พลูช้าง
พลูช้าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Scindapsus officinalis (Roxb.) Schott จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)[1]
สมุนไพรพลูช้าง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เครืองูเขียว (หนองคาย), หีควาย (กรุงเทพฯ), ดิป๊ามซุง (เมี่ยน) เป็นต้น[2],[3]
ลักษณะของพลูช้าง
- ต้นพลูช้าง จัดเป็นพรรณไม้เลื้อยเนื้ออ่อน ลำต้นมีลักษณะอวบและฉ่ำน้ำ ชอบเลื้อยพาดตามก้อนหินหรืออาศัยเกาะอยู่ตามไม้ยืนต้นอื่น ๆ ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นในร่มที่มีความชุ่มชื้น ตามพื้นที่เปิดโล่ง ตามซอกหิน ริมน้ำตก[1],[2] บนภูเขาสูง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบ[3]
- ใบพลูช้าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับกัน แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปรีแกมไข่ หรือรูปไข่เบี้ยวแกมรูปรี ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลมหรือเว้าเป็นรูปหัวใจตื้น ๆ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6.5-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12.5-25.5 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยงเป็นมัน เส้นใบมองเห็นได้ชัดเจน ก้านใบแผ่เป็นครีบ[1],[2]
- ดอกพลูช้าง ออกดอกเป็นช่อเดี่ยว ๆ บริเวณยอด ดอกมีลักษณะเป็นแท่งกลมยาวและมีก้านช่อดอกสั้นกว่าก้านใบมาก กาบหุ้มช่อดอกด้านนอกเป็นสีเขียว ส่วนด้านในเป็นสีเหลือง กาบที่หุ้มบนแท่งช่อดอกจะประกอบไปด้วยดอกสมบูรณ์เพศจำนวนมากเรียงอัดกันแน่น แต่ละดอกนั้นจะมีเกสรเพศผู้ประมาณ 4-6 อัน ส่วนรังไข่จะมีอยู่ 1 ช่อง[1]
- ผลพลูช้าง ผลเป็นผลสดมีเนื้อนุ่มฉ่ำน้ำเหมือนมะเขือเทศ แต่มีขนาดเล็กและมีจำนวนน้อย ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ภายในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปหัวใจ[1],[2]
สรรพคุณของพลูช้าง
- ผลใช้เป็นยาบำรุง ยากระตุ้น (ผล)[1]
- ใบใช้ต้มกับน้ำให้เด็กกินแก้ซาง (ใบ)[3]
- ผลมีสรรพคุณช่วยขับเหงื่อ (ผล)[1]
- ใช้เป็นยาขับพยาธิ (ผล)[1]
- ผลใช้เป็นยาทารักษาอาการปวดตามข้อ (ผล)[1]
- ใบใช้ต้มกับน้ำอาบหลังคลอดบุตร (ใบ)[3]
- บางข้อมูลระบุว่า เครือใช้ต้มกินเป็นยาบำรุงกำลัง หรือใช้ต้มเข้ายาแก้นิ่ว (เครือ)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “พลูช้าง”. หน้า 550-551.
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “พลูช้าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [09 พ.ย. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “พลูช้าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [09 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.biogang.net (by so_sick, srisuwan, 2052010211319)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)