37 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะเดื่อปล้อง !

มะเดื่อปล้อง

มะเดื่อปล้อง ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus hispida L.f. จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)[1]

สมุนไพรมะเดื่อปล้อง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เดื่อสาย (เชียงใหม่), เดื่อปล้อง (นครศรีธรรมราช, สระบุรี, ภาคเหนือ), เดื่อป่อง (กรุงเทพฯ), หมากหนอด (ไทใหญ่), ตะเออน่า เอาแหน่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ดิ๊โจ่เหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ฮะกอสะนียา (มลายู-นราธิวาส), ไฮ่มะเดื่อปล้อง (ปะหล่อง), กระซาล (ขมุ), ลำเดื่อ ลำเดื่อปล้อง (ลั้วะ), งงหยอเจีย (เมี่ยน) เป็นต้น[1],[5]

ลักษณะของมะเดื่อปล้อง

  • ต้นมะเดื่อปล้อง จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลางหรือใหญ่ มีความสูงของต้นได้ประมาณ 10 เมตร และอาจสูงได้ถึง 12 เมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกลำต้นเรียบหนาเป็นสีน้ำตาลหรือสีเทาปนดำ ตามลำต้นมีรอยเป็นข้อปล้องห่าง ๆ คล้ายรอยควั่นเป็นข้อ ๆ ตลอดถึงกิ่ง กิ่งก้านอ้วนสั้น กิ่งอ่อนและลำต้นอ่อนกลวง ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาวข้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ชอบดินร่วนอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี ชอบความชุ่มชื้น ในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าละเมาะ พื้นราบ ที่ว่างเปล่าทั่วไป และริมลำธาร ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่อินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย[1],[2],[4],[5]

ต้นมะเดื่อปล้อง

  • ใบมะเดื่อปล้อง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปรียาว รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ปลายใบมนมีติ่งแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบหยักถี่ ๆ ตลอดใบ โดยเฉพาะครึ่งปลายบน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-13 เซนติเมตร และยาวประมาณ 11-28 เซนติเมตร เนื้อใบคล้ายกระดาษ ผิวใบด้านบนมีขนสากคายมือ ส่วนท้องใบด้านล่างมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม ใบแก่มีขนหยาบ ๆ และบนเส้นใบด้านล่าง เส้นใบข้างโค้ง 5-9 คู่ เส้นใบที่ฐานยาวประมาณ 1/5 ของใบ ก้านใบยาวประมาณ 1.5-4 เซนติเมตร มีต่อมเป็นปม หูใบยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร หลุดร่วงง่าย[1],[2],[4]

ใบมะเดื่อปล้อง

  • ดอกมะเดื่อปล้อง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อมะเดื่อ โดยจะออกตามลำต้นและกิ่ง และอาจพบออกตามโคนต้นหรือตามกิ่งที่ห้อยลงไม่มีใบ หรือพบได้บ้างที่เกิดตามซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็กอัดกันแน่น เจริญเติบโตอยู่ในฐานรองดอกที่ห่อหุ้มไว้เพื่อที่จะเจริญเติบโตไปเป็นผล มีลักษณะคล้ายผล ภายในกลวง ที่ปลายมีช่องเปิดที่มีใบประดับปิดอยู่ มีก้านช่อดอกยาว ดอกอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนดอกแก่เป็นสีเหลือง ที่โคนมีใบประดับ 3 ใบ ยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ภายในมีดอก 3 ประเภท คือ ดอกเพศผู้ ดอกเพศเมีย และดอกปุ่มหูด ดอกเป็นแบบแยกเพศ แต่อยู่ในช่อดอกเดียวกัน ดอกเพศผู้มีประมาณ 1-2 แถว กลีบรวมจักเป็น 3-4 พู ที่ปลายมีขน เกสรเพศผู้มี 1 อัน ส่วนดอกเพศเมียมีหรือไม่มีก้าน กลีบรวมเชื่อมติดกันคล้ายปลอดหรือท่อสั้น ๆ และดอกปุ่มหูดไม่มีก้าน กลีบรวมปกคลุมรังไข่ ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม[1],[2],[4]

ดอกมะเดื่อปล้อง

  • ผลมะเดื่อปล้อง เป็นผลแบบมะเดื่อ รูปทรงกลมออกแป้น รูปลูกข่าง แคบที่ฐาน ก้นผลมีรอยบุ๋ม มีเส้นสัน 7-9 เส้น แผ่รอบ ๆ จากยอด มีขนอ่อนนุ่ม และมีเกล็ดปกคลุมแบบห่าง ๆ ออกผลติดเป็นกลุ่มแน่นประมาณ 10-15 ผล ผลมีขนาดประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ มีจุดสีขาวตลอดทั้งผล ผลสดเป็นสีเขียว พอสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก ก้านผลยาวประมาณ 0.6-2.5 เซนติเมตร มีกาบรูปสามเหลี่ยม 3 กาบ เป็นช่อยาวตามแนวของกิ่ง ห้อยลงจากลำต้นและกิ่งใหญ่ ติดผลในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2],[4]

รูปมะเดื่อปล้อง

ผลมะเดื่อปล้อง

สรรพคุณของมะเดื่อปล้อง

  1. ผลมีรสขม เป็นยาเย็น มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคโลหิตจาง (ผล)[4]
  2. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุง (เปลือกต้น)[4]
  3. ชาวปะหล่องจะใช้กิ่งที่กลวง นำมาทำเป็นหลอดดูดน้ำ เชื่อว่าจะช่วยทำให้มีความจำดี (กิ่งกลวง)[5]
  4. ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้จับสั่น (ผล)[4] แก้มาลาเรีย (เปลือกต้น)[4]
  5. ใบมะเดื่อปล้อง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาอาการไข้ หนาวสั่น หรือรักษาอาการไข้หลังการคลอดบุตร หนาวสั่น (ใบ)[1],[2],[3],[4]
  6. ราก ลำต้น เหง้า นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หวัด (ราก, ลำต้น, เหง้า)[1],[2],[3]
  7. รากและเปลือกต้นมีรสฝาดเฝื่อน มีสรรพคุณเป็นยากล่อมเสมหะ (รากและเปลือกต้น)[1],[2]
  8. ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ผล)[4]
  9. ช่วยแก้เลือดกำเดาไหล (ผล)[4]
  10. ผลใช้ผสมกับเหง้าไพล และรากกล้วยตีบ อย่างละ 3 ชิ้น ใส่ถ้วยเติมน้ำ เอาเหล็ก (ขาง) เผาไฟให้แดงแล้วจุ่มแช่ลงไป ดื่มน้ำที่ได้เป็นยาแก้ซางปากเปื่อย (ผล)[3]
  1. ผลแห้งใช้เป็นยารักษาแผลในปาก (ผลแห้ง)[4]
  2. ผลแห้งมีสรรพคุณช่วยทำให้อาเจียน (ผลดิบกินแล้วทำให้วิงเวียน) ส่วนเปลือกต้น ผล และเมล็ดก็มีฤทธิ์ทำให้อาเจียนได้เช่นกัน (ผลแห้ง, ผล, เมล็ด, เปลือกต้น)[4]
  3. รากและเปลือกต้น ใช้กินเป็นยาแก้อาการท้องเสีย (รากและเปลือกต้น)[1],[2]
  4. คนเมืองจะใช้ไม้ร้อยผลร่วมกับไพล กล้วยดิบที่ฝานเป็นแว่น ๆ นำมาแช่ในน้ำ แล้วให้คนที่มีอาการท้องร่วงกินแก้อาการท้องร่วง (ผล)[5]
  5. ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด แก้อาการปวดกระเพาะ (ผล)[4]
  6. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการปวดท้องในเด็ก (เปลือกต้น)[4]
  7. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (เปลือกต้น)[4]
  8. ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปัสสาวะเหลืองจัดหรือปัสสาวะเป็นเลือด (ใบ)[1],[2],[3],[4]
  9. ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร (ผล)[4]
  10. ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาอาการม้ามโต (ใบ)[3]
  11. ช่วยรักษาโรคตัวเหลือง (ผล)[4]
  12. ผลมีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน ใช้เป็นยาพอก ใช้ล้างแผล สมานแผล แก้บวมอักเสบ (ผล)[4]
  13. ใบใช้เป็นยาใส่แผลฝี แผลหนองอักเสบ แผลในจมูก (ใบ)[4]
  14. ช่วยแก้โรคผิวหนังเรื้อรัง (ผล)[4]
  15. รากและเปลือกต้น นำมาตำใช้เป็นยาทาแก้ฝี แก้เม็ดผื่นคันตามผิวหนัง หรือใช้กินเป็นยาแก้ประดง (รากและเปลือกต้น)[1],[2] หรือจะใช้แก่นนำมาฝนกับน้ำปูนใสทาแก้ฝีได้ดีมาก (แก่น)[6]
  16. ใช้เป็นยาพอกฝีมะม่วง (เปลือกต้น)[4]
  17. ช่วยรักษาสิวฝ้า (เปลือกต้น)[4]
  18. เปลือกต้นนำมาต้มกับกล้วยน้ำว้าเอาผ้าชุบน้ำพันรอบตัว แก้อาการบวมทั้งตัว (เปลือกต้น)[3]
  19. รากและเปลือกต้นใช้กินเป็นยาแก้พิษในกระดูก (รากและเปลือกต้น)[1],[2]
  20. ลำต้นเอามาตากแห้ง ต้มเอาน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคกระดูก (ลำต้น)[6]
  21. ช่วยรักษากระดูกแตกหัก (เปลือกต้น)[4]
  22. ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง มูเซอ จะใช้ราก ลำต้น เหง้า นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยากระตุ้นการหลั่งของน้ำนม (ราก, ลำต้น, เหง้า)[1],[2],[3] ส่วนผลก็มีสรรพคุณช่วยขับน้ำนมเช่นกัน (ผล)[4]

ประโยชน์ของมะเดื่อปล้อง

  1. ผลใช้รับประทานได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก เนื่องจากมักมีแมลงมาอาศัยอยู่ข้างในผล[5] และมีบ้างที่ใช้ผลสุกนำมาทำแยม[4]
  2. ใบอ่อนใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก ลาบ ส่วนช่อดอกและผลอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดหรือต้มจิ้มกับน้ำพริก นำมาปรุงอาหารจำพวกแกงส้ม ผลดิบใช้รับประทานกับแกงบอนหรือหลามบอน หรือนำไปประกอบอาหารโดยการหลามกับกระดูกหมู[4],[5]
  3. ชาวลั้วะจะใช้ยอดอ่อนนำมาต้มเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงหมู[5]
  4. เปลือกต้นใช้ทำเชือกหยาบ ๆ[4]
  5. เนื้อไม้ใช้สำหรับทำฟืน (ลั้วะ)[5]

ข้อควรระวัง : ยางทั้งจากใบ เปลือก และผลมะเดื่อปล้อง ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นเป็นแผลได้[7]

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “มะเดื่อปล้อง (Ma Duea Plong)”.  หน้า 220.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “มะเดื่อปล้อง”.  หน้า 153.
  3. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “มะเดื่อปล้อง”.  หน้า 112.
  4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “มะเดื่อปล้อง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [03 พ.ย. 2014].
  5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “มะเดื่อปล้อง, เดื่อปล้อง”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 7 (ก่องกานดา ชยามฤต, ลีนา ผู้พัฒนพงศ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [03 พ.ย. 2014].
  6. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “มะเดื่อปล้อง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bedo.or.th.  [03 พ.ย. 2014].
  7. ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา.  “พืชมีพิษในประเทศไทย (1)”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/ez.mm_display.asp.  [03 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Vijayasankar Raman, Dhireash Bisht, judymonkey17, Arun delonix, Ngo Duy Thuong, Ahmad Fuad Morad)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด