พิมเสนต้น สรรพคุณและประโยชน์ของต้นพิมเสน 14 ข้อ !

พิมเสนต้น

พิมเสนต้น ชื่อสามัญ Patchouli, Patchoulli, Patchouly[3],[4]

พิมเสนต้น ชื่อวิทยาศาสตร์ Pogostemon cablin (Blanco) Benth. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pogostemon patchouli var. suavis (Ten.) Hook. f.) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[1],[3]

สมุนไพรพิมเสนต้น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ใบพิมเสน, ผักชีช้าง, ใบหลม ใบอีหรม (ภาคใต้), ฮั่วเซียง ก่วงฮั่วเซียง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[6]

ลักษณะของพิมเสนต้น

  • ต้นพิมเสนต้น หรือ ต้นพิมเสน มีถิ่นกำเนิดในประเทศฟิลิปปินส์ อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย และในประเทศมาเลเซีย[4] โดยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีความสูงของต้นประมาณ 30-100 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรงกิ่งก้านเป็นสี่เหลี่ยม โดยจะแตกกิ่งก้านสาขาบริเวณยอดต้น ทั้งต้นเมื่อนำมาขยี้ดมจะมีกลิ่นหอมฉุน และมีขนสีเหลืองปกคลุมอยู่ทั้งต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตัดลำต้นปักชำ[1]

รูปพิมเสนต้น

ต้นพิมเสนต้น

  • ใบพิมเสนต้น ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ใบที่โคนต้นจะมีขนาดเล็กกว่าที่บริเวณยอดต้น แผ่นใบมีขนสีเทาอ่อนปกคลุมทั้งหน้าใบและหลังใบ โดยเฉพาะตรงส่วนของเส้นใบจะมีขนปกคลุมอยู่มาก ส่วนก้านใบยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร[1]

ใบพิมเสนต้น

  • ดอกพิมเสนต้น ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งและตามซอกใบ ช่อดอกยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวอมสีม่วง ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกยาวได้ประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ดอกมีกลีบเลี้ยงห่อหุ้มอยู่ 4 ใบ ยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร มีกลีบดอก 5 กลีบ มีเกสรเพศผู้ 4 ก้าน[1]

ดอกพิมเสนต้น

ดอกต้นพิมเสน

  • ผลพิมเสนต้น ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก มีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปไข่ยาว[1],[6]

หมายเหตุ : พิมเสนต้นยังมีอีกชนิดหนึ่งคือ ต้นพิมเสนป่า (Agastache rugosa (Fisch et. Mey) O.ktze.) มีดอกเป็นสีม่วงหรือสีขาว กิ่งก้านเป็นสีแดง มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรที่ใกล้เคียงกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้[1]

สรรพคุณของพิมเสนต้น

  1. ตำรับยาแก้อาการปวดศีรษะ ตัวร้อน มีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ให้ใช้ยาแห้ง แปะตุ๊ก หกเหล็ง เปลือกลูกหมาก อย่างละ 10 กรัม และกิ๊กแก้ จี่โซว ชะเอม ปั่วแฮ เกาโพ๊ก และโกฐสอ อย่างละ 7 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือนำมาบดรวมกันเป็นผงทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนรับประทานก็ได้ (ทั้งต้น)[1]
  2. ตำรายาไทยจะใช้ใบเป็นยาลดไข้ ใช้ปรุงเป็นยาเย็น แก้ไข้ทุกชนิด ช่วยถอนพิษร้อน ทำให้ความร้อนในร่างกายลดลง โดยมากใช้ปรุงเป็นยาเขียว ถอนพิษไข้ ยาจันทลีลา ตำรับยาของทางล้านนา และยาหอมก็เข้าใบพิมเสนต้นนี้ (ใบ)[2],[3],[5]
  3. ทั้งต้นมีรสเผ็ดขม เป็นยาร้อนเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอด ม้าม และกระเพาะอาหาร ใช้เป็นยาลดไข้ แก้หวัดแดด ตัวร้อน มีน้ำมูกไหล จมูกอักเสบ (ทั้งต้น)[1]
  4. ใช้เป็นยาขับลม ขับลมชื้น (ทั้งต้น)[1]
  5. ผงจากใบใช้เป็นยานัตถุ์และเป็นยาทำให้จาม (ใบ)[6]
  1. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเสีย อาเจียน ช่วยในการย่อยอาหาร ตำรับยาแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน ด้วยการใช้ยาแห้ง แปะตุ๊ก หกเหล็ง เปลือกลูกหมาก อย่างละ 10 กรัม และกิ๊กแก้ จี่โซว ชะเอม ปั่วแฮ เกาโพ๊ก และโกฐสอ อย่างละ 7 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือนำมาบดรวมกันเป็นผงทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนรับประทานก็ได้ (ทั้งต้น)[1] ส่วนยาชงจากยอดแห้งและรากแห้งก็มีสรรพคุณเป็นยาขับลมในทางเดินอาหารได้เช่นกัน (ยอด, ราก)[5],[6]
  2. ยาชงจากยอดแห้งและรากแห้งของพิมเสนต้นใช้ดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะติดขัด (ยอด, ราก)[5],[6]
  3. ใบสดนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดประจำเดือน เป็นยาขับประจำเดือน หรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ (ใบ)[5]
  4. หากเป็นโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ให้ใช้ต้นแห้งผสมกับโกฐน้ำเต้าและสารส้มสะตุ อย่างละ 15 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำ นำมาใช้ชำระผิวหนังบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น)[1]
  5. ต้นใช้ภายนอกเป็นยาแก้น้ำกัดเท้า (ทั้งต้น)[1]
  6. น้ำมันของพิมเสนต้นในทางยาใช้ทาแก้ปวดได้ (น้ำมันพิมเสนต้น)[6]

หมายเหตุ : วิธีการใช้ตาม [1] ให้ใช้ต้นแห้ง โดยใช้ครั้งละ 5-15 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยาก็ได้[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพิมเสนต้น

น้ำมันพิมเสนต้น

  • สารที่พบ ได้แก่ น้ำมันระเหย 15% ในน้ำมันระเหยพบสาร Patchouli alcohol, Patchoulipyridine, Eugenol, Pinene, Cinnamic aldehyde, Pogostol, Methychavicol, Anethole, p-Methoxycinnamaldehyde เป็นต้น[1]
  • น้ำมันระเหยพิมเสนต้นมีฤทธิ์เพิ่มน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารดีขึ้น และยังมีฤทธิ์ในการคลายกล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะและลำไส้ จึงทำให้คลายอาการปวดได้ อีกทั้งยังช่วยทำให้อาหารที่ตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร หรืออาหารที่ยังไม่ย่อย ไม่บูดอีกด้วย[1]
  • สารสกัดที่ได้จากพิมเสนต้นมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อจุลินทรีย์ เชื้อ Spirochaete ได้หลายชนิด โดยเฉพาะกับเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง[1]

ประโยชน์ของพิมเสนต้น

  • กิ่งและใบแห้งเมื่อนำมาใส่ไว้ในตู้เสื้อผ้าจะช่วยทำให้มีกลิ่นหอมและช่วยป้องกันแมลงมากัดเสื้อผ้าได้[6]
  • ใบมีกลิ่นหอมใช้กลั่นทำน้ำหอมได้ และยังใช้เป็นสารช่วยให้น้ำหอมมีกลิ่นติดทนดีและนาน[4]
  • น้ำพิมเสนที่ได้จากการกลั่นกิ่งและใบจากต้นพิมเสนต้นหรือที่เรียกว่า น้ำมันแพทชูลี (Patchouli oil) นิยมนำมาใช้ปรุงเป็นน้ำหอม ใช้แต่งกลิ่นสบู่ ใช้ผสมกับน้ำอาบเพื่อช่วยระงับกลิ่นตัว โบราณใช้ในการแต่งกลิ่นขี้ผึ้งสีปาก[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “พิมเสนต้น”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 388.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “พิมเสนต้น”.  หน้า 170.
  3. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “พิมเสนต้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [06 พ.ค. 2014].
  4. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  “พิมเสนต้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th.  [06 พ.ค. 2014].
  5. ศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  (รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด).  “พิมเสนหนาด”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.cmu.ac.th.  [06 พ.ค. 2014].
  6. ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  (ผศ.สุปรียา ยืนยงสวัสดิ์).  “พิมเสน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: pcog2.pharmacy.psu.ac.th/thi/Article/2548/07-48/borneol.pdf.  [06 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.biolib.cz, www.pharmacy.mahidol.ac.th, www.biogang.net (by NewDek01)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด