พลองขี้ควาย
พลองขี้ควาย ชื่อวิทยาศาสตร์ Memecylon caeruleum Jack จัดอยู่ในวงศ์โคลงเคลง (MELASTOMATACEAE)[1]
สมุนไพรพลองขี้ควาย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พลองขี้นก (ลำปาง), พรม พลองขี้ไต้ (ประจวบคีรีขันธ์), พลองใบเล็ก เป็นต้น[1],[2],[3]
ลักษณะของพลองขี้ควาย
- ต้นพลองขี้ควาย จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ที่มีความสูงของต้นได้ประมาณ 3-12 เมตร แตกกิ่งก้านโปร่ง กิ่งเล็กเป็นสีน้ำตาล มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบในจีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบกระจายแบบห่าง ๆ ทุกภาค แต่พบได้มากทางภาคใต้ จนถึงระดับความสูงประมาณ 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล[1],[2]
- ใบพลองขี้ควาย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบเป็นรูปลิ่มหรือกลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดยาวประมาณ 8-16 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา เรียบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน ส่วนท้องใบเป็นสีอ่อนกว่า ก้านใบยาวประมาณ 0.2-1 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกพลองขี้ควาย ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ ตามซอกใบ ก้านช่อยาวประมาณ 0.5-1.2 เซนติเมตร ดอกเป็นสีม่วงแกมสีน้ำเงิน ใบประดับมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ร่วงได้ง่าย ก้านดอกยาวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ฐานรองดอกเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ยาวได้ประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร เกลี้ยง กลีบเลี้ยงจักตื้น ๆ 4 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะย่น มี 4 กลีบ สีม่วง ลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายแหลม ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร โคนกลีบเชื่อมติดกัน ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 อัน สีม่วง ยาวได้ประมาณ 2.5 มิลลิเมตร รวมอับเรณู อับเรณูยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ที่ปลายมีรยางค์ มีต่อมที่โคน ส่วนรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม[1],[2]
- ผลพลองขี้ควาย ผลคล้ายผลสดมีเมล็ดเดียวที่เจริญ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่รี ๆ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเกลี้ยง ผลอ่อนเป็นสีเขียวหรือสีชมพูอมม่วง พอสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้มหรือสีม่วงดำ เมล็ดมีลักษณะกลม เปลือกแข็ง[1],[2]
สรรพคุณของพลองขี้ควาย
- ใช้รากพลองขี้ควายผสมกับรากพลองเหมือด นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ผิดสำแดงหรืออาหารเป็นพิษ (ราก)[1],[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “พลองขี้ควาย”. หน้า 140.
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “พลองขี้ควาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [09 พ.ย. 2014].
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “พลองใบเล็ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [31 ส.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Cerlin Ng, Chow Khoon Yeo, Ahmad Fuad Morad, Yeoh Yi Shuen, techieoldfox)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)