มะกล่ำตาหนู
มะกล่ําตาหนู ชื่อสามัญ American pea, Buddhist rosary bean, Crab’s eye, Crab’s eye vine, Indian bead, Jequirity bean, Seminole bead, Prayer beads, Precatory bean, Rosary Pea, lucky bean, Weather plant, Wild licorice[1],[3],[8],[10]
มะกล่ำตาหนู ชื่อวิทยาศาสตร์ Abrus precatorius L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[4],[7]
สมุนไพรมะกล่ำตาหนู มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กล่ำตาไก่ กล่ำเครือ มะกล่ำแดง มะกล่ำเครือ มะแค้ก มะแค๊ก (เชียงใหม่), เกมกรอม (สุรินทร์), มะขามเถา ไม้ไฟ (ตรัง), กล่ำเครือ ก่ำเครือ กล่ำตาไก่ ก่ำตาไก่ ตากล่ำ มะกล่ําเครือ (ภาคเหนือ, ภาคอีสาน), หมากกล่ำตาแดง (ภาคอีสาน), ชะเอมเทศ ตากล่ำ มะกล่ำตาหนู (ภาคกลาง), เกรมกรอม (เขมร), โทวกำเช่า เซียงจือจี้ (จีนแต่จิ๋ว), เซียงซือจื่อ เซียงซัวโต้ว (จีนกลาง), มะกล่ำดำ ตาดำตาแดง เป็นต้น[1],[2],[3],[6]
ลักษณะของมะกล่ำตาหนู
- ต้นมะกล่ำตาหนู มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดียไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้เถาเลื้อยมีอายุได้หลายปี มีความสูงของต้นได้ถึง 5 เมตร โดยจัดเป็นไม้เถาเนื้ออ่อนสีเขียวขนาดเล็ก เถามีลักษณะกลมเล็กเรียวและมีขนสีขาวขึ้นปกคลุม ที่โคนเถาช่วงล่างจะแข็งและมีขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท เป็นพรรณไม้ที่ชอบขึ้นตามบริเวณที่มีความชื้น มักพบขึ้นทั่วไปตามป่าเปิดหรือในที่โล่ง ที่รกร้าง ป่าตามทุ่งนา หรือตามป่าเต็งรัง[1],[6],[7]
- ใบมะกล่ำตาหนู ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ออกเรียงสลับ ในก้านหนึ่งจะมีใบย่อประมาณ 8-20 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบมน มีหนามขนาดเล็กติดอยู่ โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบขนาน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5-20 มิลลิเมตร แผ่นใบเรียบ หลังใบมีขนปกคลุม ส่วนท้องใบมีขนเล็กน้อย และมีหูใบ[6]
- ดอกมะกล่ำตาหนู ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะ โดยจะออกตามซอกใบ ยาวประมาณ 2.5-12 เซนติเมตร ก้านช่อดอกใหญ่ นิ่ม และมีขนปกคลุม ยาวได้ประมาณ 9 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวหรือสีม่วงอ่อน เชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ส่วนกลีบดอกมีรอยหยัก 4 รอย เป็นสีเขียวอมเหลือง ผิวนอกมีขนปกคลุม กลีบดอกด้านล่างจะใหญ่กว่ากลีบดอกด้านบน และจะอัดกันแน่นติดอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอกเป็นสีชมพูแกมสีม่วง ดอกมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร กลีบกลางเป็นรูปไข่กลับ ส่วนกลีบคู่ด้านข้างเป็นรูปขอบขนาน และกลีบคู่ด้านล่างเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ดอกมีเกสรเพศผู้ 9 ก้าน เกสรเพศเมียมีรังไข่เป็นรูปขอบขนาน มีขน ติดกันเป็นกระจุก มีใบประดับเป็นรูปหอก ใบประดับย่อยเป็นรูปแถบแกมรูปขอบขนาน ปลายแหลม โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม[6]
- ผลมะกล่ำตาหนู ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปกระบอกแกมรูปไข่ โดยจะออกเป็นพวง ๆ ฝักมีลักษณะแบนยาว ปลายฝักแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 1.2-1.4 เซนติเมตรและยาวได้ประมาณ 2-4.5 เซนติเมตร ฝักมีขนสีน้ำตาล เปลือกฝักเหนียว ฝักอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนฝักแก่แตกได้ตามแนวยาว ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 3-6 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 มิลลิเมตร เมล็ดเป็นสีแดง บริเวณขั้วมีแถบสีดำ ผิวเรียบเงามัน[6]
สรรพคุณของมะกล่ำตาหนู
- ใบมีรสหวานใช้ชงกับน้ำดื่มแทนน้ำชา จะช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำได้ (ใบ)[5],[6] ส่วนเถาและรากก็เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำเช่นกัน (เถาและราก)[2],[3],[5],[6]
- เถาและรากมีรสจืด ชุ่ม เป็นยาสุขุม ไม่มีพิษ เป็นยาขับพิษร้อน (เถาและราก)[5],[6]
- ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มแก้อาการเจ็บคอ แก้หลอดลมอักเสบ แก้ไอ (ใบ)[1],[2],[3],[5] รากแก้เจ็บคอ ไอแห้ง (บ้างว่าใช้แก้เผื่อซางได้ด้วย)[9]) ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)[5],[6] ส่วนเถาและรากแก้หลอดลมอักเสบ (เถาและราก)[1],[2],[3]
- รากมีรสเปรี้ยวขื่น เป็นยาแก้ไอ แก้หวัด แก้ไอแห้ง เสียงแห้ง กล่องเสียอักเสบ ตำรายาไทยจะใช้รากนำมาชงกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอและหวัด (ราก)[4],[6] ส่วนเถาและรากช่วยแก้ไอหวัด ไอแห้ง แก้คออักเสบ คอบวม คอเจ็บ แก้เสียงแห้ง ด้วยการใช้เถาและรากแห้งประมาณ 10-15 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา (เถาและราก)[1],[2],[3],[5]
- ช่วยแก้อาเจียน (เถาและราก)[2],[3],[6]
- เถาและรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หืด (เถาและราก)[2],[3]
- ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มจะช่วยกระตุ้นน้ำลาย (ใบ)[1],[2],[3]
- ช่วยขับเสมหะ กัดเสมหะ (ราก, เถาและราก)[2],[3],[4],[5]
- ช่วยแก้สะอึก (ราก)[9]
- ช่วยหล่อลื่นปอด (เถาและราก)[1]
- รากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก, เถาและราก, ใบ)[1],[2],[3],[5]
- ช่วยแก้ตับอักเสบ (เถาและราก, ใบ)[1],[2],[3]
- ช่วยแก้ดีซ่าน (เถาและราก)[1],[2],[3]
- เมล็ดมะกล่ําตาหนูมีพิษ ใช้ได้เฉพาะเป็นยาทาภายนอก โดยจะมีรสเผ็ดเมาเบื่อ ให้ใช้เมล็ดแห้งนำมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำมันพืช น้ำ น้ำมันมะพร้าว หรือเกลือ ใช้พอกหรือทาแก้โรคผิวหนัง ฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนัง กลากเกลื้อน หิด ฝีมีหนอง ฆ่าพยาธิผิวหนัง และแก้อาการบวมอักเสบได้ (เมล็ด)[1],[2],[3],[5]
- ใบใช้ตำพอกแก้ปวดบวม แก้อักเสบ หรือนำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำมันพืชก่อนนำมาใช้พอก (ใบ)[1],[2],[3]
- ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดบวมตามข้อ ปวดตามแนวประสาท (ใบ)[1],[2],[3]
หมายเหตุ : การใช้ตาม [6] ในส่วนของใบใช้ภายในให้นำใบสดประมาณ 20-30 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม[1],[6] ส่วนการใช้ตาม [5] ราก เถา ใบ ให้ใช้ยาแห้งครั้งละ 10-18 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน[5]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะกล่ำตาหนู
- เมล็ดมะกล่ำตาหนูพบสาร Abrine, Abraline, Abrussic acid, Campesterol, Cycloartenol, Gallica acid, Glycyrrhizic acid, Hypaphorine, Precatorine, Squalene เป็นต้น[5]
- รากมะกล่ําตาหนูพบสาร Abrol, Abrasine, Precasine, Precol เป็นต้น[5]
- ราก เถา และใบพบสาร glycyrrhizic acid[5],[6] ส่วนราก เถา ใบ และเมล็ดพบสาร Trigonelline เป็นต้น[5]
- ใบมะกล่ำตาหนูมีสารหวานชื่อ abrusosides ซึ่งมีความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 30-100 เท่า มีความหวานสูงและไม่มีพิษ ส่วนเมล็ดมะกล่ำตาหนูพบสารโปรตีนที่มีพิษชื่อ Abrin[4],[6]
- สารที่สกัดจากรากมะกล่ำตาหนูด้วยแอลกอฮอล์ มีประสิทธิภาพในการต่อต้านฮอร์โมนเพศหญิง[5]
- สารโปรตีน Abrin ที่เป็นพิษในเมล็ดมะกล่ำตาหนู จะมีการออกฤทธิ์คล้ายกับสาร Ricin ที่พบในเมล็ดละหุ่ง[5]
- สารที่สกัดจากเมล็ดมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Staphelo coccus, เชื้อบิดอะมีบา, เชื้อในลำไส้ และเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนังได้[5]
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรมะกล่ำตาหนู
- เมล็ดมะกล่ำตาหนูมีพิษมาก ห้ามนำมาเคี้ยวรับประทานเด็ดขาด หากนำมาเคี้ยวรับประทานเพียง 1-2 เมล็ดจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ตับและไตถูกทำลาย ทำให้ชักและเสียชีวิตได้ และควรปฐมพยาบาลโดยการทำให้อาเจียนและรีบนำส่งโรงพยาบาล แต่ถ้ากลืนไปทั้งเมล็ดจะไม่เป็นพิษ เพราะเปลือกแข็งไม่ถูกย่อยในทางเดินอาหาร แต่ถ้าขบหรือเคี้ยวเมล็ดให้แตกและรับประทานเพียง 1-2 เมล็ดจะเป็นพิษถึงตาย ยิ่งถ้าเป็นเมล็ดอ่อนเปลือกจะยิ่งบางและมีอันตรายมากกว่า[1],[2],[4],[6]
- เมล็ดในปริมาณเพียง 0.5 มิลลิกรัมก็สามารถทำให้เกิดอาการเป็นพิษได้ หากได้รับพิษในช่วงแรกจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นแล้วจะลดลงอย่างรวดเร็ว และจะพบโปรตีนในปัสสาวะ หากได้รับพิษในปริมาณมากจะมีอาการชักจนเสียชีวิต การแก้พิษเบื้องต้นให้ใช้ชะเอม 10-20 กรัมและดอกสายน้ำผึ้ง 15 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทานและรีบนำส่งโรงพยาบาล[5]
- สารพิษ Abrin นี้เมื่อถูกความร้อนจะสลายตัวได้ง่าย แต่จะคงทนเมื่ออยู่ในทางเดินอาหาร ในขนาดเพียง 0.01 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือรับประทานเพียง 1 เมล็ดก็สามารถทำให้เสียชีวิตได้ หากสารพิษถูกผิวหนังอาจทำให้เกิดผื่นคัน และหากเข้าตาจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและอาจถึงขั้นตาบอดได้[10]
อาการเป็นพิษจากเมล็ดมะกล่ำตาหนู
สารเป็นพิษคือสารในกลุ่ม toxalbumin (abrin) ผู้ป่วยที่กลืนเมล็ดมะกล่ําตาหนูจะมีช่วงภาวะที่อาการพิษยังไม่แสดงในช่วงระหว่าง 2-3 ชั่วโมง ถึง 2-3 วัน จากนั้นพิษจะทำให้เกิดผลต่อระบบและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ความรุนแรงของพิษจะมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับขนาดที่รับประทาน สภาวะร่างกาย และอายุของผู้ป่วย หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะทำให้เสียชีวิตได้ โดยผลของความเป็นพิษต่อระบบต่าง ๆ จะเป็นดังนี้[8]
- ระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ สารพิษ Abrin จะทำให้เกิดการอักเสบในกระเพาะและลำไส้อย่างรุนแรง ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย กลืนลำบาก และปวดเกร็งท้อง และยังอาจไปทำลายเยื่อบุเมือกของลำไส้เล็ก ทำให้อาเจียนเป็นเลือด และมีเลือดออกทางอุจจาระได้[8]
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด พิษจะไม่มีผลต่อหัวใจโดยตรง แต่อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำ เกิดอาการช็อก และหัวใจเต้นเร็ว หลังจากที่ผู้ป่วยอาเจียนและท้องเสียอยู่นาน สารพิษจะมีฤทธิ์โดยตรงต่อเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดตกตะกอนและแตกตัว จนอาจทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหารได้[8]
- ระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะเกิดการขาดเลือดหรือออกซิเจนจนทำให้ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเขียว ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำและช็อก[8]
- ระบบประสาทส่วนกลาง อาจพบว่ามีอาการเซื่องซึม ประสาทหลอน มือสั่น ชักกระตุก[8] มีอาการครึ่งหลับครึ่งตื่น เลื่อนลอย เพ้อ จนกระทั่งไม่รู้สึกตัว[11]
- ระบบทางเดินปัสสาวะ จะมีปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะเลย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความดันโลหิตต่ำที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน แต่ก็อาจมีสาเหตุมาจากภาวะไตล้มเหลวเฉียบพลัน การอุดตันของท่อปัสสาวะด้วยฮีโมโกลบินที่มาจากเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ถูกทำลาย ซึ่งมีผลส่งเสริมทำให้ไตวาย[8] ทำให้มีเลือดออกมาพร้อมกับปัสสาวะ ปริมาณปัสสาวะน้อยเนื่องจากเซลล์ไตถูกทำลาย[11]
- ระบบกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อหดเกร็ง มือสั่น และผิวหนังแดง[11]
- ผลต่อตา หู คอ จมูก อาจมีอาการเลือดออกในเรตินา ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงแรกที่ได้รับสารพิษ ทำให้การมองเห็นลดลง และหากตาโดนสารพิษจะทำให้เยื่อบุตาบวมและแดงมาก นอกจากนี้การกลืนลงไปอาจทำให้ระคายเคืองที่คอได้[8]
- ผลต่อตับ สารพิษจะมีฤทธิ์ไปทำลายเซลล์หรือเนื้อเยื่อของตับ[8]
- ผลต่อเมแทบอลิซึม การอาเจียน ท้องเสีย และมีเลือดออก จะนำไปสู่ภาวะสูญเสียน้ำและอิเล็กโทรไลต์ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย หัวใจเกิดการเต้นผิดปกติ และกล้ามเนื้อเป็นตะคริว โดยผลของการอาเจียนเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะด่างในร่างกายเพิ่มขึ้น แต่ถ้าผู้ป่วยเกิดอาการช็อกและไตวาย อาจทำให้เกิดภาวะกรดเพิ่มขึ้นแทน ซึ่งเป็นผลมาจากการรบกวนสมดุลของสภาวะกรดเบสในร่างกาย การที่ร่างกายสูญเสียน้ำจะส่งผลโดยตรงต่อไต ทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะได้น้อยลง ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตเนื่องจากเกิดภาวะยูรีเมียตามมาได้[8]
ตัวอย่างผู้ได้รับพิษจากเมล็ดมะกล่ำตาหนู
- เด็กเคี้ยวเมล็ดมะกล่ำตาหนูแล้วเกิดพิษ มีอาการชัก รูม่านตาขยายกว้าง ประสาทหลอน และผิวหนังแดงเพราะเลือดสูบฉีด[8]
- เด็กหญิงอายุ 2 ปีรับประทานเมล็ดมะกล่ําตาหนู แล้วทำให้เกิดอาการอักเสบของระบบทางเดินอาหารนาน 4 วัน และภายหลังได้เสียชีวิตลงเนื่องจาก acidosis[8]
- เด็กชาย 9 ปีรับประทานเมล็ดมะกล่ำตาหนู แล้วมีอาการอาเจียนบ่อยครั้ง ปวดท้องอย่างรุนแรง มีอาการชัก และหมดสติ[8]
- เด็กชายอายุ 9 และ 12 ปี รับประทานเมล็ดมะกล่ำตาหนู 1 เมล็ดหรือมากกว่า พบว่ามีอาการอาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง และมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดเกิดขึ้นตามมา 1 สัปดาห์ ในขณะที่เด็กอีกคนยังคงมีเลือดออกทางทวารหนักนานต่อเนื่องไปอีก 2-3 เดือน[8]
- ผู้ใหญ่เคี้ยวเมล็ดมะกล่ำตาหนูแล้วเกิดอาการคลื่นไส้ภายใน 1 ชั่วโมง และอาเจียนติดต่อกันอีกหลายครั้งภายใน 6 ชั่วโมง หลังจากนั้นมีอาการท้องเสีย เสียดท้อง เหงื่อออก ชีพจรเต้นเร็ว มือสั่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง และยืนไม่ได้[8]
วิธีแก้พิษมะกล่ำตาหนู
- การช่วยเหลือเบื้องต้นในกรณีที่รับประทานไปไม่เกิน 30 นาที ให้รีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเพื่อเอาเมล็ดออก โดยรับประทานน้ำเชื่อม ipecac (แต่ผู้ป่วยจะต้องไม่อยู่ในสภาวะที่ห้ามทำให้อาเจียนหรือมีอาการบวมของคอหอย) และให้เก็บเมล็ดที่ผู้ป่วยรับประทานเข้าไป และหากเป็นไปได้ให้เอาของเหลวที่ผู้ป่วยอาเจียนออกมาใส่ขวดสะอาด แล้วนำไปตรวจสอบว่าเป็นพืชพิษชนิดใด ถ้าไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยอาเจียนได้ ก็ให้ใช้วิธีการล้างท้องแทน (แต่การล้างท้องอาจใช้ไม่ได้ผลหากผู้ป่วยกลืนเมล็ดที่มีขนาดใหญ่ลงไป) จากนั้นจึงให้ทำการรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการ โดยนำผลวิเคราะห์ที่ได้จากห้องปฏิบัติการ (เช่น ปริมาณเลือด ระดับอิเล็กโทรไลต์ในกระแสเลือด ปริมาณยูเรีย ควีอะดินินในเลือด ข้อมูลตับ และผลวิเคราะห์ปัสสาวะ) มาใช้ประกอบการรักษาด้วย[8]
- ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับพิษทางการรับประทาน ให้ลดปริมาณของสารพิษในกระเพาะอาหารโดยการใช้ activated charcoal เพื่อดูดซับสารพิษ (ล้างกระเพาะ) แล้วตามด้วยการให้ยาถ่ายจำพวก magnesium citrate และให้สารอาหารน้ำทางหลอดเลือดดำ เพื่อรักษาสมดุลของเหลวในร่างกายแล้วรักษาตามอาการ โดยระยะเวลาที่ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตคือช่วงหลังจากได้รับพิษในช่วง 36-72 ชั่วโมง ถ้าผู้ป่วยไม่เสียชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าว แสดงว่าสามารถรอดชีวิตได้[11]
- ในกรณีที่คนไข้เสียน้ำมาก อันเนื่องมาจากการอาเจียนและอาการถ่ายท้อง ควรให้เกลือแร่อิเล็กโทรไลต์ และติดตามระดับอิเล็กโทรไลต์ในกระแสเลือด แก้ไขภาวะ metabolic acidosis ถ้าหากมีอาการเกิดขึ้น การสูญเสียน้ำอาจทำให้เกิดอาการช็อกที่มาจากการขาดเลือดร่วมกับมีความดันโลหิตต่ำ[8]
- ในกรณีที่คนไข้มีอาการชัก ก็ให้ยาต้านอาการชัก เช่น ไดอะซีแพม (diazepam) (แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็ก อาจให้ไดอะซีแพมชนิดเหน็บทวาร) ให้ยาบรรเทาอาการระคายคอ (เพื่อช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองของกระเพาะอาหารและคอหอย) ให้อาหารแป้งกับผู้ป่วย (เพื่อช่วยป้องกันการเกิดอาการพิษต่อตับ) และให้ความเย็นกับผู้ป่วย ไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกร้อน (เพราะอากาศร้อนจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการพิษเพิ่มขึ้น)[8]
- ในกรณีที่ผู้ป่วยกลืนเมล็ดแก่โดยไม่เคี้ยว เมล็ดจะผ่านเข้าไปในลำไส้และออกมาโดยไม่เป็นอันตราย ดังนั้นจึงอาจให้รับประทานยาระบายเพื่อเร่งการขับออกของลำไส้ แต่ห้ามใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเป็นพิษเกิดขึ้น เพราะจะยิ่งทำให้คนไข้ท้องเสียอย่างรุนแรงขึ้น และสูญเสียน้ำมากยิ่งขึ้น[8]
- ในกรณีผู้ป่วยได้รับพิษสัมผัสทางผิวหนัง ให้รีบลดความเข้มข้นในการปนเปื้อน ด้วยการล้างผิวหนังที่สัมผัสด้วยน้ำและน้ำสบู่ในปริมาณมาก ๆ[11]
- ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับพิษโดยการหายใจ การช่วยเหลือคือ ให้การรักษาตามอาการของลักษณะผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมน้ำ และต้องรับการช่วยเหลือเรื่องการหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ[11]
ประโยชน์ของมะกล่ำตาหนู
- ใบใช้ตำพอกเพื่อแก้จุดด่างดำบนใบหน้าได้[1],[2],[3],[6]
- ในประเทศอินเดียมีการนำสาร Glycyrrhizic มาใช้เป็นสารหวานแทนชะเอม[5]
- เมล็ดมีพิษใช้ทำเป็นยาฆ่าแมลงได้ ด้วยการใช้เมล็ดมะกล่ำตาหนูนำมาบดให้ละเอียด แช่ในน้ำ 1 ลิตรทิ้งไว้ 1 คืน แล้วนำมากรองเอากากออก แล้วนำน้ำหมักเข้มข้นที่กรองได้มาผสมกับน้ำสะอาดอีก 20 ลิตร แล้วนำไปใช้ฉีดพ่นกำจัดแมลงศัตรูพืชในแปลงผักต่อไป[1],[2],[3],[6] ส่วนอีกวิธีให้ใช้เมล็ดบดผง 1 กิโลกรัมผสมกับแอลกอฮอล์ 95% ปริมาณ 5 ลิตร ปิดฝาภาชนะแล้วหมักไว้นาน 24 ชั่วโมง ส่วนอัตราการนำไปใช้ ให้ใช้สารสกัด 1 ลิตรต่อน้ำ 180 ลิตร นำไปฉีดพ่นในนาข้าว จะสามารถป้องกันและกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ หากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของสารควรผสมหางไหลและหนอนตายหยากที่บดเป็นผงแล้ว เพื่อทำให้ฤทธิ์ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชมีมากขึ้น[12]
- เมล็ดสามารถนำมาใช้ร้อยเป็นสร้อยสำหรับสวมคอและข้อมือได้[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “มะกล่ําตาหนู”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 590-591.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “มะกล่ำเครือ”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 117.
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “มะกล่ําเครือ (Ma Klam Khruea)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 209.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “มะกล่ำตาหนู Crab’s Eye Vine/Amrerican Pea”. หน้า 31.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “มะกล่ำตาหนู”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 420.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะกล่ําตาหนู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [16 พ.ค. 2014].
- หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2. “มะกล่ำตาหนู”.
- ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “มะกล่ำตาหนู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [16 พ.ค. 2014].
- พืชสมุนไพร โตนงาช้าง. “มะกล่ําตาหนู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/. [16 พ.ค. 2014].
- ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “มะกล่ำตาหนู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/. [16 พ.ค. 2014].
- ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา. “Abrin ในมะกล่ำตาหนู (Jequirity bean)” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/ez.mm_main.asp. [16 พ.ค. 2014].
- สำนักงานเกษตรอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม. “มะกล่ำตาหนู ฮีโร่ใหม่ของชาวนากำแพงแสน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: kamphaengsaen.nakhonpathom.doae.go.th/มะกล่ำตาหนู.pdf. [16 พ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by judymonkey17, Russell Cumming, 翁明毅, Kenneth Setzer, Matt Lai, Warren McCleland)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)