มะหวด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะหวด 22 ข้อ !

มะหวด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะหวด 22 ข้อ !

มะหวด

มะหวด ชื่อวิทยาศาสตร์ Lepisanthes rubiginosa (Roxb.) Leenh. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sapindus rubiginosus Roxb.) จัดอยู่ในวงศ์เงาะ (SAPINDACEAE)[1],[2]

สมุนไพรมะหวด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หวดฆ่า[1] หวดค่า[2] (อุดรธานี), สีหวด (นครราชสีมา), สีฮอกน้อย หวดลาว (ภาคเหนือ), มะหวดป่า หวดคา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), หวดเหล้า (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ, คนเมือง), กำซำ กะซ่ำ มะหวด (ภาคกลาง), ชันรู มะหวดบาท มะหวดลิง (ภาคตะวันออกเฉียงใต้), กำจำ นำซำ มะจำ หมากจำ (ภาคใต้), สีหวดใหญ่ (บางภาคเรียก), ซำ (ทั่วไป), สือเก่าก๊ะ ยาตีนไก่ (ม้ง), เดี๋ยงอายเปียว (เมี่ยน), มะซ้าหวด (ไทลื้อ) เป็นต้น[1],[2],[5]

ลักษณะของมะหวด

  • ต้นมะหวด จัดเป็นไม้พุ่มผลัดใบหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตรและสูงได้ถึง 15 เมตร ทรงพุ่มกลมหรือเป็นรูปไข่ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล แตกเป็นร่องตามยาว กิ่งแขนงเป็นรูปทรงกระบอกเป็นร่อง ที่กิ่งก้านมีขนละเอียด เมื่อยังอ่อนอยู่จะมีขนสั้น ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการทำกิ่งตอน เจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด ชอบดินทุกชนิดที่ระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดจัด มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย จีนตอนใต้ ออสเตรเลีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ตามป่าผลัดใบ ริมลำธาร ชายป่าชื้น ชายป่าดิบ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และพื้นที่โล่งแจ้ง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 300-1,200 เมตร[1],[3],[4],[5],[6]

ต้นมะหวด

  • ใบมะหวด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียนสลับ แก่นกลางใบประกอบยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 3-6 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-11 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-30 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบด้านล่างมีสีอ่อนกว่า ผิวใบมีขนนุ่มปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียวและย่นเป็นรอย ส่วนใบอ่อนมีสีน้ำตาลอมเขียว[3]

ใบมะหวด

  • ดอกมะหวด ดอกเป็นสีขาวถึงสีเหลืองอ่อน ๆ ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงตั้ง จากปลายยอดหรือซอกใบใกล้ปลายยอด มีความยาวถึง 50 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีขาวมีขนาดเล็กและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ดอกเป็นแบบแยกเพศ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร มีกลีบดอก 4-5 กลีบ เกลี้ยงหรือมีขน กลีบดอกเป็นสีขาว โคนกลีบแคบ มีขนและมีเกล็ดเล็ก 1 เกล็ด ที่มีสันนูน 2 สัน ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 ก้าน ก้านเกสรมีขนสีน้ำตาลอ่อน ๆ ส่วนก้านเกสรเพศเมียยาวและไม่มีขน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบเป็นรูปครึ่งวงกลม กลีบนอก 2 กลีบจะเล็กกว่ากลีบในและมีขนที่ด้านนอก โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม[3]

ดอกมะหวด

รูปดอกมะหวด

  • ผลมะหวด ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปรีเว้าเป็นพู ผิวผลเกลี้ยง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผลมีพู 2 พู ผิวเกลี้ยงเปลือกและเนื้อบาง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแดง และจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำเมื่อแก่จัด เนื้อผลฉ่ำน้ำมีรสหวานใช้รับประทานได้ ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลดำเป็นมัน 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดมะหวดเป็นรูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน โดยจะติดผลใช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม[1],[3]

ผลมะหวดอ่อน

ลูกมะหวด

ผลมะหวด

สรรพคุณของมะหวด

  1. ผลมีสรรพคุณบำรุงกำลัง (ผล)[3]
  2. เปลือกต้นช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้ธาตุพิการ (เปลือกต้น)[3]
  3. รากช่วยแก้วัณโรค (ราก)[1],[2],[3]
  4. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มแก้เบื่อเมา (ราก)[3]
  5. รากใช้ตำพอกศีรษะแก้อาการปวดศีรษะได้ หรือใช้รากฝนกับเหล้าขาวแล้วนำพอกก็ได้ (ราก)[1],[2],[3]
  1. รากและใบช่วยรักษาอาการไข้ (ราก, ใบ)[1],[2].[3] ด้วยการใช้รากตำพอกศีรษะหรือนำมาฝนกับเหล้าขาวใช้พอกศีรษะ จะช่วยแก้ไข้ได้ (ราก)[5]
  2. ช่วยแก้พิษร้อน (ราก)[1],[2],[3]
  3. รากหรือใบมะหวดใช้ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ซาง (โรคในเด็กเล็กที่มีอาการเบื่ออาหาร ซึม ลิ้นเป็นฝ้า มีเม็ดขึ้นในปากและคอ) (ใบ)[3]
  4. เมล็ดนำมาต้มกับน้ำให้เด็กรับประทานเป็นยาแก้ซาง แก้ไอกรน แก้ไอหอบในเด็ก (เมล็ด)[1],[2],[3]
  5. ช่วยแก้อาการไอเรื้อรัง (เมล็ด)[3]
  6. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (ราก)[5]
  7. ผลสุกใช้รับประทาน ช่วยแก้ท้องร่วง (ผล)[3]
  8. ช่วยแก้บิด (เปลือกต้น)[3]
  9. รากเป็นยาขับพยาธิ (ราก)[3]
  10. เปลือกต้นช่วยสมานแผล (เปลือกต้น)[3]
  11. ช่วยแก้พิษฝีภายใน (ราก)[1],[2],[3]
  12. รากใช้ตำพอกรักษาโรคผิวหนัง ผิวหนังเป็นผื่นคัน (ราก)[3],[6]
  13. ช่วยแก้กระษัยเส้น (ราก)[1],[2],[3]
  14. เมล็ดมีรสฝาด ช่วยบำรุงเส้นเอ็น (เมล็ด)[3]

ประโยชน์ของมะหวด

  • เนื้อผลมะหวดฉ่ำน้ำ ผลสุกมีรสจืดฝาดถึงหวาน ใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้[1],[3]
  • ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักได้ โดยจะรับประทานเป็นผักสด ต้ม ลวกจิ้มกับน้ำพริก หรือใช้ใส่ในแกงผักรวม ใส่ปลาย่าง ฯลฯ และชาวบ้านยังนำมาใช้รองพื้นหรือคลุมข้าวที่จะใช้ทำขนมจีนเพื่อช่วยกันบูดได้อีกด้วย[3]
  • เนื้อไม้มะหวดสามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้าง ทำไม้ฟืน หรือใช้ทำด้ามเครื่องมือทางการเกษตรได้[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “มะหวด (Ma Huat)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 239.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  “มะหวด”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  หน้า 125.
  3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “มะหวด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [19 พ.ค. 2014].
  4. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7.  “มะหวด”.
  5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “มะหวด”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [19 พ.ค. 2014].
  6. งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนวารินชำราบ สพม. เขต 29. “มะหวด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ict2.warin.ac.th/botany/. [19 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Forest and Kim Starr), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด