พะวา
พะวา ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia celebica L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Garcinia speciosa Wall.) จัดอยู่ในวงศ์มังคุด (CLUSIACEAE หรือ GUTTIFERAE)[1],[2]
สมุนไพรพะวา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะป่อง (ภาคเหนือ), สารภีป่า (ภาคกลาง, เชียงใหม่), มะระขี้นก มะดะขี้นก (เชียงใหม่), ขวาด (เชียงราย), กวักไหม หมากกวัก (หนองคาย), ชะม่วง (พิจิตร), วาน้ำ (ตรัง), กะวา พะยา (สุราษฎร์ธานี) เป็นต้น[1]
ลักษณะของพะวา
- ต้นพะวา มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางภาคเหนือ และภาคอีสาน แต่พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยจัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นตั้งตรง มีความสูงของต้นประมาณ 10-18 เมตร ทรงพุ่มเป็นรูปโดม ใบออกดกหนาทึบ เปลือกต้นบางเป็นสีเทาดำ เปลือกมียางสีเหลือง ต้น ใบ และผลมียางสีขาว มีการแบ่งแยกต้นเป็นต้นเพศผู้และเพศเมีย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และวิธีการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ในดินทุกสภาพที่มีความชื้นสูง ชอบดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี แสงแดดแบบเต็มวัน[1],[2],[3],[4] มีเขตการกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้นทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และทางภาคใต้ ที่ระดับความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลปานกลางจนถึง 700 เมตร ส่วนในต่างประเทศพบได้ในเมียนมา อินเดีย และเกาะนิโคบาร์[5]
- ใบพะวา ออกใบดกและหนาทึบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปรี หรือรูปไข่กลับ ปลายใบมนกว้าง โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหน้า ผิวใบเป็นมันทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบถี่ เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านหลังใบเห็นได้ชัดเจน[1],[3],[4]
- ดอกพะวา ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง ดอกมีลักษณะคล้ายกับดอกชะม่วง ดอกเป็นแบบแยกเพศ ดอกเพศผู้เป็นสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม มีกลีบดอก 4 กลีบ หนา ลักษณะเป็นรูปทรงกลมรี มีก้านกลีบเล็กน้อย ยาวกว่ากลีบเลี้ยง ส่วนกลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ กลีบวงนอกเป็นรูปไข่ กลีบวงในเป็นรูปไต มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร หลังจากดอกบานประมาณ 24-48 ชั่วโมง ดอกจะเหี่ยวและร่วงหล่น ส่วนดอกเพศเมียมีกลีบเลี้ยงคล้ายดอกเพศผู้ แต่กลีบดอกจะยาวกว่า[1],[3],[5] ดอกพะวาเพศเมียจะออกดอกเป็นดอกเดี่ยว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับดอกเพศผู้ ดอกมีกลีบเลี้ยงสีเหลือง 4 กลีบ กลีบดอกสีเหลือง 4 กลีบ ตรงกลางเป็นที่ตั้งของรังไข่ ซึ่งจะพัฒนาต่อไปเป็นผล ปลายรังไข่มียอดเกสรเพศเมียมีลักษณะแฉกประมาณ 6-8 แฉก ส่วนนี้จะปรากฏที่ปลายผลและเป็นตัวบ่งบอกถึงจำนวนกลีบผลรวมถึงเมล็ด หลังจากดอกบานประมาณ 24 ชั่วโมง กลีบดอกจะร่วงคงเหลือรังไข่และกลีบเลี้ยงที่เหลืออยู่ โดยดอกพะวาจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม และเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน[4]
- ผลพะวา ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ผิวเรียบ พัฒนาโดยไม่มีการผสมเกสร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีส้ม และสีแดงในที่สุด ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบปิดขั้วผลอยู่ เนื้อหุ้มเมล็ดในผลจะมีลักษณะเป็นกลีบใสและมีเส้นขาวขุ่น ผลจะมีรสฝาดอมเปรี้ยว สามารถรับประทาน (เชื่อว่าถ้ากินมาก ๆ อาจทำให้ท้องเสียได้) ส่วนเมล็ดจะเกิดโดยไม่ได้รับการผสม มีลักษณะแบนยาวและมีร่องของมัดท่อน้ำ ท่ออาหารปรากฏอยู่ให้เห็น สีเหลืองอ่อน สามารถแยกเมล็ดออกจากเนื้อผลได้ง่าย เมล็ด 1 เมล็ดสามารถงอกเป็นต้นกล้าได้หลายต้น (ประมาณ 4-10 ต้น) หรือสามารถตัดแบ่งเป็น 2-4 ส่วนแล้วนำไปเพาะก็ได้[2],[3],[4] โดยผลจะแก่ในช่วงประมาณเดือนเมษายน และฤดูฝน[5]
สรรพคุณของพะวา
- ดอกมีสรรพคุณช่วยทำให้เจริญอาหาร ด้วยการใช้ดอกแห้งพอประมาณ นำมาต้มกับน้ำกิน (ดอก)[1]
- ช่วยรักษาลมและโลหิตพิการ ด้วยการใช้ดอกแห้งพอประมาณ นำมาต้มกับน้ำกิน (ดอก)[1]
- ใช้ดอกแห้งพอประมาณ นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ (ดอก)[1] ส่วนน้ำต้มจากเปลือกต้นและใบมีสรรพคุณเป็นยาลดไข้ (เปลือกต้น, ใบ)[2]
- น้ำต้มจากเปลือกต้นและใบ มีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน ช่วยรักษาแผลในปาก (เปลือกต้น, ใบ)[2]
- เปลือกผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องเสีย (เปลือกผล)[2]
- ใช้ใบแห้งนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาระบายอ่อน ๆ (ใบ)[1] ส่วนผลมีรสเปรี้ยว ใช้เป็นยาระบายได้เช่นกัน (ผล)[3]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพะวา
- เปลือกเมื่อนำมาสกัดและแยกสารสกัดที่ได้ให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีโครมาโตกราฟีและการตกผลึก จนได้สาร 4 ประเภท คือ benzophenones, biphenyls, triterpenes และ xanthones ซึ่งเมื่อนำสาร biphenyls และ triterpenes บริสุทธิ์มาวิเคราะห์หาโครงสร้างทางเคมี และเมื่อนำไปทดสอบการออกฤทธิ์ทางชีวภาพก็พบว่า สารดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านเชื้อเอดส์ได้ทั้งในระดับเซลล์และในระดับโมเลกุลได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการฆ่าเซลล์มะเร็งและช่วยลดอาการบวมของเนื้อเยื่อได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี สารดังกล่าวยังต้องนำไปทดลองทางคลินิกเพิ่มเติมอีกระยะหนึ่งเพื่อประโยชน์สูงสุดในการรักษาต่อไป (น.ส.ปานฤทัย ภัยลี้ นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) รุ่นที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)[6]
ประโยชน์ของพะวา
- ผลพะวาสามารถนำมารับประทานเป็นผลไม้ได้[2] แม้ว่าผลจะมีสีสวยงามและมีเนื้อในที่สามารถรับประทานได้ก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมนำมารับประทานเท่าใดนัก เนื่องจากเนื้อมีรสเฝื่อน ออกเปรี้ยว และหากรับประทานมากเกินไปก็อาจทำให้ท้องเสียได้[4]
- ไม้พะวา เป็นไม้เนื้อแข็ง เสี้ยนไม้ละเอียด สีน้ำตาลแดง สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างได้ดี[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “พะวา”. หน้า 553-554.
- การสำรวจทรัพยากรป่าไม้เพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี). “พะวา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : inven.dnp9.com/inven/. [22 ส.ค. 2014].
- คมชัดลึกออนไลน์. (นายสวีสอง). “พะวาไม้หายากเป็นยา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net. [22 ส.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้ สำหรับประชาชน, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “รายละเอียดพะวา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : natres.psu.ac.th. [22 ส.ค. 2014].
- สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “พะวา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/. [22 ส.ค. 2014].
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). “วิจัยพบ ต้นพะวามีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็ง-ยับยั้งเชื้อเอดส์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.trf.or.th. [22 ส.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.natres.psu.ac.th, wwwbansuanporpeang.com (by teerapan)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)