มะคังแดง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะคังแดง 12 ข้อ !

มะคังแดง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะคังแดง 12 ข้อ !

มะคังแดง

มะคังแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Dioecrescis erythroclada (Kurz) Tirveng. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gardenia erythroclada Kurz) จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1],[2]

สมุนไพรมะคังแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะคัง (เชียงใหม่), มุยแดง ลุมปุกแดง ลุมพุกแดง (นครราชสีมา), จงก่าขาว ตะลุมพุกแดง (กาญจนบุรี), จงก่าขาว จิ้งก่าขาว ชันยอด (ราชบุรี), มะคังป่า (ภาคเหนือ), ตุมกาแดง (ภาคกลาง), โรคแดง เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของมะคังแดง

  • ต้นมะคังแดง จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความของต้นได้ประมาณ 6-12 เมตร ใบดกหนาทึบ เปลือกลำต้นและกิ่งก้านเป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม มีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่สีน้ำตาลแดงขึ้นปกคลุมทั่วไป ตามโคนต้น ลำต้น และกิ่งมีหนามขนาดใหญ่โดยรอบ พุ่งตรงออกเป็นระยะ ตามกิ่งก้านอ่อนมีสีน้ำตาลอมแดง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด พบได้ตั้งแต่อินเดีย อินโดจีน พม่า และไทย มักขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง และตามป่าเบญจพรรณ[1],[2],[3]

ต้นมะคังแดง

รูปมะคังแดง

  • ใบมะคังแดง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ใบมีลักษณะรีกว้าง รูปวงรี หรือรูปไข่กลับ ปลายใบมน โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-22 เซนติเมตร หลังใบด้านบนเรียบ ส่วนท้องใบด้านล่างมีขนสีขาวขึ้นปกคลุม หรือมีขนทั้งสองด้าน ก้านใบมีขนสีขาว มีหูใบรูปสามเหลี่ยมหลุดร่วงได้ง่าย[1],[2]

ใบมะคังแดง

  • ดอกมะคังแดง ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ขนาดเล็ก โดยจะออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีเขียวอ่อน กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน กลีบดอกเป็นรูปกลม ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นติดกับกลีบดอกวางสับหว่างกลีบดอก[1]

ดอกมะคังแดง

  • ผลมะคังแดง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม สีเขียว มีสันนูนประมาณ 5-6 สัน ผิวผลเรียบ ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ออกดอกและติดผลในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม[1],[3]

ผลมะคังแดง

สรรพคุณของมะคังแดง

  1. เนื้อไม้มีรสเย็นเฝื่อน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้เลือดลมเดินไม่สะดวก แก้พิษโลหิตและน้ำเหลือง (เนื้อไม้)[1],[2]
  2. ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
  3. เนื้อไม้นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (เนื้อไม้)[1],[2]
  4. แก่นใช้ผสมกับมุ่ยขาว มุ่ยแดง หนามแท่ง เล็บแมว เงี่ยงปลาดุก เป็นยารักษามะเร็ง โรคกระเพาะอาหาร (แก่น)[2]
  5. รากใช้เป็นยาถ่าย (ราก)[2]
  6. เปลือกต้นใช้เข้ายากับมุ่ยขาว ทำเป็นยาลูกกลอน แก้ริดสีดวงทวาร (เปลือกต้น)[2]
  7. แก่นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการประจำเดือน (แก่น)[2]
  8. เนื้อไม้ใช้ผสมกับหัวยาข้าวเย็น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กระษัยไตพิการ (โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ มีปัสสาวะขุ่นข้น ปัสสาวะเหลืองหรือแดง มักมีอาการแน่นท้อง และกินอาหารไม่ได้) (เนื้อไม้)[1],[2]
  9. เปลือกต้นใช้ตำพอกแผลสดเพื่อห้ามเลือด (เปลือกต้น)[1],[2]
  10. แก่นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย (แก่น)[2]
  11. เปลือกต้นใช้เข้ายากับมุ่ยขาว ทำเป็นยาลูกกลอน แก้อาการปวดเส้นเอ็น อัมพฤกษ์ อัมพาต (เปลือกต้น)[2]

ประโยชน์ของมะคังแดง

  • เนื้อไม้ใช้ทำหน้าไม้สำหรับล่าสัตว์ ทำเครื่องมือทางการเกษตร[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “มะคังแดง (Ma Khang Daeng)”.  หน้า 217.
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “มะคังแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [04 พ.ย. 2014].
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “มะคังแดง”.  อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2, ไม้ต้นในสวน Tree in the Garden.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [04 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : thaiforestherb.blogspot.com, www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/, www.qsbg.org

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด