พุดทุ่ง
พุดทุ่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Holarrhena curtisii King & Gamble (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Holarrhena densiflora Ridl., Holarrhena latifolia Ridl., Holarrhena similis Craib) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)[1],[2]
สมุนไพรพุดทุ่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พุดป่า (ลำปาง), น้ำนมเสือ (จันทบุรี), พุดนา (ราชบุรี), นมราชสีห์ นมเสือ (พิษณุโลก), โมกเกี้ย โมกเตี้ย (สระบุรี), ถั่วหนู พุดน้ำ หัสคุณใหญ่ (สุราษฎร์ธานี), หัศคุณเทศ (พังงา), สรรพคุณ (สงขลา), มูกน้อย มูกนั่ง มูกนิ่ง โมกน้อย โมกนั่ง (ภาคเหนือ), พุดนา (ภาคกลาง), พุดทอง โมกเตี้ย (ภาคใต้) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของพุดทุ่ง
- ต้นพุดทุ่ง จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงและมีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านต่ำติดพื้นดิน ลำต้นมีกิ่งก้านไม่มาก กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม มีขนสั้นนุ่ม เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลดำ เมื่อหักตามลำต้น กิ่งก้าน และใบจะมีน้ำยางสีขาวขุ่น ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นทั่วไปบริเวณพื้นที่ดินทราย ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าโกงกาง ป่าโปร่ง ป่าผลัดใบ ที่โล่งแจ้งค่อนข้างชื้นแฉะ ริมถนน และตามทุ่งหญ้า ที่มีแสงแดดจัดและที่ร่มรำไร[1],[2] มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศเวียดนาม ลาว กัมพูชา ไทย จนถึงมาเลเซีย ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 400 เมตร[3]
- ใบพุดทุ่ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับหรือรูปรีแกมขอบขนาน ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ปลายใบมนหรือเป็นติ่งหนาม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง หลังใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ท้องใบด้านล่างมีสีขาวนวลกว่าด้านบน มีขนสีขาวสั้นนุ่มทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบมีข้างละประมาณ 12-16 เส้น ก้านใบสั้น ยาวเพียง 2-4 เซนติเมตร หรือไม่มี[1],[2]
- ดอกพุดทุ่ง ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 12 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม ใบประดับมีขนาดเล็ก ลักษณะแคบยาว 2-5 มิลลิเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมาก ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร กลีบดอกหนาเป็นสีขาว มีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับถึงรูปรี ปลายกลม มีขนทั้งสองด้าน มีขนาดกว้างประมาณ 0.4-0.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.2-2 เซนติเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นกลีบ 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกันเล็กน้อยและเวียนขวา ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปแถบกว้าง 0.8-1.2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.5-8 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนเล็กน้อยหรือมีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ติดอยู่ใกล้โคนหลอดดอก โคนก้านชูอับเรณูมีขนสั้นนุ่ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ คาร์เพลเชื่อม 2 อัน เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[2],[3]
- ผลพุดทุ่ง ออกผลเป็นฝักคู่ ลักษณะกลมยาว รูปคล้ายดาบ ปลายฝักแหลมชี้ขึ้น ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-30 เซนติเมตร พอฝักแห้งจะแตกออกตามตะเข็บเดียว ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาล เมล็ดมีขนกระจุกสีขาวคล้ายเส้นไหมติดอยู่ที่ปลายของเมล็ด[1],[2]
สรรพคุณของพุดทุ่ง
- ต้นและรากมีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาขับลม ช่วยกระจายเลือดลม (ต้นและราก)[2]
- รากใช้ผสมกับอ้อยดำ และข้าวสารเจ้า นำมาแช่กับน้ำดื่มแก้อาเจียน (ราก)[2]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด ถ่ายเป็นมูกเลือด แก้ท้องเสีย (ราก)[1],[2]
- เปลือกและรากมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการท้องร่วง (เปลือกและราก)[2]
- ใช้เป็นยาขับพยาธิ (ต้นและราก)[2]
- รากพุดทุ่งใช้ผสมกับรากติ้วขน นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ผิดสำแดง (ราก)[1],[2]
- ตำรายาไทยจะใช้ต้นและรากเป็นยาขับเลือดและหนองให้ตก (ต้นและราก)[2]
- คนสงขลาจะเรียกพันธุ์ไม้ชนิดนี้ว่า “สับครุน” โดยหมอยาในแถบนั้นจะใช้ยางผสมกับน้ำมะนาว แล้วนำมาป้ายหัวฝีที่บวมเต็มที่ เพื่อปิดหัวฝี ช่วยขับหนองและเลือดที่เน่าเสียออก (ข้อมูลจาก : plugmet.orgfree.com)
ประโยชน์ของพุดทุ่ง
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “พุดทุ่ง”. หน้า 141.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “พุดทุ่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [08 พ.ย. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “พุดทุ่ง”. อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [08 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.dnp.go.th/botany/, แฟนเพจ : โชคพิชิตฟาร์ม โฮมสเตย์ Home stay
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)