วอเตอร์เครส สรรพคุณและประโยชน์ของผักวอเตอร์เครส 23 ข้อ !

วอเตอร์เครส สรรพคุณและประโยชน์ของผักวอเตอร์เครส 23 ข้อ !

ผักวอเตอร์เครส

วอเตอร์เครส (Watercress) หรือ สลัดน้ำ ส่วนคนลาวจะเรียกผักชนิดนี้ว่าผักน้ำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nasturtium officinale W.T. Aiton โดยผักวอเตอร์เครสจัดเป็นราชินีผักสำหรับคนรักสุขภาพ ปัจจุบันเป็นที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนรักสุขภาพในประเทศแถบยุโรป นิวซีแลนด์ และอเมริกา โดยมีต้นกำเนิดในประเทศเนปาล นิวซีแลนด์ และอเมริกาเหนือ

สำหรับลักษณะของผักวอเตอร์เครสนี้ ลำต้นและใบจะคล้ายผักเป็ดไทย แต่จะต่างกันตรงที่ขนาดความยาวของใบ โดยผักวอเตอร์เครสจะมีความยาวมากกว่า สำหรับสายพันธุ์ของผักวอเตอร์เครสมีอยู่ 2 สายพันธุ์หลัก ๆ ที่นิยมปลูกรับประทานก็ได้แก่ พันธุ์สีเขียวและพันธุ์สีแดง (หรือน้ำตาล) นอกจากจะปลูกไว้เพื่อรับประทานแล้วยังใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ทั้งในน้ำและบนดิน สำหรับในประเทศไทยนั้น ผักชนิดนี้เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญในแถบภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งเป็นที่นิยมปลูกกันมากเพราะเป็นผักที่ปลูกง่าย โตเร็ว รับประทานสดได้ จะนำมาประกอบอาหารก็อร่อยใช้ได้เลยทีเดียว สำหรับคุณค่าทางโภชนาการของผักชนิดนี้ขอบอกเลยว่าเยอะมาก ๆ (ถ้าไม่เยอะจริงจะเป็นราชินีผักได้ยังไง ?)

ผักวอเตอร์เครสนั้นมีคุณค่าทางอาหารสูง เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดในปริมาณที่สูงกว่าผักหลาย ๆ ชนิด โดยมีปริมาณแคลเซียมสูงกว่าในนมสด มีธาตุเหล็กมากกว่าผักขม มีวิตามิเอในปริมาณที่สูงมาก มีวิตามินซีสูงกว่าส้ม วิตามินอีที่สูงกว่าผักกาดธรรมดาถึง 2 เท่าตัว ! และมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ (University of Illinois) คณะเกษตรศาสตร์พบว่าผักวอเตอร์เครสสามารถช่วยต่อต้านโรคมะเร็งได้ และยังมีคุณสมบัติช่วยล้างสารพิษตกค้างในร่างกายอีกด้วย โดยผักวอเตอร์เครสประมาณ 10 ยอดจะให้วิตามินเอถึง 1 ใน 4 ของที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน

ผักวอเตอร์เครส

สรรพคุณของผักวอเตอร์เครส

  1. ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความแก่ชรา
  2. ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย บำรุงสุขภาพ
  3. ช่วยบำรุงและรักษาสายตาเพราะเป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ
  4. สารลูทีนและเบตาแคโรทีนในผักชนิดนี้ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเกี่ยวกับนัยน์ตา อย่างเช่น ต้อในตาและจอประสาทตาเสื่อม
  5. ช่วยป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
  6. เป็นผักที่ไม่มีคอเลสเตอรอลและยังช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้อีกด้วย
  7. ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรเชื่อว่าผักวอเตอร์เครสนั้นสามารถช่วยล้างเลือดในร่างกายได้
  8. ช่วยบำรุงและรักษากระดูกและฟันให้แข็งแรง
  9. เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเดินหายใจ
  10. ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
  1. เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
  2. ผักวอเตอร์เครสมีคุณสมบัติช่วยล้างสารพิษตกค้างในร่างกายได้
  3. ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือด
  4. ช่วยลดการถูกทำลายของเซลล์เม็ดเลือดขาวได้มากถึง 23%
  5. ช่วยยับยั้งป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังบริเวณอื่น ๆ
  6. ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปอด
  7. ชวยลดการเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่
  8. ช่วยลดการทำลายของ DNA ของเซลล์บริเวณลำไส้
  9. ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม
  10. ช่วยลดอันตรายของการเกิดโรคมะเร็งที่มีสาเหตุมาจากควันบุหรี่และสารพิษอื่น ๆ ที่ได้รับจากอาหารต่าง ๆ
  11. ช่วยในการย่อยอาหาร
  12. มีคุณสมบัติช่วยในการห้ามเลือดเมื่อนำมาผสมกับน้ำส้มสายชู

ประโยชน์ของผักวอเตอร์เครส

  • นำมารับประทานสดหรือใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น สลัด แกงจืด ต้มซุป ผัดไฟแดง ชุบแป้งทอด รับประทานสดพร้อมกับส้มตำ น้ำพริก สอดไส้แซนด์วิช รวมไปถึงใช้ตกแต่งอาหารให้น่ารับประทานยิ่งขึ้น

คุณค่าทางโภชนาการของผักวอเตอร์เครสต่อ 100 กรัม

  • วอเตอร์เครสพลังงาน 11 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 1.29 กรัม
  • น้ำตาล 0.2 กรัม
  • เส้นใย 0.5 กรัม
  • ไขมัน 0.1 กรัม
  • โปรตีน 2.3 กรัม
  • วิตามินเอ 160 ไมโครกรัม 20%
  • เบตาแคโรทีน 160 ไมโครกรัม 18%
  • ลูทีนและซีแซนทีน 5,867 ไมโครกรัม
  • วิตามินบี 1 0.09 มิลลิกรัม 8%
  • วิตามินบี 2 0.12 มิลลิกรัม 10%
  • วิตามินบี 5 0.31 มิลลิกรัม 6%
  • วิตามินบี 6 0.129 มิลลิกรัม 10%
  • วิตามินบี 9 9 ไมโครกรัม 2%
  • สรรพคุณวอเตอร์เครสวิตามินซี 43 มิลลิกรัม 52%
  • วิตามินอี 1 มิลลิกรัม 1%
  • วิตามินเค 250 ไมโครกรัม 238%
  • ธาตุแคลเซียม 120 มิลลิกรัม 12%
  • ธาตุเหล็ก 0.2 มิลลิกรัม 2%
  • ธาตุแมกนีเซียม 0.244 มิลลิกรัม 6%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 60 มิลลิกรัม 9%
  • ธาตุโพแทสเซียม 330 มิลลิกรัม 7%
  • ธาตุโซเดียม 41 มิลลิกรัม 3%

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN), www.sciencedaily.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด