มะค่าแต้ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะค่าแต้ 9 ข้อ !

มะค่าแต้ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะค่าแต้ 9 ข้อ !

มะค่าแต้

มะค่าแต้ ชื่อสามัญ Ma kha num[3]

มะค่าแต้ ชื่อวิทยาศาสตร์ Sindora siamensis Miq. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Galedupa cochinchinensis (Baill.) Prain, Galedupa siamensis (Teijsm.) Prain, Sindora cochinchinensis Baill., Sindora siamensis var. siamensis, Sindora wallichii var. siamensis (Teijsm.) Baker) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1]

สมุนไพรมะค่าแต้ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะค่าหยุม มะค่าหนาม (ภาคเหนือ), แต้ (ภาคอีสาน), มะค่าหนาม มะค่าแต้ มะค่าลิง (ภาคกลาง), กอกก้อ (ชาวบน-นครราชสีมา), กอเก๊าะ ก้าเกาะ (เขมร-สุรินทร์), กรอก๊อส (เขมร-พระตะบอง), แต้หนาม เป็นต้น[1],[3],[7]

Note : ต้นมะค่าแต้เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสุรินทร์

ลักษณะของมะค่าแต้

  • ต้นมะค่าแต้ มีเขตการกระจายพันธุ์จากภูมิภาคอินโดจีนจนถึงมาเลเซีย ในประเทศไทยสามารถพบได้ตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าโคกข่าว ป่าผลัดใบ ป่าดิบแล้ง และป่าชายหาดที่ระดับใกล้กับน้ำทะเลไปจนถึงที่ระดับความสูง 400 เมตร[2] โดยจัดเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร แตกกิ่งก้านแผ่กว้าง มีเรือนยอดเป็นรูปร่มหรือเป็นทรงเจดีย์ต่ำ กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาล เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทาคล้ำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง[1],[4]

ต้นมะค่าแต้

  • ใบมะค่าแต้ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 3-4 ใบ แกนช่อใบยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบเว้าตื้น โคนใบเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร แผ่นใบหนา แผ่นใบด้านบนมีขนหยาบ ส่วนด้านท้องใบมีขนนุ่ม[1],[2]

ใบมะค่าแต้ใบแต้หนาม
  • ดอกมะค่าแต้ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบหรือตามปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองแกมเขียว มีกลีบเลี้ยงหนา 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง ปลายกลีบมีหนามขนาดเล็ก ส่วนกลีบดอกยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 ก้าน และมี 2 ก้านใหญ่กว่าก้านอื่น ๆ ด้านนอกดอกมีขนสีน้ำตาล ก้านดอกยาวประมาณ 0.2-0.4 เซนติเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2]

ดอกมะค่าแต้

  • ผลมะค่าแต้ ออกผลเป็นฝักเดี่ยวแบนค่อนข้างกลม ที่ผิวเปลือกมีหนามแหลมอยู่ทั่วไป ผลเป็นรูปไข่กว้างหรือเป็นรูปโล่ โคนเบี้ยวและมักมีติ่งแหลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4.5-10 เซนติเมตร พอแห้งจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในมีเมล็ดสีดำประมาณ 1-3 เมล็ด โดยผลจะแก่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน[1],[2]

ผลมะค่าแต้

ฝักมะค่าแต้

เมล็ดมะค่าแต้

สรรพคุณของมะค่าแต้

  1. เปลือกใช้ต้มแก้ซาง แก้ลิ้นเป็นฝ้า (เปลือก)[5]
  2. ปุ่มที่เปลือกมีรสเมาเบื่อ ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้พยาธิ ส่วนเมล็ดมีรสเมาเบื่อสุขุมเป็นยาขับพยาธิเช่นกัน (ปุ่มเปลือก, เมล็ด)[4]
  3. ปุ่มที่เปลือกนำมาต้มรมให้หัวริดสีดวงทวารหนักฝ่อได้ (ปุ่มเปลือก[4], ผล[6]) ส่วนเมล็ดมีรสเบื่อขม ทำให้ริดสีดวงทวารแห้ง (เมล็ด)[6]
  4. เปลือกต้นมะค่าแต้ใช้ผสมกับเปลือกต้นมะกอกเหลี่ยม เปลือกต้นหนามทัน เปลือกต้นยางยา และรากถั่วแปบช้าง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อีสุกอีใส (เปลือกต้น)[1]
  5. ใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง (ผล, ปุ่มเปลือก, เมล็ด)[4],[6]

ประโยชน์ของมะค่าแต้

  • เมล็ดแก่เมื่อนำมาเผาไฟแล้วกะเทาะเปลือกออก เอาแต่เนื้อข้างในมารับประทานเป็นอาหารว่างได้ โดยเนื้อจะมีลักษณะแข็ง ๆ คล้ายกับเมล็ดมะขามและมีรสมัน[4]
  • ฝักและเปลือกให้น้ำฝาดชนิด Catechol และ Pyrogallol ใช้สำหรับฟอกหนัง ส่วนเปลือกต้นจะนิยมนำมาใช้ย้อมสีเส้นไหม ย้อมแห โดยจะให้สีแดง[4]
  • ในด้านเชื้อเพลิง สามารถนำมาใช้ทำเป็นถ่านได้ดี โดยจะให้ความร้อนได้สูงถึง 7,347 แคลอรีต่อกรัม[4]
  • เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาล่อนหรือเป็นสีน้ำตาลแก่ เมื่อทิ้งไว้นาน ๆ จะเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้น มีเส้นสีเข้มกว่าสลับกับเนื้อไม้ที่ค่อนข้างหยาบ เสี้ยนสนแต่สม่ำเสมอ มีความแข็งแรงทนทาน ทนต่อปลวกได้ดี เลื่อย ผ่า ไสกบตบแต่งได้ยาก สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนได้ดี แต่จะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ใช้ทำเสา รอด ตง พื้น พื้นรอง เครื่องเรือน เครื่องบน เครื่องมือทางการเกษตร เครื่องเกวียน เครื่องไถนา หมอนรองรางรถไฟ ลูกกลิ้งนาเกลือ กระดูกเรือ หรือใช้ทำโครงเรือใบเดินทะเล ฯลฯ[2],[3],[4]

คำแนะนำ : ไม่ควรปลูกต้นมะค่าแต้ในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนบุคคล เพราะเป็นไม้ที่มีหนามแหลมซึ่งเป็นอันตรายต่อคนและสัตว์เลี้ยง[7]

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “มะค่าแต้”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 150.
  2. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4.
  3. โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “มะค่าแต้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.shc.ac.th/learning/botanical-garden/.  [12 พ.ค. 2014].
  4. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “มะค่าแต้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [12 พ.ค. 2014].
  5. ฐานข้อมูลพรรณไม้โรงเรียนบ้านเขาหินซ้อน(พัฒนาการภาคตะวันออก), งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนบ้านเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา.  “มะค่าแต้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.hinsorn.ac.th/botanyhinsorn.  [12 พ.ค. 2014].
  6. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนะราชสุดา สยามบรมราชกุมารี, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.  “มะค่าแต้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: rspg.dusit.ac.th.  [12 พ.ค. 2014].
  7. ระบบฐานข้อมูลพรรณไม้ที่เหมาะสมกับระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชน เพื่อลดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยองและพื้นที่ใกล้เคียง ภายใต้โครงการชุมชนอยู่คู่อุตสาหกรรม.  “มะค่าแต้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: onep-intranet.onep.go.th/plant/.  [12 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by SierraSunrise), treehistory.blogspot.com, www.biogang.net (by dkplp009), www.bansuanporpeang.com (by rose1000)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด