มะหลอด
มะหลอด ชื่อวิทยาศาสตร์ Elaeagnus latifolia L. จัดอยู่ในวงศ์มะหลอด (ELAEAGNACEAE)
สมุนไพรมะหลอด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สลอดเถา หมากหลอด หรือ บะหลอด บ่าหลอด (ภาษาคำเมือง), ควยรอก (ตราด), ส้มหลอด (ภาคใต้) เป็นต้น
สมุนไพรมะหลอด เป็นพืชพื้นเมืองของไทยที่พบได้มากทางภาคเหนือ ตามป่า ตามทุ่งนา หรือตามบ้านเรือนชนบท และสามารถพบได้ทั่วไปตามชายป่าชื้น ป่าเบญจพรรณ และมักขึ้นทั่วไปตามเนินเขาในที่ร่มที่ระดับ 200-1,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
ลักษณะของมะหลอด
- ต้นมะหลอด เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ลำต้น และกิ่งมีเกล็ดสีเทาหรือสีเงิน
- ใบมะหลอด เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปรีแกมหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวอมน้ำเงินเกลี้ยง ส่วนด้านล้างมีเกล็ดเล็ก ๆ สีน้ำตาลทั่วไป กว้างประมาณ 3.5-4.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร และก้านใบยาวประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร
- ดอกมะหลอด จะออกดอกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศหรือมีดอกเพศเมียปะปนรวมอยู่ด้วย ลักษณะของกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นหลอดคล้ายสันเหลี่ยม มีความยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร ที่ปลายแยกเป็น 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 5 อัน ติดอยู่กับหลอดท่อดอก
- ผลมะหลอด มีลักษณะมีหลายรูปทรง เช่น ผลรูปรี รูปไข่ รูปกรวย รูปลูกแพร์ และรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ลักษณะโดยรวมจะคล้าย ๆ กับมะเขือเทศราชินี ผิวเปลือกจะสากเล็กน้อย มีจุดสีขาวสีเงินบนผล ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อผลสุกแล้วจะมีสีแดงเข้ม หรือแดง หรือส้มแดง หรือสีเหลือง มีรสเปรี้ยว ฝาดจนถึงหวาน ใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ และในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลเหลือง ลักษณะเมล็ดหัวท้ายแหลมยาวรี ตัวเมล็ดเป็นพู (ร่อง) โดยเมล็ดหนึ่งจะมี 8 พู
มะหลอด จะมีอยู่ด้วยกัน 3 รส โดยทุกรสจะมีรสฝาดรวมอยู่ด้วย ซึ่งได้แก่ มะหลอดส้มจะมีรสเปรี้ยว สีผลออกส้มใส, มะหลอดหวาน มีสีค่อนข้างแดงเข้ม หารับประทานได้ยาก, และมะหลอดก๋ำปอ มีรสไม่เปรี้ยวและไม่หวานมาก อย่างไรก็ตามก่อนนำมารับประทานต้องทำให้นิ่มก่อนด้วยวิธีการนวดหรือคลึง เพราะจะช่วยลดความฝาดลงไปได้เยอะ แถมยังช่วยแยกเมล็ดออกมาได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
มะหลอด เป็นผลไม้ที่บางคนคงไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยิน เพราะเท่าที่ทราบก็คือผลไม้ชนิดนี้เป็นผลไม้ของทางภาคเหนือ โดยจะออกดอกออกผลในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อยามที่ผลมันสุก ต้นจะดูสวยงามเต็มไปด้วยผลที่มีสีแดงสด สีส้ม สีเหลือง สีเขียว คละเคล้ากันไป เห็นแล้วน่ารับประทาน แต่น่าเสียดายที่ผลไม้ชนิดนี้ยังไม่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย ทำให้มีผลผลิตจำหน่ายเข้าสู่ตลาดน้อยมาก และมักพบเห็นวางจำหน่ายตามตลาดในจังหวัดรอบนอกตามชนบท ทำให้ไม่เป็นที่รู้จักเหมือนผลไม้ชนิดอื่น และยังไม่มีการส่งเสริมการปลูกอย่างจริงจัง ซึ่งในปัจจุบันค่อนข้างจะหาได้ยากขึ้นทุกที
สรรพคุณของมะหลอด
- ช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก)
- ช่วยบำรุงเนื้อหนังให้สมบูรณ์ (ใบ)
- ช่วยคุมธาตุในร่างกาย (ผล, ดอก)
- ช่วยแก้โรคตา (ดอก)
- ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียนได้ (ผล)
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ดอก)
- ช่วยแก้ไข้พิษ (เถา)
- ช่วยขับเสมหะ (เปลือกต้น)
- ทั้งต้นใช้ต้มอาบแก้อาการใจสั่นได้ (ทั้งต้น)
- ผลสุกมะหลอดใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (ผลสุก)
- ช่วยแก้อาการบิดและอาการท้องผูกในเด็ก (ผลสุก)
- ตำรับยาพื้นบ้าน ชาวล้านนาใช้เนื้อในเมล็ดผสมกับเหง้าสับปะรด 7 แว่น กับสารส้มขนาดเท่าหัวแม่มือ นำไปต้มเป็นน้ำดื่มช่วยแก้โรคนิ่วได้ (เนื้อในเมล็ด)
- ดอกใช้แก้ริดสีดวงจมูก (ดอก)
- ผลดิบใช้เป็นยาฝาดสมาน (ผลดิบ, ดอก)
- รากใช้ผสมรากเติ่ง นำไปแช่เหล้าที่ทำจากข้าวเหนียวตำ ใช้กินแก้อาการปวดกระดูก ปวดหัว หรืออาการเข่าเดินไม่ได้ (ราก)
- ดอกใช้เข้าเครื่องยา (ดอก)
ประโยชน์ของมะหลอด
- ประโยชน์ มะหลอดเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินซี มันจึงช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระได้
- ผลสุกใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ กินกับน้ำพริกหวาน หรือจะนำไปดองกับเกลือก็ได้เช่นกัน
- ผลสุกสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม นำไปทำไวน์ เป็นต้น
- ผลดิบสีเขียวสามารถนำมารับประทานร่วมกับน้ำพริกถั่วเน่าพันด้วยผักกาดและผักชีได้ คล้าย ๆ กับกินเมี่ยงคำ หรือนำมาทำส้มตำ ทำแกงส้ม เป็นต้น
แหล่งอ้างอิง : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1, หนังสือผลไม้ 111 ชนิด คุณค่าอาหารและการกิน (นิดดา หงส์วิวัฒน์, ทวีทอง หงส์วิวัฒน์), เว็บไซต์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์,เว็บไซต์สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง
ภาพประกอบ : www.thaikasetsart.com, www.postjung.com, www.bloggang.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)