พวงชมพู
พวงชมพู ชื่อสามัญ Mexican Creeper, Bee Bush, Bride’s tears, Coral Vine, Chain of Love, Confederate Vine, Corallita, Hearts on a Chain, Honolulu Creeper, Queen’s Jewels, Mountain Rose Coralvine, San Miguelito Vine, Rose Pink Vine[1],[2],[4]
พวงชมพู ชื่อวิทยาศาสตร์ Antigonon leptopus Hook. & Arn. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Antigonon amabie K.Koch, Antigonon cinerascens M.Martens & Galeott, Antigonon cordatum M.Martens & Galeotti, Antigonon platypus Hook. & Arn., Corculum leptopus Stuntz) จัดอยู่ในวงศ์ผักไผ่ (POLYGONACEAE)[1]
สมุนไพรพวงชมพู มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ชมพูพวง (กรุงเทพฯ), หงอนนาก (ปัตตานี), พวงนาก (ภาคกลาง) เป็นต้น[2]
ลักษณะของพวงชมพู
- ต้นพวงชมพู มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกากลาง พบมากในประเทศเม็กซิโก จัดเป็นไม้เถาเลื้อยที่มีเถาเนื้ออ่อนขนาดเล็ก แต่ตรงส่วนโคนจะแข็งแรงมาก ลำเถาเป็นสีเขียวอ่อน มีมือสำหรับยึดเกาะพันต้นไม้หรือกิ่งอื่นเพื่อการทรงตัว และสามารถเลื้อยพันสิ่งต่าง ๆ ไปได้ไกลประมาณ 40 ฟุต ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอน และการปักชำกิ่ง พวงชมพูเป็นไม้กลางแจ้งที่ต้องการแสงแดดมาก ต้องการน้ำปานกลาง เจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิดที่มีความชื้นพอสมควร นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน แต่ในบางประเทศพบขึ้นเป็นวัชพืช[1],[2],[4]
- ใบพวงชมพู ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันไปตามข้อต้น ใบช่วงโคนมักมีขนาดใหญ่กว่าใบช่วงปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นใบโพธิ์หรือรูปหัวใจ ปลายใบแหลมหรือแหลมยาว โคนใบมนเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบจักมนไม่แหลมหรือเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยง เส้นแขนงใบและเส้นแขนงย่อยชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร[1],[2],[4]
- ดอกพวงชมพู ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกตามซอกใบ ซอกกิ่ง และที่ปลายยอด ช่อแขนงยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร ส่วนปลายช่อสุดจะมีสำหรับเกาะเกี่ยวสิ่งอื่น ๆ เพื่อเป็นการพยุงตัว ดอกออกเป็นกระจุกตามแขนงช่อ ดอกบางทีก็มีสีขาว บางทีก็มีสีชมพู แก่บ้างอ่อนบ้าง แต่ส่วนใหญ่ดอกจะเป็นสีชมพู ก้านดอกยาวประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบรวมมี 5 กลีบ ยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร ขยายในผล ยาวได้ประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบนอกมี 2-3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ ส่วนกลีบในเป็นรูปขอบขนาน ลักษณะของดอกเป็นรูปคล้ายหัวใจเล็ก ๆ ดอกมีขนาดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตรกว่า ๆ ดอกกลุ่มหนึ่ง ๆ ของต้นพวงชมพู อาจจะออกเป็นช่อตั้งหรือห้อยเป็นพวงระย้าก็ได้[1],[2],[4]
- ผลพวงชมพู ผลเป็นผลแห้งเมล็ดล่อน ลักษณะของผลเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร มีกลีบรวมที่ขยายหุ้ม[2],[4]
สรรพคุณของพวงชมพู
- รากและเถาใช้เป็นยากล่อมประสาท ช่วยทำให้นอนหลับ ด้วยการใช้เถาประมาณ 1 กำมือ หรือใช้รากประมาณ 1/2 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 4 ถ้วยแก้ว แล้วต้มให้เหลือ 2 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานก่อนนอนครั้งละ 3 ช้อนแกง (ราก, เถา)[2]
ประโยชน์ของพวงชมพู
- ยอดอ่อนและช่อดอกที่ยังไม่บานเต็มที่ อาจนำมาลวกให้สุกเพื่อใช้รับประทานเป็นผักจิ้มหรือชุบแป้งทอดรับประทานก็ได้[3]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ดอกมีความสวยงามสีเย็นตาไม่ฉูดฉาดเกินไป พวงชมพูเป็นไม้ปลูกง่ายและสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ไม่มีโรคและแมลงมารบกวนจนถึงขั้นเสียหาย เหมาะแก่การนำมาปลูกลงในกระถางตั้งที่มีหลักสำหรับเกาะยึดเลื้อยขึ้นไป ปลูกลงในกระถางแขวนให้ห้อยลง ปลูกประดับตามริมขอบหน้าต่างและระเบียง หรือใช้ปลูกคลุมซุ้มที่นั่งเพื่อให้ร่มเงา หรือปลูกขึ้นคลุมต้นก็ดูสวยงามไม่น้อย ออกดอกดกมากในช่วงฤดูแล้ง คือในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน แต่ควรนำมาปลูกในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงเพราะพรรณไม้ชนิดนี้ต้องการแสงมาก ส่วนการรดน้ำควรรดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง โดยการรดน้ำแต่ละครั้ง จะต้องรดให้ชุ่มแต่ไม่ต้องแฉะมาก เพราะอาจทำให้รากพืชเน่าและตายได้ในที่สุด และควรให้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยไนโตรเจนเพื่อเสริมให้ต้นพวงชมพูงอกงามได้ดีขึ้นและให้ดอกที่สวยงาม[1],[3]
เอกสารอ้างอิง
- ไม้ดอกไม้ประดับ. “พวงชมพู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : it.kbtc.ac.th. [09 ม.ค. 2015].
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “พวงชมพูดอกขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [09 ม.ค. 2015].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 269 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า. (เดชา ศิริภัทร). “พวงชมพู ดวงใจดวงน้อยที่งดงามและบอบบาง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [09 ม.ค. 2015].
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “พวงชมพู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [09 ม.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Betsy J…, Sue Carnahan, Kai Yan, Joseph Wong, Yeoh Yi Shuen, Forest and Kim Starr, James Rose, Cam Do Xuan, Gerardo Marrón)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)