มะละกอ
มะละกอ ชื่อสามัญ Papaya
มะละกอ ชื่อวิทยาศาสตร์ Carica papaya L. จัดอยู่ในวงศ์มะละกอ (CARICACEAE)
มะละกอเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่มีต้นกำเนิดจากอเมริกากลาง เป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานมากในบ้านเรา ด้วยการรับประทานสด ๆ หรือนำมาประกอบอาหาร เช่น ส้มตำ แกงส้ม หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ก็ได้ มะละกอนั้นจัดว่าเป็นไม้ล้มลุก (หลาย ๆ คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นไม้ยืนต้น)
ประโยชน์ของมะละกอนั้นก็มีค่อนข้างมาก มีสรรพคุณเป็นทั้งยารักษาโรค โดยสรรพคุณมะละกอก็เช่น ใช้เป็นยาระบาย ยาขับปัสสาวะ ช่วยรักษาโรคลักปิดลักเปิด เป็นต้น และยังมีวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 ธาตุแคลเซียม ธาตุโซเดียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก โปรตีน เป็นต้น
แต่มีคำแนะนำว่า ไม่ควรรับประทานมะละกอสุกในปริมาณมาก ๆ หรือติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจจะทำให้ผิวของคุณเปลี่ยนเป็นสีเหลืองได้
สรรพคุณของมะละกอ
- มีส่วนช่วยกระตุ้นให้มารดามีน้ำนมมากขึ้น
- มะละกอมีส่วนช่วยในการบำรุงประสาทและสมอง
- มะละกอมีเอนไซม์ที่เป็นยาช่วยย่อยอาหาร
- ช่วยป้องกันลักปิดลักเปิดหรือเลือดออกตามไรฟันได้
- ช่วยรักษาอาการขัดเบา ด้วยการใช้รากสดประมาณ 1 กำมือ รากแห้งอีกครึ่งกำมือ หั่นแล้วนำมาต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำมาดื่มวันละ 3 ครั้งก่อนมื้ออาหาร
- เป็นยาระบายอ่อน ๆ แก้อาการท้องผูก ด้วยการกินเนื้อมะละกอสุก
- ช่วยในการย่อยอาหาร
- ใช้ฆ่าพยาธิ ด้วยการใช้ยางจากผลดิบซึ่งเป็นยาช่วยย่อยโปรตีน
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา จากรากมะละกอ
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ช่วยรักษาอาการเท้าบวม ด้วยการนำใบมะละกอสด ๆ มาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับเหล้าขาว นำมาพอกบริเวณนั้น ๆ
- ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก ด้วยใช้รากมะละกอนำมาตำให้แหลกแล้วผสมกับเหล้าขาว นำมาทาบริเวณนั้น ๆ
- ใช้รักษาอาการผดผื่นคันขึ้นตามลำตัว ด้วยใช้ใบมะละกอ 1 ใบ เกลือ 1 ช้อนชา น้ำมะนาวจำนวน 2 ผล นำมาตำรวมกันให้ละเอียดแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นผดผื่น
- ช่วยรักษาโรคกลาก เกลื้อน เท้าเปื่อย ด้วยการใช้ยางมะละกอดิบมาทาวันละ 3 ครั้ง จะสามารถช่วยฆ่าเชื้อราได้
- ช่วยรักษาอาการคันอันเกิดมาจากพิษของหอยคัน ด้วยการใช้ยางมะละกอดิบ ๆ นำมาทาทั้งเช้าและเย็น
- หากโดนเสี้ยนหรือหนามตำหรือหนามหักคาเนื้อใน หากนำยางมะละกอดิบมาทา หนามจะหลุดออกมา แต่ให้บ่งเปิดปากแผลก่อน
- หากโดนตะปูตำเท้าเป็นแผล ให้นำผิวของลูกมะละกอดิบมาตำแล้วนำมาพอกแผล โดยเปลี่ยนใหม่วันละ 2 ครั้ง
- ช่วยรักษาแผลพุพอง อักเสบ ด้วยการใช้ใบมะละกอที่แห้งกรอบนำมาบดให้เป็นผง นำไปผสมกับน้ำกะทิผสมให้พอเหนียว แล้วนำมาทาแผลวันละ 3 ครั้ง
- ใช้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้เนื้อมะละกอดิบ ๆ ต้มจนเปื่อย นำมาตำแล้วพอกบริเวณบาดแผล
- ใช้รักษาอาการปวดหลังปวดข้อต่าง ๆ ด้วยการรับประทานมะละกอสุกอย่างต่อเนื่องจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้
- ช่วยรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้อไม่มีแรง ด้วยการใช้รากมะละกอตัวผู้นำมาแช่เหล้าขาวทิ้งไว้ 7 วัน และกรองเอาน้ำมาทาบริเวณที่กล้ามเนื้อหรือบริเวณที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ช่วยลดอาการปวดบวม ด้วยการนำใบมะละกอสด ๆ ไปย่างไฟหรือใช้น้ำร้อนลวก แล้วนำมาประคบบริเวณที่มีอาการ หรือนำมาตำให้พอพยาบแล้วห่อด้วยผ้าขาวบาง นำมาทำเป็นลูกประคบก็ใช้ได้เหมือนกัน
- ช่วยป้องกันการเกิดอาการตับโตหรือโรคที่เกี่ยวกับตับ
- เป็นยาช่วยบำรุงหัวใจให้แข็งแรง
- มีงานวิจัยมะละกอพบว่าการรับประทานมะละกอเป็นประจำมีส่วนช่วยในการต่อต้านโรคมะเร็งได้
ประโยชน์ของมะละกอ
- มะละกอมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระอยู่หลายชนิด ซึ่งช่วยให้สุขภาพของคุณแข็งแรง
- ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใสอยู่เสมอ
- ช่วยในการชะลอวัย ลดเลือน และป้องกันการเกิดริ้วรอยต่าง ๆ
- ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
- สามารถนำมาใช้เป็นทรีตเมนต์ทำหน้าให้หน้าใสได้อีกด้วย ด้วยการนำมะละกอสุกผสมกับน้ำผึ้งและนมสด แล้วนำมาปั่นให้เข้ากัน หลังจากนั้นนำมาทาผิวหน้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วค่อยล้างออก
- ใช้นำมารับประทานเป็นผลไม้หรือของว่าง
- ใช้นำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงส้ม ส้มตำ เป็นต้น
- สามารถนำมะละกอไปใช้หมักให้เนื้อนุ่มได้อีกด้วย เพราะมีเอนไซม์ที่ชื่อว่า Papain ซึ่งเป็นส่วนประกอบของผงหมักสำเร็จรูปที่เราเห็นขายกันอยู่ตามท้องตลาดนั่นเอง
- นำมาแปรรูป การแปรรูปมะละกอ เช่น มะละกอแช่อิ่ม มะละกอแผ่น แยมมะละกอ มะละกอเชื่อม ซอสมะละกอ เยลลี่มะละกอ มะละกอแช่อิ่ม มะละกอสามรส มะละกอดอง มะละกอผง เป็นต้น
คุณค่าทางโภชนาการของมะละกอดิบ ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 43 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 10.82 กรัม
- น้ำตาล 7.82 กรัม
- เส้นใย 1.7 กรัม
- ไขมัน 0.26 กรัม
- โปรตีน 0.47 กรัม
- วิตามินเอ 47 ไมโครกรัม 6%
- เบตาแคโรทีน 274 ไมโครกรัม 3%
- ลูทีนและซีแซนทีน 89 ไมโครกรัม
- วิตามินบี 1 0.023 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 2 0.027 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 3 0.357 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 5 0.191 มิลลิกรัม 4%
- วิตามินบี 6 0.038 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี 9 38 ไมโครกรัม 10%
- วิตามินซี 62 มิลลิกรัม 75%
- วิตามินอี 0.3 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินเค 2.6 ไมโครกรัม 2%
- ธาตุแคลเซียม 20 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุเหล็ก 0.25 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุแมกนีเซียม 21 มิลลิกรัม 6%
- ธาตุแมงกานีส 0.04 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุฟอสฟอรัส 10 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุโพแทสเซียม 182 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุโซเดียม 8 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุสังกะสี 0.08 มิลลิกรัม 1%
- ไลโคปีน 1,828 ไมโครกรัม
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
คุณค่าทางโภชนาการของมะละกอสุก ต่อ 100 กรัม
- โปรตีน 0.5 กรัม
- ไขมัน 0.1 กรัม
- วิตามินซี 70 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 24 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.6 มิลลิกรัม
- ธาตุโซเดียม 4 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 1 0.04 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.04 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 0.4 มิลลิกรัม
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : Philippine Herbal Medicine)
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, Philippine Herbal Medicine, USDA Nutrient database
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)