พลับพลึงแดง สรรพคุณและประโยชน์ของพลับพลึงดอกแดง 19 ข้อ !

พลับพลึงดอกแดง

พลับพลึงแดง ชื่อสามัญ Giant lily, Crinum lily, Red crinum, Spider lily

พลับพลึงแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Crinum × amabile Donn หรือ Crinum × amabile Donn ex Ker Gawl. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Crinum × augustum Roxb.) จัดอยู่ในวงศ์พลับพลึง (AMARYLLIDACEAE)[1],[2],[3],[4],[5]

สมุนไพรพลับพลึงแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พลับพลึง, พลับพลึงดอกแดงสลับขาว, พลับพลึงใหญ่ดอกสีชมพู, พลับพลึงดอกแดง (กรุงเทพ, ภาคกลาง), ลิลัว (ภาคเหนือ) เป็นต้น[2],[4],[5],[6]

ลักษณะของพลับพลึงแดง

  • ต้นพลับพลึงแดง เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นมีหัวอยู่ใต้ดิน ส่วนที่อยู่เหนือดินขึ้นไปประกอบไปด้วยกาบใบสีขาวหุ้มซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อออกไปปลูกหรือใช้วิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือในพื้นที่ที่มีความชื้นค่อนข้างสูง เช่น หนอง บึง ริมคลอง เป็นต้น สามารถอดทนต่อสภาพแวดล้อมได้โดยไม่ต้องการดูแลเอาใจใส่มากนัก แต่ถ้าต้องการให้มีดอกมากให้ปลูกในพื้นที่กลางแจ้ง แต่ถ้าต้องการให้ใบสวยให้ปลูกในที่ที่มีแสงแดดรำไร (หัวมีสาร Alkaloid Narcissine)[1],[2],[5]

ต้นพลับพลึงแดง

พลับพลึงดอกแดงสลับขาวพลับพลึงใหญ่ดอกสีชมพู
  • ใบพลับพลึงแดง ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงซ้อนสลับกันเป็นวง ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบเป็นกาบซึ่งทำหน้าที่เป็นก้านใบห่อหุ้มเป็นเปลือกของลำต้นอยู่ ส่วนขอบใบเรียบไม่มีจัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1 เมตร ใบเป็นสีเขียว ผิวใบอ่อนนุ่ม อวบน้ำ หนา และเหนียว[1],[2]

ใบพลับพลึงแดง

  • ดอกพลับพลึงแดง ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ ก้านดอกแทงขึ้นออกมาจากกลุ่มของใบตอนปลาย ในหนึ่งช่อดอกจะมีดอกย่อยออกอยู่เป็นกระจุกประมาณ 12-40 ดอก (ช่อดอกของพลับพลึงแดงจะมีขนาดใหญ่กว่าพลับพลึงขาว) ดอกพลับพลึงแดงกลีบดอกจะมีสีขาวแกมชมพู หรือกลีบด้านบนของดอกเป็นสีม่วงหรือเป็นสีชมพู ส่วนกลีบด้านล่างเป็นสีแดงเข้มหรือสีแดงเลือดหมู ลักษณะของกลีบดอกจะแคบเรียวยาว เมื่อดอกบานเต็มที่ กลีบของดอกจะงองุ้มเข้าหาก้านดอก ดอกมีเกสรยาวยื่นออกมาจากกลางดอก ดอกมีกลิ่นหอมและจะหอมมากในช่วงพลบคล่ำ สามารถออกดอกได้ปีละครั้ง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกันยายนไปจนถึงเดือนตุลาคม บ้างว่าสามารถออกดอกได้ตลอดปี และจะออกมากในช่วงฤดูฝน[1],[2],[5]

พลับพลึงดอกแดง

ดอกพลับพลึงแดง

  • ผลพลับพลึงแดง ผลเป็นผลสดสีเขียว ลักษณะของผลค่อนข้างกลม และเมล็ดมีลักษณะกลม[1],[4]

สรรพคุณของพลับพลึงแดง

  1. สารสกัดจากใบมีฤทธิ์ช่วยต้านการเจริญเติบโตของเนื้องอก (ใบ)[1]
  2. หัวมีรสขม ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (หัว)[2]
  3. เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย (เมล็ด)[2],[3],[4]
  4. ใช้เป็นยาลดไข้ ด้วยการใช้ใบพลับพลึงเพียงอย่างเดียว หรือใช้ร่วมกับชนิดอื่น ๆ (ใบ)[2]
  5. จะใช้ใบพลับพลึงอย่างเดียวหรือจะใช้ร่วมกับชนิดอื่น ๆ แล้วนำไปตำเพื่อปิดบริเวณที่มีอาการปวด เพื่อใช้รักษาอาการปวดศีรษะ (ใบ)[2]
  6. ช่วยขับเสมหะ (หัว)[2],[3],[4]
  7. ใบมีรสเอียน เมื่อนำไปต้มรับประทานจะทำให้อาเจียน หรือจะใช้รากนำมาเคี้ยวจนแหลกเป็นน้ำ แล้วกลืนเอาแต่น้ำเข้าไปก็มีสรรพคุณทำให้อาเจียน ส่วนหัวพลับพลึงแดงก็ทำให้คลื่นเหียน อาเจียน ได้เช่นเดียวกัน (หัว, ใบ, ราก)[2],[3]
  8. ใช้เป็นยาระบาย (หัว, เมล็ด)[2],[3],[4]
  9. หัวใช้เป็นยารักษาโรคที่เกี่ยวกับปัสสาวะ (หัว)[2]
  10. ช่วยขับปัสสาวะ (เมล็ด)[2],[3],[4]
  1. ช่วยขับเลือดประจำเดือนของสตรี (เมล็ด)[2]
  2. หัวใช้เป็นยารักษาโรคที่เกี่ยวกับน้ำดี (หัว)[2],[3],[4]
  3. ใบสดนำมาลนไฟเพื่อให้อ่อนตัวลง ใช้ประคบหรือพันรักษาแก้อาการเคล็ดขัดยอก แพลง อาการบวม ฟกช้ำบวม จะช่วยในการถอนพิษได้ดี (ใบ)[1],[2],[3],[4]
  4. รากใช้ตำพอกแผล (ราก)[2]
  5. รากใช้เป็นยารักษาพิษยางน่อง (ราก)[2]
  6. ใช้อยู่ไฟหลังคลอดสำหรับสตรี (ใบ)[3],[4]
  7. สารสกัดจากใบมีฤทธิ์ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย (ใบ)[1]
  8. ใบและหัวของพลับพลึง มีสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ที่มีชื่อว่า “Lycorine” ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ช่วยต้านไวรัสที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคโปลิโอและโรคหัด แต่สารชนิดนี้จะมีความเป็นพิษสูง และยังต้องมีการทดลองกันต่อไป (ใบ, หัว)[1]

ประโยชน์ของพลับพลึงแดง

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับเพื่อความสวยงามได้เช่นเดียวกับพลับพึงดอกขาว เนื่องจากดอกมีความสวยงามและขนาดใหญ่ อีกทั้งยังให้กลิ่นหอมมากเป็นพิเศษในช่วงเวลาพลบค่ำ

พิษของพลับพลึงแดง

  • พลับพลึงมีฤทธิ์ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร (เข้าใจว่าส่วนหัว) โดยหัวของพลับพลึงมีพิษในกลุ่มอัลคาลอยด์ที่มีชื่อว่า “Lycorine” โดยอาการที่เป็นพิษได้แก่ มีอาการอาเจียน ตัวสั่น เหงื่อออก มีน้ำลายมาก และมีอาการท้องเดินแบบไม่รุนแรง แต่ถ้าหากมีอาการมากอาจจะเกิด Paralysis และ Collapse[6]

วิธีการรักษาพิษจากพลับพลึงแดง

  1. ให้ดื่มน้ำในปริมาณมาก ๆ เพื่อทำให้สารพิษเจือจาง[6]
  2. ทำให้อาเจียนออกมา[6]
  3. ให้นำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างออก เพื่อเอาชิ้นส่วนของพืชพลับพลึงออกให้หมด[6]
  4. รับประทานยารักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน เพื่อช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายมากเกินไป[6]
  5. ควรให้น้ำเกลือจนกว่าจะมีอาการดีขึ้น[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  “พลับพลึงดอกแดง”.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  หน้า 91.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย.  “พลับพลึงดอกแดง (กรุงเทพฯ)”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 144.
  3. โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์.  “พลับพลึงแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.shc.ac.th.  [22 ม.ค. 2014].
  4. หนังสือไม้ดอกหอม เล่ม 1.  “พลับพลึงดอกแดง (กรุงเทพฯ)”.  (ปิยะ เฉลิมกลิ่น).  หน้า 147.
  5. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “พลับพลึงใหญ่ดอกสีชมพู”.  (นพพล เกตุประสาท).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th . [22 ม.ค. 2014].
  6. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “พลับพลึงดอกแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th.  [22 ม.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Mauricio Mercadante, guzhengman, m.kaeru, Toni Corelli, LeahRR, BEARTOMCAT (Bear) Net Connection Erratic)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด