มะเม่า สรรพคุณและประโยชน์ของมะเม่า 29 ข้อ ! (หมากเม่า, มะเม่าหลวง)

มะเม่า

มะเม่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Antidesma puncticulatum Miq. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Antidesma bunius var. thwaitesianum (Müll.Arg.) Trimen, Antidesma thwaitesianum Müll.Arg.) จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)

สมุนไพรมะเม่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หมากเม้า บ่าเหม้า (ภาคเหนือ), หมากเม่า (ภาคอีสาน),  มะเม่า ต้นเม่า (ภาคกลาง), เม่า, เม่าเสี้ยน, หมากเม่าหลวง, มะเม่าหลวง, มัดเซ เป็นต้น

พืชในตระกูลมะเม่ามีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 170 ชนิด และกระจายอยู่ในเขตร้อนของเอเชีย แอฟริกา ออสเตรเลีย หมู่เกาะอินโดนีเซีย และเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่จะมีอยู่เพียง 5 สายพันธุ์เท่านั้นที่พบได้มากในประเทศไทย ซึ่งได้แก่ มะเม่าหลวง มะเม่าสร้อย มะเม่าไข่ปลา มะเม่าควาย และมะเม่าดง แต่ถ้าหากเราพูดถึง “มะเม่า” เฉย ๆ ก็จะหมายถึง เม่าหลวง นั่นเองครับ

ลักษณะของมะเม่า

  • ต้นมะเม่า เป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืนยาว แตกกิ่งก้านมาก กิ่งแขนงแตกเป็นพุ่มทรงกลม สูงประมาณ 5-10 เมตร เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดถึง 4 คนโอบ และมีเนื้อไม้แข็ง มักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง หรือตามหัวไร่ปลายนาทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยจังหวัดกาญจนบุรีจะมีต้นมะเม่าในป่าเป็นจำนวนมาก และมะเม่ายังเป็นผลไม้ท้องถิ่นของภาคอีสาน ในเทือกเขาภูพานของจังหวัดสกลนครอีกด้วย
  • ใบมะเม่า เป็นใบเดี่ยว สีเขียวสด ผิวใบเรียบเป็นมันทั้งสองด้าน ใบออกหนาแน่นเป็นร่มเงาได้เป็นอย่างดี
  • ดอกมะเม่า ดอกมีขนาดเล็กสีขาวอมเหลือง ออกดอกเป็นช่อยาวตามปลายกิ่งและซอกใบ ช่อดอกคล้ายพริกไทย ลักษณะของดอกเป็นดอกแยกเพศกันอยู่คนละต้น โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน และสุกในเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน
  • ผลมะเม่า ลักษณะของผลเป็นทรงกลม ผลมีขนาดเล็กและเป็นพวง ผลดิบมีสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวเข้ม มีรสเปรี้ยว แต่เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและม่วงดำในที่สุด โดยผลสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยวและฝาด เมล็ดกรุบกรับ ในหนึ่งผลจะมีหนึ่งเมล็ด เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง

ต้นมะเม่าหมากเม่า
มะเม่าหลวง เป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย โดยผลมะเม่าสุกจะมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด เช่น มีกรดอะมิโนที่ร่างกายต้องการมากถึง 18 ชนิดจากทั้งหมด 20 ชนิด นอกจากนี้ยังมีแคลเซียม เหล็ก สังกะสี และวิตามินต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี และยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรที่ช่วยรักษาอาการต่าง ๆ อีกด้วย

สรรพคุณของมะเม่า

  1. ผลมะเม่าสุกจะมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง ช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกาย และยังช่วยชะลอความแก่ชราได้อีกด้วย
  2. รสฝาดของผลมะเม่าสุก จะมีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยยับยั้งไม่ให้ผนังหลอดเลือดเสื่อมหรือเปราะง่าย
  3. รสขมของมะเม่าจะมีสารแทนนิน (Tannin) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้เกล็ดเลือดจับตัวกันน้อยลง จึงมีส่วนช่วยป้องกันโรคหัวใจล้มเหลวได้
  4. ทั้งห้าส่วนของมะเม่าใช้ต้มดื่มเป็นประจำเป็นยาอายุวัฒนะได้ (ผล, ราก, ต้น, ใบ, ดอก)
  5. น้ำมะเม่าสกัดเข้มข้นใช้เป็นอาหารบำรุงสุขภาพได้ดีเหมือนน้ำลูกพรุนสกัดเข้มข้น มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ
  6. มะเม่ามีศักยภาพในการช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันและยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV อีกด้วย (กัมมาลและคณะ, 2546)
  7. ช่วยบำรุงสายตา (ผลสุก)
  8. ช่วยแก้กษัย (ต้น, ราก)มะเม่าหลวง
  9. ช่วยขับโลหิต (ต้น, ราก)
  10. มะเม่ามีสรรพคุณช่วยฟอกโลหิต (ผลสุก)
  11. มีสรรพคุณทางยาช่วยขับเสมหะ (ผลสุก)
  12. ผลมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ผลสุก)
  13. ช่วยขับปัสสาวะ (ต้น, ราก)
  14. ช่วยแก้มดลูกพิการ (ต้น, ราก)
  15. ช่วยแก้มดลูกอักเสบช้ำบวม (ต้น, ราก)
  16. ช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี (ต้น, ราก)
  17. ช่วยขับน้ำคาวปลา (ต้น, ราก)
  18. ช่วยบำรุงไต (ต้น, ราก)
  19. ช่วยแก้เส้นเอ็นพิการ (ต้น, ราก)
  20. ช่วยแก้และบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (ต้น, ราก)
  21. ใบมะเม่านำไปอังไฟแล้วนำมาประคบใช้รักษาอาการฟกช้ำดำเขียวได้ (ใบ)
  22. ใบสดนำมาตำใช้พอกรักษาแผลฝีหนองได้ (ใบ)

ประโยชน์ของมะเม่า

  1. ผลสุกใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ หรือจะนำมาทำเป็นส้มตำมะเม่าก็ได้เช่นกัน
  2. ยอดอ่อนของมะเม่าใช้รับประทานเป็นผักสดได้ (ยอดอ่อน)
  3. สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น แยม น้ำผลไม้ หรือนำไปทำเป็นไวน์เกรดคุณภาพสูง เป็นต้น
  4. น้ำหมากเม่าหรือน้ำคั้นที่มาจากผลมะเม่าสุกสามารถนำไปทำสีผสมอาหารได้ โดยจะให้สีม่วงเข้ม แถมยังปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วยครับ
  5. เนื้อไม้ของต้นมะเม่าสามารถนำมาใช้ทำเป็นที่อยู่อาศัยหรือทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้
  6. พระสงฆ์ในแถบเทือกเขาภูพานใช้เป็นน้ำปาณะมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล
  7. ประโยชน์ของมะเม่าอย่างอื่นก็เช่น การปลูกเป็นไม้ประดับหรือใช้ปลูกเพื่อเป็นร่มไม้ เป็นต้น

คุณค่าทางโภชนาการของผลมะเม่า ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 75.2 กิโลแคลอรี
  • โปรตีน 0.63 กรัม
  • เส้นใย 0.79 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 17.96 กรัมมะเม่า
  • กรดแอสพาร์ติก 559.43 มิลลิกรัม
  • ทรีโอนีน 227.47 มิลลิกรัม
  • ซีรีน 285.75 มิลลิกรัม
  • กรดกลูตามิก 618,62 มิลลิกรัม
  • โพรลีน 234.94
  • ไกลซีน 250.23 มิลลิกรัม
  • อะลานีน 255.17 มิลลิกรัม
  • วาลีน 57.36 มิลลิกรัม
  • ซีสทีน 274.60 มิลลิกรัม
  • เมทไธโอนีน 22.87 มิลลิกรัม
  • ไอโซลิวซีน 226.78 มิลลิกรัม
  • ลิวซีน 392.53 มิลลิกรัม
  • ไทโรซีน 175.17 มิลลิกรัม
  • ฟีนิลอะลานีน 317.70 มิลลิกรัม
  • ฮีสทิดีน 129.43 มิลลิกรัม
  • ไลซีน 389.08 มิลลิกรัม
  • อาร์จินีน 213.33 มิลลิกรัม
  • ทริปโตเฟน 189.00 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 1 4.50 ไมโครกรัม
  • วิตามินบี 2 0.03 ไมโครกรัม
  • วิตามินซี 8.97 มิลลิกรัม
  • วิตามินอี 0.38 ไมโครกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 13.30 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 1.44 มิลลิกรัม

ข้อมูลจาก : กองวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสานสกลนคร

แหล่งอ้างอิง : กรมส่งเสริมการเกษตร, กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, กองวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กรมวิทยาศาสตร์บริการงานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, กองวิทยาศาสตร์ชีวภาพและกองโภชนาการ สถาบันราชมงคลจังหวัดสกลนคร

ภาพประกอบ : www.bloggang.com (P.Chin), www.hiangraifocus.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด