มหาหงส์
มหาหงส์ ชื่อสามัญ Butterfly lily, Garland flower, Ginger lily, White ginger[2]
มหาหงส์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Hedychium coronarium J.Koenig จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)[1]
สมุนไพรมหาหงส์ หรือ ว่านมหาหงส์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เลเป ลันเต (ระยอง จันทบุรี), ตาห่าน เหินแก้ว เหินคำ (ภาคเหนือ), ว่านกระชายเห็น สะเลเต (ภาคอีสาน), กระทายเหิน หางหงส์ (ภาคกลาง), ตาเหิน (คนเมือง,ไทลื้อ), เฮวคำ (ไทใหญ่) เป็นต้น[1],[3],[4],[5]
ลักษณะของมหาหงส์
- ต้นมหาหงส์ จัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน มีอายุหลายปี เหง้าเป็นสีนวลและมีกลิ่นเฉพาะ ส่วนที่อยู่เหนือดินมีความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร ลำต้นเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่มีกาบใบซ้อนกันแน่น ลักษณะกลมและเป็นสีเขียว[1] ขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยวิธีการแยกเหง้าไปปลูก ปลูกได้ดีในพื้นที่ที่ได้รับแสงแดดรำไร เพาะปลูกง่าย แข็งแรง โตเร็ว อายุยืน มีความทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ โรคและแมลง มีอายุยืน[3],[4] มักขึ้นตามพื้นที่ชื้นแฉะหรือตามชายป่าใกล้ลำธาร[5]
- ใบมหาหงส์ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ มีใบประมาณ 7-12 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 16-25 เซนติเมตร เส้นกลางใบเห็นได้ชัดจากด้านหลังใบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ส่วนผิวใบด้านล่างมีขนนุ่มโดยเฉพาะเส้นกลางใบ แผ่นใบมักงอตัวลงไปด้านหลัง ส่วนก้านใบสั้นเป็นกาบห่อหุ้มลำต้น ลักษณะเกลี้ยงและเป็นมัน ลิ้นใบยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร เป็นเนื้อเยื่อบางสีขาว[1]
- ดอกมหาหงส์ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอดของลำต้นเทียม ดอกมีขนาดกว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ดอกมีใบประดับใหญ่เป็นจำนวนมาก เรียงซ้อนกันและมีขนาดลดหลั่นกันไปตามลำดับ ลักษณะของใบประดับเป็นรูปหอกหรือรูปไข่ ปลายแหลม ผิวเกลี้ยง เป็นสีขาว มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ส่วนใบประดับย่อยเป็นรูปหอก ปลายมน ผิวเกลี้ยง ขอบพับเข้าหากัน ตรงกลางเป็นสัน แต่ละอันจะซ้อนเหลื่อมกัน เมื่อกางออกจะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-3.3 เซนติเมตร ดอกมีขนาดใหญ่และมีกลิ่นหอม โดยจะออกตามซอกใบประดับประมาณ 1-5 ดอก มีกลีบดอกเป็นรูปแถบแคบ ๆ ปลายมน สีขาว กว้างประมาณ 0.2 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3.5-4 เซนติเมตร ส่วนกลีบปากเป็นรูปไข่เกือบกลม มีขนาดกว้างประมาณ 5-5.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-4.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นกลีบ 2 กลีบ ลึกเป็น 1/3 ของกลีบ สีขาว ตรงกลางกลีบค่อนไปทางโคนเป็นสีเหลือง สีขาว หรือสีนวล โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร สีขาว ปลายกลีบดอกหยักบาง ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ส่วนหลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉกตื้น 3 แฉกและแฉกลึก 1 แฉก กว้างประมาณ 6 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร ปลายกลีบเป็นสีขาวแกมสีเขียว ส่วนโคนเป็นสีขาว ดอกมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันแผ่เป็นกลีบขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับแกมรูปรี หรือเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายมนสีขาว กว้างประมาณ 2.2-2.4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4.2-4.5 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ อับเรณูเป็นรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 0.3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.4-1.5 เซนติเมตร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1.4-2 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 1 ก้าน มีรังไข่เป็นรูปขอบขนานกว้างประมาณ 0.2-0.4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร ผิวเรียบ มี 3 ห้อง ส่วนยอดเกสรเพศเมียมีลักษณะเกือบกลม มีขนาดประมาณ 0.1 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม[1]
- ผลมหาหงส์ ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม แตกออกได้เป็นพู 3 พู[1]
สรรพคุณของมหาหงส์
- ตำรายาไทยจะใช้เหง้ามหาหงส์เป็นยาบำรุงกำลังและยาอายุวัฒนะ ด้วยการใช้เหง้าแห้งบดละเอียดผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอนรับประทานก่อนอาหารเช้าและเย็น (เหง้า)[1],[2],[3]
- เหง้านำมาตากแห้งแล้วบดให้เป็นผงละเอียดผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน ใช้รับประทานเป็นยาแก้กษัย (อาการป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบซีด ปวดเมื่อย โลหิตจาง) (เหง้า)[1],[2]
- เหง้านำมาต้มเป็นยาแก้ต่อมทอนซิลอักเสบได้ (เหง้า)[3],[4]
- ช่วยขับลม (เหง้า)[1] เหง้านำมาต้มกับน้ำดื่มจะช่วยแก้อาการท้องอืดได้ (เหง้า)[5]
- ในต่างประเทศจะใช้เหง้ามหาหงส์ช่วยกระตุ้นน้ำย่อย และช่วยในการขับลม (เหง้า)[1]
- ช่วยบำรุงไต ด้วยการใช้เหง้าแห้งบดละเอียดผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน รับประทานก่อนอาหารเช้าและเย็น (เหง้า)[1],[2],[3]
- คนเมืองจะใช้เหง้าใต้ดินนำมาต้มกับน้ำดื่มแก้อาการลมชักหรือใช้ทาตุ่มผื่นลมพิษ (เหง้า)[5]
- น้ำคั้นจากเหง้าใต้ดินใช้เป็นยารักษาแผลฟกช้ำ แผลบวมได้ (เหง้า)[3],[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมหาหงส์
- น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากเหง้ามีลักษณะเป็นของเหลวใส มีสีเหลืองอ่อน และมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว โดยประกอบไปด้วย beta-pinene, borneol, d-limonene, linalool[1]
- น้ำมันหอมระเหยจากเหง้ามหาหงส์ เมื่อนำมาเตรียมเป็นโลชันกันยุงกัด พบว่าสามารถช่วยป้องกันการกัดของยุงรำคาญ 5.8 ชั่วโมง ยุงก้นปล่อง 7.1 ชั่วโมง และยุงลายสวนได้ 7.5 ชั่วโมง [1]
ประโยชน์ของมหาหงส์
- คนเมืองทางภาคเหนือจะใช้หน่ออ่อนลวกรับประทานกับน้ำพริก[5]
- ชาวไทใหญ่จะใช้ดอกมหาหงส์บูชาพระ[5]
- น้ำมันจากเหง้าสดสามารถนำมาใช้ฆ่าแมลงได้ ด้วยการใช้เหง้าสดจำนวนพอสมควรนำมาทุบแล้วสกัดให้ได้น้ำมันหอมระเหย (เรียกว่า “น้ำมันมหาหงส์”)[1],[2]
- น้ำมันหอมระเหยใช้เป็นส่วนผสมในการทำน้ำหอม[6]
- ด้วยความหอมของดอกมหาหงส์ ในวงการสปาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศจึงนิยมใช้มหาหงส์เป็นส่วนผสมในครีม โลชัน โคโลญจน์ สบู่ ครีมอาบน้ำ หรือโคลนหมักตัว[3],[4]
- มหาหงส์เป็นว่านที่ได้ชื่อว่าเข้ายาทำเสน่ห์ มีความเชื่อว่าจะช่วยเสริมเสน่ห์ให้กับผู้ปลูก ให้คนรักคนหลง โดยจะนิยมปลูกเพื่อเพิ่มเมตตามหานิยมและความเป็นสิริมงคลให้แก่สถานที่ปลูก และยังเชื่อว่า “ว่านมหาหงส์” เป็นว่านให้ลาภแก่ผู้ปลูก และหากนำเหง้าหรือหัวพกพาติดตัวไปด้วยก็จะยิ่งเพิ่มเสน่ห์มหานิยม[3]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ สามารถออกได้ตลอดปี ดอกจะมีกลิ่นหอมมากโดยเฉพาะในช่วงเช้าและช่วงเย็นถึงมืด ทนทานต่อแมลงต่าง ๆ โดยดอกจะทยอยบานและอยู่ทนหลายวัน ถ้านำไปปลูกบริเวณโคนต้นไม้ใหญ่ก็จะเหมาะยิ่งนัก เพราะสามารถปลูกได้ในที่ร่ม แดดไม่จัดมากนัก ชอบที่ชื้นแฉะ แต่ถ้านำไปปลูกลงในกระถางก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง โดยปกติแล้วดอกมหาหงส์จะเป็นสีขาว สีดอกจะตัดกับสีเขียวเข้มของต้นและใบอย่างสวยงาม ในปัจจุบันพบว่ามีการนำพันธุ์มหาหงส์เข้ามาปลูกกันหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นชนิดดอกสีขาว ดอกสีขาวตรงกลางเหลือง ดอกสีขาวตรงกลางแดง ดอกสีแดงอมสีชมพูจนถึงสีแดงเข้ม หรือดอกสีเหลืองทองทั้งดอก โดยจะมีทั้งดอกเล็กและดอกใหญ่[3]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มหาหงส์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [11 พ.ค. 2014].
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “มหาหงส์ (Maha Hong)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 208.
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 367 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “ว่านมหาหงส์”. (ดร.ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [11 พ.ค. 2014].
- ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “มหาหงส์”. (นพพล เกตุประสาท). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [11 พ.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Butterfly lily”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง ชุดที่ 1 (เกรียงไกร และคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [11 พ.ค. 2014].
- กรุ่นกลิ่นดอกไม้ในโคราช, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา. “มหาหงส์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nrru.ac.th/web/plant_flower/. [11 พ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Reinaldo Aguilar, Alessandro Tamachiro Arcas, Kiasog, Girish Katke, Russell Cumming, Iveraldo Luiz, Kai Yan, Joseph Wong, Kiasog, André Cardoso, Andre Benedito, 澎湖小雲雀)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)