ผักโขมหัด
ผักขมหัด หรือ ผักโขมหัด ชื่อสามัญ Slender amaranth, Amaranth, Green amaranth
ผักโขมหัด ชื่อวิทยาศาสตร์ Amaranthus viridis L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Amaranthus gracilis Desf.) จัดอยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)
สมุนไพรผักโขมหัด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักโขมหัด (ภาคกลาง), ผักหม (ภาคใต้), กะเหม่อลอมี, แม่ล้อคู่ (กระเหรี่ยง, แม่ฮ่องสอน) ,ปะตี (เขมร), ผักหมหัด ผักโขม ผักโขมไทย เป็นต้น[1],[2],[3],[4]
ลักษณะของผักโขมหัด
- ต้นผักโขมหัด จัดเป็นไม้ล้มลุกฤดูเดียว มีลำต้นตั้งตรง มีความสูงประมาณ 0.5-2 ฟุต แตกกิ่งก้านสาขารอบต้น ลักษณะของลำต้นเป็นเหลี่ยมมน และมีขนอ่อน ๆ ปกคลุมอยู่บ้างเล็กน้อย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด มักขึ้นทั่วไปตามที่ชุ่มชื้น และพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย[1],[2]
- ใบผักโขมหัด เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ใบมีความกว้างประมาณ 1-2.5 นิ้วและยาวประมาณ 1.5-3.5 นิ้ว ปลายใบมนหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนโคนใบแหลมและกว้างกว่าปลายใบ ตามเส้นใบมีขน ขอบใบเป็นจักโค้งมนหรือกึ่งฟันเลื่อย ผิวท้องใบเกลี้ยง[1],[2]
- ดอกผักโขมหัด ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะตามซอกใบและที่ปลายยอด ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่กันคนละดอก แต่อยู่ในช่อเดียวกัน ดอกมีสีเขียว เรียงกันเป็นแถวประมาณ 20-30 ดอก[2] ดอกมีขนอยู่หนาแน่น มีใบประดับลักษณะคล้ายรูปหอกแคบ กลีบดอกมีสีม่วงเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 2 ปาก ปากบนจะแยกเป็น 2 พู ลักษณะเป็นรูปโล่ ส่วนปากล่างจะแยกเป็น 3 พู[1]
- ผลผักโขมหัด ผลเป็นฝักแห้งแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย[1]
สรรพคุณของผักโขมหัด
- รากผักโขมหัดช่วยแก้ไข้ ไข้หวัดต่าง ๆ (ราก, ใบ)[1],[2] ช่วยถอนพิษไข้หัว (ราก)[3]
- รากนำมาปรุงเป็นยาถอนพิษร้อนภายในร่างกาย (ราก)[2]
- ช่วยแก้ร้อนใน (ราก)[3]
- รากและใบช่วยขับเสมหะ (ราก, ใบ)[1],[2],[3]
- รากใช้บำบัดอาการปวดท้องเฉียบพลัน โดยให้ใช้น้ำต้มเดือด 1 ลิตรเทลงบนราก 20 กรัม ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วกรองเอารากออก สำหรับผู้ใหญ่ให้ดื่มน้ำที่ได้วันละ 4-5 ถ้วย (ราก)[4]
- ช่วยแก้อาการท้องผูกในเด็ก ด้วยการใช้ใบและรากนำมาชงเป็นชาให้เด็กดื่ม (ใบ, ราก)[4]
- ช่วยขับปัสสาวะ โดยมักใช้เป็นยาสมุนไพรร่วมกับผักโขมหิน (ราก)[1],[2]
- ช่วยบำบัดอาการอักเสบของเยื่อเมือกในระบบปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ของสตรี โดยให้ใช้น้ำต้มเดือด 1 ลิตร เทลงบนราก 20 กรัม ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วกรองเอารากออก สำหรับผู้ใหญ่ให้ดื่มน้ำที่ได้วันละ 4-5 ถ้วย (ราก)[4]
- ช่วยแก้ประจำเดือนที่หยุดมากะทันหัน โดยให้ใช้น้ำต้มเดือด 1 ลิตรเทลงบนราก 20 กรัม ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วกรองเอารากออก สำหรับผู้ใหญ่ให้ดื่มน้ำที่ได้วันละ 4-5 ถ้วย (ราก)[4]
- ใบใช้เป็นยาพอกแผลที่ขาได้ (ใบ)[1]
- ใบนำมาปรุงเป็นยาแก้คันตามผิวหนัง (ใบ)[2] หรือจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำอาบแก้อาการตามผิวหนัง (ราก)[2],[3]
- ต้นและรากใช้ตำพอกที่ผิวหนัง ช่วยบรรเทาอาการอักเสบและช่วยรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกได้ (ต้น, ราก)[4]
- ช่วยแก้พิษจากการถูกงูกัด (ทั้งต้น)[2]
- ใบใช้เป็นยาแก้พิษจากแมงป่องต่อย (ใบ)[2]
- ช่วยขับน้ำนมของสตรี (ราก, ใบ)[1] ด้วยการใช้รากนำมาทุบต้มกับน้ำ เคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ ประมาณ 30 นาที แล้วกรองเอาแต่น้ำมาดื่ม (ราก)[4]
- ช่วยทำให้ผิวหนังนุ่ม (ใบ)[2]
ประโยชน์ของผักโขมหัด
- ทั้งต้นนำมาต้มหรือลวกให้สุกใช้รับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือนำไปปรุงเป็นแกงก็ได้เช่นกัน[2] หรือจะใช้เฉพาะยอดอ่อนต้มรับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริกก็ได้[3]
เอกสารอ้างอิง
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “ผักขมหัด“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [13 พ.ย. 2013].
- โครงการตาสับปะรด นักสืบเสาะภูมิปัญญาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชุมชนสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร. “โขมหัด“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pineapple-eyes.snru.ac.th. [13 พ.ย. 2013].
- สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [13 พ.ย. 2013].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 333 คอลัมน์: เรื่องเด่นจากปก. “ผักขม”. (รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [13 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Vietnam Plants & The USA. plants, naturgucker.de, plj.johnny, biofestival_unj)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)