ผักหวานป่า
ผักหวานป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Melientha suavis Pierre จัดอยู่ในวงศ์ OPILIACEAE (เป็นวงศ์พิเศษที่ยังไม่มีผักหรือผลไม้ชนิดใดที่อยู่ในวงศ์นี้)[1]
ผักหวานป่า บางครั้งก็เรียกว่า ผักหวาน มีเรียกแปลกไปบ้างเฉพาะจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งจะเรียกผักหวานป่าว่า “ผักวาน” (เข้าใจว่าคงเพี้ยนมาจากผักหวานนั่นเอง)[1] ส่วนประเทศลาวจะเรียกว่า “Hvaan” กัมพูชาเรียกว่า “Daam prec” เวียดนามเรียกว่า “Rau” มาเลเซียเรียกว่า “Tangal” และประเทศฟิลิปปินส์เรียกว่า”Malatado”[8]
หมายเหตุ : ผักหวานชนิดนี้เป็นผักหวานคนละชนิดกับผักหวานที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sauropus androgynus (L.) Merr. หรือที่ทั่วไปเรียกว่า “ผักหวานบ้าน“
ผักหวานป่า เป็นผักพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในพื้นที่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เนื่องจากเป็นผักที่มีรสชาติหวานอร่อย แต่หารับประทานได้ค่อนข้างยากเพราะผักชนิดนี้จะให้ผลผลิตในบางช่วงฤดูกาลเท่านั้น คือในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน และส่วนใหญ่จะเก็บมาจากป่า แต่ในปัจจุบันได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกผักหวานป่าเพื่อการค้ากันมากขึ้น ทำให้ในหลาย ๆ พื้นที่มีผลผลิตออกจำหน่ายมากขึ้น โดยแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญในประเทศไทยอยู่ที่จังหวัดสระบุรี และพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[5]
ผักหวานป่าสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ยอดเหลืองและพันธุ์ยอดเขียว โดยพันธุ์ยอดเขียวจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าและเร็วกว่าพันธุ์ยอดเหลือง และลักษณะโดยรวมของทั้งสองสายพันธุ์ก็ดูจะไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นทรงพุ่ม กิ่ง และแขนงใบ หากไม่สังเกตดี ๆ ก็จะมองไม่ออก มีคนสงสัยกันว่าผักหวานป่ากับผักหวานบ้านนั้นเป็นพืชชนิดเดียวกันหรือไม่ คำตอบก็คือพืชทั้งสองชนิดนี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือเป็นพืชในตระกูลเดียวกันแม้แต่น้อย เพียงแต่มีชื่อเรียกที่พ้องกันเท่านั้น[7]
ลักษณะของผักหวานป่า
- ต้นผักหวานป่า มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 4-11 เมตร เปลือกต้นเรียบ กิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมสีน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้มีความแข็ง เป็นพืชผลัดใบตามฤดูกาล จึงเก็บสะสมอาหารไว้ที่รากและลำต้น นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มักจะพบต้นผักหวานป่าได้ตามป่าเบญจพรรณในที่ราบหรือเชิงเขาที่มีความสูงไม่เกิน 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล และโดยปกติจะชอบขึ้นอยู่บนดินร่วนปนทราย[1],[2],[3]
- ใบผักหวานป่า ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปรียาว ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบสอบเรียว ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อแก่แล้วจะเป็นสีเขียวเข้ม มีก้านใบยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร[1]
- ดอกผักหวานป่า ออกดอกเป็นช่อยาว ก้านช่อดอกยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร โดยจะออกจากกิ่งหรือตามซอกใบ ใบประดับดอกเป็นรูปไข่ปลายแหลม ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนก้านดอกเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะมีกลีบสีเขียวอ่อน เกสรสีเหลือง ส่วนดอกเพศเมียจะมีกลีบดอกเป็นสีเขียวเข้ม และก้านดอกจะสั้นกว่าดอกเพศผู้ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม[1]
- ผลผักหวานป่า ผลเป็นผลเดี่ยวอยู่บนช่อยาวที่เป็นช่อดอกเดิม ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-1.7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.3-3 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มหรือสีแดง ส่วนก้านผลจะยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร[1]
สรรพคุณของผักหวานป่า
- ผักหวานป่าเป็นอาหารและยาประจำฤดูร้อนที่ช่วยแก้อาการของธาตุไฟได้ตามหลักแพทย์แผนไทย[4]
- ใบและรากมีสรรพคุณแก้อาการปวดศีรษะ (ใบและราก)[1]
- รากมีรสเย็น เป็นยาแก้ไข้ สงบพิษไข้ (ราก)[1],[4] ส่วนยอดใช้ปรุงเป็นยาเขียวลดไข้ ลดความร้อน (ยอด)[4]
- รากเป็นยาเย็น สรรพคุณเป็นยาแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้กระสับกระส่าย (ราก)[1],[4] รากใช้ต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาเย็นแก้พิษร้อนใน (ราก)[4] ส่วนยอดมีรสหวานกรอบช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ระบายความร้อน (ยอด)[4]
- ยางใช้กวาดคอเด็ก แก้ลิ้นเป็นฝ้าขาว (ยาง)[8]
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ใบและราก)[1]
- รากใช้ต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้อาการปวดมดลูกของสตรี (ราก)[4]
- รากใช้ต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้น้ำดีพิการ (ราก)[4]
- ช่วยแก้ดีพิการ แก้เชื่อมมัว (ราก)[1],[5]
- ใช้รักษาแผล (ใบและราก)[1]
- ช่วยแก้อาการปวดในข้อ (ใบและราก)[1]
- ใช้แก่นของต้นผักหวาน นำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้อาการปวดตามข้อหรือปานดง (แก่น)[4]
- ใช้ต้นผักหวานกับต้นนมสาวเป็นยาเพิ่มน้ำนมแม่หลังการคลอดบุตรได้ (ต้น)[4]
ประโยชน์ของผักหวานป่า
- คนไทยนิยมใช้ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน และผลอ่อนมารับประทานเป็นผัก โดยอาจนำมาลวกให้สุกแล้วใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ลาบ ใช้เป็นเครื่องเคียง หรืออาจนำไปผัดน้ำมัน หรือนำมาใช้ประกอบอาหารในเมนูต่าง ๆ เช่น แกงเลียง แกงส้ม แกงอ่อม แกงปลา แกงกะทิสด แกงกับไข่มดแดงหรือป่าแห้ง แกงคั่ว ต้มจืด ฯลฯ แต่ผักหวานป่าเป็นผักตามธรรมชาติที่ออกตามฤดูกาลและมีปริมาณน้อย ทำให้มีราคาแพงมากเมื่อเทียบกับผักชนิดอื่น ๆ จึงถือได้ว่าผักหวานป่าเป็นอาหารพิเศษสำหรับใครหลาย ๆ คนที่นาน ๆ ครั้งจะได้รับประทาน[1],[3],[4] สำหรับผลแก่ยังสามารถให้นำมาลอกเนื้อทิ้ง แล้วนำเมล็ดไปต้มรับประทานเช่นเดียวกับเมล็ดขนุน โดยจะมีรสหวานมัน[2] บ้างว่าใช้ผลสุกนำมาต้มให้สุกและรับประทานแต่เนื้อข้างใน[4]
- นอกจากจะใช้รับประทานเป็นผักและใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ผลสุกของผักหวานป่ายังสามารถนำมารับประทานเป็นผลไม้ได้ด้วย เพียงแต่จะไม่นิยมเท่านำมาใช้รับประทานเป็นผัก และในธรรมชาติผลสุกยังเป็นอาหารของนกและสัตว์ต่าง ๆ อีกด้วย[1]
- ผักหวานป่าเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีน พลังงาน และวิตามินซี อีกทั้งยังมีปริมาณของเส้นใบอาหารอยู่พอสมควร จึงช่วยในการขับถ่ายได้ดียิ่งขึ้น โดยในยอดและใบสดของผักหวานป่า ต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วยพลังงาน 300 กิโลจูล, น้ำ 76.6 กรัม, โปรตีน 8.2 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 10 กรัม, ใยอาหาร 3.4 กรัม, เถ้า 1.8 กรัม, แคโรทีน 1.6 มิลลิกรัม, วิตามินซี 115 มิลลิกรัม[2] ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าคุณค่าทางโภชนาการของผักหวานป่า ต่อ 100 กรัม (เข้าใจว่าคือส่วนของใบอ่อน ยอดอ่อน ดอกอ่อน) ประกอบไปด้วยพลังงาน 39 แคลอรี, น้ำ 87.1%, โปรตีน 0.1 กรัม, ไขมัน 0.6 กรัม, ใยอาหาร 2.1 กรัม, เถ้า 1.8 กรัม, วิตามินเอ 8,500 หน่วยสากล, วิตามินบี 1 0.12 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 1.65 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 3.6 มิลลิกรัม, วิตามินซี 168 มิลลิกรัม, แคลเซียม 24 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 68 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 1.3 มิลลิกรัม[3]
- จากที่เห็นก็พอจะทราบได้ว่าผักหวานป่าเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการและเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ เช่น เบตาแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินซี และสารประกอบฟีนอลิก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าอนุมูลอิสระเป็นตัวก่อให้เกิดความเสียดุลในร่างกายและเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ อีกมายมาย เช่น มะเร็ง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคข้อ โรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน ฯลฯ ดังนั้น การรับประทานผักหวานป่าจึงไม่เพียงแต่จะได้คุณค่าทางโภชนาการเท่านั้น หากแต่ยังได้รับสารอาหารที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย จึงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้เป็นอย่างดี[5]
- อีกทั้งผักหวานป่ายังอุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัส ที่ช่วยในการบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยในการยืดหดของกล้ามเนื้อให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น มีเบตาแคโรทีนสูง ช่วยในการบำรุงสายตา มีวิตามินซีสูง ช่วยป้องกันเนื้อเยื่อหรือเซลล์ไม่ให้ถูกทำลายจากมลพิษทางอากาศ ช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนังจากรังสีแสงแดด ช่วยทำให้ผิวหนังไม่เหี่ยวย่นหรือแก่ก่อนวัย มีวิตามินบี 2 ที่ช่วยป้องกันโรคปากเปื่อยหรือโรคปากนกกระจอก นอกจากนี้ผักหวานป่ายังมีเส้นใยอาหารสูง จึงช่วยในการขับถ่ายและเป็นยาระบายอ่อน ๆ[8]
- ในปัจจุบันพบว่ามีการนำผักหวานป่ามาพัฒนาเป็นชาสำเร็จรูป ซึ่งเป็นเครื่องดื่มต้านอนุมูลอิสระ[4] โดยชาผักหวานจะประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี สารประกอบฟีนอลิก ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันในร่างกายและช่วยป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ซึ่งทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ทำการศึกษาคุณสมบัติในเรื่องการต้านออกซิเดชันจากชาผักหวานป่า และได้พบว่าค่าความเข้มข้นที่ช่วยยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันได้ 50% ของชาผักหวานป่า มีค่าเท่ากับ 5.48% (v/v) ซึ่งดีกว่าชาดอกคำฝอยและชาใบหม่อน รวมทั้งยังได้ผ่านการตรวจวิเคราะห์ความเป็นพิษเฉียบพลันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว[6]
- เนื่องจากผักหวานป่าจะมีจำหน่ายมากในบางช่วงฤดูเท่านั้น จึงทำให้ไม่สามารถบริโภคได้ตลอดปี แต่ในปัจจุบันได้มีการนำยอดและใบอ่อนของผักหวานป่ามาแปรรูปทำเป็นแกงผักหวานป่าสำเร็จรูป เพื่อลดปัญหาความต้องการบริโภคในช่วงที่มีจำหน่ายน้อยและจำหน่ายในราคาที่สูง และจากการวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ก็พบว่าการนำผักหวานป่ามาแปรรูปโดยวิธีการอบแห้งจะมีการเปลี่ยนแปลงของสีและคุณค่าทางโภชนาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สรุปก็คือ วิตามินซีของยอดผักหวานป่าสดเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผักหวานป่าที่แปรรูปโดยวิธีการอบแห้ง พบว่าวิตามินซีจะลดลงไม่เกินร้อยละ 10[5]
- นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผักหวานป่าอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น น้ำผักหวานป่า ไวน์ คุกกี้ ขนมถ้วย ข้าวเกรียบ ทองม้วน เป็นต้น[8]
ข้อควรระวังในการรับประทาบผักหวานป่า
- การรับประทานผักหวานป่าต้องนำมาปรุงให้สุกเสียก่อน เพราะการรับประทานแบบสด ๆ ในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการเบื่อเมา อาเจียน และเป็นไข้ได้[2]
- ส่วนเรื่องการเก็บผักหวานป่าผิดต้น ยังมีพรรณไม้ที่มีลักษณะคล้ายกับผักหวานป่า เช่น ต้นเสน ต้นขี้หนอน หากรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดอาการผิดสำแดงได้ คือ มีอาการคลื่นเหียนอาเจียน คอแห้ง อ่อนเพลีย มึนงง และหมดสติ หากร่างกายอ่อนแอก็อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้[3]
เอกสารอ้างอิง
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 243 คอลัมน์: พืช-ผัก-ผลไม้. “ผักหวานป่า : สุดยอดผักของไทยและเอเชียอาคเนย์”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [28 เม.ย. 2014].
- นิตยสารเกษตรศาสตร์. “ผักหวานป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ku.ac.th/e-magazine/november46/. [28 เม.ย. 2014].
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักหวานป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [28 เม.ย. 2014].
- เดอะแดนดอทคอม. “ผักหวานป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com. [29 เม.ย. 2014].
- สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “แกงผักหวานป่าสำเร็จรูป”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th. [29 เม.ย. 2014].
- วารสารการบรรจุภัณฑ์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ปีที่ 15 ฉบับที่ 1 ตุลาคม-ธันวาคม 2549 หน้าที่ 40.
- จำรัส เซ็นนิล. “ผักหวานป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net. [29 เม.ย. 2014].
- กลุ่มงานวนวัฒนวิจัย สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้. “ผักหวานป่า”. (ณัฏฐากร เสมสันทัด, บัณฑิต โพธิ์น้อย). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:forprod.forest.go.th/forprod/ebook/ผักหวาน/ผักหวาน.pdf. [28 เม.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by baansuan), www.gotoknow.org (by น้อย น้ำพอง), www.jircas.affrc.go.jp
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)