มะอึก
มะอึก ชื่อสามัญ Solanum, Bolo Maka
มะอึก ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum stramoniifolium Jacq. จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)
สมุนไพรมะอึก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะเขือปู่ มะปู่ มะเขือขน หมากขน (ภาคเหนือ), หมากอึก หมักอึก บักเอิก (ภาคอีสาน), อึก ลูกอึก (ภาคใต้), มะอึก (ภาคกลาง), ยั่งคุยดี (กะเหรี่ยง) เป็นต้น
มะอึก เป็นพืชสวนครัวที่นิยมรับประทานและมีการเพาะปลูกอย่างแพร่หลายทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักไม่นิยมปลูกเพื่อเป็นการค้าสักเท่าไหร่ จึงไม่พบเห็นได้บ่อยเท่ามะแว้งและมะเขือพวง จึงอาจกล่าวได้ว่ามะอึกเป็นมะเขือป่าที่เป็นลูกครึ่งอยู่ระหว่างมะเขือพวงกับมะแว้งนั่นเอง
โดยเราจะนิยมใช้ผลแก่หรือผลสุกเต็มที่รับประทานเป็นผักแกล้มหรือจิ้มกับน้ำพริกต่าง ๆ ให้รสชาติเฝื่อนเล็กน้อยอร่อยมาก หรือจะใช้เปลือกผลเอาเมล็ดทิ้งแล้วหั่นเป็นฝอย ๆ ใช้โขลกรวมกับน้ำพริกกะปิเพื่อเพิ่มรสชาติก็ดีไม่น้อย หรือจะหั่นเป็นชิ้นทั้งเมล็ดใส่รวมกับส้มตำก็ได้เหมือนกัน
ลักษณะของมะอึก
- ต้นมะอึก สันนิษฐานว่าน่าจะมีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทยด้วย โดยจัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงราว 1-2 เมตร ทุกส่วนของต้นจะมีขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อนปกคลุมอยู่ ลำต้นและใบจะคล้ายคลึงกับมะเขือพวง ต่างกันที่ลำต้นและใบของมะอึกนั้นจะมีหนามและมีขนอ่อนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการการเพาะเมล็ด ชอบดินร่วนซุย น้ำปานกลาง แข็งแรงทนทานต่อโรค แมลง และดินฟ้าอากาศ
- ใบมะอึก มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง โคนใบเว้าหรือตัด ขอบใบหยักเว้าเป็นพู มีความกว้างประมาณ 15-25 เซนติเมตรและยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร แผ่นใบสีเขียว มีขนอ่อนปกคลุมผิวใบทั้งด้านบนและด้านล่าง
- ดอกมะอึก ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ซอกใบ ดอกมีสีขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ ที่โคนเชื่อมติดกัน ปลายแหลม มีเกสรตัวผู้สีเหลือง เป็นเส้นรวมเป็นยอดแหลม
- ผลมะอึก (ลูกมะอึก) ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดราว 1.8-2 เซนติเมตร ที่ผิวมีขนยาวหนาแน่น ผลอ่อนมีสีเขียว ส่วนผลสุกมีสีเหลืองแกมน้ำตาล ในผลมีเมล็ดแบนจำนวนมากเรียงเป็นแถวอยู่ภายใน และจะออกผลในช่วงปลายฤดูฝน ส่วนในเรื่องของรสชาติ มะอึกจะมีรสเปรี้ยวเป็นหลัก ซึ่งรสและกลิ่นจะมีเอกลักษณ์พิเศษในตัวของมัน
สรรพคุณของมะอึก
- รากมะอึกมีรสเย็นและเปรี้ยวเล็กน้อย ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย (ราก)
- ช่วยกัดเสมหะ ขับฟอกเสมหะในลำคอ (ผล)
- ช่วยลดไข้ แก้ไข้ แก้ไข้เพื่อดี แก้ไข้สันนิบาต (ราก)
- ช่วยแก้อาการไอ (ผล)
- ช่วยแก้น้ำลายเหนียว (ราก)
- ช่วยแก้ปอดบวม (ใบ)
- ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้เมล็ดนำมาเผาแล้วสูดดมควันเข้าไป (เมล็ด)
- ขนของผลมะอึกสามารถนำมาทอดกับไข่เพื่อช่วยขับพยาธิได้ (ขน)
- รากช่วยแก้ปวด (ราก)
- ช่วยแก้ดีพิการ แก้โทษเพื่อน้ำดี (ผล)
- รากแก้น้ำดีพิการ (ราก)
- ช่วยแก้ดีฝ่อ ดีกระตุก หรืออาการนอนสะดุ้ง ผวา เพ้อ ชนิดหลับ ๆ ตื่น ๆ ซึ่งสาเหตุมาจากโทษน้ำดีกระทำ (ราก)
- ใบใช้เป็นยาพอก แก้อาการคัน ผดผื่นคัน หรือจะใช้ดอกนำมาตำแล้วพอกก็ได้เช่นกัน (ใบ, ราก, ดอก)
- ใบใช้ตำแก้พิษฝี (ใบ)
- ช่วยกระทุ้งพิษไข้หัวทุกชนิด หรืออาการของไข้ที่มีตุ่มออกเป็นผื่นตามผิวหนัง เช่น เหือด หิด หัด อีสุกอีใส เป็นต้น (ราก)
ประโยชน์ของมะอึก
- ผลใช้รับประทานเป็นอาหาร หรือนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นผลอ่อนหรือผลสุก เช่น การนำมาทำเป็นน้ำพริกมะอึก แกงส้มกับหมูย่าง หรือใส่ส้มตำ แกงเนื้อ แกงปลาย่าง เป็นต้น
- ช่วยเพิ่มรสชาติเปรี้ยวให้อาหาร โดยจะให้รสและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เป็นพิเศษ ซึ่งแตกต่างไปจากรสเปรี้ยวจากแหล่งอื่น ๆ อย่างเช่น มะนาว มะม่วง มะขาม มะดัน เป็นต้น
- การรับประทานผลมะอึกจะช่วยเพิ่มพลังงานให้กับร่างกายได้ และยังมีธาตุแคลเซียม ธาตุเหล็ก ธาตุฟอสฟอรัส วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี ฯลฯ ที่ล้วนแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายแทบทั้งสิ้น
- ช่วยล่อนกให้มาเยี่ยมเยียนบ่อย ๆ เพราะผลมะอึกเป็นอาหารโปรดของมัน
คำแนะนำ : ก่อนการนำผลมะอึกมาใช้ทำอาหาร ควรขูดขนอ่อน ๆ ออกให้หมดเสียก่อนแล้วล้างน้ำให้สะอาด หรือจะปอกเปลือกออกเลยก็ได้ และผ่าเอาเมล็ดด้านในทิ้ง หั่นให้เป็นชิ้นพอดีคำ จะสามารถรับประทานได้ง่ายขึ้น
คุณค่าทางโภชนาการของผลมะอึก ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 53 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 9.5 กรัม
- เส้นใย 3.6 กรัม
- ไขมัน 0.8 กรัม
- โปรตีน 1.9 กรัม
- วิตามินบี 1 0.07 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.05 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 4.9 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 3 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 26 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.8 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 41 มิลลิกรัม
ข้อมูลจาก : ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดกาญจนบุรี, กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธาณสุข
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, หนังสือเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดกาญจนบุรี, หนังสือคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย (กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข), เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), กรมวิชาการเกษตร, มูลนิธิหมอชาวบ้าน (เดชา ศิริภัทร)
ภาพประกอบ : เว็บไซต์ baanmaha.com (by ฅนภูค่าว, DK ยโสธร), เว็บไซต์ the-than.com, เว็บไซต์ baanbaitong.com, www.nakhontoday.com (ปางหวัน)