มะกล่ำต้น สรรพคุณและประโยชน์ของมะกล่ำต้น 26 ข้อ !

มะกล่ำต้น สรรพคุณและประโยชน์ของมะกล่ำต้น 26 ข้อ !

มะกล่ำต้น

มะกล่ำต้น ชื่อสามัญ Red sandalwood tree, Sandalwood tree, Bead tree, Coralwood tree[2]

มะกล่ำต้น ชื่อวิทยาศาสตร์ Adenanthera pavonina L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Adenanthera gersenii Scheff., Adenanthera polita Miq., Corallaria parvifolia Rumph.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)[1]

สมุนไพรมะกล่ำต้น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะแค้ก หมากแค้ก (แม่ฮ่องสอน), มะหล่าม (นครราชสีมา), บนซี (สตูล), ไพ (ปัตตานี), มะแดง มะหัวแดง มะโหกแดง (ภาคเหนือ), มะกล่ำตาช้าง (ทั่วไป), หมากแค้ก มะแค้ก (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), มะแค้กตาหนู (คนเมือง), กัวตีมเบล้ (ม้ง), ซอรี่เหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), กล่องเคร็ด (ขมุ), ลิไพ, ไพเงินก่ำ เป็นต้น[1],[2],[5],[6]

Note : ต้นมะกล่ำต้นเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสิงห์บุรี

ลักษณะของมะกล่ำต้น

  • ต้นมะกล่ำต่ำ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เป็นไม้ผลัดใบระยะสั้น มีความสูงของต้นได้ถึง 20 เมตร เรือนยอดแผ่กิ่งกว้าง ต้นเป็นทรงโปร่ง เปลือกลำต้นหนาเป็นสีน้ำตาลอ่อน ส่วนเปลือกชั้นในนุ่มเป็นสีครีมอ่อน ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดจัด พบขึ้นได้ตามป่าเต็งรังและป่าดิบแล้งที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 50-400 เมตร[1]

ต้นมะกล่ำต้น

ต้นมะกล่ำตาช้าง

  • ใบมะกล่ำต้น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรี รูปไข่ หรือเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบไม่สมมาตรกัน ส่วนขอบใบเรียบ มีประมาณ 8-16 คู่ เรียงสลับ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-5.5 เซนติเมตร แผ่นใบบางเป็นสีเขียวเข้ม ใบเรียบเกลี้ยง ด้านหลังใบเกลี้ยงเป็นสีเขียวอมเทา ส่วนท้องใบเป็นสีอ่อนกว่าและมีนวลเล็กน้อย มีขนนุ่ม แกนกลางของใบประกอบยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ก้านใบย่อยสั้น ไม่มีหูใบ ส่วนก้านใบหลักมีหูใบขนาดเล็กมากและหลุดร่วงได้ง่าย[1]

ใบมะกล่่ำต้น

  • ดอกมะกล่ำต้น ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกแคบยาวเป็นรูปทรงกระบอก โดยจะออกดอกตามซอกใบช่วงบนหรือแตกแขนงที่ปลายกิ่ง และจะออกดอกเป็นช่อเดี่ยวหรือหลายช่อรวมกัน ช่อดอกมีความยาวประมาณ 7.5-20 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็ก มีขนาดประมาณ 0.3 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นสีเหลืองอ่อนอมสีครีม เมื่อดอกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้ม มีขนอยู่ประปราย ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบแคบ ปลายกลีบแหลม ขนาดประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันที่ฐานเป็นหลอด ก้านดอกสั้นเป็นทรงแคบ ส่วนปลายเป็นถ้วยตื้นแยกเป็น 5 กลีบ ก้านดอกยาวประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร มีขนเส้นไหม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกที่โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน อับเรณูมีต่อมอยู่ที่ปลาย ดอกจะมีกลิ่นหอมแบบอ่อน ๆ ในช่วงเย็นคล้ายกลิ่นของดอกส้ม โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1]

ดอกมะกล่ำต้น

ดอกมะกล่ำตาช้าง

  • ผลมะกล่ำต้น ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปแถบแบนยาว มีขนาดกว้างประมาณ 8-12 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะแตกออกเป็นสองตะเข็บและบิดม้วนงอเป็นเกลียวแน่นเพื่อกระจายเมล็ด และมีรอยคอดตามเมล็ดชัดเจน เมล็ดจะติดอยู่ในฝักเป็นเวลานาน ในหนึ่งฝักจะมีเมล็ดประมาณ 10-15 เมล็ด

ฝักมะกล่ำต้น

ผลมะกล่ำต้น

  • เมล็ดมะกล่ำต้น เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลม แข็ง ผิวมัน และเป็นสีแดงเลือดนกหรือเป็นสีแดงส้ม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม[1]

เมล็ดมะกล่ำต้น

สรรพคุณของมะกล่ำต้น

  1. ใบมีรสฝาดเฝื่อน ใช้ต้มกินเป็นยาบำรุงกำลัง (ใบ)[1]
  2. ใบใช้ต้มกินเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ใบ)[1],[2],[3]
  3. เมล็ดนำมาฝนกับน้ำทาแก้อาการปวดศีรษะ หรือจะใช้เนื้อไม้ฝนกับน้ำทาขมับก็แก้ปวดศีรษะได้เช่นกัน (เนื้อ, เมล็ด)[1],[4]
  4. รากเป็นยาแก้ร้อนใน (ราก)[1],[4]
  5. เนื้อไม้มีรสเฝื่อน ใช้ฝนกับน้ำกินกับน้ำอุ่นทำให้อาเจียน[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าใช้เนื้อไม้ต้มหรือฝนกินเป็นยาแก้อาเจียน (เนื้อไม้)[4]
  1. ช่วยแก้อาเจียน (ราก)[1],[4]
  2. รากมีรสเปรี้ยวขื่นเย็น ใช้เป็นยาขับเสมหะ แก้เสมหะ กัดเสมหะในคอ (ราก)[1],[2],[3],[4]
  3. ช่วยแก้หืดไอ แก้เสียงแหบแห้ง และแก้อาการสะอึก (ราก)[1],[4]
  4. ช่วยแก้ลมในท้อง (ราก)[1],[4]
  5. เมล็ดมีรสเฝื่อนเมา นำมาบดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นเม็ดกินแก้อาการจุกเสียด (เมล็ด)[1],[4]
  6. เนื้อในเมล็ดใช้ผสมกับยาอื่นเป็นยาระบายได้ (เนื้อในเมล็ด)[1],[4]
  7. ใบใช้ต้มกินเป็นยาแก้บิด แก้ท้องร่วง (ใบ)[1],[2],[3]
  8. เนื้อในเมล็ดมีรสเมาเบื่อ นำมาบดเป็นผงแล้วปั้นเป็นมัด ใช้กินเป็นยาขับพยาธิไส้เดือนและพยาธิเส้นด้าย หรือจะใช้เมล็ดคั่วไฟเอาเปลือกหุ้มสีแดงออก แล้วนำมาบดเป็นผงผสมกับยาระบาย ใช้เป็นยาขับพยาธิ เบื่อพยาธิไส้เดือนหรือพยาธิตัวตืด (เมล็ด)[1],[4]
  9. เมล็ดนำมาบดผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นเม็ด ใช้กินเป็นยาแก้หนองใน (เมล็ด)[1],[4]
  10. เมล็ดและใบมีรสเฝื่อนเมา เป็นยาแก้ริดสีดวงทวารหนัก (เมล็ดและใบ)[1],[4]
  11. ใช้เป็นยาฝาดสมาน (ใบ)[1]
  12. เมล็ดนำมาบดให้เป็นผงใช้โรยใส่แผลฝีหนอง ช่วยดับพิษฝี ดับพิษบาดแผล (เมล็ด)[1],[2],[3],[4]
  13. เมล็ดนำมาฝนกับน้ำทาแก้อักเสบ (เมล็ด)[1] ส่วนรากช่วยถอนพิษฝี (ราก)[1],[4]
  14. ใบนำมาต้มกินแก้โรคปวดข้อ แก้ลมเข้าข้อ (ใบ)[1],[2],[3]

ประโยชน์ของมะกล่ำต้น

  1. ยอดอ่อนและใบอ่อนมีรสมัน ใช้กินเป็นผักสดร่วมกับอาหารได้หลายประเภท เช่น ลาบ ส้มตำ น้ำตก และอาหารประเภทที่มีรสจัด หรือนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริก หรือนำมาแกงก็ได้ โดยคุณค่าทางโภชนาการของยอดอ่อนมะกล่ำต้นต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วยโปรตีน 0.7 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 0.6 กรัม, ไขมัน 1.51 กรัม, ใยอาหาร 1.7 กรัม, วิตามินเอ 6,155 หน่วยสากล, วิตามินบี 3 37 มิลลิกรัม (ข้อมูลจากภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม ปี พ.ศ. 2537)[1],[5],[6]
  2. เนื้อในเมล็ดนำมาคั่วกินเป็นอาหารว่างได้ โดยจะมีรสมัน[1]
  3. เมล็ดสามารถนำมาใช้ประดับตกแต่งเสื้อผ้าหรือตุ๊กตาได้[5]
  4. ไม้มะกล่ำต้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านเชื้อเพลิงได้ เพราะเป็นฟืนที่ให้ความร้อนได้สูงถึง 5,191 แคลอรีต่อกรัม[6]
  5. เนื้อไม้มะกล่ำต้น จะให้สีแดงที่ใช้สำหรับย้อมผ้าได้[1]
  6. เนื้อไม้ใช้ทำเสาบ้าน ใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ ทำเรือ เกวียนได้ดี ฯลฯ เพราะเป็นไม้เนื้อแข็งและหนัก[5],[6]
  7. มีบ้างที่ปลูกมะกล่ำต้นเป็นไม้ประดับ
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “มะกล่ำต้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [14 พ.ค. 2014].
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “มะกล่ำต้น (Ma Klam Ton)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 210.
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “มะกล่ำตาช้าง Red Sandalwood tree”.  หน้า 36.
  4. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “มะกล่ำต้น”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 144.
  5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “Red sandalwood tree,Coralwood tree, Sandalwood tree, Bead tree”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [14 พ.ค. 2014].
  6. ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “ไพ, มะกล่ำตาไก่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com.  [14 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Steve & Alison1, Yeoh Yi Shuen, Rain and Dust, poornikannan, Xylopia, Forest and Kim Starr, Ahmad Fuad Morad, Mr. Saiful)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด