ฟองน้ำคุมกำเนิด
ฟองน้ำคุมกำเนิด (Contraceptive Sponge) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวของสตรีชนิดหนึ่ง ตัวฟองน้ำมีลักษณะเป็นรูปกลม รูปรี หรือเป็นรูปคล้ายโดนัท ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว ที่ปลายด้านหนึ่งจะมีสายไว้สำหรับนำออกจากช่องคลอด
ตัวฟองน้ำจะมีลักษณะเป็นโฟมที่ทำมาจากสารสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ (Polyurethane) มีคุณลักษณะเป็นสารปรุพรุนและเคลือบไปด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออสุจิ (Spermicide) มีไว้ใช้สำหรับสอดใส่เข้าไปในช่องคลอดของสตรีให้ลึกที่สุดก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ โดยอาจใส่ไว้ในช่องคลอดได้นานถึง 24 ชั่วโมง (แต่ไม่ควรใส่ไว้นานเกิน 30 ชั่วโมง) ในระหว่างนี้ถ้ามีการร่วมเพศหลายครั้งก็ไม่จำเป็นต้องใส่ยาเพิ่ม
ส่วนการจะเอาฟองน้ำออกจะต้องทิ้งเอาไว้ในช่องคลอดอย่างน้อย 6 ชั่วโมงขึ้นไปหลังจากมีเพศสัมพันธ์เสร็จแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ตัวยาฆ่าเชื้อได้ออกฤทธิ์ทำลายอสุจิ แต่ฟองน้ำที่ว่านี้ในบ้านเรายังไม่มีขายนะครับ ถ้าอยากจะลองใช้ก็คงต้องรอไปก่อนครับ แต่ถึงจะมีขายก็ยังไม่แนะนำให้ใช้ครับ เพราะการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้มีโอกาสล้มเหลวสูง และอาจทำให้เกิดผลแทรกซ้อนรุนแรงได้ ซึ่งผลแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ๆ คือ การระคายเคืองตัวเยื่อบุช่องคลอดทั้งจากยาฆ่าเชื้ออสุจิที่เหลือไว้หรือจากตัวฟองน้ำที่ทำมาจากสารสังเคราะห์ ทางที่ดีควรเปลี่ยนไปใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นแทนจะดีกว่าครับ
ประสิทธิภาพของฟองน้ำคุมกำเนิด
ฟองน้ำคุมกำเนิดสามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้โดยการฆ่าเชื้ออสุจิและป้องกันเชื้ออสุจิเข้าสู่ปากมดลูก โดยตัวฟองน้ำจะเป็นตัวช่วยซับเชื้ออสุจิเอาไว้ ป้องกันไม่ให้เชื้ออสุจิผ่านเข้าสู่ช่องคลอดได้ ส่วนน้ำยาฆ่าเชื้อที่อยู่บนฟองน้ำจะเป็นตัวยาฆ่าเชื้ออสุจิไปด้วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งตามหลักแล้วการใช้ฟองน้ำคุมกำเนิดอย่างถูกต้อง จะมีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ 9% (สำหรับสตรีที่ไม่มีบุตร) และ 20% (สำหรับสตรีที่มีบุตรแล้ว) ซึ่งหมายความว่าจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยการใช้ฟองน้ำคุมกำเนิดจำนวน 100 คน จะมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 9 และ 20 คน แต่โดยทั่วไปแล้วจากการใช้งานจริง (Typical use) กลับพบว่าอัตราการล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์จะเพิ่มสูงมากขึ้นเป็น 12% (สำหรับสตรีที่ไม่มีบุตร) และ 24% (สำหรับสตรีที่มีบุตรแล้ว) หรือคิดเป็น 1 ใน 4 คน จากผู้ที่คุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ส่วนด้านล่างนี้เป็นตารางเปรียบเทียบระหว่างการคุมกำเนิดด้วยวิธีการใช้ฟองน้ำคุมกำเนิดกับวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจครับ
ยาฝังคุมกำเนิด|0.05 (1 ใน 2,000 คน)|0.05|ต่ำมาก
ทำหมันชาย|0.15 (1 ใน 666 คน)|0.1|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนรวม)|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ทำหมันหญิงแบบทั่วไป|0.5 (1 ใน 200 คน)|0.5|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง|0.8 (1 ใน 125 คน)|0.6|ต่ำมาก
หมวกครอบปากมดลูกแบบ Lea’s Shield (สตรีที่ไม่มีบุตร)|5 (1 ใน 20 คน)|ไม่มีข้อมูล|ต่ำ
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนเดี่ยว)|6 (1 ใน 17 คน)|0.2|ปานกลาง
หมวกครอบปากมดลูกแบบ FemCap|7.6 (1 ใน 13 คน)|ไม่มีข้อมูล|ปานกลาง
หมวกครอบปากมดลูกแบบ Prentif (สตรีที่ไม่มีบุตร)|9 (1 ใน 11 คน)|16|ปานกลาง
แผ่นแปะคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
วงแหวนคุมกำเนิด (NuvaRing)|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ยาเม็ดคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ฝาครอบปากมดลูก (Diaphragm)|12 (1 ใน 8 คน)|6|สูง
ฟองน้ำคุมกำเนิด (สตรีที่ไม่มีบุตร)|12 (1 ใน 8 คน)|19|สูง
หมวกครอบปากมดลูกแบบ Lea’s Shield (สตรีที่มีบุตร)|15 (1 ใน 6 คน)|ไม่มีข้อมูล|สูง
ถุงยางอนามัยชาย|18 (1 ใน 5 คน)|2|สูง
ฟองน้ำคุมกำเนิด (สตรีที่มีบุตร)|24 (1 ใน 4 คน)|20|สูงมาก
หมวกครอบปากมดลูกแบบ Prentif (สตรีที่มีบุตร)|26 (1 ใน 3 คน)|32|สูงมาก
ยาฆ่าเชื้ออสุจิ (Spermicidal)|28 (1 ใน 3 คน)|18|สูงมาก
ผู้ที่ไม่ควรใช้ฟองน้ำคุมกำเนิด
- คนส่วนใหญ่ที่คุมกำเนิดโดยใช้วิธีนี้จะไม่มีปัญหาในการใช้งาน แต่สำหรับในกลุ่มคนดังต่อไปนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ฟองน้ำคุมกำเนิด
- สตรีที่แพ้ยาซัลฟา หรือแพ้วัสดุที่ใช้ทำจากโฟมคุมกำเนิด
- มีความผิดปกติเกี่ยวกับช่องคลอด มีเลือดออกจากช่องคลอด
- มีการติดเชื้อทางระบบสืบพันธุ์
- สตรีที่เพิ่งจะแท้งบุตรหรือสตรีหลังคลอด
- สตรีที่เคยมีอาการ Toxic shock syndrome
วิธีการใช้ฟองน้ำคุมกำเนิด
ในขั้นตอนแรกให้ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ ใส่น้ำสะอาด 2 ช้อนโต๊ะลงในฟองน้ำคุมกำเนิด จากนั้นให้ใช้นิ้วบีบฟองน้ำให้เป็นวงรี โดยให้ปลายฟองน้ำอยู่ด้านล่าง และจึงใส่ฟองน้ำคุมกำเนิดเข้าไปในช่องคลอด แล้วใช้นิ้วชี้ดันเข้าไปให้ลึกที่สุด ส่วนการจะเอาฟองน้ำออกนั้นต้องรอให้ครบ 6 ชั่วโมงเสียก่อน แล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ ใช้นิ้วสอดเข้าไปในช่องคลอดแล้วเกี่ยวเอาสายฟองน้ำและดึงออกมา
ข้อดีของฟองน้ำคุมกำเนิด
- เป็นอุปกรณ์การคุมกำเนิดที่พกพาได้สะดวก พกไปไหนได้ง่าย
- ไม่ต้องพึ่งพาการคุมกำเนิดจากฝ่ายชายในการใช้ถุงยางอนามัย และสามารถใช้ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์
- การมีเพศสัมพันธ์ไม่มีการสะดุดเพราะต้องใส่ฟองน้ำคุมกำเนิดก่อนการมีเพศสัมพันธ์ ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ ไม่เหมือนการใส่ถุงยางอนามัย
- ฟองน้ำคุมกำเนิดไม่มีส่วนผสมของฮอร์โมน จึงไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนเหมือนยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด และแผ่นแปะคุมกำเนิด
- ไม่มีผลต่อประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ เมื่อหยุดใช้ภาวะการเจริญพันธุ์จะกลับมาทันที
- สามารถใช้ได้ในขณะให้นมบุตร
ข้อเสียของฟองน้ำคุมกำเนิด
- ขั้นตอนการใส่และถอดฟองน้ำคุมกำเนิดค่อนข้างจะยุ่งยาก และอาจทำให้เลอะเทอะ
- ต้องใส่ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ จึงอาจทำให้ขัดจังหวะในการร่วมเพศ
- ในบางรายอาจมีการระคายเคืองในช่องคลอด
- โอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์จากการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ยังอยู่ในระดับเสี่ยง แม้จะใช้อย่างถูกต้องก็ตาม และจะยิ่งมีโอกาสล้มเหลวมากขึ้นไปอีกหากใช้อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม
- ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เนื่องจากช่องคลอดยังมีการสัมผัสกับอวัยวะเพศของฝ่ายชายอยู่
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด. “ยาฆ่าตัวอสุจิ”. (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ). หน้า 430-431.
- Siamhealth. “ฟองน้ำคุมกำเนิด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [22 ต.ค. 2015].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)