พิมเสน
พิมเสน ชื่อวิทยาศาสตร์ Borneol camphor (พิมเสนธรรมชาติหรือพิมเสนแท้), Borneolum Syntheticum (Borneol) (พิมเสนสังเคราะห์หรือพิมเสนเทียม)[1]
สมุนไพรพิมเสน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พิมเสนเกล็ด (ไทย), ปิงเพี่ยน เหมยเพี่ยน (จีนกลาง) เป็นต้น[1]
หมายเหตุ : พิมเสนที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นคนละชนิดกันกับต้นพิมเสนที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ Pogostemon cablin (Blanco) Benth. สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่บทความ พิมเสนต้น
ลักษณะของพิมเสน
โดยทั่วไปแล้วพิมเสนแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ พิมเสนที่ได้จากธรรมชาติและพิมเสนสังเคราะห์ ซึ่งพิมเสนทั้งสองชนิดจะมีการระเหยและติดไฟได้ง่าย สามารถละลายได้ในแอลกอฮอล์ ปิโตรเลียมอีเทอร์ และคลอโรฟอร์ม แต่จะไม่ละลายหรือละลายได้ยากในน้ำ และมีจุดหลอมตัวของทางเคมีวิทยาอยู่ที่ 205-209 องศาเซลเซียส[1] พิมเสนจะมีกลิ่นหอมเย็น รสหอม ฉุน เย็นปากคอ ในสมัยก่อนจะใช้ใส่ในหมากพลูเคี้ยว[2]
- พิมเสนธรรมชาติ หรือ พิมเสนแท้ คือ พิมเสนที่ได้มาจากการระเหิดของยางจากต้นไม้ชนิดหนึ่งตามภาพด้านล่าง (ได้จากการกลั่นเนื้อไม้) ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dryobalanops aromatica Gaertn. จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE) (ภาษาจีนกลางเรียกว่า “หลงเหน่าเซียงสู้”) ลักษณะของไม้ชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงได้ถึง 70 เมตร มีกิ่งก้านสาขา ใบเป็นใบเดี่ยว ใบจะอยู่ที่ตอนบนของต้น ส่วนใบที่อยู่ตอนล่างจะออกตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ขอบใบเรียบ ใบอ่อนเป็นสีแดง ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งและตามซอกใบ ส่วนผลเป็นผลแห้งมีปีก ภายในมีเมล็ด 1 เมล็ด[3] โดยยางที่ได้จากการระเหิดจะมีลักษณะเป็นเกล็ดใส มีขนาดเล็ก เป็นรูปหกเหลี่ยม และเปราะแตกได้ง่าย[1] พิมเสนจะมีเนื้อแน่นกว่าการบูร ระเหิดได้ช้ากว่าการบูร ติดไฟให้แสงจ้าและมีควันมากแต่ไม่มีขี้เถ้า[2]
- พิมเสนสังเคราะห์ หรือ พิมเสนเทียม คือ พิมเสนที่ได้จากสารสกัดจากต้นการบูร (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum camphora (L.) Presl. จัดอยู่ในจัดอยู่ในวงศ์อบเชย (LAURACEAE), ต้นหนาด (หนาดหลวง หนาดใหญ่ หรือพิมเสนหนาด ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Blumea balsamifera (L.) DC. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE) หรือน้ำมันสนโดยผ่านวิธีทางเคมีวิทยา[1]
สรรพคุณของพิมเสน
- พิมเสนมีรสเผ็ดขม มีกลิ่นหอม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและปอด เป็นยาบำรุงหัวใจ[1]
- ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย ทะลวงทวารทั้งเจ็ด[1]
- ช่วยกระตุ้นสมอง กระตุ้นการหายใจ[2]
- แก้ลมวิงเวียนหน้ามืด หัวใจอ่อน ทำให้ชุ่มชื่น[1],[2]
- ใช้เป็นยาระงับความกระวนกระวาย ทำให้ง่วงซึม[2]
- ตำรายาแก้ไอ แก้หลอดลมอักเสบ ให้ใช้พิมเสน 2 กรัมและขี้ผึ้ง 3 กรัมนำมาทำเป็นยาหม่อง ใช้ทาบริเวณลำคอและจมูกจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้[1]
- ช่วยแก้ปากเปื่อย ปากเป็นแผล เหงือกบวม หูคออักเสบ[1]
- ใช้เป็นยาขับเหงื่อ ขับเสมหะ แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ[1],[2]
- ช่วยขับลมทำให้เรอ ช่วยขับผายลม แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง แก้ปวดท้อง[1],[2]
- ช่วยรักษาแผลกามโรค[1],[2]
- ใช้รักษาบาดแผลสด แผลเนื้อร้าย[1],[2]
- ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรคผิวหนังต่าง ๆ[1]
- การกลั่นใบและยอดอ่อนของหนาดด้วยไอน้ำจะได้พิมเสนตกผลึกออกมา นำมาทำเป็นยากินแก้อาการท้องร่วง ปวดท้อง ใช้ขับลม หรือใช้ภายนอกเป็นผงใส่บาดแผล แก้แผลอักเสบ ฟกช้ำ และกลากเกลื้อน[2]
- ใช้แก้ผดผื่นคัน ให้ใช้พิมเสนและเมนทอลอย่างละ 3 กรัม ผงลื่นอีก 30 กรัม นำมารวมกันบดเป็นผงใช้ทาแก้ผดผื่นคัน[1]
- ใช้เป็นยาแก้ปวดบวม แก้อักเสบ[1]
- พิมเสนใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาหอมต่าง ๆ เช่น ยาหอมนวโกฐ ยาหอมเทพจิตร ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณโดยรวมคือแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย[2]
- พิมเสนจัดอยู่ใน “ตำรับยาทรงนัตถุ์” ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่อง 17 สิ่ง อย่างละเท่ากัน (รวมถึงพิมเสนด้วย) นำมาผสมกันแล้วบดเป็นผงละเอียด ใช้นัตถุ์แก้ลมทั้งหลาย ตลอดจนโรคที่เกิดในศีรษะ ตา และจมูก และยังมีอีกขนาดหนึ่งใช้เข้าเครื่องยา 15 สิ่ง (รวมทั้งพิมเสนด้วย) นำมาบดให้เป็นผงละเอียด ห่อด้วยผ้าบาง ทำเป็นยาดมแก้อาการวิงเวียน ปวดศีรษะ แก้สลบ ริดสีดวงจมูก คอ และตา[2]
- นอกจากนี้พิมเสนยังใช้เป็นส่วนผสมในตำรับ “สีผึ้งขาวแก้พิษแสบร้อนให้เย็น” และ “ตำรับยาสีผึ้งบี้พระเส้น” ซึ่งเป็นตำรับยาที่ใช้ถูนวดเส้นที่แข็งให้หย่อนได้[2]
หมายเหตุ : วิธีใช้พิมเสนตาม [1] ให้ใช้ครั้งละ 0.15-0.3 กรัมนำมาบดเป็นผงเข้ากับตำรายาอื่น หรือใช้ทำเป็นยาเม็ด และไม่ควรปรุงยาด้วยวิธีการต้ม หากใช้ภายนอกให้นำมาบดเป็นผงใช้โรยแผลตามที่ต้องการ[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพิมเสน
- สารที่พบ ได้แก่ d-Borneol, Humulene, Caryophyllene, Asiatic acid, Dryobalanon Erythrodiol, Dipterocarpol, Hydroxydammarenone2[1]
- จากการทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าพิมเสนมีคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกับการบูร[1]
- พิมเสนมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อได้หลายชนิด เช่น เชื้อในลำไส้ใหญ่, เชื้อราบนผิวหนัง, Staphelo coccus, Steptro coccus และยังใช้ในการรักษาอาการปวดเส้นประสาทหรืออาการอักเสบ[1]
ข้อควรระวังในการใช้พิมเสน
- สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานพิมเสน[1]
- หากใช้เกินขนาดอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ความจำสับสน[2]
- การเก็บพิมเสนต้องเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดอย่างมิดชิด ควรเก็บไว้ในที่แห้งและมีอุณหภูมิต่ำ[1]
ประโยชน์ของพิมเสน
- ในสมัยก่อนพิมเสนเป็นยาที่หายากและมีราคาแพง (จึงมีคำพูดที่ว่า “อย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ”) นิยมนำพิมเสนมาใส่ในหมากพลู ใช้ผสมในลูกประคบเพื่อช่วยแต่งกลิ่น มีฤทธิ์เป็นยาแก้หวัด แก้พุพอง นอกจากนี้ยังใช้ผสมในยาหม่อง น้ำอบไทย ในยาหอมจะมีพิมเสนและใบพิมเสนผสมอยู่ด้วย[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “พิมเสน”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 386.
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “พิมเสน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [10 พ.ค. 2014].
- ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “พิมเสน”. (ผศ.สุปรียา ยืนยงสวัสดิ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pcog2.pharmacy.psu.ac.th/thi/Article/2548/07-48/borneol.pdf. [10 พ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Najih Nahali – floranusa, Neko D. 13, Lua Hock Keong, Azizul Ameir), www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)