มะเดื่อปล้อง
มะเดื่อปล้อง ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus hispida L.f. จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)[1]
สมุนไพรมะเดื่อปล้อง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เดื่อสาย (เชียงใหม่), เดื่อปล้อง (นครศรีธรรมราช, สระบุรี, ภาคเหนือ), เดื่อป่อง (กรุงเทพฯ), หมากหนอด (ไทใหญ่), ตะเออน่า เอาแหน่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ดิ๊โจ่เหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ฮะกอสะนียา (มลายู-นราธิวาส), ไฮ่มะเดื่อปล้อง (ปะหล่อง), กระซาล (ขมุ), ลำเดื่อ ลำเดื่อปล้อง (ลั้วะ), งงหยอเจีย (เมี่ยน) เป็นต้น[1],[5]
ลักษณะของมะเดื่อปล้อง
- ต้นมะเดื่อปล้อง จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลางหรือใหญ่ มีความสูงของต้นได้ประมาณ 10 เมตร และอาจสูงได้ถึง 12 เมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกลำต้นเรียบหนาเป็นสีน้ำตาลหรือสีเทาปนดำ ตามลำต้นมีรอยเป็นข้อปล้องห่าง ๆ คล้ายรอยควั่นเป็นข้อ ๆ ตลอดถึงกิ่ง กิ่งก้านอ้วนสั้น กิ่งอ่อนและลำต้นอ่อนกลวง ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาวข้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ชอบดินร่วนอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี ชอบความชุ่มชื้น ในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าละเมาะ พื้นราบ ที่ว่างเปล่าทั่วไป และริมลำธาร ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่อินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย[1],[2],[4],[5]
- ใบมะเดื่อปล้อง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปรียาว รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ปลายใบมนมีติ่งแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบหยักถี่ ๆ ตลอดใบ โดยเฉพาะครึ่งปลายบน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-13 เซนติเมตร และยาวประมาณ 11-28 เซนติเมตร เนื้อใบคล้ายกระดาษ ผิวใบด้านบนมีขนสากคายมือ ส่วนท้องใบด้านล่างมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม ใบแก่มีขนหยาบ ๆ และบนเส้นใบด้านล่าง เส้นใบข้างโค้ง 5-9 คู่ เส้นใบที่ฐานยาวประมาณ 1/5 ของใบ ก้านใบยาวประมาณ 1.5-4 เซนติเมตร มีต่อมเป็นปม หูใบยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร หลุดร่วงง่าย[1],[2],[4]
- ดอกมะเดื่อปล้อง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อมะเดื่อ โดยจะออกตามลำต้นและกิ่ง และอาจพบออกตามโคนต้นหรือตามกิ่งที่ห้อยลงไม่มีใบ หรือพบได้บ้างที่เกิดตามซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็กอัดกันแน่น เจริญเติบโตอยู่ในฐานรองดอกที่ห่อหุ้มไว้เพื่อที่จะเจริญเติบโตไปเป็นผล มีลักษณะคล้ายผล ภายในกลวง ที่ปลายมีช่องเปิดที่มีใบประดับปิดอยู่ มีก้านช่อดอกยาว ดอกอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนดอกแก่เป็นสีเหลือง ที่โคนมีใบประดับ 3 ใบ ยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ภายในมีดอก 3 ประเภท คือ ดอกเพศผู้ ดอกเพศเมีย และดอกปุ่มหูด ดอกเป็นแบบแยกเพศ แต่อยู่ในช่อดอกเดียวกัน ดอกเพศผู้มีประมาณ 1-2 แถว กลีบรวมจักเป็น 3-4 พู ที่ปลายมีขน เกสรเพศผู้มี 1 อัน ส่วนดอกเพศเมียมีหรือไม่มีก้าน กลีบรวมเชื่อมติดกันคล้ายปลอดหรือท่อสั้น ๆ และดอกปุ่มหูดไม่มีก้าน กลีบรวมปกคลุมรังไข่ ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม[1],[2],[4]
- ผลมะเดื่อปล้อง เป็นผลแบบมะเดื่อ รูปทรงกลมออกแป้น รูปลูกข่าง แคบที่ฐาน ก้นผลมีรอยบุ๋ม มีเส้นสัน 7-9 เส้น แผ่รอบ ๆ จากยอด มีขนอ่อนนุ่ม และมีเกล็ดปกคลุมแบบห่าง ๆ ออกผลติดเป็นกลุ่มแน่นประมาณ 10-15 ผล ผลมีขนาดประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ มีจุดสีขาวตลอดทั้งผล ผลสดเป็นสีเขียว พอสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก ก้านผลยาวประมาณ 0.6-2.5 เซนติเมตร มีกาบรูปสามเหลี่ยม 3 กาบ เป็นช่อยาวตามแนวของกิ่ง ห้อยลงจากลำต้นและกิ่งใหญ่ ติดผลในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2],[4]
สรรพคุณของมะเดื่อปล้อง
- ผลมีรสขม เป็นยาเย็น มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคโลหิตจาง (ผล)[4]
- เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุง (เปลือกต้น)[4]
- ชาวปะหล่องจะใช้กิ่งที่กลวง นำมาทำเป็นหลอดดูดน้ำ เชื่อว่าจะช่วยทำให้มีความจำดี (กิ่งกลวง)[5]
- ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้จับสั่น (ผล)[4] แก้มาลาเรีย (เปลือกต้น)[4]
- ใบมะเดื่อปล้อง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาอาการไข้ หนาวสั่น หรือรักษาอาการไข้หลังการคลอดบุตร หนาวสั่น (ใบ)[1],[2],[3],[4]
- ราก ลำต้น เหง้า นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หวัด (ราก, ลำต้น, เหง้า)[1],[2],[3]
- รากและเปลือกต้นมีรสฝาดเฝื่อน มีสรรพคุณเป็นยากล่อมเสมหะ (รากและเปลือกต้น)[1],[2]
- ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ผล)[4]
- ช่วยแก้เลือดกำเดาไหล (ผล)[4]
- ผลใช้ผสมกับเหง้าไพล และรากกล้วยตีบ อย่างละ 3 ชิ้น ใส่ถ้วยเติมน้ำ เอาเหล็ก (ขาง) เผาไฟให้แดงแล้วจุ่มแช่ลงไป ดื่มน้ำที่ได้เป็นยาแก้ซางปากเปื่อย (ผล)[3]
- ผลแห้งใช้เป็นยารักษาแผลในปาก (ผลแห้ง)[4]
- ผลแห้งมีสรรพคุณช่วยทำให้อาเจียน (ผลดิบกินแล้วทำให้วิงเวียน) ส่วนเปลือกต้น ผล และเมล็ดก็มีฤทธิ์ทำให้อาเจียนได้เช่นกัน (ผลแห้ง, ผล, เมล็ด, เปลือกต้น)[4]
- รากและเปลือกต้น ใช้กินเป็นยาแก้อาการท้องเสีย (รากและเปลือกต้น)[1],[2]
- คนเมืองจะใช้ไม้ร้อยผลร่วมกับไพล กล้วยดิบที่ฝานเป็นแว่น ๆ นำมาแช่ในน้ำ แล้วให้คนที่มีอาการท้องร่วงกินแก้อาการท้องร่วง (ผล)[5]
- ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด แก้อาการปวดกระเพาะ (ผล)[4]
- เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการปวดท้องในเด็ก (เปลือกต้น)[4]
- เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (เปลือกต้น)[4]
- ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปัสสาวะเหลืองจัดหรือปัสสาวะเป็นเลือด (ใบ)[1],[2],[3],[4]
- ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร (ผล)[4]
- ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาอาการม้ามโต (ใบ)[3]
- ช่วยรักษาโรคตัวเหลือง (ผล)[4]
- ผลมีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน ใช้เป็นยาพอก ใช้ล้างแผล สมานแผล แก้บวมอักเสบ (ผล)[4]
- ใบใช้เป็นยาใส่แผลฝี แผลหนองอักเสบ แผลในจมูก (ใบ)[4]
- ช่วยแก้โรคผิวหนังเรื้อรัง (ผล)[4]
- รากและเปลือกต้น นำมาตำใช้เป็นยาทาแก้ฝี แก้เม็ดผื่นคันตามผิวหนัง หรือใช้กินเป็นยาแก้ประดง (รากและเปลือกต้น)[1],[2] หรือจะใช้แก่นนำมาฝนกับน้ำปูนใสทาแก้ฝีได้ดีมาก (แก่น)[6]
- ใช้เป็นยาพอกฝีมะม่วง (เปลือกต้น)[4]
- ช่วยรักษาสิวฝ้า (เปลือกต้น)[4]
- เปลือกต้นนำมาต้มกับกล้วยน้ำว้าเอาผ้าชุบน้ำพันรอบตัว แก้อาการบวมทั้งตัว (เปลือกต้น)[3]
- รากและเปลือกต้นใช้กินเป็นยาแก้พิษในกระดูก (รากและเปลือกต้น)[1],[2]
- ลำต้นเอามาตากแห้ง ต้มเอาน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคกระดูก (ลำต้น)[6]
- ช่วยรักษากระดูกแตกหัก (เปลือกต้น)[4]
- ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง มูเซอ จะใช้ราก ลำต้น เหง้า นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยากระตุ้นการหลั่งของน้ำนม (ราก, ลำต้น, เหง้า)[1],[2],[3] ส่วนผลก็มีสรรพคุณช่วยขับน้ำนมเช่นกัน (ผล)[4]
ประโยชน์ของมะเดื่อปล้อง
- ผลใช้รับประทานได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก เนื่องจากมักมีแมลงมาอาศัยอยู่ข้างในผล[5] และมีบ้างที่ใช้ผลสุกนำมาทำแยม[4]
- ใบอ่อนใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก ลาบ ส่วนช่อดอกและผลอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดหรือต้มจิ้มกับน้ำพริก นำมาปรุงอาหารจำพวกแกงส้ม ผลดิบใช้รับประทานกับแกงบอนหรือหลามบอน หรือนำไปประกอบอาหารโดยการหลามกับกระดูกหมู[4],[5]
- ชาวลั้วะจะใช้ยอดอ่อนนำมาต้มเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงหมู[5]
- เปลือกต้นใช้ทำเชือกหยาบ ๆ[4]
- เนื้อไม้ใช้สำหรับทำฟืน (ลั้วะ)[5]
ข้อควรระวัง : ยางทั้งจากใบ เปลือก และผลมะเดื่อปล้อง ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นเป็นแผลได้[7]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “มะเดื่อปล้อง (Ma Duea Plong)”. หน้า 220.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “มะเดื่อปล้อง”. หน้า 153.
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “มะเดื่อปล้อง”. หน้า 112.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะเดื่อปล้อง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [03 พ.ย. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “มะเดื่อปล้อง, เดื่อปล้อง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 7 (ก่องกานดา ชยามฤต, ลีนา ผู้พัฒนพงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [03 พ.ย. 2014].
- ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “มะเดื่อปล้อง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bedo.or.th. [03 พ.ย. 2014].
- ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา. “พืชมีพิษในประเทศไทย (1)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/ez.mm_display.asp. [03 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Vijayasankar Raman, Dhireash Bisht, judymonkey17, Arun delonix, Ngo Duy Thuong, Ahmad Fuad Morad)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)