พะยอม
พะยอม ชื่อสามัญ Shorea, White meranti
พะยอม ชื่อวิทยาศาสตร์ Shorea roxburghii G.Don (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Shorea talura Roxb.) จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)
สมุนไพรพะยอม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แดน (เลย), ยางหยวก (น่าน), กะยอม เชียง เซียว เซี่ย (เชียงใหม่), พะยอมทอง (ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี), ขะยอมดง พะยอมดง (ภาคเหนือ), สุกรม (ภาคกลาง), คะยอม ขะยอม (อีสาน), ยอม (ภาคใต้), ขะยอม (ลาว), พะยอมแดง แคน พยอม เป็นต้น
ลักษณะของต้นพะยอม
- ต้นพะยอม (ต้นพยอม) มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและเอเชีย เช่น ประเทศพม่า ลาว ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ มีความสูงประมาณ 15-20 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นอาจยาวถึง 300 เซนติเมตร เปลือกต้นมีสีน้ำตาลหรือสีเทาเข้ม แตกเป็นร่องตามยาวและเป็นสะเก็ดหนา ส่วนเนื้อไม้มีสีเหลืองถึงสีน้ำตาล ลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มกลมสวยงามมาก แตกกิ่งก้านจำนวนมาก ถ้าหากปลูกในที่โล่งแจ้งและไม่มีพรรณไม้ใหญ่ชนิดอื่นอยู่ใกล้ ๆ เป็นต้นไม้ที่สวยโดยธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องทำการตัดแต่งกิ่งแต่อย่างใด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง ซึ่งในปัจจุบันพันธุ์ไม้ชนิดนี้กำลังเริ่มลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ โดยสามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณแล้งและชื้น หรือป่าดิบแล้งทั่วไป ทุกภาคของประเทศที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 60-1,200 เมตร และดอกพะยอมยังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ด้วย
- ใบพะยอม ลักษณะของใบเป็นรูปมนรี ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน โคนใบสอบมน ปลายใบแหลม ขอบเรียบเป็นคลื่น ด้านหลังใบจะมีเส้นใบมองเห็นชัดเจน ใบมีความยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 6-8 เซนติเมตร
- ดอกพะยอม (ดอกพยอม) ออกดอกเป็นช่อใหญ่ ออกดอกตามส่วนยอดของต้น ดอกมีสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอม ดอกมีกลีบ 3 กลีบ กลีบดอกเรียบโค้งเล็กน้อย ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร โคนกลีบดอกติดกับก้านดอก มีลักษณะกลม ออกดอกพร้อมกันเกือบทั้งต้น โดยจะออกดอกในช่วยเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
- ผลพะยอม ผลแห้งมีปีกแบบ Samara ลักษณะเป็นทรงไข่และกระสวย ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ซ่อนตัวอยู่ในกระพุ้ง โคนปีกมี 5 ปีก ประกอบด้วยปีกยาวรูปขอบขนาน 3 ปีก ยาวประมาณ 8 เซนติเมตร มีเส้นตามยาวของปีกประมาณ 10 เส้น และปีกสั้นมี 2 ปีก มีความยาวไม่เกิน 3 เซนติเมตร ในผลมีเมล็ดหนึ่งเมล็ด ออกผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม
สรรพคุณของพะยอม
- พยอม สรรพคุณของดอกช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก)
- สรรพคุณสมุนไพรพยอม ดอกใช้ผสมเป็นยาแก้ไข้ (ดอก)
- ดอกใช้ทำเป็นยาหอมไว้แก้ลม (ดอก)
- สรรพคุณต้นพยอมช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเดิน (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นใช้กินแทนหมาก ช่วยแก้ลำไส้อักเสบได้ (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นมีสีสาร Tannin มาก สามารถใช้เป็นยาฝาดสมานแผลในลำไส้ได้ (เปลือกต้น)
- สรรพคุณพยอมช่วยสมานบาดแผล ชำระบาดแผล ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาฝนแล้วทาบริเวณบาดแผล
ประโยชน์ของพะยอม
- ดอกอ่อนสามารถนำมารับประทานสดได้ หรือจะนำมาลวกเป็นผักไว้จิ้มกินกับน้ำพริก ใช้ผัดกับไข่ ชุบไข่ทอด หรือจะนำมารับประทานเป็นน้ำซุปร้อน ๆ โดยนำมาแกงส้มก็ได้เช่นกัน โดยคุณค่าทางโภชนาการของดอกพะยอมในส่วนที่กินได้ต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรต 7.2 กรัม, โปรตีน 4.4 กรัม, ไขมัน 1.1 กรัม, เส้นใย 2.8 กรัม, ธาตุเหล็ก 0.3 มิลลิกรัม, และธาตุแคลเซียม 46 มิลลิกรัม
- ไม้พะยอม มีสีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาล สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างทั่ว ๆไปได้ เช่น การทำเสาบ้าน ขื่อ รอด ตง พื้น ทำฝา เรือขุด เครื่องบนเสากระโดงเรือ แจว พาย กรรเชียง คราด ครก สาก ลูกหีบ กระเดื่อง ตัวถังรถ ซี่ล่อเกวียน กระเบื้องไม้ นำไปใช้ทำหมอนรถไฟ และนำมาใช้แทนไม้ตะเคียนทองเพราะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน เป็นต้น
- ประโยชน์ของพะยอม เปลือกต้นสามารถใช้รับประทานกับใบพลูแทนหมากได้
- เปลือกต้นและเนื้อไม้นำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ในกระบอกไม้ไผ่ ไว้ใช้รองน้ำตาลสดจากต้นมะพร้าวและน้ำตาลจากต้นตาลโตนด
- เปลือกต้นหรือไม้ชิ้นเล็ก ๆ นำมาใช้ใส่เครื่องหมักดองเพื่อกันบูดกันเสียได้
- ชันที่ได้จากต้นพะยอมสามารถใช้ผสมกับน้ำมันทาไม้ ยาแนวเรือได้
- เปลือกต้นมีสารแทนนินชนิด Pyrogallol และ Catechol ในปริมาณสูง จึงนิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง
- พะยอมเป็นต้นไม้ที่สามารถปลูกได้ดีในที่แล้ง ซึ่งอาจปลูกไว้เพื่อความสวยงามให้ร่มเงาตามบ้านเรือนก็ได้ และดอกยังมีความสวยงามมาก แต่จะออกดอกปีละครั้ง และออกดอกพร้อมกันทั้งต้นดูสวยงามมาก
- คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดที่ปลูกต้นพะยอมไว้ประจำบ้าน จะช่วยทำให้คนในบ้านมีนิสัยที่อ่อนน้อม เพราะคำว่าพะยอมมีความหมายว่า การยินยอม ตกลง ผ่อนผัน หรือประนีประนอมนั่นเอง และยังเชื่อว่าจะช่วยทำให้ไม่ขัดสนในเรื่องต่าง ๆ รวมไปถึงเรื่องเงินทองด้วย เพราะจะทำให้ผู้คนต่างให้ความเห็นใจนั่นเอง โดยการปลูกเพื่อเอาคุณนั้นให้ปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและควรปลูกในวันเสาร์
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม), เว็บไซต์หมอชาวบ้าน (เดชา ศิริภัทร)
ภาพประกอบ : เว็บไซต์ magnoliathailand.com (by สมศักดิ์), www.siamensis.org (by สมศักดิ์), www.the-than.com, www.treeofthai.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)