ผักเป็ดน้ำ
ผักเป็ดน้ำ ชื่อสามัญ Alligator weed[1]
ผักเป็ดน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Alternanthera philoxeroides (Mart.) Griseb. จัดอยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)[1],[2]
ผักเป็ดน้ํา ยังมีชื่อเรียกอื่นอีกว่า ผักเป็ด (ทั่วไป), คงซิมเกี่ยง (จีน-แต้จิ๋ว), คงซินเจี้ยน คงซินเหลี่ยนจื่อเฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของผักเป็ดน้ำ
- ต้นผักเป็ดน้ำ จัดเป็นพรรณไม้น้ำหรือพรรณไม้ล้มลุก มีอายุราว 1 ปี ชอบขึ้นตามแอ่งน้ำรกร้างหรือริมน้ำทั่วไป มีลำต้นอยู่บนผิวน้ำ ลำต้นมีความสูงประมาณ 1 เมตร เลื้อยทอดไปตามผิวน้ำหรือพื้นดิน แตกกิ่งก้านสาขามาก ส่วนรากจะติดอยู่ตามข้อต้น ลำต้นกลมเป็นข้อ ๆ ภายในของลำต้นกลวง ขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้นไปปลูกลงในแอ่งน้ำ[1],[2]
- ใบผักเป็ดน้ำ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ โดยจะออกตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปรียาวหรือรูปไข่กลมรี ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร มีขนขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไปตามขอบใบทั้งสองด้าน เส้นกลางใบนูน แผ่นใบเป็นสีเขียว ก้านใบสั้น[1],[2]
- ดอกผักเป็ดน้ำ ออกดอกเป็นช่อหรือออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามส่วนยอดของลำต้นหรือตามง่ามใบ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร ลักษณะของดอกจะกลมคล้ายถ้วย กลีบดอกเป็นสีขาวเรียงซ้อนกัน ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน และเกสรเพศเมีย 1 ก้าน[1],[2]
- ผลผักเป็ดน้ำ ผลมีลักษณะแบนกลมรี ขอบหนาและเป็นหนาม ภายในผลจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด[1]
สรรพคุณของผักเป็ดน้ำ
- ช่วยรักษาวัณโรค ชนิดที่ไอเป็นเลือด ให้ใช้ต้นสดผสมกับน้ำตาลกรวดแล้วตุ๋นกับน้ำรับประทาน ซึ่งจะใช้ประมาณ 120 กรัมและ 15 กรัม (ต้น)[1],[2]
- ช่วยแก้เยื่อสมองอักเสบชนิดบี (ทั้งต้น)[2] หรือหากนำมาปรุงเป็นยาฉีดก็จะใช้รักษาโรคไข้สมองอักเสบและไข้เลือดออกในระยะแรกได้ (ทั้งต้น)[1]
- ใช้เป็นยาแก้ไข้ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้หัด ทำให้เลือดเย็น (ทั้งต้น)[1],[2]
- ช่วยแก้ไข้หวัดระบาดตัวร้อน ด้วยการใช้ต้นสด 40-75 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ต้น)[2]
- ช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด (ทั้งต้น)[1] ใช้แก้ไอ อาเจียนเป็นเลือด ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 75-100 กรัมนำมาต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลเล็กน้อยแล้วนำมารับประทาน (ต้น)[2]
- ช่วยขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)[1],[2]
- ช่วยขับน้ำชื้นในร่างกาย (ทั้งต้น)[2]
- ช่วยแก้ตับอักเสบชนิดเอ (ทั้งต้น)[2]
- ช่วยแก้อีสุกอีใส (ทั้งต้น)[2]
- ใช้ภายนอกแก้งูสวัด ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น)[2]
- ใช้รักษาโรคหนองใน ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 60 กรัมนำไปตุ๋นกับน้ำรับประทาน (ต้น)[1],[2]
- ช่วยรักษาโรคผิวหนังผดผื่นคัน ฝีหนอง (ทั้งต้น)[2]
- ใช้รักษาแผลมีน้ำเหลืองหรือเป็นผดผื่นคัน ให้ใช้ต้นสดผสมกับน้ำซาวข้าวแล้วนำมาตำให้เข้ากัน คั้นเอาแต่น้ำใช้ทาบริเวณที่เป็น (ต้น)[1],[2]
- หากเป็นฝี ให้ใช้ต้นสดนำมาตำผสมกับน้ำผึ้งทาบริเวณที่เป็น (ต้น)[1]
- ใช้แก้พิษงูหรือถูกงูกัด ให้ใช้ต้นสดประมาณ 150-250 กรัมนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำรับประทาน ส่วนกากที่เหลือนั้นให้เอามาพอกบริเวณที่ถูกงูกัด (ต้น)[1],[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักเป็ดน้ำ
- ทั้งต้นจะมีสาร 7α-L-rhamnosyl-6-methoxyluteolin และมีสารซาโปนิน (Saponin) ซึ่งเป็นพิษต่อพวกปลา โดยซาโปนิน ถ้าทำการย่อยแล้วจะได้น้ำตาล 3 ชนิด ได้แก่ กลูโคส แรมโนส และไรโบส นอกจากนี้ยังพบว่ามีกรดโอลีอะโนลิค (Oleanolic acid) ซึ่งเป็นสารที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง เนื่องจากสารชนิดนี้สามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตได้[1],[2]
- ถ้านำสารที่สกัดได้จากผักเป็ดน้ำมาทำเป็นยาฉีดชนิด จะมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้อ Enecphalitis virus type B, Hepatitis virus type A, Rabies virus และเป็นยาฉีดที่มีพิษน้อยมาก[1],[2]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่ามีพิษน้อยมาก เพราะเมื่อนำมาทดสอบกับหนูในขนาดที่เกินกว่า 455.4 กรัมต่อน้ำหนักตัวของหนู 1 กิโลกรัม โดยฉีดเข้าทางเส้นเลือด จะทำให้หนูทดลองจำนวนครึ่งหนึ่งตาย (สรุปก็คือ หากใช้ในปริมาณที่เกินกว่า 455.5 ซีซีต่อหนึ่งกิโลกรัม ถึงจะทำให้เกิดพิษต่อร่างกาย)[1],[2]
- เมื่อใช้ยาสดในขนาด 20 กรัมต่อ 1 กิโลกรัมมาสกัดทำเป็นยาฉีด โดยแบ่งฉีดวันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกัน 1-4 เดือน พบว่าจากการรักษาผู้ป่วยจำนวน 613 คน พบว่าผู้ป่วย 596 คน หายดีเป็นปกติ และอีก 17 คน มีอาการดีขึ้น[2]
ประโยชน์ของผักเป็ดน้ำ
- ยอดอ่อนของผักเป็ดน้ำสามารถนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารได้ เช่น การนำมาลวกรับประทานกับน้ำพริก หรือนำไปชุบแป้งทอดกับไข่[1]
ข้อห้ามในการใช้สมุนไพรผักเป็ดน้ำ
- หากต้นผักเป็ดน้ําเจริญเติบโตในแหล่งน้ำที่เป็นพิษ ห้ามนำมาใช้เด็ดขาด เพราะอาจทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิตได้[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ผักเป็ดน้ำ”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 504-506.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ผักเป็ดน้ํา”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 354.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅, Burnt Umber, Hai Le, judymonkey17)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)