคที่พบได้ประมาณ 3% ของโรคมะเร็งทั้งหมด พบได้มากเป็นอันดับ 6 ของโรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชายรองจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก สามารถพบเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่จะพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3-4 เท่า และพบได้มากในช่วงอายุ 50-70 ปี

ชนิดของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

ชนิดของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะสามารถแบ่งออกได้ตามลักษณะของเซลล์ ซึ่งได้แก่

  • Transitional cell carcinoma (TCC) เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุดประมาณ 90-95% เกิดจากเซลล์เยื่อบุชั้นในสุดที่ทำหน้ายืดหดเวลากระเพาะปัสสาวะขยายหรือบีบตัว
  • Squamous cell carcinoma (SCC) เป็นชนิดที่พบได้น้อยลงมาคือประมาณ 1-5% เกิดจากเซลล์รูปสี่เหลี่ยม มีการระคายเคืองหรือติดเชื้อรังรังที่กระเพาะปัสสาวะ เช่น เชื้อพยาธิใบไม้ในเลือด
  • Adenocarcinoma เป็นชนิดที่พบได้ประมาณ 1-2% เป็นมะเร็งชนิดต่อมที่เจริญมากจากเนื้อเยื่อต่อมซึ่งเป็นเยื่อบุผิว ถ้าเป็นอยู่เฉพาะเยื่อบุจะเรียกว่าเป็นระดับตื้น (Superficial) แต่ถ้าทะลุเยื่อบุลงไปลึกกว่านั้นเรียกชั้นลึก (Invasive)
  • Small cell carcinoma เป็นชนิดที่พบได้น้อยกว่า 1% โดยเกิดจากเซลล์ที่เรียกว่า Neuroendocrine cells
  • Sarcomas เป็นชนิดที่พบได้น้อยมาก โดยเกิดในเซลล์กล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ

สาเหตุของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ แต่พบว่ามีหลายปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ เช่น

  • การสูบบุหรี่ ส่วนใหญ่การเกิดโรคนี้มีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่เป็นหลัก (บุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะถึง 50% ของคนที่เป็น และผู้ที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าคนปกติถึง 3 เท่า) เพราะควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งที่สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและขับถ่ายออกทางปัสสาวะโดยตรง จึงทำให้เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะสัมผัสกับสารก่อมะเร็งได้โดยตรง
  • เป็นเพศชาย เพราะพบโรคนี้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 3-4 เท่า (เชื่อว่าฮอร์โมนเพศหญิงมีสารที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในกระเพาะปัสสาวะ จึงสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งได้)
  • เป็นคนผิวขาว เพราะบชพบว่าคนผิวขาวจะมีความเสี่ยงมากกว่าเชื้อชาติอื่น ๆ ถึง 2 เท่า
  • อายุที่มากขึ้น เพราะพบโรคนี้ได้บ่อยในช่วงอายุ 50-70 ปี
  • การมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
  • การมีความผิดปกติของพันธุกรรมบางชนิด
  • การรับประทานอาหารที่มีไนเตรตสูง เช่น เนื้อสัตว์หรืออาหารมัน
  • การดื่มน้ำน้อยจนเกินไปในแต่ละวัน
  • การสัมผัสสารเคมีบางชนิดอย่างเรื้อรัง เช่น การดื่มน้ำที่มีสารหนู (Arsenic) เจือปน, การบริโภคขัณฑสกร, การทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารประกอบอะโรมาติกเอมีน (Aromatic amines) ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบได้ในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสีย้อม ยางพารา หนัง สิ่งทอ สี เป็นต้น, การทำงานที่สัมผัสสารโลหะหนักและสารที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ดีเซลล์ เช่น งานช่างโลหะ ช่างไฟ ช่างกล ช่างอลูมิเรียม ทหาร คนทำความสะอาดปล่องไฟ พยาบาล กะลาสี และคนงานน้ำมัน
  • การได้รับการฉายรังสีบริเวณช่องท้องหรืออุ้งเชิงกราน
  • การได้รับยาเคมีบำบัดบางชนิด เช่น ซัยโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide)
  • การรับประทานยาแก้ปวดที่มีสารฟีนาเซติ (Phenacetin) ในปริมาณมาก
  • การรับประทานยารักษาเบาหวานบางชนิด เช่น ยาที่มีส่วนผสมของไพโอกลิตาโซน (Pioglitazone)
    เป็นเวลานาน
  • การระคายเคืองและการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะเรื้อรัง เช่น เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังหรือเป็นซ้ำ ๆ การใส่สายสวนปัสสาวะตลอดเวลาในผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต
  • การติดเชื้อพยาธิใบไม้ชนิดอาศัยในเลือด (Schistosomiasis) ซึ่งเป็นพยาธิที่มักพบในแถบประเทศตะวันออกกลาง โดยพยาธิชนิดนี้มักจะวางไข่ที่ผนังของกระเพาะปัสสาวะ จึงทำให้เกิดการระคายเคืองเรื้อรังและอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้

อาการของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

ในระยะแรกมักไม่มีอาการแสดง อาจตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบเม็ดเลือดในปัสสาวะ แต่เมื่อมีอาการเกิดขึ้น อาการที่พบได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ คือ

  • ปัสสาวะเป็นเลือด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณ 75-90% จะมาพบแพทย์ด้วยอาการปัสสาวะเป็นเลือด (มักเป็นสีแดงอ่อนหรือสีโค๊ก) มักจะเป็น ๆ หาย ๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย หรือบางรายอาจมีเพียงอาการเลือดหยดออกมาตอนปัสสาวะสุด
  • บางครั้งอาจมีอาการคล้ายกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (พบได้ประมาณ 20%) คือ ปัสสาวะบ่อย แสบ หรือขัดเนื่องจากเลือดที่ออกมาจับเป็นลิ่มในกระเพาะปัสสาวะ
  • ในระยะลุกลาม ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง อาจคลำได้ก้อนที่บริเวณหัวหน่าว และมีอาการแสดงของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ภาวะซีด, ปวดหลัง หรือเกิดโรคไตเรื้อรัง หรือภาวะไตวาย ซึ่งเกิดจากการลุกลามของโรคมะเร็งไปอุดตันท่อไต, เกิดอาการท้องผูกเมื่อก้อนมะเร็งไปกดเบียดทับลำไส้ใหญ่, คลำต่อมน้ำเหลืองได้ที่ขาหนีบหรือเหนือไหปลาร้า เมื่อโรคแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง, มีอาการไอ หายใจลำบาก เมื่อโรคแพร่กระจายไปที่ปอด, มีอาการปวดกระดูก เมื่อโรคแพร่กระจายไปที่กระดูก เป็นต้น

อาการมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
IMAGE SOURCE : www.dailystar.co.uk

มะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ
IMAGE SOURCE : chennaiurology.com, www.hkbh.org.hk, www.ruraldr.com.au, urologie-bad-segeberg.de, www.med.umich.edu, www.shergillurology.com

ระยะของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

ระยะของโรคมีความสำคัญอย่างมากในการพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่น ๆ คือ

  • ระยะที่ 0 (ระยะก่อนเป็นมะเร็ง) พบเซลล์ผิดปกติอยู่ในชั้นเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ (Inner lining) ซึ่งเซลล์ผิดปกติเหล่านี้อาจกลายเป็นมะเร็งและลุกลามเข้าไปยังในเนื้อเยื่อปกติใกล้เคียงได้ โดยในระยะนี้จะแบ่งออกเป็นระยะ 0a และระยะ 0is
    • ระยะ 0a หรือเรียกว่า “Papillary carcinoma” ซึ่งเนื้องอกอาจมีลักษณะคล้ายเห็ดเล็ก ๆ ที่เติบโตจากเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ
    • ระยะ 0is หรือเรียกว่า “Carcinoma in situ” ซึ่งเป็นเนื้องอกแบน ๆ ในชั้นเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ
      มะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะที่ 0
  • ระยะที่ 1 มะเร็งจำกัดอยู่ในชั้นใต้เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ (Connective tissue)
    มะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะแรก
  • ระยะที่ 2 มะเร็งมีการลุกลามเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ (Muscle layers)
    มะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะที่ 2
  • ระยะที่ 3 มะเร็งมีการลุกลามไปถึงชั้นไขมันที่บุอยู่รอบนอกกระเพาะปัสสาวะ (Fat around the bladder) นอกจากนี้ยังอาจแพร่กระจายไปยังต่อมลูกหมาก และ/หรือต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิของผู้ชาย (Seminal vesicles) หรือมดลูก และ/หรือช่องคลอดของผู้หญิง
    มะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะที่ 3
  • ระยะที่ 4 มะเร็งแพร่กระจายจากกระเพาะปัสสาวะไปยังอวัยวะข้างเคียง เช่น (a) ผนังอุ้งเชิงกราน (ผนังช่องท้องน้อย) หรือผนังช่องท้อง (b) ต่อมน้ำเหลืองทั้งในอุ้งเชิงกรานและ/หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณอื่น ๆ (หนึ่งต่อมหรือมากกว่าหนึ่งต่อม) และ/หรือ (c) ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ปอด ตับ หรือกระดูก

    มะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะสุดท้าย
    IMAGE SOURCE : www.cancer.gov

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้จาก

  • การซักประวัติและการตรวจร่างกาย ซึ่งอาจพบอาการปัสสาวะเป็นเลือด กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และอาจพบว่ามีภาวะซีด อ่อนเพลีย และเหนื่อยง่ายจากการมีเลือดออกจากก้อนมะเร็งเรื้อรังแล้วปนมาในปัสสาวะ
  • การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) อาจพบเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติในปัสสาวะ ซึ่งการตรวจพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะมากผิดปกติ อาจมีสาเหตุมาจากมะเร็งกระเพาะปัสสาวะก็ได้ แม้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากการอักเสบของทางเดินปัสสาวะหรือนิ่วก็ตาม โดยผู้ป่วยที่ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมในกรณีที่มีเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรือผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ สำหรับการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ การตรวจหาเซลล์มะเร็งในน้ำปัสสาวะ, การตรวจไตและทางเดินปัสสาวะโดยการฉีดสี, การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ และการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี และไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ อาจตรวจหาเซลล์มะเร็งในน้ำปัสสาวะ และตรวจอัลตราซาวน์ของช่องท้องก็เพียงพอแล้ว
  • การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ซึ่งอาจพบว่าผู้ป่วยมีภาวะซีดหรือภาวะโลหิตจางได้
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นการตรวจเพื่อดูการทำงานของตับ ไต และเพื่อดูระดับเกลือแร่ต่าง ๆ ซึ่งผู้ป่วยอาจมีระดับของเกลือแร่ต่าง ๆ ผิดปกติซึ่งจะทำให้เกิดการเสียสมดุลของเกลือแร่ได้
  • การตรวจหาเซลล์มะเร็งในน้ำปัสสาวะ (Urine cytology) เป็นการเก็บตัวอย่างน้ำปัสสาวะจากผู้ป่วย (เก็บจากปัสสาวะครั้งแรกในตอนเช้า) ซึ่งเป็นการตรวจหามะเร็งทางเดินปัสสาวะที่ค่อนข้างทำได้ง่ายและมีความแม่นยำถึง 80% แต่มีความไว (Sensitivity หมายถึง ความสามารถในการตรวจพบโรคในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคจริง) ค่อนข้างต่ำเพียง 16%
  • การตรวจไตและทางเดินปัสสาวะโดยการฉีดสี (Intravenous pyelogram – IVP) เป็นการตรวจเพื่อดูการทำงานของไตและกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งจะสามารถช่วยดูขนาดของก้อนมะเร็ง และดูว่ามีท่อไตอุดตันหรือไม่ได้ด้วย
  • การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) เป็นการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปดูในกระเพาะปัสสาวะและตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา (Biopsy) ซึ่งนับเป็นการตรวจที่สำคัญที่สุดในการวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เพราะสามารถช่วยบอกตำแหน่ง ขนาด จำนวน รูปร่าง และขอบเขตการรุกล้ำของเนื้องอกได้โดยตรง ช่วยแยกชนิดได้ว่าเป็นมะเร็งชนิดลุกลาม (มะเร็งมีการลุกลามเข้าถึงชั้นกล้ามเนื้อเป็นอย่างน้อย) หรือเป็นชนิดไม่ลุกลาม (มะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะในชั้นเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ) และที่สำคัญที่สุด คือ แพทย์สามารถตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อหรือจากเนื้อเยื่อที่ผิดปกติส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็งได้อย่างแม่นยำที่สุด

    การตรวจมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
    IMAGE SOURCE : www.cancer.gov

  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) บริเวณช่องท้อง เป็นการตรวจเพื่อดูภาพอวัยวะระบบทางเดินปัสสาวะ และค้นหาการลุกลามของมะเร็งไปยังอวัยวะข้างเคียง ต่อมน้ำเหลือง และตับ (เป็นการตรวจหลังจากได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็งชนิดที่มีอาจมีการลุกลาม เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป)
  • การตรวจเอกซเรย์ปอด (Chest x-ray) เป็นการตรวจเพื่อดูความผิดปกติในช่องอกและในปอด รวมทั้งดูว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปที่ปอดหรือไม่ (เป็นการตรวจหลังจากได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็งชนิดที่มีอาการลุกลาม)
  • การตรวจเอกซเรย์กระดูก (Bone scan) เป็นการตรวจเพื่อดูว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปที่กระดูกหรือไม่ ซึ่งแพทย์จะเลือกทำเฉพาะในรายที่มีอาการปวดกระดูก หรือมีระดับแคลเซียมในเลือดสูงผิดปกติ

การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

การรักษาสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ขนาดและตำแหน่งของก้อนมะเร็ง ระยะของโรค อายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

โดยทั่วไปหากมะเร็งยังมีขนาดเล็กอยู่และยังไม่ลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ แพทย์อาจให้การรักษาโดยการสอดเครื่องมือเล็ก ๆ เข้าไปทางท่อปัสสาวะแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าจี้ที่ก้อนมะเร็งเพื่อทำลายมะเร็งให้หมดไป หรือใช้วิธีการตัดเอาก้อนเนื้องอกออก (Transurethral resection of bladder tumor – TURBT) แล้วเย็บผนังของกระเพาะปัสสาวะ และผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจป้องกันไม่ให้โรคกลับมาเป็นซ้ำด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดใส่เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ แล้วกักเก็บไว้เป็นระยะเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วจึงถ่ายทิ้ง ซึ่งผู้ป่วยจะยังคงปัสสาวะได้เป็นปกติ ส่วนในระยะที่มะเร็งลุกลามเข้าไปถึงชั้นกล้ามเนื้อแล้ว อาจต้องทำการตัดเอากระเพาะปัสสาวะออก (Cystectomy) แล้วทำทางเดินปัสสาวะใหม่ สำหรับระยะที่มะเร็งลุกลามออกไปนอกผนังกระเพาะปัสสาวะหรืออวัยวะข้างเคียง การรักษาจะเป็นการให้ยาเคมีบำบัดเป็นหลักในผู้ป่วยที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงพอ และอาจพิจารณาใช้รังสีรักษาเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด ภาวะอุดตันของท่อไตจากมะเร็ง อาการปวดกระดูกจากโรคที่แพร่กระจายไปยังกระดูกบริเวณต่าง ๆ แต่ถ้าผู้ป่วยไม่แข็งแรงพอ แพทย์อาจให้การรักษาแบบประคับประคองอาการเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ให้ผู้ป่วยเท่านั้น เช่น ให้เลือดเมื่อมีภาวะซีด เลือดออกทางปัสสาวะมากและเรื้อรัง ให้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวด เป็นต้น

  1. การผ่าตัดโดยการส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะเพื่อตัดชิ้นเนื้องอกของกระเพาะปัสสาวะออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ (Transurethral resection of bladder tumor – TURBT) หรือจี้ทำลายก้อนมะเร็งด้วยกระแสไฟฟ้า (Fulguration) มักใช้กับมะเร็งระยะแรกที่มะเร็งยังจำกัดอยู่แค่บริเวณเบื่อบุกระเพาะปัสสาวะ ส่วนมะเร็งที่ลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะแล้ว การรักษาด้วยวิธีนี้มักไม่ได้ผล และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หลังการผ่าตัดด้วยวิธีนี้อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดหรือมีปัสสาวะในเลือดเป็นเวลา 2-3 วันหลังการผ่าตัด

    การผ่าตัดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
    IMAGE SOURCE : healthbuds.in, www.drtimnathan-urology.com.au, westcoasturology.com

  2. การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกบางส่วน (Partial cystectomy หรือ Segmental cystectomy) มักทำในกรณีที่มะเร็งยังไม่ลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ อาจอยู่บริเวณส่วนโค้งด้านบนของกระเพาะปัสสาวะ เนื้องอกมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก และเป็นอยู่เพียงตำแหน่งเดียวในกระเพาะปัสสาวะ แต่หลังการผ่าตัดความจุของกระเพาะปัสสาวะจะลดลง ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาคาสายสวนปัสสาวะทั้งทางหน้าท้องเหนือหัวเหน่าหรือทางท่อปัสสาวะ ผู้ป่วยจึงต้องมีการดูแลให้น้ำปัสสาวะไหลได้สะดวก และการรักษาด้วยวิธีนี้อาจทำร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด
  3. การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด (Radical cystectomy) รวมทั้งท่อไตส่วนปลาย ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงในอุ้งเชิงกราน นอกจากนี้ในเพศชายจะมีการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากและต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิออกด้วย ส่วนผู้หญิงจะมีการผ่าตัดเอาบางส่วนของช่องคลอด มดลูก และรังไข่ออก (ในปัจจุบันการผ่าตัดด้วยวิธีนี้มีแนวโน้มที่จะใช้หุ่นยนต์มากขึ้น (Robotic surgery) เพราะเป็นการผ่าตัดที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและเลือดไหลไม่หยุด) มักทำในกรณีที่มะเร็งมีการลุกลามเข้าไปยังชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะแล้ว

    การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
    IMAGE SOURCE : www.windhamurologygroup.com

  4. การผ่าตัดทำทางเดินปัสสาวะใหม่ (Urinary diversion) ภายหลังการผ่าตัดปัสสสาวะออก ซึ่งแพทย์สามารถทำได้ 3 วิธีหลัก ๆ คือ
    • Ileal conduit เป็นการนำท่อไตทั้ง 2 ข้างมาเย็บต่อเข้ากับส่วนของลำไส้เล็กส่วนปลายที่นำมาทำเป็นกระเพาะปัสสาวะใหม่แล้วเปิดทางหน้าท้อง เรียกว่า “ทวารเทียม” หรือ “สโตมา” (Stoma) เพื่อใช้เป็นช่องทางขับถ่ายปัสสาวะ (สโตมาจะอยู่บริเวณหน้าท้องด้านขวาส่วนล่าง เป็นสโตมาที่เปิดถาวรและไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจะต้องใช้ถุงรองรับปัสสาวะตลอดเวลา)
    • Indiana pouch เป็นการผ่าตัดเอาลำไส้ใหญ่ส่วนต้นและลำไส้เล็กส่วนปลายมาดัดแปลงเป็นกระเพาะปัสสาวะใหม่ แล้วเย็บต่อกับท่อไตทั้ง 2 ข้าง และเปิดทางหน้าท้อง (ลักษณะของสโตมาจะมีขนาดเล็ก สามารถใช้พลาสเตอร์ยาหรือผ้าสะอาดปิดได้) การผ่าตัดด้วยวิธีนี้มีข้อคือ สามารถป้องกันไม่ให้ปัสสาวะไหลย้อนกลับเข้าสู่ไตและป้องกันการติดเชื้อที่ไตได้ อีกทั้งผู้ป่วยยังสามารถควบคุมการขับถ่ายได้โดยการใช้สายสวนปัสสาวะออกเป็นครั้ง ๆ อาจจะทุก 4-6 ชั่วโมง ดังนั้น ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องใส่ถุงรองรับปัสสาวะ
    • Neobladder เป็นการผ่าตัดทำกระเพาะปัสสาวะขึ้นมาใหม่โดยใช้บางส่วนของลำไส้เล็กมาเย็บติดเป็นกระเปาะเชื่อมต่อกับท่อปัสสาวะ แล้วนำท่อไตทั้ง 2 ข้างมาเย็บต่อเข้ากระเพาะปัสสาวะใหม่ และมีข้อดีเหมือนวิธี Indiana pouch

      การผ่าตัดทำทางเดินปัสสาวะใหม่
      IMAGE SOURCE : bradyurology.blogspot.com

  5. การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการใช้ยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำโดยตรง ซึ่งอาจเป็นการให้หลังการผ่าตัดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่ หรือให้ก่อนการผ่าตัดเพื่อทำให้ก้อนเนื้อที่จะผ่าตัดนั้นมีขนาดเล็กลง และบางกรณีอาจมีการนำมาใช้คู่กับรังสีรักษา โดยที่ผู้ป่วยนั้นจะต้องมีสภาพสภาพร่างกายที่สมบูรณ์และการทำงานของไตยังเป็นปกติ
  6. การใช้รังสีรักษา (Radiation therapy) เป็นการรักษาโดยการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยตรง มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับการรักษาด้วยการผ่าตัดได้เนื่องจากสภาพร่างกายไม่พร้อม หรือมีความเสี่ยงสูงจากการดมยาสลบ หรือผู้ป่วยอยากเลือกวิธีนี้แทนการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้รังสีรักษาในรายที่มะเร็งลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะแล้ว หรือมีการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง หรือมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น รวมถึงในผู้ป่วยบางรายที่ได้รับการผ่าตัดแล้วพบว่ามีเนื้องอกมะเร็งเหลืออยู่หรือมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และการรักษาอาจทำร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด
  7. การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นวิธีการรักษาที่ใช้ประโยชน์จากภูมิต้านทานที่มีตามธรรมชาติให้ทำหน้าที่ต่อสู้กับตัวที่ทำให้เกิดโรค

การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะตามระยะของโรค

  • ระยะที่ 0-1 การรักษาอาจทำโดยการผ่าตัดโดยการส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะ (Transurethral resection) และใช้ยาเคมีบำบัดใส่เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ (Intravesical chemotherapy) ทันทีหลังการผ่าตัด, การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกบางส่วน (Partial cystectomy), การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด (Radical cystectomy)
  • ระยะที่ 2-3 การรักษาอาจทำโดยการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด, การให้ยาเคมีบำบัดหลายชนิดร่วมกัน (Combination chemotherapy) แล้วตามด้วยการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด, การฉายรังสีรักษาจากภายนอกเพียงอย่างเดียว (External radiation therapy) หรือร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy), การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกบางส่วนเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด, การผ่าตัดโดยการส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะ
  • ระยะที่ 4 ถ้ามะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย การรักษาอาจทำโดยการให้ยาเคมีบำบัดเป็นหลัก, การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมดแล้วตามด้วยการให้ยาเคมีบำบัด, การฉายรังสีรักษาจากภายนอกเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด, การผ่าตัดทำทางเดินปัสสาวะใหม่ (Urinary diversion) เพื่อบรรเทาอาการและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ส่วนในรายที่มะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายแล้ว เช่น ปอด ตับ หรือกระดูก การรักษาจะมีทั้งการให้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับการรักษาเฉพาะที่ (การผ่าตัดหรือการฉายรังสี), การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy), การฉายรังสีรักษาจากภายนอกเพื่อบรรเทาอาการและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย, การผ่าตัดทำทางเดินปัสสาวะใหม่เพื่อบรรเทาอาการและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

  1. ผู้ป่วยควรรับประทานผักและผลไม้สดให้มาก รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ไข่ นมสด ปลา เป็นต้น ส่วนผู้ดูแลควรปรุงอาหารตามที่ผู้ป่วยชอบ แต่ต้องหลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดและอาหารที่ย่อยได้ยาก
  2. ครอบครัวต้องให้กำลังใจผู้ป่วยและช่วยขจัดอารมณ์ที่ไม่ดีของผู้ป่วยออกไป
  3. เนื่องจากการดูแลตนเองจะเหมือนกับโรคมะเร็งอื่น ๆ ซึ่งจะขอกล่าวถึงต่อไปอย่างละเอียดในเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง
  4. เนื่องจากโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้มาก ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรติดตามผลการรักษาทุก 3-6 เดือนในปีแรก และใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะทุกปี

ผลการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะจัดเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคยังขึ้นอยู่กับระยะของโรค อายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยพบว่าอัตราการอยู่รอดชีวิตภายหลังการรักษา 5 ปี ในโรคระยะที่ 0 คือ ประมาณ 98%, ระยะที่ 1 ประมาณ 88%, ระยะที่ 2 ประมาณ 63%, ระยะที่ 3 ประมาณ 46% และระยะที่ 4 ประมาณ 15% (สถิติของ The National Cancer Institute’s SEER ในสหรัฐอเมริกา)

ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

ผลการรักษาในแต่ละวิธีจะแตกต่างกันไป และผลข้างเคียงอาจพบได้มากขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยหลาย ๆ วิธีร่วมกัน

  • ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เช่น อาการปวดแผลผ่าตัด การมีเลือดออก การติดเชื้อ การผ่าตัดถูกอวัยวะข้างเคียงทำให้เกิดการบาดเจ็บ (เช่น ลำไส้) สำหรับผู้ป่วยชายที่ต้องผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากและต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิออก อาจทำให้เกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ส่วนในผู้ป่วยหญิงการผ่าตัดรังไข่ออกจะทำให้ไม่สามารถมีบุตรได้และเกิดภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัย
  • ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผมร่วง การทำงานของไตผิดปกติ เม็ดเลือดขาวต่ำ และมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้มีเลือดออกได้ง่าย
  • ผลข้างเคียงจากรังสีรักษา คือ ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกราน

การตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองให้พบโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวต่าง ๆ เกิดขึ้น จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

การป้องกันมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ แต่มีคำแนะนำที่อาจช่วยลดโอกาสการเกิดโรคได้บ้าง คือ การลดหรือหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปแล้วในหัวข้อสาเหตุ เช่น

  1. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนก่อนเข้านอน เพราะจะมีการตกค้างของสารก่อมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานานในช่วงที่นอนหลับ
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะดังที่กล่าวไป และหากต้องทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีจะต้องปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีอย่างเคร่งครัด
  3. ดื่มน้ำให้มาก ๆ ทุกวัน เพื่อช่วยละลายสารพิษที่อาจสะสมอยู่ในปัสสาวะและชะล้างสารพิษในกระเพาะปัสสาวะออกให้เร็วที่สุด
  4. กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ และหลากหลายชนิด เพราะผักและผลไม้มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้
  5. หากสงสัยว่าเป็นโรคนี้ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด หรือรักษาอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder cancer)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 1173-1174.
  2. National Cancer Institute.  “Bladder cancer”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.cancer.gov.  [02 พ.ค. 2017].
  3. ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “มะเร็งตับกระเพาะปัสสาวะ”.  (นพ.ศิวัฒม์ ภู่ริยะพันธ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : sriphat.med.cmu.ac.th.  [03 พ.ค. 2017].
  4. หน่วยสารสนเทศมะเร็ง โรงพยาบาลสงขลานครินทร์.  “มะเร็งตับกระเพาะปัสสาวะ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : medinfo2.psu.ac.th/cancer/.  [03 พ.ค. 2017].
  5. หาหมอดอทคอม.  “มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Urinary bladder cancer)”.  (พญ.ชลศณีย์ คล้ายทอง).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [04 พ.ค. 2017].
  6. โรงพยาบาลมะเร็งสมัยใหม่กว่างโจว.  “มะเร็งตับกระเพาะปัสสาวะ”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.moderncancerthai.com.  [04 พ.ค. 2017].
  7. พยาบาลสาร คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “การดูแลผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะหลังผ่าตัดเปลี่ยนช่องทางขับถ่ายปัสสาวะ”.  (พัชรินทร์ ไชยสุรินทร์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.tci-thaijo.org.  [05 พ.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด